ประวัติพระพุทธชินราช จังหวัดพิษณุโลก


 

ประวัติพระพุทธชินราช

 

               พระพุทธชินราช เป็นพระพุทธรูปที่มีลักษณะงดงาม เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่ มีหน้าตักกว้าง ๕ ศอก ๑ คืบ ๕ นิ้วเศษ ประดิษฐานอยู่ที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ในวิหารใหญ่ทางทิศตะวันตก หันพระพักตร์ไปทางแม่น้ำ เป็นพระพุทธรูปที่สำคัญองค์หนึ่งในประวัติศาสตร์ไทย พระมหากษัตริย์ไทยทั้งสมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์ ทรงเคารพนับถือสักการบูชามาโดยตลอด วัดพระศรีรัตนมหาธาตุนี้ เป็นวัดหลวงชั้นเอก "วรมหาวิหาร" ตั้งอยู่ริมแม่น้ำน่าน ฝั่งตะวันออก ริมถนนพุทธบูชา ตําบลในเมือง อําเภอเมือง จ.พิษณุโลก ชาวเมืองพิษณุโลกเรียกพระพุทธชินราช ว่า " หลวงพ่อใหญ่"

 

                พระพุทธชินราช เป็นพระพุทธรูปศิลปะแบบปางมารวิชัยและสุโขทัย เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองมาตั้งแต่โบราณ มีตำนานจาก พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งทรงพระราชนิพนธ์ใน พ.ศ. ๒๔๐๙ โดยอาศัยหลักฐานจากพงศาวดารเหนือ แต่หลักฐานทางประวัติศาสตร์โบราณคดียุติได้ดังนี้คือ พระพุทธชินราชสร้างโดยพระมหาธรรมราชาที่ ๑ (พญาลิไท) กษัตริย์ลำดับที่ ๕ แห่งกรุงสุโขทัย ซึ่งในตำนานพระพุทธชินราช เรียกว่า พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก โดยสร้างพระพุทธรูปพร้อมกัน ๓ องค์ เพื่อประดิษฐานในพระวิหาร ของวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เมืองพิษณุโลกเมื่อ พ.ศ. ๑๙๐๐ มีช่างหล่อพระพุทธชินราช เป็นช่างพราหมณ์ฝีมือดี ๕ นาย คือ ๑. บาอินท์ ๒. บาพรหม ๓. บาพิษณุ ๔. บาราชสังข์ ๕. บาราชกุศล

 

              อีกหนึ่งตำนานเมืองเหนือได้กล่าวว่า พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฏก เจ้าแผ่นดินเชียงแสน ทรงมีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า ได้ทรงเล่าเรียนศึกษาพระไตรปิฎกจนคล่องแคล่วชำนิชำนาญทำนุบำรุงกิจการพระพุทธศาสนา ให้เจริญวัฒนาแผ่ไพศาลไปทั่วทุกทิศานุทิศ ถึงแม้พระทัยของพระองค์จะยึดมั่นในพระพุทธศาสนาเพียงใดก็ตาม ก็หาได้เว้นการแผ่พระบรมเดชานุภาพขยายอาณาเขตไม่ จึงได้หาเหตุกรีธาทัพยกมาตีเมืองสวรรคโลก หรือศรีสัชนาลัย พระเจ้ากรุงศรีสัชนาลัย ได้ยกกองทัพออกต่อสู้ กองทัพได้ปะทะกันหลายครั้ง พลทหารทั้งสองฝ่ายล้มตายเป็นอันมาก พระเจ้ากรุงศรีสัชนาลัยตกอยู่ทางฝ่ายเสียเปรียบ จึงได้เจรจาสงบศึก เริ่มสร้างความสัมพันธไมตรีให้มีต่อกันตามเดิม ได้ยกพระราชธิดาถวายต่อพระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก เมื่อพระเจ้าศรีธรรมไตรปิฏก ได้พระราชธิดาก็ทรงพอพระทัยจึงยกทัพกลับ ตั้งพระนางไว้ในตำแหน่งอัครมเหสี ทั้งสองพระองค์มีพระราชโอรส ๒ องค์ องค์หนึ่งทรงพระนามว่า ไกรสรราช อีกองค์หนึ่งทรงพระนามว่า ชาติสาคร พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกได้ทรงสร้างเมืองขึ้นใหม่ที่ตำบลสองแคว เพื่อให้พระราชโอรสปกครอง ได้ตั้งชื่อเมืองที่่สร้างใหม่ว่า "เมืองพิษณุโลก"




