เจ้าคุณจอมมารดาแพ รักแรกของรัชกาลที่ 5
เจ้าคุณจอมมารดาแพ พระภรรยาที่รัชกาลที่ 5
ทรง “จีบ” แต่ถูกผู้ใหญ่ขัดขวาง
ขึ้นชื่อว่า “เจ้าชีวิต” แล้ว
คนทั่วไปมักจะคิดว่า เมื่อเจ้าชีวิตปรารถนาสิ่งใด จะต้องได้สิ่งนั้นทันทีโดยเฉพาะเรื่องผู้หญิง เพราะถึงหากไม่มีพระราชประสงค์
ก็ยังมีผู้นํามาถวาย จนดูราวกับว่า ชีวิตรักของเจ้าชีวิตนั้น ไม่เหมือนชีวิตรักของสามัญชน
ไม่มีโอกาสที่จะครองคู่แบบผัวเดียวเมียเดียว
หรือไม่มีโอกาสที่จะผ่านขั้นตอนของความรัก คือมีความพอใจพอตาเป็นแรกเริ่ม
มีความพยายามทําให้อีกฝ่ายรับรู้และรักตอบอย่างที่เรียกว่า “จีบ” เป็นขั้นต่อไป
จนถึงขั้นส่งผู้ใหญ่ไปสู่ขอ มีพิธีอยู่กินร่วมทุกข์สุข ฉันสามีภรรยาเป็นที่สุด
“เจ้าชีวิต” พระองค์หนึ่งของไทยคือ
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะทรงดํารงพระอิสริยยศ เป็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์
ทรงเป็นเจ้าชีวิต ที่มักจะไม่มีใครคิดว่า จะทรงเคย ผ่านขั้นตอนของความรัก เหมือนอย่างสามัญชนกับสตรีผู้หนึ่ง
ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า เป็นขั้นตอนของความรักที่สมบูรณ์ที่สุด สตรีผู้นั้นคือ คุณแพ
ภายหลังเป็นเจ้าคุณจอมมารดาแพ และโปรดสถาปนาเป็น เจ้าคุณพระประยูรวงศ์
คุณแพ
เป็นธิดาเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ (วอน บุนนาค) เกิดจากท่านผู้หญิงอิ่ม
ถวายตัวเข้ารับราชการเมื่ออายุ 13 ปี
รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
โปรดให้อยู่ในพระอุปการะของพระองค์เจ้าหญิงโสมาวดี พระราชธิดา
เป็นช่วงเวลาที่สมเด็จเจ้าฟ้าชายจุฬาลงกรณ์มีพระชนมายุได้ 15
พรรษา ต้องเสด็จออกจากพระราชสํานักฝ่ายในตามประเพณีวัง จึงไม่มีโอกาสรู้จักคุณแพ
ครั้งแรกที่สมเด็จเจ้าฟ้าชายฯ
ทรงได้พบคุณแพ เมื่อคุณแพตามเสด็จพระองค์เจ้าหญิงโสมาวดีชมละครที่วังหน้า
ครั้งนั้นเล่ากันว่า ทรงพอพระทัยคุณแพแต่แรกทอดพระเนตรเห็น
ต่อจากวันนั้นก็ทรงพยายามหาโอกาสที่จะพบคุณแพอีก แม้จะยากลําบากเพราะกีดด้วยขนบประเพณีฝ่ายหน้าฝ่ายใน
แต่ก็ทรงขอร้องพระองค์เจ้าหญิงโสมาวดีให้พาคุณแพออกในงานพิธีต่าง ๆ
เพื่อจะได้ทรงเห็นหน้าบ้าง
นอกจากนี้ยังทรงใช้วิธีให้พ่อสื่อเข้ามาติดต่อ
พ่อสื่อของพระองค์ก็คือ พระอนุชาพระองค์น้อย ๆ ซึ่งยังทรงสามารถเข้านอกออกในพระราชสํานักฝ่ายในได้
เช่น สมเด็จเจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี สมเด็จเจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์
และพระองค์เจ้ากมลาสเลอสรรค์ เป็นต้น
พระอนุชาทั้งสามพระองค์ จะทรงรับรับสั่งให้เข้ามาชวนคุณแพไปโน่นไปนี่
เช่นชวนไปชมมหรสพที่พระตําหนักสวนกุหลาบบ้าง ไปดูขบวนแห่ต่าง ๆ บ้าง บางครั้งก็ทรงใช้ให้พระพี่เลี้ยงนําของกํานัลมาประทาน
เกี่ยวกับเรื่องนี้คุณแพเล่าไว้ว่า “…พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ
โปรดให้พระพี่เลี้ยงชื่อกลาง นําหีบน้ำอบฝรั่งเข้าไปประทานหีบหนึ่ง
