อาณาจักรฟูนัน


 อาณาจักรฟูนัน เป็น อาณาจักรเก่าแก่ของขอมโบราณที่สร้างขึ้นเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ ๖ คำว่า "ฟูนัน" เพี้ยนมาจากคำว่า พนม หมายถึงภูเขา เนื่องจากอาณาจักรขอมที่สร้างขึ้นทางตอนใต้ของแหลมอินโดจีนมักตั้งอยู่บน ภูเขา เป็นการสร้างเมืองขึ้นตามความเชื่อของศาสนาพราหมณ์หรือฮินดูลัทธิไศวะนิกาย และไวณพนิกายที่ได้รับอิทธิพลมาจากอินเดีย จึงสร้างเมืองบนไว้ภูเขาวิหารจำลอง (กษัตริย์ขอมเรียกพระองค์เองว่ากูรุงพนม ซึ่งมีความหมายว่า ราชาแห่งขุนเขา)

ใน พุทธศตวรรษที่ ๑๐ นั้น พราหมณ์โกญธัญญะจากอินเดียได้เดินทางมาครองอาณาจักรขอมแห่งนี้ ได้สร้างแบบแผนของราชสำนักตามอย่างอินเดีย ซึ่งมีตำนานเล่าถึงราชวงศ์ขอมไว้ว่า ราชวงศ์ขอมนั้นเกิดจากพราหมณ์คนหนึ่งสมสู่กับนางนาค ซึ่งเป็นพระธิดาของพญานาค ที่ถือว่าเป็นบรรพบุรุษของชนชาติขอม ราชวงศ์นี้ได้มีกษัตริย์ครองอาณาจักรฟูนันต่อมาจนถึงพ.ศ.๑๑๐๐ มีพระนามกษัตริย์ที่ปรากฏชื่อคือพระเจ้าโกณฑิณยะชัยวรมัน และพระเจ้ารุทรวรมัน ศิลปขอมที่เกิดขึ้นในยุคนี้เรียก ศิลปขอมแบบพนมดา สร้างระหว่าง พ.ศ.๑๑๐๐-๑๑๕๐ เมือง หลวงของอาณาจักรฟูนันนั้น เรียก นอ-กอร กก-ทะโหลก ซึ่งหมายถึง เมืองพระนครที่ตั้งอยู่บนขุนเขาและต้นไม้สูงนั่นเอง และได้รับอิทธิพลมีความเชื่อในเรื่อง พญานาค
ใน ประวัติศาสตร์โบราณคดีของเขมร ได้เขียนไว้ว่า ฟูนัน คืออาณาจักรเขมรยุคแรก เริ่มเมื่อเจ้าชายจากอินเดียชื่อ “โกญทัญญะ”(จีนว่า โกณฑิยะ) ลงเรือมาถึงอาณาจักรฟูนันแล้ว ได้นางพญาฟูนัน(จีนว่าพระนาง ลิวเย่)เป็นพระชายา (พระชายาผู้นี้น่าจะเป็นเชื้อสายกษัตริย์ในราชวงศ์ของฟูนันมากกว่าจะเรียก เป็นชื่อว่านางพญาฟูนัน) จึงได้ตั้งอาณาจักรฟูนันขึ้นตามชื่อของราชวงศ์กษัตริย์ฟูนันเดิม เพราะต่อมานั้นขุนพลฟันซีมัน ได้ขึ้นเป็นผู้ครองอาณาจักรนี้
ปลาย พุทธศตวรรษที่ ๘ ระหว่าง พ.ศ. ๗๖๐–๗๙๕ นั้น จดหมายเหตุของจีนราชวงศ์ฮั่นได้บันทึกไว้ว่า ราชทูตจีนชื่อ คังไถ(K’ang T’ai) และจูยิง(Chu Ying) ได้เดินทางมายังดินแดนของอาณาจักรฟูนัน เพื่อเผยแพร่วัฒนธรรมจีน และได้จดบันทึกไว้ความว่า