 

   เนื่องจากพระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก ทรงมีพระราชศรัทธาในพระพุทธศาสนา จึงได้ทรงดำริว่า จะสร้างพระพุทธรูปไว้เป็นศรีแก่เมืองพิษณุโลก ได้ให้ช่างเมืองสุโขทัยกับเมืองเชียงแสน ร่วมกันแกะสลักแบบจำลองพระพุทธรูปขึ้น ๓ องค์ คือ พระพุทธชินราชองค์หนึ่ง พระพุทธชินสีห์องค์หนึ่ง พระศรีศาสดาองค์หนึ่ง ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่งดงามมาก แล้วหล่อพระพุทธรูปทั้งสามองค์ด้วยทองสัมฤทธิ์ เมื่อวันเพ็ญเดือนยี่ ปีจอ พ.ศ. ๑๔๙๙ เมื่อเย็นแล้วได้แกะแบบพิมพ์ออก รูปของพระชินสีห์ และพระศรีศาสดาเนื้อทองได้แล่นตลอดเสมอกันติดสนิทเรียบร้อยสมบูรณ์ดี แต่รูปพระพุทธชินราชทองหาได้แล่นติดกันไม่ ช่างได้ทำรูปหล่อใหม่อีกถึง ๓ ครั้ง ทองก็ไม่ติด ยังความเศร้าโทมนัสแก่พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกเป็นอย่างยิ่ง พระองค์ทรงตั้งสัตยาอธิษฐาน ร่วมกับพระอัครมเหสี ในการที่จะทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้วัฒนาถาวรสืบไป แล้วให้ช่างสร้างรูปแบบจำลองใหม่ คราวนี้เทวดาได้แปลงตนเป็นปะขาวมาช่วยสร้างแบบจำลองด้วย เมื่อสร้างแบบจำลองได้แล้วก็เริ่มเททองใหม่ เมื่อวันพฤหัสบดี ขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๖ ปีกุน พ.ศ. ๑๕๐๐ พระพุทธรูปก็สำเร็จเป็นอันดี เทวดาปะขาวนั้นก็หายไป เศษทองที่เหลือจากหล่อพระพุทธรูปทั้งสามองค์ ได้รวบรวมหล่อพระพุทธรูปขึ้นอีกองค์หนึ่ง ให้ชื่อว่า พระเหลือ พระพุทธรูป ๔ องค์ ได้ประดิษฐานอยู่ที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดพิษณุโลก

 

     ถ้าจะพิจารณากันในแง่ประวัติศาสตร์ของชาติไทยแล้ว มีข้อความที่คลาดเคลื่อนกันอยู่มาก เช่นเมื่อตอนพ่อขุนรามคำแหงครองราชสมบัติอยู่ ณ กรุงสุโขทัย เมื่อพิษณุโลกยังเป็นหัวเมือง มิได้มีฐานะเป็นเมืองลูกหลวง อีกประการหนึ่ง ลักษณะพระพุทธรูป ๓ องค์นี้ เป็นฝีมือช่างเชียงแสนผสมสุโขทัยจริง แต่เป็นฝีมือช่างรุ่นหลัง จะสังเกตเห็นได้จากชายจีวรซึ่งยาวแบบลังกา ปลายนิ้วพระหัตถ์ยาวเสมอกัน ซึ่งผิดกับสมัยกรุงสุโขทัยและเชียงแสนรุ่นก่อน จะทำนิ้วพระหัตถ์ไม่เท่ากับ

 

