[ย้อนรอยประวัติศาสตร์] กลุ่มชาติพันธุ์โส้


 

กลุ่มชาติพันธุ์โส้

    คำว่าโส้ หรือ โซ่ หรือกระโซ่ เป็นคำที่เรียกชื่อชนกลุ่มหนึ่งที่อาศัยอยู่ในภาคอีสาน ชาวโส้จะมีลักษณะชาติพันธุ์ของมนุษย์ในกลุ่มมองโกลอยด์ ตระกูลออสโตร เอเชียติก มอญ เขมร เป็นกลุ่มเดียวกับพวกแสก และกะเลิงจากบันทึกกรมพระยาดำรงราชานุภาพเมื่อครั้งเสด็จตรวจราชการที่มณฑลอุดรและมณฑลอีสาน เมื่อปี พ.ศ. 2449 อธิบายว่ากระโซ่ คือพวกข่าผิวคล้ำกว่าชาวเมืองอื่น มีภาษาพูดของตนเอง อาศัยอยู่ในบริเวณมณฑลอุดร มีมากเป็นปึกแผ่นที่เมืองกุสุมาลย์มณฑลในจังหวัดสกลนคร นอกจากนี้พบว่ามีชาวโส้อาศัยกันเป็นกลุ่ม ๆ กระจายอยู่ทั่วไป เช่น ที่อำเภอโพนสวรรค์ จังหวัดนครพนม อำเภอเขาวง อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ อำเภอเมือง อำเภอดอนตาล อำเภอคำชะอี อำเภอดงหลวง จังหวัดมุกดาหาร


 

    ถิ่นฐานเดิมของชาวโส้ ชาวโส้ เดิมมีถิ่นอาศัยอยู่บริเวณภาคกลางของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว อาศัยกระจัดกระจายในเขตการปกครองของเมืองภูวดลสอางค์ หรือเมืองภูวนากรแด้ง เมื่อสมัยขึ้นกับราชอาณาจักรไทย ชาวโส้อาศัยอยู่ในเมืองพิณ เมืองนอง เมืองวัง อ่างคำ และเมืองตะโปน (ปัจจุบัน คือ เมืองเซโปนของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว)

 


    การอพยพของชาวโส้สู่จังหวัดมุกดาหารและสกลนคร ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ชาวโส้ที่เข้ามาอาศัยในเขตจังหวัดมุกดาหารอพยพเข้ามาในช่วงสมัยรัชกาลพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พ.ศ. 2359 ตามตำนานกล่าวว่าเป็นคำสั่งของแถน โดยผู้ทรงเจ้าทรงผีของชาวโส้เป็นผู้ประกาศบอกกันทั่วไปว่าในไม่ช้าจะเกิดกลียุคในบริเวณที่อาศัยนี้ ได้แก่ บริเวณเมืองตะโปน จึงขอให้ลูกหลานที่รักอิสระ รักสงบ ให้พากันอพยพหนีข้ามแม่น้ำโขงไปอยู่ดินแดนอันศักดิ์สิทธิ์ ตั้งแต่บรรพบุรุษเดิมให้อยู่บริเวณเทือกเขาภูพานเพราะบริเวณดังกล่าวมีหนองน้ำศักดิ์สิทธิ์เป็นที่อุดมสมบูรณ์ จะทำให้ชาวโส้มีความรุ่งเรืองต่อไป ดังนั้นผู้ที่เชื่อคำทำนายก็ได้เดินทางมาตามคำบอกนั้นเขตนั้นในปัจจุบัน คือ อำเภอดงหลวง จังหวัด




    ชาวโส้ที่อพยพเข้าสู่จังหวัดสกลนคร เชื่อว่าน่าจะมีบรรพบุรุษอยู่ที่เมืองมหาชัยกองแก้ว เมืองบก เมืองวัง เมืองบ้ำ โดยเข้ามาอยู่ในบริเวณอำเภอกุสุมาลย์ จังหวัดสกลนครปัจจุบัน สาเหตุที่ชาวโส้อพยพเข้าสู่บริเวณนี้สามารถสันนิษฐานได้ดังนี้


