[สาระน่ารู้] ผ้าไหมยกดอกลำพูน มรดกล้านนาสู่รางวัล สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ของยูเนสโก
ผ้าไหมยกดอกลำพูน
มรดกล้านนาสู่รางวัล
สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ของยูเนสโก
.....เราจะเห็นได้ว่าความภาคภูมิใจของชาวลำพูนในวันนี้ เกิดจากหมุดหมายแรกที่สำคัญ เริ่มมาจากความสนพระทัยในการสนับสนุนในด้านผ้าทอพื้นบ้านล้านนา โดยพระราชชายาฯ เจ้าดารารัศมี....
จากไหมของชนชั้นสูง สู่ฝ้ายของชาวบ้าน
ความนิยมในผ้าไหมยกดอกลำพูน เริ่มจากชนชั้นสูงในราชสำนักสยามก่อน จากนั้นก็กระจายสู่กลุ่มเจ้านายฝ่ายเหนือ
ส่วนชาวบ้านยังคงนุ่งซิ่นก่าน (ซิ่นต๋า – ผ้าตาๆ ลายตามขวางแบบเรียบๆ) กับประชากรกลุ่มชาวลื้อ ชาวยองชาวขึนที่อพยพมาจากรัฐฉานในพม่าและสิบสองปันนาจากจีน ยังคงนุ่งซิ่นตีนเขียวในชีวิตประจำวันกับใส่เสื้อปั๊ดสาบป้ายข้างสีคล้ำๆ ไม่มีการใส่ผ้ายกดอกแบบชาววังแต่อย่างใด
แม้แต่ผ้าฝ้ายยกดอกก็ยังลงไม่ถึงชาวบ้าน ยังไม่ต้องพูดถึงผ้าไหม ซึ่งเป็นสิ่งที่มีราคาแพงและรักษายาก พบว่าชาวยองในลำพูนเกือบร้อยเปอร์เซนต์ ราว 80 ปีก่อนยังมีใครกล้าทอไหม เพราะเห็นว่าเป็นของชนชั้นสูง และต้องฆ่าสัตว์ตัดชีวิตเป็นบาป จึงนิยมทอแต่ผ้าฝ้าย
จนกระทั่ง เจ้าหญิงส่วนบุญ เป็นบุคคลแรกที่นำวิชาการทอผ้ายกดอกที่รับมาจากเจ้าดารารัศมีมาเผยแพร่ต่อ ฝึกหัดให้แก่สตรีลำพูน จนเป็นที่รู้จักแพร่หลาย มีการตั้งโรงงานทอผ้าไหมยกดอกหลายแห่ง
เมื่อมีเส้นทางรถไฟตัดอุโมงค์ขุนตานจากกรุงเทพฯ ถึงเชียงใหม่ ทำให้การคมนาคมขนส่งติดต่อสื่อสารถึงกันได้สะดวกและรวดเร็ว ปรากฏว่าชนชั้นสูงจากกรุงเทพฯ มีความต้องการผ้าไหมยกดอกจำนวนเพิ่มมากขึ้น จึงสั่งให้ชาวลำพูนทอส่ง โดยเฉพาะหลังจากมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา คหบดี สามัญชนทั่วไปก็เริ่มรู้จักผ้ายกดอกแล้ว แต่เปลี่ยนจากผ้าไหมมาเป็นผ้าฝ้ายแทน ยุคนั้นว่ากันว่าในลำพูนเดินทุกๆ 2 เมตรจะเจอแต่โรงทอผ้า เห็นได้ว่าผ้าไหมยกดอกและผ้าฝ้ายยกดอกกลายเป็นที่ต้องการของคนทั่วไป ไม่จำเพาะในวงสังคมชั้นสูงและเจ้านายเท่านั้น
จากเจ้าหญิงส่วนบุญสู่เจ้าหญิงพงษ์แก้ว
นอกเหนือไปจากโรงทอคุ้มเจ้าหญิงส่วนบุญ ซึ่งดำเนินกิจการโดยคุณหญิงเจ้าพงษ์แก้วแล้ว (เจ้าหญิงพงษ์แก้วเป็นสะใภ้ของเจ้าหญิงส่วนบุญ สกุลเดิมของเจ้าหญิงพงษ์แก้วคือ ณ เชียงใหม่ นัดดาพลตรีเจ้าแก้วนวรัฐ สมรสกับเจ้าพัฒนา ณ ลำพูน โอรสของเจ้าหญิงส่วนบุญกับเจ้าหลวงจักรคำขจรศักดิ์) ยังมีโรงทอผ้าเจ้าหญิงลำเจียก ณ ลำพูน (ธิดาของเจ้าหลวงจักรคำขจรศักดิ์กับเจ้าแม่ขานแก้ว ชายาองค์แรก) ทั้งสองแห่งนี้เป็นสถานฝึกหัดด้านฝีมือทอผ้าจากคุ้มหลวงลำพูนเพื่อส่งไปยังราชสำนักสยาม โดยโรงทอทั้งสองนี้มีส่วนส่งเสริมและพัฒนารูปแบบผ้าไหมยกดอกของลำพูนให้มีความหลากหลาย ด้วยการคิดค้นประดิษฐ์ลวดลายใหม่ๆ มีการแข่งขันคัดลายดั้นดอก ทำให้ศิลปหัตถกรรมผ้าไหมยกดอกของจังหวัดลำพูนเจริญก้าวหน้าขึ้นเรื่อยๆ ธุรกิจผ้ายกดอกของกลุ่มเจ้านายได้ดำเนินกิจการโดยส่งจำหน่ายในร้านจิตรลดาและจำหน่ายบุคคลทั่วไป
