มหัศจรรย์สวรรคตพระจอมเกล้าฯ ตรงกับวันประสูติ สั่งเสียเสร็จบรรทมท่าพุทธไสยาสน์
มหัศจรรย์สวรรคตพระจอมเกล้าฯ ตรงกับวันประสูติ สั่งเสียเสร็จบรรทมท่าพุทธไสยาสน์
เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๔๑๑
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จสวรรคตด้วยโรคมาเลเรีย
หลังจากที่พระองค์ได้สร้างชื่อเสียงเลื่องระบือ ที่ทรงคำนวณล่วงหน้า ในการจะเกิดสุริยะปราคาเมื่อวันที่
๑๘ สิงหาคม ๒๔๑๑ ได้แม่นยำกว่านักดาราศาสตร์ชาวยุโรป
แต่ก็ทรงได้รับเชื้อไข้ป่ามาจากการเสด็จไปทอดพระเนตรสุริยปราคาที่ตำบลหว้ากอ
เมืองประจวบคีรีขันธ์ในครั้งนั้น
ทรงทราบว่าการประชวรครั้งนี้จะเป็นที่สุดของพระชนม์ชีพแล้ว
และทรงเข้าพระทัยในความเป็นจริงของชีวิตตามวิสัยของผู้ที่ครองเพศบรรพชิตมาถึง ๒๗
ปี ทรงยึดมั่นในพระธรรมมาตลอดชีวิต ไม่กระสับกระส่ายต่อความตาย
ทรงกำหนดวันละสังขารของพระองค์เองเป็นวันที่ ๑ ตุลาคม ซึ่งตรงกับวันประสูติ
จึงทรงจัดการในเรื่องต่างๆที่ทรงห่วงใย ก่อนที่เวลานั้นจะมาถึง
มีรับสั่งให้พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ ไปตามพระยาศรีสุนทรโวหารให้เข้ามาเฝ้า
พร้อมสมุดดินสอ เพื่อจดคำขอขมา และลาพระสงฆ์เป็นภาษามคธ ซึ่งมีคำแปลบางตอนว่า
“...วันนี้เป็นวันพฤหัสบดี
เหมือนวันฉันเกิด ก็ความเจ็บไข้ของตัวฉันเจริญทวีมากขึ้น ตัวฉันกลัวว่าจะต้องตายลงในวันนี้
ฉันขอลาพระสงฆ์ ฉันขออภิวาทไหว้ต่อพระผู้มีพระภาค พระอรหังสัมมาสัมพุทโธเจ้า
แม้นพระนิพพานแล้วนาน ฉันขอนมัสการพระธรรมของพระผู้มีพระภาคนั้น
ขอนอบน้อมพระอริยสงฆ์ ด้วยตัวฉัน ขอลาผู้ได้ถึงพระรัตนตรัยเป็นที่ระลึกแล้ว...”
“...ตัวฉันศึกษาความไม่ยึดเหนี่ยว
ถือเอาสรรพสิ่งการทั้งหลายทั้งปวง เป็นอนัตตาไม่เที่ยง
ธรรมทั้งหลายทั้งปวงเป็นอนัตตา ใช่ตัวตน ย่อมเป็นไปตามปัจจัย ของนั้นไม่ใช่ของเรา
ส่วนนั้นใช่เราไม่เป็นเรา ส่วนนั้นไม่เป็นแก่นสาร ใช่ตัวใช่ตน ย่อมเป็นไปตามปัจจัย
ของนั้นไม่ใช่ของเรา ส่วนนั้นใช่เราไม่เป็นเรา ส่วนนั้นไม่เป็นแก่นสาร ใช่ตัวใช่ตน
ความตายใดๆ ของสัตว์ทั้งหลาย ความตายทั้งหลายไม่เป็นอัศจรรย์
เพราะความตายนั้นไม่เป็นอกุศลหนทางไป สัตว์ทั้งหลายทั้งหมดด้วยกัน
ขอพระผู้เป็นเจ้าจงเป็นผู้ไม่ประมาทเถิด ฉันขอลาขอไหว้นมัสการ
ข้อที่ได้เป็นความผิดพลั้งของตัวฉัน
ขอพระสงฆ์จงงดโทษเป็นความผิดของข้าพเจ้านี้เถิด
ครั้นเมื่อความตายของข้าพเจ้าแม้นถึงความกระสับกระส่ายอยู่
จิตจะไม่เป็นกระสับกระส่าย ข้าพเจ้าศึกษาอยู่อย่างนี้
ทำตามคำสอนของพระพุทธเจ้าผู้ตรัสรู้...”
