[ย้อนรอยประวัติศาสตร์] พระธาตุหลวง มีชื่อเดิมว่าอย่างไร


 พระธาตุหลวง มีชื่อเดิมว่าอย่างไร


เป็นที่ทราบกันอย่างดีว่า พระธาตุหลวง นครหลวงเวียงจันทน์นั้นเป็นที่สักการบูชาและเป็นศูนย์รวมใจของชาวพี่น้องสองฝั่งโขงมาอย่างช้านาน แต่หารู้ไม่ว่า พระธาตุหลวงนั้น มีชื่อเดิมที่คนชาวล้านช้างเรียกขานกันว่าอย่างไร


๐ พระธาตุหลวงนี้มีความสำคัญต่อชาวลาวล้านช้างเป็นอย่างมาก ในยุคสมัยที่ ราชฑูตชาวดัทช์นามว่า เกริต วันวุสตฟ เป็นคณะทูตจากประเทศฮอลันดา เข้ามาในอาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ ซึ่งตรงกับสมัยสมเด็จพระบรมบิตรพระมหาธรรมิกราชาธิราช ได้กล่าวไว้ว่า


" เมื่อถึงเวลา ๑๖.๐๐ นาฬิกา คณะก็เดินไปยังลานใกล้ธาตุก่ออิฐถือปูน สัณฐานดังพีระมิด บุแผ่นทองคำ เหลืองอร่าม กล่าวกันว่ามีน้ำหนักประมาณ ๑๐๐ ปอนด์ ชาวลาวกราบไว้พระธาตุองค์นี้เหมือนกับเทพเจ้า "
( ถอดความโดย Sudhisak Palpho )
.
อย่างไรก็ตาม พระธาตุหลวง เดิมมีชื่อเรียกว่า พระมหาธาตุเจ้าเชียงใหม่


๐ จากจารึกที่ตั้งอยู่ลานพระธาตุหลวงซึ่งสร้างสมัยสมเด็จพระไชยเชษฐาธิราชได้ออกนามพระธาตุหลวงว่าดังนี้
" โลกจุฬามณีนามะโก อะยัง ถูโป ชินะถูโป ชยเชฏฐนามะเกนะ มหาราเชนะ การิโต " ( จารึกวัดธาตุหลวง ๑ บรรทัดที่ ๓ ศักราช ๙๒๘ )


" . . . ชินะคุยหะธาตุยา ชยเชฏฐามหา ราเชนะ ทินนะยาวะ ปัญจะวัสสะหัสสานิ โย " ( จารึกวัดธาตุหลวง ๑ บรรทัดที่ ๕ ศักราช ๙๒๘ )

" บ้านเมืองไร่นารั้วสวนทั้งมวลกับคนทั้งมวลฝูงอันได้ว่ามานี้ กูผู้ชื่อพระไชยเชฏฐาธิราชหากได้ให้โอกาสไว้กับพระมหาธาตุเจ้าเชียงใหม่ ตราบต่อเท่าห้าพันพระวัสสาแล้ว ฺ ฺ ฺ " ( จารึกวัดธาตุหลวง ๑ บรรทัดที่ ๑๒-๑๓ ศักราช ๙๒๘ )



๐ อย่างที่ทราบกันว่าพระธาตุหลวงนี้สร้างทับพระธาตุองค์เก่า และเชื่อกันว่าพระไชยเชษฐาธิราชเป็นผู้สร้างทับ แต่ความจริงแล้ว อาจจะสร้างในสมัยพระโพธิสาราชก็เป็นได้ ผู้ศึกษาได้วิเคราะห์เป็น ๒ ประการ จากถ้อยความในจารึก ประการ ๑ พระธาตุอาจจะสร้างในสมัยพระไชยเชษฐาจริงแต่วัดธาตุหลวงนั้นมีมาก่อนแล้วจึงมาสร้างพระธาตุใส่ทีหลัง ประการ ๒ หากเชื่อว่า วัดและพระธาตุสร้างขึ้นพร้อมกัน ก็เป็นไปได้ที่พระธาตุหลวงจะสร้างขึ้นในสมัยพระโพธิสาราช


" จิ่งปลงจุ้มดวงนี้ไว้กับวัดพระมหาธาตุเจ้าเชียงใหม่ ให้ข้อยแลนาอันพระปิตาธิราชเจ้า ได้ประสาทโอกาสไว้กับ พระมหาธาตุเจ้าเชียงใหม่ "
( จารึกชียงใหม่นาบอน ๑ บรรทัดที่ ๔-๕ ศักราช ๙๒๙)


๐ อย่างไรก็ตาม พระธาตุหลวง ได้รับการอุปถัมภ์ค้ำชูจากพระมหากษัตริย์อย่างต่อเนื่อง มีหลักฐานในสมัย พระวรรัตนธรรมประโชติ ซึ่งเป็นลูกชายของพระไชยเชษฐาธิราช ที่ไม่มีโอกาสได้เห็นพระพักตร์ของพระบิดาเลยสักครั้ง
" ราชบพิตรตนประกอบด้วยประสาทศรัทธาในพุทธศาสนาประสิทธิจุ้มดวงนี้ไว้ทาน กับพระมหาธาตุเจ้าเชียงใหม่ นาหอหลวง ๒ พองค่า ๒ ร้อย นาแจม ค่า ๒ บาท กินพัน นาเวียงจันทน์ เลาให้บ้านนาคายทั้งมวล "
( จารึกวัดธาตุหลวง ๒ บรรทัดที่ ๕-๗ ศักราช ๙๔๕ )



๐ ชาวเวียงจันทน์บางส่วนให้การว่า จารึกดังกล่าวอาจจะเคลื่อนย้ายมาจากวัดด้านข้างพระธาตุหลวงที่อยู่ติดกันชื่อว่า วัดนาบอน อีกทั้งยังมีซากเจดีย์ขนาดใหญ่ แต่จากการตรวจสอบจารึกแล้ว ปรากฏว่า จารึกที่มีถ้อยความออกชื่อ พระธาตุจุฬามณี และ พระมหาธาตุเจ้าเชียงใหม่ อยู่ในหลักเดียวกันและบริบทการกล่าวนั้นแสดงให้เห็นว่าหมายถึงพระธาตุหลวงนั่นเอง


จึงสรุปได้ว่า จารึกไม่ได้เคลื่อนย้ายจากไหนและเป็นการเข้าใจผิดของชาวเวียงจันทน์เอง ดังนั้น ชื่อเดิมของพระธาตุหลวง มีชื่อว่า พระมหาธาตุเจ้าเชียงใหม่ นั่นเอง
........................................
อ้างอิง
- Henry Yule, A narrative of the mission sent by the Governor-General of India to the Court of Ava in 1855; with notices of the country, government and people (London: 1858) ถอดความโดย สุทธิศักดิ์
- จารึกวัดธาตุหลวง ๑ ปริวรรตโดย อ.บุญชู ภูศรี
- จารึกวัดธาตุหลวง ๒ ปริวรรตโดย อ.บุญชู ภูศรี
- จารึกชียงใหม่นาบอน ๑ ปริวรรตโดย อ.บุญชู ภูศรี

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ศาลาการเปรียญไม้ทรงโบราณ ที่อำเภอเสาไห้

ตำนาน และประวัติความเป็นมา ของอำเภอเถิน จังหวัดลำปาง

[คติธรรม] คมธรรมของหลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