ด้วยสมัยนั้นน้ำอบฝรั่งเพิ่งมีเข้ามาขายในเมืองไทย คนกําลังชอบกันมาก หีบน้ำอบฝรั่งที่ประทานนั้นทําเป็นสองชั้น
เปิดฝาออกถึงชั้นบน มีพระรูปฉายวางไว้ในนั้น เปิดถึงชั้นล่างต่อลงไป มีน้ำอบฝรั่งสองขวดกับสบู่หอมก้อนหนึ่งวางเรียงกันอยู่…”
ในส่วนตัวคุณแพนั้น
เมื่อรู้ตัวว่าเป็นที่สนพระทัย แม้จะมิได้กล่าวออกมาเป็นวาจา ก็พอจะคาดเดาได้ว่า
มีทั้งความพอใจและความเขินอายตามประสาสตรีสาว แต่ความพอใจน่าจะมีอํานาจเหนือกว่า
เห็นได้ชัด ก็ตอนที่เรื่องราวการพบปะของทั้งสองฝ่าย ล่วงรู้ไปถึงผู้ใหญ่ฝ่ายหญิง
คือเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ เสนาบดีชั้นผู้ใหญ่ผู้เป็นปู่ของคุณแพ
มีคําสั่งให้ท่านผู้หญิงอิ่ม มารดารับคุณแพกลับบ้าน ก่อนที่จะจากกันครั้งนั้น
สมเด็จเจ้าฟ้าชายฯ ทรงขอให้พระองค์เจ้าหญิงโสมาวดีช่วยเหลือให้ได้พบกันอีกครั้ง
คุณแพเล่าถึงการพบกันครั้งนั้นว่า “เป็นแต่รันทดกําสรดโศก
หาได้ปรึกษาหารือคิดอ่านกันอย่างไรไม่”
เมื่อกลับไปอยู่บ้านครั้งนั้น คุณแพก็ปฏิญาณกับตัวเองว่า
จะไม่ขอมีชายอื่นเป็นอันขาด แม้ผู้ใหญ่บังคับให้แต่งงาน
ก็จะหนีมาอยู่กับสมเด็จเจ้าฟ้าชายฯ
ทางด้านสมเด็จเจ้าฟ้าชายฯ
ก็น่าจะนับได้ว่า ทรงมีโอกาสพบความทุกข์เกี่ยวกับความรักเป็นครั้งแรกในพระชนมชีพ
ชาววังที่รู้เห็นเหตุการณ์ครั้งนั้นเล่ากันว่า “พอเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ต้องกลับไปอยู่บ้านก็เฝ้าแต่ทรงเศร้าโศก
ไม่เป็นอันจะเสวย”
ทุกข์ของเจ้าแตกต่างจากทุกข์สามัญชน
ก็คือทุกข์บางอย่างที่สามารถแก้ไขได้ก็จะมีผู้ช่วยเหลือและแก้ไขให้อย่างรวดเร็ว
เรื่องนี้ก็เช่นกัน ทรงได้รับความช่วยเหลือจากเจ้าจอมมารดาเที่ยง เจ้าจอมคนโปรดในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
รับอาสาที่จะนําเรื่องขึ้นกราบบังคมทูลให้ทรงทราบ
และความทุกข์ของสมเด็จเจ้าฟ้าชายฯ ก็ได้รับการปัดเป่า
เมื่อสมเด็จพระบรมราชชนกทรงพระเมตตาตรัสขอคุณแพต่อเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์
ความรักของหนุ่มสาวกลับสู่ความสดชื่นราบรื่นอีกครั้ง
สามารถติดต่อส่งของถึงกันและกันโดยไม่มีใครคอยห้ามปราม
คงรอคอยการกลับจากราชการของเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ บิดาคุณแพ
เพื่อจะได้ทําพิธีสมรส
ในพิธีส่งตัวไปยังพระตําหนักสวนกุหลาบที่ประทับของสมเด็จเจ้าฟ้าชายฯ
นั้น เป็นเวลา 20 นาฬิกา คุณแพพรรณนาถึงบรรยากาศและความรู้สึกครั้งนั้นว่า
“เดินออกไปทางประตูราชสําราญ เหมือนกับกระบวนแห่พระนเรศวร พระนารายณ์
มีคนถือเทียนนําหน้า และถือคบรายสองข้าง มีคนตามหลังเป็นพวกใหญ่
พวกชาววังก็พากันมานั่งดูแน่นทั้งสองข้างทาง อายจนแทบจะเดินไม่ได้”
เมื่อหม่อมแพจะคลอดพระหน่อนั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
โปรดพระราชทานพระตําหนักสวนนันทอุทยานริมคลองมอญ ฝั่งธนบุรี
ให้เป็นสถานที่สําหรับคลอดพระหน่อ
ณ พระตําหนักใหม่นี้
ทั้งคู่มีวัตรปฏิบัติเยี่ยงเดียวกับสามีภรรยาสามัญชน คือเวลาเช้า