     หลักฐานยืนยันอีกอย่างหนึ่งในพงศาวดารเมืองเหนือว่า พระเจ้าแผ่นดินที่ปรากฏพระเกียรติว่า ทรงรอบรู้พระไตรปิฏกนั้น มีพระองค์เดียว คือ พระมหาธรรมราชาลิไทย เป็นมหาอุปราชครองเมืองศรีสัชนาลัย หรือสวรรคโลก ต่อมาได้ขึ้นครองราชสมบัติ ณ กรุงสุโขทัย เป็นพระเจ้าแผ่นดินองค์ที่ ๕ แห่งราชวงศ์พระร่วง ทรงมีพระราชศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่งนัก ได้เสด็จออกทรงผนวชเป็นพระภิกษุอยู่ระยะหนึ่ง ได้ทรงพระราชนิพนธ์หนังสือไตรภูมิกถา หรือที่เราเรียกกันว่า ไตรภูมิพระร่วง ทรงชำระสอบสวนพระไตรปิฎก หลักฐานเรื่องราวที่กล่าวมานี้ ทำให้เชื่อได้ว่า พระเจ้าแผ่นดินที่พงศาวดารเมืองเหนือเรียกว่า พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกนั้นคือ พระมหาธรรมราชาลิไท นี่เอง แต่ที่สำคัญชื่อเมืองและ พ.ศ. ผิดไป เมื่อพระองค์ครองราชย์แล้ว ได้ทรงสร้างเมืองพิษณุโลกขึ้นเป็นเมืองลูกหลวง และได้โปรดให้หล่อพระพุทธรูปขึ้น ๓ องค์ ในราวพุทธศักราช ๑๙๐๐ ลักษณะพระพุทธรูป จึงผิดกับพระพุทธรูปเมืองสุโขทัยและเชียงแสนรุ่นก่อน

 

     ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงสรรเสริญว่า พระพุทธชินราชนี้เป็นพระปฏิมากรที่ประเสริฐล้ำเลิศ ประกอบไปด้วยพระพุทธลักษณะที่งดงาม อันเทพยาดา อภิบาลรักษา ย่อมเป็นที่เคารพนับถือมาแต่ครั้งโบราณกาล แม้พระเจ้าแผ่นดินอยุธยาที่มีพระบรมเดชานุภาพมากก็ทรงทำการสักการบูชามาหลายพระองค์     

 

     ในสมัยอโยธยาเป็นราชธานี สมัยพระมหินทราธิราช พระมหาจักรพรรดิ หรือพระเจ้าช้างเผือก ได้มอบราชสมบัติให้แก่พระราชโอรส คือ พระมหินทราธิราช แล้วเสด็จไปเมืองพิษณุโลก ได้ทรงปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนมหาธาตุเป็นอันดี แล้วแต่งตั้งนางชีและพระภิกษุจำนวนมากให้อยู่รักษาวัดแล้วเสด็จกลับ เมื่อเสด็จมาถึงกรุงศรีอยุธยา ได้ทรงผนวชพร้อมกับข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เป็นจำนวนมาก

 

    ต่อมาในแผ่นดินพระมหาธรรมราชา สมเด็จพระนเรศวรราชโอรสเสด็จกลับมาจากกรุงหงสาวดี เพราะถูกพม่าเอาตัวไปเป็นประกัน ขณะนั้นไทยเสียกรุงแก่พม่า เนื่องจากคนไทยขาดความสามัคคี เมื่อพระนเรศวรเจริญวัยได้เสด็จกลับ ครั้นมาถึงเมืองพิษณุโลกทรงเปลื้องเครื่องทรงออกบูชาถวายพระพุทธชินราช ได้ทำการสมโภชตลอด ๓ วัน ๓ คืน  อนึ่ง เมื่อพระนเรศวรถูกพระเจ้านันทะบุเรงกษัตริย์พม่าคิดร้าย พระองค์ทรงทราบจากพระมหาเถรคันฉ่อง และพระยาเกียรติ พระยารามที่มากราบทูล จึงได้พาท่านทั้งสามกลับมายังกรุงศรีอยุธยา ทรงโปรดให้มหาเถรคันฉ่อง จำพรรษาอยู่ ณ วัดมหาธาตุ พระราชทานจังหันนิตยภัต และสมณศักดิ์ต่างๆ แล้วสมเด็จพระนเรศวรเสด็จไปยังเมืองพิษณุโลกอีกครั้ง ก็ทรงเปลื้องเครื่องสุวรรณาลังการและขัตติยาภรณ์ กระทำการสักการบูชาพระพุทธชินราช

 

     ในแผ่นดินสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เมื่อพระองค์ทรงกระทำยุทธหัตถีชนะพระมหาอุปราชา ที่ตำบลหนองสาหร่าย ดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี เสด็จกลับมาได้ตรัสลงโทษให้ประหารชีวิตแม่ทัพนายกองเสีย เพราะตามเสด็จไม่ทัน แต่สมเด็จพระพนรัตน์ วัดป่าแก้ว พร้อมด้วยพระราชาคณะ ๔๕ รูป เข้าไปถวายพระพรขออภัยโทษ พระองค์ก็ทรงพระราชทานให้



 