“เมือง ฟูนันมีความรุ่งเรืองมาก มีแม่น้ำใหญ่ไหลมาทางตะวันตกผ่ากลางเมือง ชาวอินเดียชื่อโกณฑิยะ ได้เดินทางโดยเรือมายึดครองดินแดนบริเวณปากแม่น้ำโขง และได้ประมุขของชาวพื้นเมืองคือพระนางลิวเย่(Liu-ye)เป็นชายา ต่อมาอีกหลายปี ขุนพลฟันซีมัน(Fan Shihman)ได้ขึ้นเป็นเจ้าครองนครฟูนัน ทรงขยายอาณาจักรฟูนัน ออกไปอย่างกว้างขวาง โดยสามารถยึดครองอาณาจักร ฉูตูคุณ จิวจิ และเตียนซุน ” ราชฑูตจีนคังไถ ยังได้กล่าวเกี่ยวกับอาณาจักรฟูนันไว้อีกว่า “ มีกำแพงล้อมรอบเมือง มีพระราชวังและบ้านประชาชน ประชาชนมีหน้าตาน่าเกลียด ผิวดำ ผมหยิก ไม่สวมเสื้อผ้าและเดินเท้าเปล่า อัธยาศัยใจคอง่าย ๆ ไม่ลักขโมย ปลูกหว่านพืชเพียงปีหนึ่งแต่เก็บเกี่ยวไปได้สามปี ชอบแกะสลักเครื่องประดับ ภาชนะกินอาหารมักทำด้วยเงิน เก็บภาษีเป็นทองคำ เงิน ไข่มุก และเครื่องหอม มีหนังสือ หอจดหมายเหตุ โดยใช้อักษรที่คล้ายอักษรของชนชาติฮู (Hu)” จดหมายเหตุจีนที่บันทึกไว้ในสมัยสามก๊ก ได้กล่าวถึง อาณาจักรฟูนัน ไว้ว่า
“ใน พ.ศ. ๗๘๖ อาณาจักรฟูนัน ได้ส่งคณะทูตมาประเทศจีน พร้อมกับส่งนักดนตรีและพืชผลในประเทศเป็นเครื่องราชบรรณาการ”


จดหมายเหตุจีนที่บันทึกเมื่อพ.ศ. ๑๐๔๖ มีความว่า
“ฟูนันส่งราชทูตไปประเทศจีน” และจักรพรรดิ์ของจีนได้มีพระราชโองการ ว่า“พระ ราชาแห่งรัฐฟูนัน ทรงพระนามว่า โกณฑิยะชัยวรมัน ประทับอยู่สุดเขตโพ้นทะเล ราชวงศ์ของพระองค์ได้ทรงปกครองบรรดาประเทศโพ้นทะเลทางใต้ และได้ทรงแสดงความซื่อสัตย์สุจริตด้วยการส่งเครื่องราชบรรณาการมาถวายหลาย ครั้ง บัดนี้สมควรจะตอบแทนให้ทัดเทียมกันและให้ตำแหน่งอันมีเกียรติยศ คือตำแหน่งขุนพลแห่งภาคสันติใต้ กษัตริย์แห่งฟูนัน"


จดหมายเหตุจีนสมัยราชวงศ์ฉี สมัยต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๑ ได้กล่าวไว้ว่า “ประชา ชนฟูนันโหดร้ายและเต็มไปด้วยเล่ห์เหลี่ยม เข้าโจมตีเมืองที่ไม่ยอมอ่อนน้อมและกดขี่ประชาชนลงเป็นทาส มีสินค้าคือ ทอง เงิน ผ้าไหม คนสำคัญใช้ผ้ายกนุ่งเป็นโสร่ง หล่อแหวนและกำไลด้วยทองคำ ใช้ภาชนะทำด้วยเงิน คนจนนุ่งผ้าฝ้ายผืนเดียว ริมทะเลมีกอไผ่ใหญ่ ใช้ใบไผ่สานเป็นหลังคาบ้านเรือนซึ่งยกพื้นสูงเหนือน้ำ ใช้เรือที่มีหัวและท้ายคล้ายปลา พระราชาเสด็จบนหลังช้าง มีการชนไก่ วิธีพิพากษาคดีใช้วิธีโยนไข่ หรือแหวนทองคำ ลงในน้ำเดือดแล้วให้คู่ความหยิบออกมา หรือเผาโซ่ให้ร้อนแล้วให้คู่ความเดินถือไป ๗ ก้าว ผู้ผิดจะมือพอง และผู้ถูกจะไม่บาดเจ็บ”
(ม.จ. สุภัทรดิศ ดิศกุล : ประวัติศาสตร์เอเชียอาคเนย์ ถึง พ.ศ. ๒๐๐๐ , รุ่งแสงการพิมพ์, ๒๔๓๕ หน้า ๑๘)
อาณาจักรฟูนันแห่งนี้มีความเจริญสูงสุดในพุทธศตวรรษที่ ๙ แล้วเริ่มเสื่อมในพุทธศตวรรษที่ ๑๐ ต่อมาอาณาจักรแห่งนี้ได้ตกเป็นเมืองขึ้นของอาณาจักรเจนละ(ในเขมร)เมื่อราว พุทธศตวรรษที่ ๑๑ จากนั้นอาณาจักรฟูนัน ก็สูญหายไป เนื่องจากได้เกิดมีอาณาจักรขอมขึ้นมาแทนในดินแดนของอาณาจักรฟูนันเดิม


