[ข่าวลุงพล] ทนายนิทัศน์เล่านิทาน เรื่องนิทานกลับกลอก


 ทนายนิทัศน์เล่านิทาน เรื่องนิทานกลับกลอก


หลังจากได้อ่านบทความของท่านทนายนิทัศน์ ประเสริฐเนติกุล เหมือนกับผมได้อ่านงานเขียนชั้นเยี่ยมของนักเขียนชื่อดัง อย่าง รพินทรนาถ ฐากุร นักเขียนที่เกิดในวรรณะพราหมณ์ นครกัลกัตตา ประเทศอินเดีย เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม ประจำปี ค.ศ. 1913 (พ.ศ. 2456)



ท่านทนายนิทัศน์ ได้เขียนบทความเอาไว้ว่า

ณ ดินแดนอันไกลโพ้น  ริมฝั่งโขงดินแดนพญานาค มิตรภาพคือประเทศลาว  มีเส้นทางเชื่อมต่อสองฝั่งโขง  ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นพื้นที่สีแดง ต่อต้านอำนาจรัฐ ท้ายสุดเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย เนื่องจากมีทิวเขาภูพานที่สวยงามทอดผ่าน ทำให้คนส่วนใหญ่ มีอาชีพเกษตรกรในที่ดินต้องห้าม เพราะรัฐได้เข้ามายึดเป็นของหลวง ดังนั้นชายหนุ่มหญิงสาว จึงมักไปเสี่ยงโชค ณ ดินแดนที่เจริญกว่า ปล่อยให้ผู้เฒ่าผู้แก่เฝ้าบ้าน รอลูกหลานกลับมา เพื่อสืบทอดเส้นทางชีวิตอันยากแค้นลำเค็ญต่อไป



ชายหนุ่ม หญิงสาวบางคนไม่ยอมทอดทิ้งถิ่นฐานบ้านเกิด ทำสวน ทำนา ทำไร่ ขายของ เพื่อดูแล พ่อแม่ที่ย่างเข้าสู่วัยชรา และทรัพย์สินอันมีค่าน้อยนิด ด้วยมองไม่เห็นแสงสว่างในบั้นปลายของชีวิต ก่อนนั้น ชาวบ้านยังพอมีรายได้เสริมจากการตัดไม้ เผาถ่าน หาของป่า แต่เมื่อเจ้าหน้าที่เข้มงวดขึ้น แถมไม้ป่าก็ร่อยหรอ ยิ่งทำให้ชีวิตเหมือนต้องคำสาป อยู่กับความหวังไปวันๆ



แต่ด้วยสะพานมิตรภาพไทยลาวเกิดขึ้น ทำให้การเดินทาง การค้าขาย การขนถ่ายสินค้า การท่องเที่ยวดีขึ้น แต่ผลดีก็ไปตกกับชาวบ้าน ที่อยู่ริมโขงหรือตัวเมืองมากกว่า ส่วนที่ไกลออกไปเป็นหมู่บ้าน เป็นตำบล ชีวิตก็คงเหมือนเดิม แทบหาอะไรดีขึ้นไม่มี 



หลังจากสงครามเวียตนามจบลง สามเหลี่ยมทองคำ ที่เชื่อมสามประเทศมีชื่อเสียงก้องโลก เพราะเป็นแหล่งส่งฝิ่น เฮโรอีน แต่เมื่อฝิ่น เฮโรอีน เริ่มลดน้อยลง เพราะมีของใหม่ที่สมัยนั้นเรียกว่า ยาม้า มาทดแทน และเป็นที่นิยมของคนทำงานจนแพร่หลาย กลายเป็นปัญหาสังคม เพราะผู้เสพติดจะมีอาการคล้ายประสาทหลอน คลุ้มคลั่ง ชอบทำร้ายผู้อื่น มีการจับเด็ก จับผู้หญิงเป็นตัวประกัน เพราะฤทธิ์ยาบ่อยๆ   จึงเริ่มมีการจับกุมผู้ผลิต ผู้จำหน่ายอย่างจริงจัง  