ยุคแรกยังมีโรงทอของคหบดีภาคเอกชน อาทิ โรงทอผ้าคุณย่าบัวผัน โนตานนท์ โรงทอผ้าป้าคำแหว้น โรงทอผ้าป้าทองคำ อินทพันธ์ โรงทอผ้าป้าบุญศรี บุณยเกียรติ ปัจจุบันดำเนินกิจการโดยลูกหลานและเปลี่ยนชื่อร้านเป็น “ปรีชาเกียรติไหมไทย” เป็นร้านที่มีชื่อเสียงในการออกแบบผ้าไหมยกดอกสวยงามเหมาะสมกับยุคสมัยและเป็นที่ต้องการของตลาดมาก
มารดาของนายปรีชาเกียรติ บุญยเกียรติ ก็ได้ตั้งโรงงานผ้าผ่องพรรณทอผ้าไหมยกดอกอันลือชื่อของจังหวัดลำพูนด้วยเช่นกัน ทำให้นายปรีชาเกียรติเริ่มสนใจในศิลปะการทอผ้าไหมยกดอก และฝึกฝนศึกษาจนมีความรู้ความชำนาญในการคัดลอกลายได้เหมือนของเดิมที่สุด
คัดลายผ้าเก่าของสมเด็จพระพันวัสสา
ยุคเจ้าหญิงส่วนบุญ และเจ้าหญิงลำเจียกเมื่อแรกเปิดโรงทอผ้าใหม่ๆ ยังได้ช่วยกันคัดลายผ้าโบราณของสมเด็จพระศรีสวรินทิรา พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ที่ทรงสะสมผ้าเก่าในราชสำนักสยามไว้อีกจำนวนมาก จนได้ลายราชวัติ ลายแววมยุรา ลายดอกแก้ว ลายเทพนม ลายพุ่มข้าวบิณฑ์ก้านแย่ง ลายใบโกศล ลายดอกพิกุล ลายตาข่าย หรือลายแก้วชิงดวง ฯลฯ พร้อมกับมีการเพิ่มเติมประดิษฐ์ลายพื้นเมืองขึ้นมาใหม่ เช่น ลายสร้อยสา ลายดอกเอื้อง ลายดอกเข็ม ลายเมล็ดข้าวโพด ฯลฯ
ผ้าไหมยกดอกลำพูนค่อยๆ มีชื่อเสียงมากขึ้น โดยเฉพาะในเขตอำเภอเมืองและอำเภอป่าซาง ทำเสร็จก็ส่งไปขายที่เชียงใหม่ เคยได้รับรางวัลแต่งกายประจำชาติสวยงามที่สุด เมื่อคราวประกวดนางงามจักรวาล (เช่น ภรณ์ทิพย์ นาคหิรัญกนก) โดยใช้ผ้าไหมยกดอกของลำพูนตัดเป็นชุดไทยขึ้นประกวดต่อเนื่องกันเป็นเวลา 20 ถึง 30 ปีบนเวทีโลก
เดิมผ้าไหมยกดอกเป็นผ้ามีราคาแพง จึงเป็นที่แพร่หลายเฉพาะในวงสังคมชั้นสูงหรือราชสำนักเท่านั้น และต่อมาใช้เป็นผ้าตัดชุดราตรีในเวทีประกวดนางสาวไทย Miss Universe, Miss Asia Pacific หลายเวที
แต่ปัจจุบันผ้าไหมยกดอกลำพูนได้รับการอุปถัมภ์จาก คุณเจ้าดารารัตน์ ณ ลำพูน ทายาทของเจ้าหญิงส่วนบุญ ณ ลำพูน และเจ้าหญิงพงษ์แก้ว ณลำพูน (ณ เชียงใหม่) โดยบริจาคที่ดินและทรัพย์สินในการก่อตั้ง "สถาบันผ้าทอมือหริภุญชัย" ขึ้นที่บริเวณริมแม่น้ำกวง ตำบลต้นธง อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน
จากนั้นมอบให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูนเป็นหน่วยงานรับผิดชอบดูแล สถาบันนี้มีหน้าที่รวบรวมองค์ความรู้ทางด้านผ้าทอในล้านนาทุกประเภท มีการฟื้นฟูลวดลายโบราณ จัดสร้างพิพิธภัณฑ์ห้องจัดแสดงเครื่องแต่งกายของเจ้านายฝ่ายเหนือ มีห้องบรรยายสรุปความเป็นมาของผ้าไหมยกดอกลำพูน มีร้านจำหน่ายสินค้าที่ระลึก มีโรงทอสำหรับสาธิตให้ผู้สนใจเข้าชม พร้อมกับแปลงปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ที่มีการรับรองสิทธิบัตรจากสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาได้รางวัลสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์
กระทั่งปีพุทธศักราช 2551 "ผ้าไหมยกดอกลำพูน" ได้รับการประกาศให้เป็นผลิตภัณฑ์ประเภทสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ของโลก (GI หรือ Geographical Indicator) จากองค์กรยูเนสโก หมายความว่าเป็นงานหัตถศิลป์ที่มีการผลิตโดยภูมิปัญญาของชาวลำพูน ใช้วัสดุทั้งหมดที่ทำขึ้นจากท้องถิ่นลำพูน และมีการกระจายรายได้ให้แก่คนลำพูน ผ้าไหมยกดอกยังคงได้รับความนิยมอยู่เสมอ เพราะเป็นผ้าที่เหมาะแก่การสวมใส่ในราชพิธีต่างๆ และงานเนื่องในโอกาสพิเศษที่แสดงออกถึงเอกลักษณ์ของความเป็นไทย
เดิมนั้น ชาวลำพูนต้องสั่งซื้อเส้นไหมจากเพชรบูรณ์ จากจีน และเวียดนามในลักษณะนำเข้าวัตถุดิบ ตามที่ได้กล่าวแล้วว่าคนยองลำพูนส่วนใหญ่ไม่กล้าฆ่าตัวไหม ในที่สุดก็เริ่มจ้างคนกะเหรี่ยงที่อำเภอทุ่งหัวช้าง จังหวัดลำพูนทำหน้าที่ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมแทน แล้วส่งเส้นไหมลงมาที่ราบให้ชาวยองดำเนินการทอต่อ เส้นไหมเหล่านี้ยุคแรกๆ ก็มีคุณภาพที่ไม่ค่อยดีนัก ต่อมาได้รับการพัฒนาปรับปรุงคุณภาพจนได้มาตรฐานทัดเทียมกับเส้นไหมจากแหล่งอื่นๆ จนที่สถาบันผ้าทอหริภุญชัย มีการสาธิตปลูกหม่อนเลี้ยงไหมให้ชมอยู่ที่แปลงด้านข้างอาคารสำนักงาน
การจะได้รางวัลสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ได้นั้น สินค้าต้องผลิตเองทั้งหมดทุกขั้นตอนในพื้นที่นั้นๆ คือทั้งต้นน้ำ (วัสดุ) กลางน้ำ (วิธีการคัดลาย วิธีการทอ) และปลายน้ำ (ศูนย์จำหน่าย)
เราจะเห็นได้ว่าความภาคภูมิใจของชาวลำพูนในวันนี้ เกิดจากหมุดหมายแรกที่สำคัญ เริ่มมาจากความสนพระทัยในการสนับสนุนในด้านผ้าทอพื้นบ้านล้านนา โดยพระราชชายาฯ เจ้าดารารัศมี แม้จะรับเทคนิคจากภายนอกคือสยามและนครศรีธรรมราชก็ตาม แต่พระองค์ได้นำมาพัฒนาปรับปรุงใหม่จนกลายเป็นอัตลักษณ์ของชาวลำพูน เริ่มแพร่หลายในวงสตรีระดับสูง เป็นผ้าที่ใช้ในงานทางการของเจ้าฝ่ายเหนือและชุดไทยพระราชนิยม จากนั้นก็ส่งต่อเป็นภูมิปัญญาสู่ชาวบ้านทั่วไป จนในที่สุดผ้าทอยกดอกลำพูนกลายเป็นหัตถกรรมชิ้นเอกของโลกจวบจนถึงปัจจุบันนี้
ขอบคุณบทความต้นเรื่องจากเพจคนล้านนาและภาพผ้ายกดอกจากเชียงใหม่นิวส์
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น