วิธีการพิจารณา ข้อมูลในโทรศัพท์


 

๑ ปี ๒ เดือน ๙ วัน หลังเกิดเหตุ..

 

๒๐ กรกฎาคม ๒๕๖๔ เจ้าหน้าที่สืบสวน-สอบสวน จากตำรวจภูธรสืบภาค ๔ นำโดย พลตำรวจตรี ณัฐนนท์ ประชุม ผู้บังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรภาค ๔ ได้นำกำลังตำรวจ พร้อมหมายศาล จังหวัดมุกดาหาร เข้าตรวจค้นบ้าน นายไชยพล วิภา ในฐานะผู้ต้องหา พร้อมนำโทรศัพท์ ๒ เครื่องไปเพื่อทำการตรวจสอบ {โดยได้นำส่งคืนเมื่อทำการตรวจสอบเสร็จสิ้นลง}​


ในแนวทางการสืบสวน-สอบสวน ถือเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่พนักงานสอบสวนมีอำนาจกระทำได้โดยชอบด้วยกฎหมาย หากแต่ในการพิจารณาตามควรแก่กรณี อาจพิจารณาได้ว่าพยานหลักฐานเหล่านี้ {หากมี}​ ควรถูกจัดเก็บโดยเรียบร้อยในช่วงเวลาที่ผ่านมายาวนานมากแล้ว หากแต่ตามนัยยะการเก็บตรวจนั้น เป็นการตรวจสอบโดยประสงค์ต่อผล เพื่อตอบข้อสงสัยบางประการ


หากมีจะมี และหากไม่มีก็จะไม่มี และไม่ว่าจะมีหรือไม่มี ก็ควรต้องกล่าวถึงสักนิด โดยไหนๆเจ้าหน้าที่ก็นำโทรศัพท์ไปตรวจสอบอย่างแน่ชัดแล้ว ข้อมูลที่ซ่อนอยู่ในโทรศัพท์มือถือ และคอมพิวเตอร์ข้อมูลคอมพิวเตอร์คืออะไร ข้อมูลคอมพิวเตอร์นี้ บางทีเรียกว่า " ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ " บางทีก็เรียกว่า " ข้อมูลดิจิทัล "


ซึ่งเป็นข้อมูลที่เกิดจากการทำงานของระบบคอมพิวเตอร์ ข้อมูลโทรศัพท์มือถือ ปัจจุบันเป็นระบบดิจิตัลหมดแล้ว โทรศัพท์มือถือ จึงเป็นระบบคอมพิวเตอร์ ตามความหมายนี้ในทางกฎหมายด้วย ข้อมูลประเภทนี้จึง หมายถึง ข้อมูลไฟล์ดิจิตัล ที่เป็นเสียง เป็นรูปภาพ เป็นคลิปวีดิโอ เป็นข้อความอักษร เป็นข้อมูลการติดต่อสื่อสารภายในระบบ แบ่งจำแนกออกเป็น ๒ ประเภท คือ ข้อมูลที่มองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ข้อมูลที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่าเพราะถูกลบ หรือซ่อนอยู่


๑.ข้อมูลที่มองเห็นได้ด้วยตาเปล่า อาทิ ข้อความสนทนา.. หรือรูปถ่าย..ในไลน์ ในเฟส ในเพจ .. หมายเลขโทรเข้าออก.. รายชื่อเพื่อนในเฟส ..รายชื่อเพื่อนในอีเมลล์..และอื่นๆ


๒.ข้อมูลที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า อาทิ ข้อมูลการเข้าเวปไซต์.. ข้อมูลการติดต่อสื่อสารของโทรศัพท์กับผู้ให้บริการเครือข่าย.. ข้อมูลรูปภาพที่ซ่อนไว้.. ข้อมูลที่ลบหรือฟอร์แมทฮาร์ดดิสไปแล้ว.. หรือไฟล์เสียงสนทนาทางโทรศัพท์ที่เราไม่ได้ตั้งใจบันทึกไว้ แต่ระบบบันทึกไว้เอง และอื่นๆ...ข้อมูลที่มองไม่เห็นนี้ ถ้าเป็นข้อมูลติดต่อสื่อสาร {กฎหมายใช้คำว่า ข้อมูลจราจร}​ ซึ่งอยู่ในเซิร์ฟเวอร์ ของผู้ให้บริการเชื่อมต่อเครือข่าย ..หรืออยู่ที่เสาส่งสัญญาณโทรศัพท์