การขุดค้นทางโบราณคดีที่เมืองออกแก้ว(OC-EO) ตรงบริเวณปลายแหลมญวน ซึ่งเชื่อว่าเป็นเมืองท่าที่เกิดขึ้นในสมัยฟูนันนั้น ได้พบโบราณวัตถุสมัยฟูนัน เช่นถ้วยชาม เงินตรา พระพุทธรูป และเทวรูป ส่วนใหญ่เป็นศิลปะอมราวดีจากอินเดีย สำหรับดินแดนที่อยู่ในประเทศไทยนั้น ได้มีการสำรวจพบเงินเหรียญรูปพระอาทิตย์และศิลปวัตถุสมัยฟูนันหลายอย่าง พบที่แหล่งโบราณสถานคอกช้างดิน อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี และที่เมืองจันเสน อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งเป็นหลักฐานที่ทำให้เชื่อว่าดินแดนสุวรรณภูมินั้นเคยได้รับอิทธิพลหรือ อยู่ในอาณาจักรฟูนันมาก่อน เมื่อ ต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๓ นั้นหลวงจีนอี้จิง ได้ออกเดินทางโดยเรือจากจีนไปสืบพระศาสนาที่อินเดีย ได้แล่นเรือผ่านบริเวณที่เคยเป็นอาณาจักรฟูนันมาก่อน และบันทึกไว้ว่า
“พราหมณ์ ชาวอินเดียได้เคยอพยพมาตั้งถิ่นฐานและแต่งงานกับเจ้าหญิงชนพื้นเมืองเดิม สถาปนาอาณาจักรฟูนันขึ้น โดยรับอารยธรรมอินเดียอย่างแน่นแฟ้น เช่น การปกครองแบบเทวราชา …..ในอาณาจักรฟูนันสมัยก่อน พระธรรมทางศาสนาพุทธได้แพร่หลายและขยายออกไป แต่ในปัจจุบัน พระราชาที่โหดร้ายได้ทำลายพระธรรมเสียสิ้น และไม่มีพระสงฆ์เหลืออยู่เลย”


เมื่ออาณาจักรฟูนันล่มสลายเมื่อพุทธศตวรรษที่ ๑๑ อาณาจักรเจนละได้เจริญรุ่งเรืองขึ้นมาครั้งเมื่ออาณาจักรเจนละมีอิทธิมาก ขึ้น จึงได้แผ่อำนาจมาทางอาณาจักรฟูนัน จึงทำให้เกิดการต่อสู้ชิงอำนาจเป็นใหญ่ในดินแดนดังกล่าว ในที่สุดอาณาจักรเจนละก็สามารถครอบครองดินแดนแถบนี้ได้
ดินแดนสุวรรณภูมิซึ่งที่เป็นที่ตั้งของประเทศไทยปัจจุบันนี้ เดิมนั้นเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของอาณาจักรฟูนันเดิม เนื่องจากได้พบหลักฐานทางโบราณคดีในประเทศไทย คือทับหลังหินทรายแกะสลัก ยุคไพรกะเม็ง (พ.ศ. ๑๑๘๐–๑๒๕๐ สมัยเจนละ ยุคก่อนสร้างนครวัด นครธมในเขมร) ทับหลังยุคปาปวน(พ.ศ.๑๕๖๐–๑๖๓๐) และศิลาจารึกขอมสมัยพุทธศตวรรษที่ ๑๒ นับเป็นหลักฐานศิลปขอมโบราณที่เก่าแก่ที่สุด หลัก ฐานสำคัญเหล่านี้พบที่ วัดทองทั่ว-ไชยชุมพล ตำบลพะเนียด อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี(จันทบุรี นั้นเดิมชื่อ จันทบูนหรือจันทรบูรณ์ มีข้อสันนิษฐานว่า จันทบูรณ์น่าจะเป็นคำที่มาจากภาษาเขมรว่า “เจือนตะโบง แปลว่า ชั้นที่อยู่ทางทิศใต้ หมายถึงเมืองที่อยู่ทิศใต้ของอาณาจักร) นอกจากนี้ยังพบจารึกวัดทองทั่ว เป็นจารึกอักษรปัลลวะ ภาษาสันสกฤต แปลได้ความว่า
“พระเจ้าศรีอีศานวรมัน ได้พระราชทานแท่งศิลาที่สกัดด้วยเหล็ก เป็นอักษรพร้อมคนงานที่ต้องโทษ ๔๒ คน โค ๒๓๑ ตัว กระบือ๒๔๕ ตัว”
(ปัจจุบัน จารึกนี้ เก็บรักษาอยู่ที่ หอสมุดแห่งชาติ กรุงเทพฯ)