 

ต่อมาใน สมัยนายกทักษิณ ได้ทำการปราบปรามผู้กระทำความผิดขั้นรุนแรง มีการฆ่าตัดตอนเกิดขึ้นทั่วไป จนเป็นข่าวไปทั่วโลก ทำให้มีการย้ายฐานผลิตออกไปจากเมืองไทย ไปอยู่  ณ บริเวณประเทศเพื่อนบ้าน  โดยมีดินแดนเพื่อนบ้านทางภาคเหนือ เป็นฐานใหญ่  



แต่เมื่อมีการผลิตมากขึ้น เส้นทางเดิมจากเหนือมาใต้เริ่มมีปัญหา จึงมีการหาเส้นทางเพิ่ม และเส้นทางไหนเป็นเส้นทางที่ดีที่สุด ถ้าไม่ใช่ลาวตอนกลาง หรือตะวันออกเฉียงเหนือ หรืออีสานตอนเหนือ ของประเทศไทย และจังหวัดไหนจะเหมาะสมเท่ากับ มุกดาหารไม่มีอีกแล้ว 



สะพานมิตรภาพ และลำน้ำโขง เป็นเส้นทางที่ง่ายต่อการเดินทางเชื่อมต่อสองประเทศ และเมื่อผ่านตัวจังหวัดมาได้แล้ว จะเข้าสู่ดงหลวง ผ่านกกกอก เข้าสู่ทางสามแพร่งที่บ้านกกกอก ทางหนึ่งไปแยกไปกาฬสินธุ์ ทางหนึ่งแยกไปเต่างอย จังหวัดสกลนคร ณ จุดทางสามแพร่งดังกล่าว มีการตั้งด่านเพื่อคอยตรวจตรา ความสงบเรียบร้อย ของผู้คนที่ผ่านไปมา



ทนายลองเขียนเรื่องขึ้นมาเรื่องหนึ่ง หลังจากเห็นข่าวเรื่องจับยาสี่แสนเม็ด ตั้งชื่อเรื่องว่า นิทานกลับกลอก

เมื่อเส้นทางสายไหม ผ่านมายังบ้านกกกอก และเป็นชัยภูมิที่เหมาะสมจะพักสินค้า จึงเกิดมีอาชีพใหม่ ที่ลงทุนน้อยกำไรมาก แถมบางครั้งก็เอาไปก่อนจ่ายที่หลังติดพันกันมา ทำให้วิถีชีวิตผู้คนเริ่มเปลี่ยนไป หลายๆ คนเข้าไปเกี่ยวข้อง คนที่ฉลาดก็รอด คนที่พลาดก็ติดคุก  



สมชายอดีตผู้นำหมู่บ้าน ยุคคอมมิวนิสต์ เกิดที่ไหนไม่ทราบ แต่โตและจะตายที่นี้แน่นอน มีลูกหลานแยกย้ายกันไปหลายครอบครัว บางคนก็พลัดหลงไปในเส้นทางสีดำ จนเกิดความขัดแย้งกับเครือญาติ  บางคนก็กลายเป็นคนมีอิทธิพล บางคนก็หาเช้ากินค่ำตามวิถีชีวิตชาวบ้าน แล้วแต่กรรมลิขิตมา แม้จะเป็นญาติพี่น้องกัน แต่เงินทองและผลประโยชน์ก็ไม่เข้าใครออกใคร อาจจะเกิดจากการที่ สมชายซึ่งบัดนี้ เฒ่าชะแลแก่ชรา แบ่งทรัพย์สินแล้วบางคนไม่พอใจ หรืออาจจะเกิดจากเส้นทางสีดำ หรืออิจฉากันเอง ทำให้ต่างคนต่างอยู่  