    ในสมัยรัชกาลที่ 3 ได้มีการทำสงครามกับเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์ กองทัพไทยได้ยึดนครเวียงจันทน์ ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2371 และเข้าทำลายนครเวียงจันทน์อีกในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2371 เจ้าอนุวงศ์ได้เข้าไปพึ่งบารมีของญวน และพาเครือญาติอพยพหนีไปอยู่ที่เมืองเว้ เมืองกะปอม และในเขตญวน หลังจากนั้นกองทัพไทยได้ยึดเมืองมหาชัยกองแก้ว ซึ่งเป็นเมืองที่มีคนอาศัยอยู่จำนวนมากแล้วนำเอาชาวโส้ ชาวข่าอื่น ๆ ข้ามฝั่งภาคอีสาน ชาวโส้จำนวนมากได้อาศัยอยู่ในเขตอำเภอกุสุมาลย์ จังหวัดสกลนคร

 


    วิถีชีวิตของชาวโส้ ด้วยกลุ่มชาติพันธุ์โส้ เป็นกลุ่มชนที่มีความเชื่อในสิ่งศักดิ์สิทธ์ทั้งที่เป็นสิ่งเหนือธรรมชาติ (Supernaturalism) และความเชื่อตามคติขอม ชาวโส้ยังมีการรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีจากบรรพบุรุษอย่างเหนียวแน่น เช่น พิธีกรรมเกี่ยวกับการคิด การแต่งงาน การรักษาคนป่วย พิธีกรรมเกี่ยวกับการตาย และพิธีกรรมเกี่ยวกับการละเล่น ได้แก่ การเล่นลายกลอง การเล่นโส้ทั่งบั้ง ชาวโส้จะนำเอาดนตรีเข้าไปบรรเลงเป็นส่วนประกอบพิธีกรรม

 


    พิธีกรรมเกี่ยวกับการเกิด เมื่อหญิงชาวโส้ตั้งครรภ์ได้ 8 เดือน ชาวโส้จะทำ "พิธีตัดกำเนิด" โดยใช้หมอที่มีวิชาอาคม ซึ่งจะเป็นหมอผู้ชายหรือหญิงก็ได้แต่ต้องไม่เป็นหม้ายมาทำพิธีตัดกำเนิด โดยมีเครื่องคายในการทำพิธีกรรมดังนี้

    1. กระทงสามเหลี่ยม 9 ห้อง จำนวน 1 กระทง

    2. ข้าวดำ ข้างแดง แกงส้ม แกงหวาน

    3. น้ำใบส้มป่อย 1 ขัน

    4. ด้าย ทำด้วยฝ้ายแท้สีขาว และสีดำ

    5. เครือสูด (เถาวัลย์ชนิดหนึ่ง)

    ฝ้ายทำด้วยด้ายสีขาวและสีดำ จะผูกคาดศีรษะของผู้ตั้งครรภ์ อีกปลายหนึ่งผูกไว้ที่กระทง และอีกข้างหนึ่งสามีของผู้ตั้งครรภ์จะจับไว้ ผู้ตั้งครรภ์ก็จะนั่งเหยียดเท้าทั้งสองข้างไปทางกระทง โดยมีอุปกรณ์ที่ใช้เบิกผี มีดังนี้

    1. ผ้าถุง 1 ผืน

    2. ผ้าขาวม้า 1 ผืน

    3. ไก่ต้มสุก 1 ตัว

    4. เหล้า 1 ไห

    5. เงิน 12 บาท

    เสร็จแล้วหมอผีจะทำพิธีเอาข้าวดำ ข้าวแดง ไปจ้ำตัวผู้ตั้งครรภ์เพื่อเอาแม่เสนียดออกจากตัวผู้ตั้งครรภ์ทิ้งไว้ในกระทง พร้อมกับนับ หนึ่ง สอง สาม สี่ ห้า หก เจ็ด แปด เก้า ต่อไปหมอจะเบิกผีพรายด้วยคาถา แล้วหมอจะใช้ง้าว (ดาบ) ตัดด้าย และเถาวัลย์ เสร็จแล้วจึงนำกระทงไปทิ้งตามทิศที่หมอบอก ผู้นำกระทงไปทิ้งเวลากลับจะต้องหักกิ่งไม้ติดมือมาด้วยเพื่อที่จะเอามาปัดสิ่งชั่วร้ายออกจากบ้าน จึงเป็นเสร็จพิธีตัดกำเนิด