เจ้าหน้าที่จะต้องร้องขอ หรือเรียกให้ผู้ให้บริการเชื่อมต่อเครือข่ายส่งมาให้ แต่ถ้าเป็นข้อมูลที่อยู่ในฮาร์ดดิสของเครื่องคอมพิวเตอร์ หรือหน่วยความจำของโทรศัพท์มือถือเอง ทั้งที่ยังอยู่ในเครื่องหรือลบไปแล้ว เจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญ ต้องใช้โปรแกรมพิเศษในการช่วยค้นหาตรวจสอบ พยานหลักฐาน


ในส่วนที่จะกล่าวต่อไป จะขออนุญาตหมายถึง พยานที่เป็นข้อมูลที่ มองไม่เห็นด้วยตาเปล่าเท่านั้น ผู้เชี่ยวชาญที่ตรวจสอบพยานหลักฐานชนิดนี้ได้ คือ...เจ้าพนักงานตำรวจที่มีหน้าที่โดยตรง {กองพิสูจน์หลักฐาน}​ หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวนสอบสวน {สถาบันนิติวิทย์ฯ, กระทรวงดิจิตัล}​ โดย.. คำว่าผู้เชี่ยวชาญนี้.. มิได้หมายความรวมถึง ผู้มีความรู้ทางคอมพิวเตอร์ ที่สามารถซ่อมเครื่องได้ตามร้านค้า หรือผู้ดูแลระบบตามบริษัทต่างๆ มาถึงตรงนี้คิดถึงกล่องดำ หากมีกรณีนำสำนวนขึ้นฟ้องร้องต่อศาล คู่ความ มีความจำเป็นต้องคัดเลือกพยานผู้เชี่ยวชาญ ที่ศาลให้ความเชื่อถือด้วย


มีบางกรณีพบว่า เคยมีการนำเจ้าหน้าที่ในตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญระบบคอมพิวเตอร์ สังกัดบริษัทบ้าง โปรแกรมเมอร์ทั่วไปบ้าง ขึ้นเป็นพยานผู้เชี่ยวชาญ ศาลจะไม่รับฟังพยานผู้เชี่ยวชาญจากคู่ความฝ่ายนี้ในที่สุด จึงเป็นที่น่าเสียดายที่จะสูญเสียพยานหลักฐานในส่วนนี้ไป


โปรแกรมที่ใช้สำหรับตรวจสอบคือ เครื่องมือโปรแกรม และอุปกรณ์ที่ใช้ตรวจสอบคอมพิวเตอร์ และโทรศัพท์มือถือเป็นซอฟท์แวร์ชนิดหนึ่ง ที่ใช้สำหรับตรวจพิสูจน์พยานหลักฐานคอมพิวเตอร์โดยเฉพาะซึ่งเป็นวิทยาการที่ได้มาจากต่างประเทศ ไม่มีจำหน่ายตามท้องตลาด ด้วยเพราะจะจัดจำหน่ายให้กับหน่วยงานของรัฐ ที่มีหน้าที่สืบสวนสอบสวนปราบปรามการกระทำผิดเท่านั้น เครื่องมือที่เจ้าหน้าที่ใช้กู้ข้อมูล หรือดึงข้อมูลต่างๆ ขึ้นมาใหม่ คือซอฟท์แวร์ชื่อ Encase {เอ็นเคส}​ และ FTK ที่ได้รับความนิยมมากคือ“Encase”


ความสามารถของโปรแกรมตรวจพิสูจน์ข้อมูล การกระทำผิดที่มองไม่เห็นนี้ บางทีผู้กระทำผิดซ่อนไฟล์ไว้ใส่รหัส จงใจลบเพื่อทำลายหลักฐาน หรือระบบอาจลบเองจากการบันทึกวนทับไปแล้ว แต่ Encase หรือ FTK สามารถค้นหาข้อมูลที่ถูกซ่อน.. ถูกเปลี่ยนแปลง.. ถูกแก้ไข.. ถูกเข้ารหัส.. ถูกลบ.. หรือถูกฟอร์แมทเครื่องไป ขึ้นมาดูใหม่ได้อีก..