เมื่อถึงจุดความแค้นต้องชำระ หรือหนี้สินที่หยิบยืมกันแล้วไม่เคลียร์ จึงต้องหาทางเคลียร์ ชะตากรรมจึงตกอยู่กับ เด็กหญิงตัวน้อยๆ ที่ต้องกลายมาเป็นเหยื่อ โดยมีการวางแผนจ้างวาน เตรียมการเป็นอย่างดี ให้นำตัวเด็ก ไปมอบให้กับทีมงานจากนอกหมู่บ้าน โดยให้เอาเด็กไปซ่อนไว้ เพื่อเจรจาหนี้สินกันให้เด็ดขาด เด็กถูกส่งต่อให้คนที่รอรับอยู่   แล้วก็หายไปจากหมู่บ้านตั้งแต่ตอนนั้น



ซึ่งถ้าจะยกเรื่องราวคดีน้องชมพู่ มาประกอบเข้าเป็นเนื้อเรื่อง น่าจะกลายเป็นนิยาย หรือสร้างเป็นภาพยนตร์ได้เลย หลายประเด็นในคดีน้องชมพู่ ข่าวทีวีก็เคยออกมาหลายครั้ง แต่ก็ไม่มีการสืบสาวไปให้ชัดเจนว่า ความจริงเป็นอย่างไร มันจึงกลายเป็นเหมือนนิยายบ้านกกกอกไปแล้ว 



ซึ่งคดีน้องชมพู่นี้ เป็นคดีที่ทำให้สังคมแตกแยกทางความคิด ส่วนหนึ่งยืนอยู่กับผู้สูญเสีย ส่วนหนึ่งยืนอยู่กับลุงพล ที่ติดตามข่าวมาตลอด และเชื่อมั่นว่าลุงพลไม่ใช่คนร้าย ความเป็นไปได้ว่าลุงพลคือคนร้ายแทบไม่มีเลย  เป็นตำรวจที่รับผิดชอบคดีนี้ โดยเฉพาะผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จะปิดเกมส์ก็ปิดยาก เพราะพยานหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ พยานบุคคลที่เห็นเหตุการณ์ชัดเจนไม่มี ส่วนมากเป็นพยานแวดล้อม แถมพยานยังบิดเบือนคำพูด ด้วยความกลัวหรือไม่อยากไปยุ่งเกี่ยวด้วย ความซวยจึงต้องอยู่กับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ จะปิดคดีนี้อย่างไร จะปิดคดีตามพยานหลักฐาน ก็หาหลักฐานคนร้ายที่ชัดเจนไม่ได้ มีเพียงข้อสงสัยเล็กๆ น้อยๆ แถมพยานก็ให้การขัดแย้งกันจนเละไปหมด จะไม่ปิดเกมส์สังคมก็ประณามว่า คดีในหมู่บ้านเล็กๆ แค่นี้จับไม่ได้ หมดความเชื่อถือ 



เหตุคดีฆ่าเด็กตายที่เชียงราย ไม่มีประจักษ์พยาน ไม่มีกล้องวงจรปิด แต่ไม่กี่วันก็จับคนร้ายได้ เพราะคนร้ายทำโดยไม่มีการวางแผนมาก่อน ไม่มีการทำลายพยานหลักฐาน ส่อกระทำผิดโดยหลบหนีออกจากบ้าน และไม่มีผู้มีอิทธิพลหนุนหลัง  



คดีนี้ ทนายสงสารฝ่ายพ่อแม่น้องชมพู่ที่สุด แต่ก็ไม่อยากให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ ไปลงกับใครคนใดคนหนึ่ง เพราะต้องการรักษาชื่อเสียง หรือเพราะตามกระแสสื่อ งั้นปล่อยไปซักคดีเถอะ  ปล่อยคนผิด ๑๐ คนดีกว่าเอาคนไม่ผิด ๑ คนไปเข้าคุก  มันคือสุภาษิตกฎหมายครับ


ทนายนิทัศน์ ประเสริฐเนติกุล





ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ศาลาการเปรียญไม้ทรงโบราณ ที่อำเภอเสาไห้

ตำนาน และประวัติความเป็นมา ของอำเภอเถิน จังหวัดลำปาง

[คติธรรม] คมธรรมของหลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