สมเด็จเจ้าฟ้าชายฯ จะเสด็จลงเรือข้ามฟาก มาทรงปฏิบัติราชการในพระบรมมหาราชวัง
และเสด็จข้ามฟากกลับพระตําหนักเวลาเย็น บางครั้งค่ำหรือดึก เคยตรัสเล่าว่า
บางคืนน้ำในคลองแห้ง ต้องเสด็จขึ้นบกทรงพระดําเนินไต่สะพานยาวไปตามริมคลองบ่อย ๆ
ไปถึงได้บรรทมก็ดึก พอเช้าก็ต้องเสด็จข้ามกลับมารับราชการเป็น กิจวัตร ยิ่งเมื่อทรงมีพระธิดาพระองค์แรกแล้ว
ชีวิตครอบครัวก็ยิ่งสมบูรณ์
จวบจน พ.ศ. 2411
วิถีชีวิตของทั้งสองต้องประสบกับความเปลี่ยนแปลง
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต สมเด็จเจ้าฟ้าชายจุฬาลงกรณ์
เสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติ เป็นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
คุณแพเปลี่ยนฐานะจากหม่อมเป็นเจ้าจอมมารดา พระธิดาเป็นพระเจ้าลูกเธอ
ที่ประทับเป็นพระบรมมหาราชวัง อาจกล่าวได้ว่า ชีวิตคู่ผัวเดียวเมียเดียวเยี่ยงสามัญชนสิ้นสุดลงโดยทันที
เจ้าจอมมารดาแพ
ได้ปฏิบัติหน้าที่ภรรยาคนเดียวของสามีเป็นครั้งสุดท้าย คือการปรนนิบัติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวซึ่งกําลังประชวร
และประทับอยู่ ณ ห้องพระฉาก พระที่นั่งอมรินทร์ จนถึงพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
และเสด็จเข้าไปประทับในพระราชมณเฑียรฝ่ายใน
พระจริยวัตรของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงเปลี่ยนเป็นพระราชานุกิจ
ก่อนที่จะพ้นหน้าที่ภรรยาคนเดียวนั้น
เจ้าจอมมารดาแพ ได้ทูลขอพระพรจากพระบรมราชสวามีว่า “พระองค์เป็นพระมหากษัตริย์
จะมีพระสนมกํานัลมากสักเท่าใด ก็จะไม่เคียดขึ้งตึงหวง และไม่ปรารถนาจะมีอํานาจ ว่ากล่าวบังคับบัญชาผู้หนึ่งผู้ใด
ขอแต่ให้ได้สนองพระเดชพระคุณ เหมือนอย่างเมื่อเสด็จอยู่พระตําหนักสวนกุหลาบเท่านั้นก็พอใจ”
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงมีพระเมตตาพระราชทานพรให้เป็นพิเศษหลายประการ เช่น ห้ามท้าวนางไปว่ากล่าวรบกวน
สร้างพระที่นั่งเย็นเป็นที่สําราญพระอิริยาบถ มีพระบรมราชานุญาต
เฉพาะเจ้าจอมมารดาแพเป็นผู้ปรนนิบัติขณะประทับ ณ พระที่นั่งนี้ และโปรดสร้างพระตําหนักใหญ่ขึ้นใหม่เฉพาะเจ้าจอมมารดาแพ
และที่เป็นพิเศษคือ หน้าที่ปรนนิบัติ
ที่เจ้าจอมมารดาแพได้ยึดถือปฏิบัติมาโดยตลอดคือ เวลาเช้าตื่นบรรทม
ถวายเครื่องพระสําอาง ตั้งเครื่องพระกระยาหารต้ม ตอนบ่ายถวายการปรนนิบัติอีกครั้ง เมื่อเสร็จพระราชกรณียกิจช่วงเช้า
กลางคืนเมื่อพระเจ้าอยู่หัวเข้าที่บรรทมแล้ว ท่านจึงเข้าไปนอนในห้องบรรทมจนเช้า
และปรนนิบัติเช่นเดิมเป็นกิจวัตร นอกจากเวลาดังกล่าว
เจ้าจอมมารดาแพจะไม่เข้าไปเกี่ยวข้อง
แต่บางครั้งก็มีเรื่องเล่าลือถึงอาการ “ขวาง” ที่ท่านมีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
แต่ก็เป็นการแสดงให้เห็นถึงเยื่อใยอันเหนียวแน่น ที่ท่านมีต่อพระบรมราชสวามี
คือครั้งที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโทมนัส ต่อการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์