พระ เจ้าศรีอีศานวรมัน กษัตริย์ผู้ครองอาณาจักรอีสานในดินแดนสุวรรณภูมิ(สยาม)นั้นพระราชทานศิลา จารึก พร้อมกับแรงงานผู้ต้องโทษ ๔๒ คนและโค ๒๓๑ ตัวกระบือ ๒๔๕ ตัวให้ไว้ เรื่องนี้ไม่มีหลักฐานว่า มีการส่งแรงงานนี้มาเพื่อสร้างหรือทำอะไรในบริเวณนี้ การ จารึกข้อความบนศิลานั้นเป็นอารยธรรมหนึ่งที่เกิดขึ้นในพื้นที่ของอาณาจักรฟู นัน เมื่อประมาณ ๑,๓๐๐ ปี มาแล้ว เป็นความนิยมจารึกเรื่องราวไว้บนศิลา เช่นเดียวกับการสลักรูปภาพต่างๆบนหินและแกะสลักลวดลายศิลปต่างๆไว้ประกอบใน การสร้างปราสาทหินที่มีอยู่มากมายในดินแดนภาคอีสาน
นักประวัติศาสตร์บางคนมีความเห็นว่า ในระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๗-๙ นั้น บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยานั้น น่าจะเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรฟูนันด้วย โดยมีศูนย์กลางอยู่บริเวณปากแม่น้ำโขงในประเทศกัมพูชาปัจจุบัน


ดังนั้นบริเวณส่วนที่เป็นดินแดนสุวรรณภูมิ เมื่อราว พ.ศ.๖๔๓ ถึงพ.ศ.๑๐๔๓ นั้นจึงเป็นส่วนหนึ่งในอาณาจักรฟูนันกล่าวคืออาณาจักรฟูนัน (FUNAN) ได้ถูกตั้งขึ้นและเป็นอาณาจักรขนาดใหญ่ ที่เชื่อกันว่า ศูนย์กลางของอาณาจักรแห่งนี้น่าจะตั้งอยู่ที่ เมืองเปรเวงในประเทศกัมพูชา โดยมีเมืองออกแก้วหรือออกแอว ในประเทศเวียดนาม เป็นเมืองท่าชายฝั่งทะเล ตั้งอยู่ตรงดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงทางตอนใต้ของประเทศกัมพูชาใน ปัจจุบัน คำ ว่า”ฟูนัน” นี้ น่าจะมาจากภาษาจีนที่แปลว่า ภูเขา โดยออกเสียงเป็นภาษาขอมได้ว่า "พนม" อาณาจักรฟูนันนี้ได้รับเอาวัฒนธรรมฮินดูจากอินเดียมาใช้ในสังคมและเป็นชน ชาติที่เป็นบรรพบุรุษของเขมรปัจจุบัน เรื่อง นี้ศาสตราจารย์ซ็อง บวสเซอร์ลิเยร์ นักประวัติศาสตร์ชาวฝรั่งเศส กลับมีความเห็นว่า เมืองสำคัญของอาณาจักรฟูนันนั้น น่าจะอยู่บริเวณเมืองอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี เนื่องจากได้มีการค้นพบโบราณวัตถุสมัยฟูนัน เช่น ลูกปัด ดินเผา และสำริด เป็นจำนวนมากที่เมืองอู่ทอง


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ศาลาการเปรียญไม้ทรงโบราณ ที่อำเภอเสาไห้

ตำนาน และประวัติความเป็นมา ของอำเภอเถิน จังหวัดลำปาง

[คติธรรม] คมธรรมของหลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