ความสำคัญของพยานผู้ตรวจพิสูจน์ ข้อมูลที่ได้จากการตรวจพิสูจน์ จะปรากฏในรายงานการตรวจพิสูจน์ ซึ่งโดยทั่วไป จะมีผู้ตรวจพิสูจน์มาเบิกความประกอบ เป็นพยานผู้เชี่ยวชาญ {พยานโจทก์}​พยานผู้เชี่ยวชาญนี้ จะเป็นผู้ตรวจพิสูจน์พยานหลักฐานที่มีความรู้มากที่สุด มีความใกล้ชิด และเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐานมากที่สุด พยานปากนี้จึงมีความสำคัญมากที่สุด เพราะกำความลับที่คนอื่นไม่รู้ไว้ทุกอย่าง


ปัญหาในการพิจารณาคดีหลายครั้งพบว่า ทนายจำเลยหากท่านไม่มีความรู้เพียงพอ ก็ไม่รู้จะถามค้านเรื่องไหน ในที่สุดก็มักจบลงที่ ไม่ถามครับ หรือ ยอมรับข้อเท็จจริง ตามรายงานการตรวจพิสูจน์โดยไม่ต้องสืบพยานปากนี้เลย


อัยการนั้นหากท่านไม่มีความรู้เพียงพอ ท่านยังพอจะถามความได้ เพราะเป็นการถามพยานฝ่ายตนให้เล่าเรื่องให้ศาลฟังเท่านั้น ไม่ใช่การถามค้าน เพื่อทำลายน้ำหนักพยาน สำหรับศาลนั้น หากท่านไม่มีความรู้เพียงพอ ท่านอาจจะปล่อยให้คำถามสำคัญ ที่มีผลต่อการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐาน ต้องหลุดลอยไปโดยไม่รู้ตัว เพราะไม่มีใครถาม


ปัญหาข้างต้นนี้เกิดขึ้นจริง ในกระบวนการพิจารณาคดี ไม่ควรท้วงติงเพราะเกิดขึ้นจริงบ่อยครั้ง รับประกันความจริงโดยสถานบันเทิง อนึ่งต้องกราบขออภัยผู้บังคับใช้กฎหมายไว้ ณ ที่นี้ ในการนำความออกเผยแพร่ เพจสถานบันเทิงเชื่อโดยสุจริตใจว่า ความรู้เหมาะกับคนดีผู้บริสุทธิ์


ในขั้นตอนการตรวจพิสูจน์ ก่อนใช้ Encase ในการตรวจพิสูจน์ เจ้าหน้าที่ต้องยึดเครื่องคอมพิวเตอร์ หรือโทรศัพท์มือถือไว้ก่อน {โดยชั่วคราวหรือถาวรก็ได้ ตามดุลพินิจและความจำเป็น} เจ้าหน้าที่จะไม่นำโปรแกรม Encase มาใช้กับเครื่องคอมพิวเตอร์ หรือเครื่องโทรศัพท์นั้นโดยตรง เพราะระหว่างตรวจพิสูจน์ อาจทำให้หลักฐานที่เป็นของจริงเสียหายได้ ในทางปฏิบัติ จึงต้องทำสำเนาฮาร์ดดิสจากเครื่องคอมพิวเตอร์ที่เป็นต้นฉบับก่อน


จากนั้น จึงนำสำเนาฮาร์ดดิสนั้นมาใส่ในเครื่องที่มีโปรแกรม Encase ติดตั้งอยู่เพื่อตรวจสอบเนื้อหาภายในต่อไป เพราะหากเกิดผิดพลาด ก็สามารถทำสำเนาใหม่จากต้นฉบับมาทำการตรวจพิสูจน์ได้อีก