 

    พิธีกรรมเกี่ยวกับการรักษาคนป่วย ชาวโส้จะมีความเชื่อในเรื่องผีมาก และชาวโส้จะแบ่งประเภทของผีเป็น 2 ประเภท คือ ผีมูล และผีน้ำ เป็นผีที่อยู่ตามธรรมชาติ เช่น ผีฟ้า ผีแถน ผีไร่ ผีนา ผีตามป่าตามเขา ส่วนผีมูลเป็นผีที่มาจากเชื้อสายบรรพบุรุษ เมื่อจะกระทำการใด ๆหรือเมื่อเจ็บป่วยชาวโส้จะทำพิธีกรรมเหยา

 


    การเหยาของชาวโส้ แบ่งออกเป็นกลุ่ม ดังนี้

    1. การเหยาลงสนาม เป็นการเหยาตามฮีตคองของหมอเหยา ผู้ที่เข้าร่วมพิธีกรรมจะต้องเป็นผู้ป่วยที่หมอเหยาเคยรักษาแล้วหายป่วย ที่ลงสนามผีน้ำและผีมูล การลงสนามของผีมูลจะทำกัน 3 ปี ต่อ 1 ครั้ง แต่ผีน้ำจะลงสนามทุกปีซึ่งการเหยาจะลงสนามช่วงเดือน 3 – 4 ของเดือนทุกปี

    2. การเหยาลงทำไร่นา จะทำการเหยาในช่วงก่อนการลงปักดำนาจุดประสงค์ในการเหยาเพื่อให้ผีไร่นาช่วยดลบันดาลให้น้ำท่าข้าวกล้าในนาอุดมสมบูรณ์

    3. การเหยาตัดกำเนิด เป็นการเหยาเพื่อตัดกำเนิดในการคลอดลูก เพื่อหญิงชาวโส้ที่จะคลอดลูกและลูกที่คลอดออกมาสมบูรณ์แข็งแรงไม่มีพิษภัย

    4. การเหยาเพื่อเสี่ยงทายเป็นการเหยาเพื่อหาสาเหตุ เมื่อพบสาเหตุแล้ว จะทำการเหยาเพื่อแก้ซึ่งเป็นขั้นตอนหนึ่งของการเหยาเพื่อรักษาคนป่วย

    5. การเหยาเพื่อการรักษาคนป่วย คนโส้เชื่อว่าคนป่วยเกิดจากการกระทำของผีน้ำหรือผีมูลก็ได้

    ในการเหยาทั้ง 5 ประเภท จะมีเครื่องคายหรือเครื่องเซ่นสรวงเหมือนกัน



    ในกรณีการเหยาเพื่อรักษาคนป่วย ชาวโส้มีความเชื่อว่า การเจ็บไข้ได้ป่วยเกิดจากการกระทำของผี การรักษาคนป่วยขั้นแรกที่ชาวโส้นึกถึง คือ การเหยา โดยมีขั้นตอนการดำเนินการ คือ ถ้าของบ้านที่มีคนป่วยจะต้องหาหมอมาเหยา และหาหมอล่ามและหมอแคน ต่อจากนั้นจะต้องเตรียมค่าคาย ที่จะให้หมอเหยาขึ้นบ้านเป็นเงิน 2 บาท ขันธ์ 5 เหล้า 1 ขวด และไข่ไก่ 1 ฟอง หลังจากนั้นหมอเหยาจะเสี่ยงหาสาเหตุว่าโดนกระทำของผีตนใด อุปกรณ์การเสี่ยงทาย 2 อย่าง คือ เสี่ยงทายจากการตั้งไข่ กับการเสี่ยงทายจากการนับเม็ดข้าวสาร ว่าเป็นคู่หรือคี่ว่าเหยาแล้วจะหายหรือไม่หาย เมื่อทราบสาเหตุแล้วก็จัดการหาคายลงดิน มี