      ดังมีเรื่องกล่าวไว้ในประวัติศาสตร์ว่า พระนเรศวรทรงตรัสกับพระพนรัตน์ว่า "พวกนายทัพนายกองมันอยู่ในกระบวนทัพของโยม มันกลัวข้าศึกยิ่งกว่าโยม ปล่อยให้โยมสองคนพี่น้องฝ่าเข้าไปท่ามกลางข้าศึก กระทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชาได้ชัยชนะแล้วจึงเห็นหน้ามัน หากว่าบารมีของโยมหาไม่แผ่นดินจะเป็นข้าของชาวหงสาวดีเป็นแน่ ฉะนั้นโยมจึงให้ลงโทษตามกฎพระอัยการศึก"

 

     สมเด็จพระพนรัตน์ถวายพระพรว่า "นายทัพนายกองจะไม่รักใคร่ไม่เกรงกลัวพระราชสมภารเจ้านั้นหามิได้ หากแต่พระเกียรติของพระราชสมภารเจ้าเป็นมหัศจรรย์ เหมือนเป็นครั้งสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าผจญพระยามาราธิราชในวันตรัสรู้ ถ้ามีเทพยดาเข้าช่วยแม้จะมีชัยแก่พระยามารก็หาเป็นอัศจรรย์ไม่ ขอพระราชสมภารเจ้าอย่าทรงโทมนัสน้อยพระทัยไปเลย ทั้งนี้เพราะเทพยดาเจ้าสำแดงพระเกียรติยศ" เมื่อพระนเรศวรทรงสดับดังนั้นก็ทรงคลายพระพิโรธ ปราโมทย์ในพระหฤทัย ให้อภัยโทษตามคำขอ

 

     อนึ่ง...ในรัชกาลสมเด็จพระนเรศวรนี้ พระองค์ได้เสด็จไปนมัสการพระพุทธชินราชหลายครั้ง ครั้งหนึ่งได้ทรงปิดทองด้วยพระหัตถ์พระองค์เอง และให้มีมหรสพสมโภชตลอด ๗ วัน ๗ คืน

 

   และในแผ่นดินสมเด็จพระบรมราชาธิราช พระราเมศวรเสด็จไปยังเมืองพิษณุโลกได้เห็นน้ำพระเนตรของพระพุทธชินราชตกออกมาเป็นสีแดงคล้ายพระโลหิต

 

     ต่อมาในแผ่นดินรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิยมหาราช ได้ทรงสร้างวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามขึ้น เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๒ ได้ทรงโปรดให้กรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ (ต้นตระกูล จิตรพงศ์) ออกแบบพระอุโบสถ ซึ่งเป็นพระอุโบสถที่งดงามมาก สร้างด้วยหินอ่อนล้วน เมื่อสร้างเสร็จแล้วพระองค์ก็ดำริหาพระพุทธรูปที่จะตั้งเป็นพระประธานในพระอุโบสถ ทรงเห็นว่าพระพุทธชินราชเป็นพระพุทธรูปงดงามมาก สมควรที่จะประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถ ครั้นจะอัญเชิญพระพุทธชินราชลงมา ก็เห็นว่าเป็นที่นับถือของประชาชนชาวเมืองเป็นอันมาก จึงได้จำลองพระพุทธชินราชขึ้นมาใหม่ และได้เสด็จไปเททององค์พระปฎิมาและสมโภชพระพุทธชินราช เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๔๔๒ เสร็จแล้วจึงโปรดให้อัญเชิญ พระพุทธชินราชจำลอง มาประดิษฐานเป็นพระประธานอยู่ในพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตร เมื่อวันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๔๔ ทรงถวายสายสะพายเครื่องราชอิสริยาภรณ์พนรัตน์ เป็นพุทธบูชา ทรงปิดทองพระพุทธชินราชจำลองด้วยพระหัตถ์แล้วทำการสมโภช ๓ วัน ๓ คืน    

 

     ในสมัยก่อนมีประเพณีสรงน้ำประจำปีในเทศกาลสงกรานต์ และมีประเพณีการห่มผ้าองค์หลวงพ่อ แต่ปัจจุบันได้ยกเลิกไปเนื่องจากเกรงว่าจะเป็นการทำให้องค์พระชำรุด

 


 

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ศาลาการเปรียญไม้ทรงโบราณ ที่อำเภอเสาไห้

ตำนาน และประวัติความเป็นมา ของอำเภอเถิน จังหวัดลำปาง

[คติธรรม] คมธรรมของหลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