พระมเหสีพระองค์หนึ่ง ถึงกับบางวโรกาส เสด็จไปทรงเปิดพระโกศทอดพระเนตรพระศพของพระนาง
และทรงแสดงพระอาการ โศกสลดพระราชหฤทัยเป็นที่สุด เล่ากันว่า เจ้าจอมมารดาแพ สั่งให้สวดคฤหัสถ์เป็นบทเรื่องลักษณวงศ์
ตอนปิดม่านเปิดพระโกศนางทิพเกษร และทรงคร่ำครวญทํานองล้อเลียนพระอาการ
เมื่อทรงฟังสวดคฤหัสถ์บทนี้ ว่ากันว่าทรงกริ้ว แต่มิทรงกล้าจะว่ากล่าว
เพราะเกรงใจและให้เกียรติในฐานะภรรยาคู่ทุกข์คู่ยากดั้งเดิม
แต่โดยปกติแล้ว เจ้าจอมมารดาแพ จะปฏิบัติตนสนองพระราชประสงค์
ดําเนินตามพระบรมราโชบาย เยี่ยงบาทบริจาริกาที่จงรักภักดีต่อองค์เจ้าชีวิต เช่น ครั้งที่ทรงมีพระบรมราโชบายพัฒนาบ้านเมืองให้เจริญรุดหน้าเท่าเทียมนานาอารยประเทศ
อย่างหนึ่งที่ทรงมีพระราชประสงค์ ขอความร่วมมือจากสตรีในพระราชสํานักฝ่ายในคือ
ให้เป็นผู้นําการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ เช่น เครื่องแต่งกายและทรงผม
ซึ่งไม่มีสตรีท่านใดในพระราชสํานักที่จะกล้าหาญเปลี่ยนแปลงโดยทันทีทันใด
เจ้าจอมมารดาแพเป็นสตรีคนแรกที่สนองพระบรมราโชบาย เป็นผู้นําการเปลี่ยนแปลง
การแต่งกายและทรงผม โดยไว้ผมยาวแทนผมปีก เลิกนุ่งจีบห่มแพรสไบเฉียงกับตัวเปล่า
เป็นนุ่งโจงใส่เสื้อสั้นเพียงบั้นเอว และห่มแพรสไบเฉียงนอกเสื้อ
สวมรองเท้ากับถุงเท้าหุ้มน่อง
นอกจากความจงรักภักดีแล้ว
ความรักที่เต็มเปี่ยมของเจ้าจอมมารดาแพก็ได้แสดงออกอย่างชัดเจนเต็มที่
เมื่อครั้งสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จสวรรคต สมเด็จฯ
กรมพระยาดํารงราชานุภาพตรัสเล่าว่า
“…ผู้ได้เห็นแก่ตาเขามาเล่าให้ฉันฟังว่า
เมื่อท่านออกไปเฝ้าพระบรมศพที่พระมหาปราสาท สังเกตเห็นแต่หน้าท่านเกรียมกรมระทมทุกข์
ไปนั่งนิ่งอยู่ไม่ร้องไห้สะอึกสะอื้นเหมือนคนอื่น
แต่น้ำตาหลั่งไหลลงอาบหน้าไม่ขาดสาย สักครู่หนึ่งก็เอาผ้าเช็ดน้ำตาเสียคราวหนึ่ง
แล้วน้ำตาก็ไหลลงอีก และเช็ดอีกต่อไปไม่รู้ว่ากี่ครั้งจนกระทั่งกลับ
ฟังพรรณนากิริยาที่ท่านร้องไห้ ชวนให้เห็นว่าความรักของเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ที่มีต่อพระเจ้าอยู่หัว
เห็นจะตรึงแน่นอยู่ในใจลึกซึ้ง…”
เจ้าจอมมารดาแพ มีอายุยืนยาวต่อมา และได้เลื่อนเป็นเจ้าคุณพระประยูรวงศ์
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
ท่านดํารงชีวิตอยู่ด้วยความจงรักภักดี ต่อพระบรมราชจักรีวงศ์และผืนแผ่นดินไทย
สิ่งใดที่จะนํามาซึ่งประโยชน์ต่อประเทศชาติ และพระบรมราชวงศ์ เจ้าคุณพระประยูรวงศ์มิเคยลังเลที่จะปฏิบัติ
แม้กระทั่งเมื่อมีอายุใกล้จะ 90 ปีแล้ว รัฐบาลสมัยจอมพล ป.
พิบูลสงคราม ขอให้ท่านเป็นผู้นําการแต่งกายสตรี ให้เป็นไปตามสากลนิยม
คือนุ่งสเกิร์ต ใส่เกือกและสวมหมวก ท่านก็ได้แต่งเป็นแบบอย่างแก่สตรีในสมัยนั้น
น่าจะนับได้ว่า ท่านได้บําเพ็ญคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติ
จวบจนวาระสุดท้ายของชีวิต เพราะท่านถึงแก่พิราลัยเมื่อวันที่ 22
มีนาคม พ.ศ. 2486 รวมอายุ 90 ปี
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น