    1. ผ้าซิ่นผืน แพรวา

    2. เงินค่าคาย 60 บาท

    3. กระทง 1 กระทง (เป็นกระทงเพื่อเซ่นสรวง) ประกอยด้วย

       - ดอกไม้แดง

       - เทียน

       - ข้าวดำ ข้าวแดง

       - หมากพลู

       - เมี่ยง ทำจากใบมะยอใบมะยม หั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ

       - รูปคน ซึ่งหมายถึง คนป่วยทำจากกาบกล้วย

       - รูปช้าง ม้า ทำจากดิน

       - เรือ ทำจากกาบกล้วย

       - เครือซูด

 

    พิธีกรรมเกี่ยวกับการตาย ชาวโส้เรียกพิธีกรรมเกี่ยวกับการตายว่า "ซางกะมูด" เป็นพิธีศักดิ์สิทธิ์ของชาวโส้ ซาง แปลว่า กระทำ กะมูด แปลว่า ผี ซางกะมูดมีความหมายรวมกันว่าการกระทำผีดิบให้เป็นผีสุก ก่อนจะนำคนตายไปฝังหรือเผา หากไม่กระทำพิธีซางกะมูดผีนั้นจะยังเป็นผีดิบอยู่ ซึ่งไม่เป็นมงคลจะทำให้วิญญาณไปผุดไปเกิดไม่ได้ การกระทำพิธีซางกะมูดจะทำศพคนตายที่มีอายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้น หากศพที่มีการตายตามปกติก็จะกระทำซางกะมูดได้เลย คือ ทำก่อนไปเผา แต่ศพที่ตายโดยอุบัติเหตุชาวโส้ถือว่าเป็นการตายผิดปกติจะทำพิธีก็ต่อเมื่อเวลาผ่านไป 1 เดือนแล้ว




 

    ขั้นตอนในการทำพิธีซางกะมูด ในที่นี้จะกล่าวเฉพาะกรณีศพตายปกติ มีขั้นตอนการทำซางกะมูด 6 ขั้นตอน ดังนี้

    1. ขั้นหาฤกษ์ยาม เมื่อมีคนตายเกิดขึ้น ญาติผู้ตายจะรีบแจ้งข่าวการตายให้นิ๊ว (น้าบ่าว) ทราบทุกคน แจ้งข่าวให้เฒ่าแก่เจ้าฮีตหรือพิธีกรประจำหมู่บ้านเพื่อหาฤกย์ยามในการเก็บศพ เผา หรือฝัง (วันอังคารจะเป็นวันคะลำ / ขะลา) เมื่อหาฤกย์ยามได้แล้วญาติผู้ตายก็จะบอกนั๊วเป็นครั้งที่สองเพื่อให้ทราบวันเวลาในการซางผี ซึ่งครั้งแรกจะเป็นการบอกข่าวการตายแก่ยาฮีต (พิธีกรประจำหมู่บ้าน) และบอกเขย (หมายถึงจุ้มเขยทั้งหมด)

    2. ขั้นตอนรับนิ๊ว (น้าบ่าว) ในวันแรกจะจัดของต้องรับน้าบ่าวดังนี้ จัดสำรับกับข้าว 2 สำรับไข่ไก่สำรับละ 1 ฟอง ส่วนน้าบ่าวจะเตรียมเหล้าไห 2 ไห โดยให้พิธีกรหรือเฒ่ายาฮีต 1 ไห และมอบให้เฒ่าจ้ำผี 1 ไห

    3. ขั้นกระทำพิธีในวันที่สองของการตาย แจ้งให้น้าบ่าวทราบเรื่องซางกะมูด น้าบ่าวจะเตรียมเหล้าไห 2 ไห มอบให้พิธีกรหรือยาฮีต 1 ไห เฒ่าจ้ำผีที่ตาย 1 ไห

