ศาลาการเปรียญไม้ทรงโบราณ ที่อำเภอเสาไห้
ศาลาการเปรียญไม้ทรงโบราณ ที่อวดโครงสร้างไว้อย่างอลังการงานช่างโบราณ ที่วัดเล็กๆ ใน อ.เสาไห้ ที่รูปแบบอยู่ในช่วง รัชกาลที่ ๓ ตามประวัติของสร้างวัดนี้มีมาตั้งแต่ ปี พ.ศ.๒๒๑๒ ช่วงอยุธยาปลายๆ ที่ยังพอมีร่องรอยโบราณวัตถุในวัดที่พอให้สืบค้นต่อไปได้
ศาลาการเปรียญ กุฏิสงฆ์ หอสวดมนต์ไม้สัก ที่อวดโครงสร้างไว้อย่างอลังการงานช่างโบราณเมืองเสาไห้ วิหารหลังเก่า พระประธานในพระอุโบสถ รวมทั้งพิพิธภัณฑ์ของวัด ที่เก็บรวบรวมตู้พระธรรม ที่ยังคงอวดกระบวนลายรดน้ำชัดเจน .....
วัดไผ่ล้อม เสาไห้ สระบุรี สร้างขึ้นเป็นวัดนับตั้งแต่ประมาณ พ.ศ. ๒๒๑๒ สมัยอยุธยาตอนปลายในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดให้กรมหมื่นเทพทรรักษ์และพระปราบ นำทัพไปขับไล่พม่าออกจากเมืองเชียงแสน พ.ศ. ๒๓๔๗ พม่าพ่ายแพ้ถอยร่นกลับไป ก็ให้เผาเมืองเชียงแสน แล้วรวบรวมผู้คนชาวเชียงแสนได้จำนวนหนึ่งอพยพลงมาแต่ในระหว่างบางส่วนต่างก็กระจัดกระจายกันปักหลักอยู่ตามระยะทางที่ผ่านมาคือ เวียงจันทร์ เชียงใหม่ ลำปาง น่าน ส่วนพวกที่มาถึง ได้โปรดให้ตั้งบ้านเรือนที่เมืองสระบุรี เมืองเสาไห้ (ในสมัยนั้นเมืองสระบุรีเป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งของเมืองเสาไห้) อีกส่วนหนึ่งไปตั้งรกรากอยู่ที่บ้านคูเมือง พวกที่มาจากเชียงแสน (โยนกนาคนคร) หรือชาว ไทยวน ได้มาตั้งบ้านเรือนอยู่ ณ ตำบลเสาไห้ (หมู่บ้านไผ่ล้อม) ตำบลสวนดอกไม้ (สิบต๊ะ)ตำบลต้นตาล ตำบลพระยาทด ตำบลท่าช้าง ตำบลศาลารีไทย ตำบลบ้านยาง และตำบลหัวปลวก “ปู่คัมภีระ” หัวหน้าผู้นำอพยพของชาวเชียงแสนพร้อมขุมกำลัง ผู้ใกล้ชิดได้ตั้งบ้านเรือนอยู่ ณ บ้านโบราณซึ่งอยู่คนละฝั่งวัดไผ่ล้อม ต่อมา สมัยรัชกาลที่ ๒ ได้แต่งตั้งปู่คัมภีระมีบรรดาศักดิ์เป็น “พระยารัตนกาศ” มีหน้าที่คุมกำลังส่งเสบียงให้พลรบยามเกิดศึกสงครามด้านทิศตะวันออก(ศึกเขมร)กองกำลังมีกองโตตั้งอยู่ ๓ แห่ง อยู่ที่สี่คิ้ว ๑ กอง โคกกร่าง ๑ กอง และโคกแย้ ๑ กอง และมีกองม้าอยู่ที่บ้านยาง ๑ กอง ไว้เป็นหน่วยคุ้มกันกองเสบียง เมื่อมีขุมกำลังอำนาจหน้าที่เช่นนี้จึงเชื่อได้ว่า วัดไผ่ล้อมต้องได้รับการทำนุบำรุงให้ดีขึ้น โดยฝีมือของชาวไทยวนที่อพยพมาจากเชียงแสน
ต่อมาผู้อพยพสายตระกูลปู่คัมภีระได้สืบต่อตำแหน่ง “พระยารัตนกาศ” มีลูกหลานหลายคน คนสุดท้ายเป็นบุตรของพ่อเฒ่ามหาวงศ์ ได้เป็นนายอำเภอเสาไห้ คนที่ ๒ พ.ศ. ๒๔๓๙ ถึง พ.ศ. ๒๔๔๓ และได้ตั้งบ้านเป็นสำนักงานที่ทำการอำเภอเสาไห้อยู่ที่บ้านไผ่ล้อม
จนถึง ณ ปัจจุบันนี้.
ศาลาการเปรียญกว้าง ๑๔ เมตร ยาว ๓๔ เมตร สร้างด้วยไม้และคอนกรีต พ.ศ. ๒๕๒๓
หอสวดมนต์กว้าง ๒๐ เมตร ยาว ๒๐ เมตร สร้างด้วยไม้สัก พ.ศ. ๒๔๑๐
กุฏิสงฆ์ จำนวน ๕ หลัง เป็นอาคารไม้ นอกจากนี้มีหอระฆังและวิหาร
อุโบสถกว้าง ๑๗ เมตร ยาว ๓๓ เมตร บูรณะ พ.ศ. ๒๕๐๒ ก่ออิฐถือปูน
แหล่งข้อมูล ; เพจ Mind GaLLerY
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น