ถ้าเป็นโทรศัพท์มือถือ ก็อาจใช้เครื่องตรวจสอบที่มีซอร์ฟแวร์ Encase เป็นแบบพกพา ใช้ตรวจสอบวัตถุพยานนอกสถานที่ได้ ข้อมูลคอมพิวเตอร์กับกฎหมาย พยานหลักฐานคำถามสำคัญมีเพียง ๒ ข้อคือ


๑.ข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ได้จากการตรวจพิสูจน์นั้นถูกตัดออกไป และต้องห้ามมิให้ศาลรับฟังหรือไม่ โดยมีข้อกฎหมายระบุไว้โดยชัดแจ้งว่า ข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่เกิดขึ้นโดยมิชอบ หรือได้มาโดยมิชอบ ก็อาจถูกตัดออกไป และห้ามมิให้ศาลรับฟังเพื่อชั่งน้ำหนักความน่าเชื่อถือได้ และมีผลเท่ากับว่า คดีนั้น ไม่มีหลักฐานชิ้นนั้นปรากฏอยู่ อาทิ ตัวอย่างข้อมูลคอมพิวเตอร์เป็นพยาน ที่เกิดขึ้นโดยมิชอบ เจ้าหน้าที่กลั่นแกล้งจำเลยโดยใส่ข้อมูล ข้อความ รูปภาพ เข้าไปในระบบคอมพิวเตอร์หรือในโทรศัพท์มือถือ


ทำให้เชื่อว่า จำเลยโพสต์ข้อความหมิ่นประมาท ตั้งเวปไซต์ที่ผิดกฎหมาย มีรูปลามกเด็กไว้ในครอบครอง..เป็นต้น นั่นคือ การสร้างพยานหลักฐานเท็จเรียกว่า ข้อมูลนั้นเป็นพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นโดยมิชอบ ข้อมูลนั้น ศาลจะไม่นำมารับฟัง หากแต่เมื่อเกิดกรณีเช่นนี้ ทนายต้องซักค้านด้วยความสามารถอย่างสูงสุด


ตัวอย่างข้อมูลคอมพิวเตอร์ เป็นพยานที่ได้มาโดยมิชอบ เจ้าหน้าที่ไม่มีเจตนาชั่วร้าย ไม่ได้กลั่นแกล้ง แต่ไม่ทำตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดบังคับ เช่น  พ.ร.บ. กระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ร.บ. การสอบสวนคดีพิเศษ {DSI}​ พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ {ปปช.}​ พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ หรือกฎหมายอื่นๆ


กฎหมายเหล่านี้ให้อำนาจเจ้าหน้าที่เข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์ {เจาะระบบ}​ ของผู้อื่นเพื่อการสืบสวนสอบสวนได้.. แต่การเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นนั้น เป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล คล้ายกับการค้น กฎหมายจึงบังคับให้เจ้าหน้าที่ ต้องขออนุญาตศาลก่อนว่า มีความจำเป็นและสมควรต้องใช้วิธีการนั้นหรือไม่ {โดยทั่วไปจะลงระบุในการขอหมายค้น}​ ทั้งนี้ เพื่อคุ้มครองสิทธิให้แก่ประชาชนตามหลักนิติธรรม ดังนั้น หากเจ้าหน้าที่เข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์ของบุคคลใด โดยไม่ร้องขออนุญาตจากศาลก่อน ข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ได้มา ถือว่าเป็นพยานหลักฐานที่ได้มาโดยมิชอบ ต้องถูกตัด และต้องห้ามมิให้ศาลรับฟังเช่นเดียวกัน อาทิ เจ้าหน้าที่ใช้โปรแกรมดูดดักรับข้อมูล ที่เรียกว่า “sniffer” (สนิฟ-เฟอร์)..ซึ่งเป็นความผิดตาม พรบ.คอมพิวเตอร์ หรือเจ้าหน้าที่ตั้งเวปไซต์ หรือกลุ่มลับปลอม ที่เรียกว่า “Honey Pot”เพื่อล่อให้คนผิดเข้ามาติดกับ ที่มิใช่การล่อให้กระทำผิด เพื่อแสวงหาพยานหลักฐาน (ล่อซื้อ)