    4.ขั้นก่อนการเคลื่อนย้ายศพออกจากบ้าน เฒ่าจ้ำจะบอกผีหรือบอกซางศพว่า "ถึงเวลาจะไปอยู่ในที่มงคลแล้วไปอยู่บ่อนฮ่มบ่อนเย็นเด้อ" พร้อมกับหยิบข้าวสารหว่านไปที่ซากศพนั้น จากนั้นก็จะทำพิธีกรรมซางกะมูดครั้งสุดท้ายก่อนที่จะนำศพไปป่าช้า การทำพิธีซางกะมูดครั้งสุดท้ายฮีตจะถือถ้วยติดเทียนจุดไฟ 1 คู่ แล้วลุกขึ้นยืน คนที่ 1 เดินนำหน้าเวียนขวา คนที่ 2 เป็นเขยคนแรกถือบั้งไม้หรือไห คนที่ 3 เป็นเขยเล็กจะถือเหล็ก (มีดพร้าหัก เคียวหัก หรือขวานหัก) เคาะ และคนที่ 4 คนสุดท้ายจะเป็นคนถือชามหรือจาน คนทั้งสี่จะเดินเวียนขวาแล้วเวียนซ้าย


    5. ขั้นการขอขมา จุ้มเขย และลูกหลานจะเข้ามาขอขมาคารวะต่อศพ โดยเจ้าฮีตจะเป็นผู้นำกล่าวโดยให้ทุกคนหมอบลง เจ้าฮีตจะถือขันธ์ 5 มีดอกไม้ และเทียนรวม 5 คู่ และเจ้าฮีตจะนำกล่าวขมาต่อผี

    6. ขั้นการตัดเวรกรรม เมื่อศพไปถึงป่าช้าแล้ว ก่อนที่จะเผาหรือฝังจะมีพิธีทางศาสนาแล้วจะมีพิธีตัดเวรตัดกรรมดังนี้ พิธีกรหรือเจ้าฮีตจะนำเถาวัลย์มา 1 เส้น ยาวประมาณ 1 – 2 วา ปลายข้างหนึ่งจะมัดไว้ที่โลงศพอีกปลายหนึ่งจะจับไว้โดยญาติ ลูกหลาน และผู้แบกหามศพ เจ้าฮีตจะกล่าวว่า "ต่อไปนี้ตัดญาติขาดมิตรกัน เดินทางคนละเส้น ทางใครทางมัน..." พร้อมกับใช้มีดตัดตรงกลางเถาวัลย์เส้นนั้นให้ขาดและพูดต่อไปอีกว่า "ทางคนละเส้นตะเวนคนละนวย"




 

    คนไทยโส้มีพิธีกรรมความเชื่อที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตที่ในปัจจุบันความเชื่อในบางพิธีกรรมเริ่มจัดทำน้อยลง คนรุ่นใหม่ที่ออกไปศึกษานอกหมู่บ้านหรือไปทำงานต่างถิ่นจึงมีความสนใจในพิธีกรรมของวิถีแบบเก่าลดน้อยลงจากบรรพบุรุษมาก

 

    การแต่งกายของชาวโส้สมัยโบราณ

    ผู้ชาย สวมเสื้อคอตั้งเล็กน้อย ติดกระดุม ชายเสื้อผ่าด้านข้าง กางเกงขาก๊วย หรือผ้าเตี่ยวสีดำ กางเกงชั้นในสีขาว ถ้ามีเทศกาลจะนิยมคาดเอวหรือพันศรีษะด้วยผ้าปิดที่สวยงาม สวมรองเท้าทำด้วยหนังควาย ผู้เรียนไสยศาสตร์จะสวมลูกประคำด้วยลูกแก้หรือลูกมะกล่ำเป็นสัญลักษณ์

    ผู้หญิง นิยมใส่เสื้อดำ แขนกระบอก ผ่าอกขลิบแดงทั้งสองด้าน ติดกระดุมด้วยเหรียญเงินไม่มีกระเป๋าที่ตัวเสื้อ ผ่าชายเสื้อทั้งสองด้าน มีฝ้ายสีแดงพันเป็นเกลียวเย็บเป็นรังดุม ใช้เป็นสัญลักษณ์ของหญิงสาวที่ยังไม่แต่งงาน ใช้นำมันทาผม

 

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ศาลาการเปรียญไม้ทรงโบราณ ที่อำเภอเสาไห้

ตำนาน และประวัติความเป็นมา ของอำเภอเถิน จังหวัดลำปาง

[คติธรรม] คมธรรมของหลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