การได้ข้อมูลมาโดยใช้วิธีการที่ผิดกฎหมาย หรือยุให้คนกระทำผิด ที่เรียกว่า “Entrapment” (เอนแทรบเม้นท์) เหล่านี้อาจถือว่าเป็นการหลอกล่อ หรือกระทำโดยมิชอบ ทำให้ข้อมูลที่ได้มา ถูกตัดออกการดำเนินคดีเช่นเดียวกัน


          ๒.ข้อมูลจากคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือ ที่ได้มาโดยชอบและรับฟังได้แล้วนั้น เป็นข้อมูลที่มีน้ำหนักความน่าเชื่อถือ ทำให้เชื่อได้โดยปราศจากสงสัยว่า เกิดความผิดขึ้นจริง และจำเลยเป็นคนกระทำผิดจริงหรือไม่ ลักษณะเฉพาะของพยานข้อมูลคอมพิวเตอร์ พยานหลักฐานข้อมูลคอมพิวเตอร์ มีลักษณะพิเศษ แตกต่างจากพยานหลักฐานทั่วไป ๒ ประการคือ


๑.ข้อมูลคอมพิวเตอร์ เป็นพยานหลักฐานที่จับต้องไม่ได้ เพราะเป็นการทำงานของระบบอิเล็คทรอนิกส์ และกระแสแม่เหล็ก


๒.ข้อมูลคอมพิวเตอร์ เป็นพยานหลักฐานที่เปลี่ยนแปลงง่าย เพราะเป็นข้อมูลดิจิตัล แก้ไขง่าย และไร้ร่องรอยด้วย


ลักษณะพิเศษของพยานหลักฐานประเภทนี้ ทำให้ต้องอาศัยกระบวนการและมาตรฐานที่ชัดเจน เพื่อยืนยันว่า ข้อมูลคอมพิวเตอร์ ยังคงสภาพเดิม ไม่ถูกเปลี่ยนแปลงไปจากตอนเกิดเหตุ ไม่ว่าจะเกิดจากเจตนา หรือประมาท ในขั้นตอนการรวบรวม การเก็บรักษา และการวิเคราะห์ตรวจพิสูจน์พยานหลักฐานนั้น


หลักเกณฑ์การชั่งน้ำหนักว่า ข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ได้มาจากการตรวจพิสูจน์ มีความน่าเชื่อถือหรือไม่ การชั่งน้ำหนักว่า พยานหลักฐานดิจิตัล ที่ได้จากระบบคอมพิวเตอร์ และโทรศัพท์มือถือนั้น น่าเชื่อถือหรือไม่ จึงต้องพิจารณาว่า


ขั้นตอนการเก็บรวบรวมพยาน ขั้นตอนการเก็บรักษาดูแลพยาน และขั้นตอนการวิเคราะห์ตรวจพิสูจน์พยานหลักฐานนั้น เป็นขั้นตอนที่ถูกต้อง จนได้รับการยอมรับในวงการดังกล่าวหรือไม่


เครื่องมือและโปรแกรมที่ใช้ในการตรวจพิสูจน์ มีความทันสมัย และได้รับการยอมรับในวงการนั้นหรือไม่

พยานหลักฐานที่ได้มามีการแทรกแซงโดยบุคคลอื่น หรือกระบวนการที่ไม่เกี่ยวข้องหรือไม่


หากขั้นตอนต่างๆ และเครื่องมือที่ใช้ถูกต้อง ได้มาตรฐาน และไม่มีการยุ่งเกี่ยวแทรกแซงพยานหลักฐานนั้น ถือได้ว่า พยานหลักฐานข้อมูลที่ได้จากคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือนั้น มีความน่าเชื่อถือ ในแง่ของการตรวจพิสูจน์แล้ว


ตัวอย่างขั้นตอนการเก็บรวบรวมพยานในชั้นจับกุม และยึดพยานหลักฐาน การยึดจะต้องถอดปลั๊กและสายสัญญาณต่างๆออก และการจะตรวจพิสูจน์ ก็ต้องเชื่อมต่อสายสัญญาณใหม่เหมือนขณะเข้าตรวจยึด ขั้นตอนที่ถูกต้องจึงต้องมีการถ่ายรูป จุดเชื่อมต่อสายสัญญาณต่างๆของเครื่องไว้ก่อนยึด


ถ้าเครื่องปิดอยู่ ห้ามเปิด เพราะการเปิดเครื่องแต่ละครั้ง อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลที่มีอยู่ก่อนถ้าเปิดอยู่ อย่าเพิ่งปิด เพราะจะต้องถ่ายรูปหน้าจอ และทำสำเนาความจำสำรองของเครื่องก่อน เพราะหลักฐานในการทำผิดอาจอยู่ในความจำสำรอง ไม่ใช่ในฮาร์ดดิส การปิดเครื่องทุกครั้ง จะทำลายความจำสำรองหมด


ปิดเครื่องก่อนหรือดึงปลั๊กก่อน สิ่งนี้ขึ้นอยู่กับระบบปฏิบัติการของเครื่องนั้นๆ ถ้าผิดขั้นตอนอาจมีผลกับข้อมูลภายในเครื่อง


การเคลื่อนย้ายของกลาง ต้องมีการห่อหุ้มพลาสติก ติดป้ายให้สอดคล้องกับบันทึกห่วงโซ่การคุ้มครองพยานหลักฐาน ในกรณีสำคัญ ก่อนการเคลื่อนย้าย อาจต้องมีการตรวจวัดคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าก่อน ว่าเส้นทางใดที่มีคลื่นแรงและหลีกเลี่ยงการใช้เส้นทางนั้น เพื่อป้องกันผลกระทบต่อข้อมูลภายในเครื่อง


ตัวอย่างขั้นตอนการเก็บ และดูแลรักษาข้อมูลในชั้นสอบสวนก่อนการตรวจพิสูจน์ การเก็บเครื่องคอมพิวเตอร์ ต้องอยู่ในห้องควบคุมอุณหภูมิ การแยกเก็บจากพยานหลักฐานอื่นๆ ไม่วางไว้ใกล้เครื่องไฟฟ้า ที่อาจส่งคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า อาทิ ตู้เย็น พัดลม ที่อาจส่งผลกระทบต่อข้อมูลได้


ผู้รับมอบ ต้องลงนาม กำกับ พร้อมระบุเวลาในบันทึก เพื่อการตรวจสอบว่า มีการละเมิดห่วงโซ่การคุ้มครองพยานหลักฐานหรือไม่ จะเห็นได้ว่า การที่ศาลจะรับฟัง และชั่งน้ำหนักความน่าเชื่อถือ ของพยานดิจิตัล ที่ได้จากการตรวจพิสูจน์ข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือ จนเชื่อโดยปราศจากสงสัยและสามารถลงโทษจำเลยได้นั้น มีประเด็นที่ต้องพิจารณามากมาย


การชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานตามธรรมดา จะพิจารณาจากความสอดคล้องของพยานหลักฐานกับพยานอื่นในสำนวน และความเป็นธรรมชาติของพยานหลักฐาน รวมทั้งองค์ความรู้ทางนิติวิทยาศาสตร์อื่นๆ อาทิ ลายพิมพ์นิ้วมือ ดีเอ็นเอ นำโทรศัพท์ไปทำอะไรนะ

ด้วยความเคารพ เพจสถานบันเทิง



ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ศาลาการเปรียญไม้ทรงโบราณ ที่อำเภอเสาไห้

ตำนาน และประวัติความเป็นมา ของอำเภอเถิน จังหวัดลำปาง

[คติธรรม] คมธรรมของหลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