จากนั้น ในความห่วงใยต่อพระโอรสธิดา และพระราชวงศ์ทั้งหลาย
อาจมีผู้มาแย่งชิงอำนาจเมื่อแผ่นดินสิ้นกษัตริย์ ทรงทราบดีว่า ข้าราชการที่มีอำนาจมากที่สุดในเวลานั้นก็คือ
เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ จึงทรงรับสั่งกับพระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ
ผู้ที่เฝ้าพยาบาลอยู่ตลอด ให้ไปบอกเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ว่า
“ข้าให้เรียนคุณศรีสุริยวงศ์
ข้าเป็นคนลูกมากรากดก แล้วลูกก็ยังเล็กเด็กอยู่ ไหนๆ
คุณศรีสุริยวงศ์ก็ได้อุปถัมภ์บำรุงข้ามา ถ้าข้าไม่มีตัวแล้ว ขอให้คุณศรีสุริยวงศ์ อุปถัมภ์บำรุงลูกข้าเหมือนอย่างตัวข้า
ขออย่าให้มีภัยอันตราย เป็นที่กีดขวางด้วยการแผ่นดิน
ถ้าจะมีความผิดสิ่งหนึ่งสิ่งใดเป็นข้อใหญ่ ขอแต่ชีวิตไว้ให้เป็นแต่โทษเนรเทศ”
เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์จึงให้กราบทูลว่า
ท่านได้สั่งให้ทหารล้อมวัง ตั้งกองรักษาการพระบรมมหาราชวัง และพระตำหนักสวนกุหลาบ ที่เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ประทับเรียบร้อยแล้ว
และยังมีพนักงานตำรวจ และทหารอย่างยุโรปประจำหน้าที่ทุกแห่ง พระองค์จึงรับสั่งให้พระเจ้าลูกเธอ
พระองค์เจ้าโสมาวดี แจ้งแก่เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ว่า
การเลือกพระเจ้าแผ่นดินองค์ใหม่ ขอให้เอาความมั่นคงของประเทศเป็นเรื่องสำคัญ
พระองค์มิได้ตั้งพระทัย จะให้พระโอรสองค์ใหม่เป็นรัชทายาทแต่ผู้เดียว
จะเป็นพระเจ้าน้องยาเธอ พระเจ้าหลานเธอก็ได้
เพราะเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ยังทรงพระเยาว์นัก ขอให้พระบรมวงศานุวงศ์ และขุนนางข้าราชการ
ปรึกษาประชุมกันให้ดี พระองค์มีความปรารถนาเดียวคือ
ต้องการให้บ้านเมืองร่มเย็นเป็นสุขต่อไปเท่านั้น
ทั้งยังรับสั่งให้พระยาศรีสุนทรโวหาร เขียนกระแสรับสั่งนี้เป็นลายลักษณ์อักษรไปอ่านในที่ประชุมเสนาบดี
เมื่อทรงตระหนักว่าใกล้จะสิ้นพระชนม์แล้ว
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รับสั่งให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์
เจ้าพระยาภูธราภัย และพระเจ้าน้องยาเธอกรมหลวงวงศาธิราชสนิท
เข้าเฝ้าเพื่อรับสั่งราชการเป็นครั้งสุดท้าย แล้วรับสั่งลา ว่า
“วันนี้พระจันทร์เต็มดวงเป็นวันเพ็ญ
อายุของฉันจะดับในวันนี้แล้ว ท่านทั้งหลายกับฉัน ได้ช่วยทำนุบำรุงประคับประคองกันมา
บัดนี้กาลมาถึงฉันแล้ว ฉันจะขอลาท่านทั้งหลาย
ด้วยฉันออกอุทานวาจาไว้เมื่อบวชอยู่นั้นว่า วันใดเป็นวันเกิด อยากจะตายในวันนั้น
วันฉันเกิดเป็นวันเพ็ญ เดือน ๑๑ วันมหาปวารณา เมื่อป่วยไข้จะตายให้สิทธิ์ ณ
วิทาริก อันเตวาสิกยกลงไป จะขอตายในท่ามกลางสงฆ์
เมื่อเวลาที่พระสงฆ์กระทำวินัยกรรมมหาปวารณา
ก็บัดนี้เห็นจะไม่ได้พร้อมตามความที่ปรารถนาไว้ เพราะเป็นคฤหัสถ์เสียแล้ว
ฉันจะขอลาท่านทั้งหลายไปจากภพนี้ในวันนี้แล้ว ฉันขอฝากลูกของฉันด้วย
อย่าให้มีภัยอันตรายเป็นที่กีดขวางในการแผ่นดิน
ถ้าจะมีความผิดสิ่งหนึ่งสิ่งใดเป็นข้อใหญ่ ขอแต่ชีวิตไว้ให้เป็นแต่โทษเนรเทศ
ขอให้ท่านเป็นที่พึ่งแก่ลูกของฉันต่อไปด้วยเถิด”
“ฉันจะขอพูดด้วยการแผ่นดิน
ยังหาได้สมาทานศีล ๕ ประการไม่ ฉันเป็นคนป่วยไข้ จะขอสมาทานศีล ๕ ประการเสียก่อน
แล้วจึงจะพูดด้วยการแผ่นดิน” จึงทรงตั้งนโม ๓ จบ ทรงสมาทานศีล ๕
และตรัสภาษาอังกฤษ การตรัสภาษาอังกฤษ เพื่อแสดงให้เห็นว่าพระสติยังดีอยู่ไม่ฟั่นเฟือน
“ตัวท่านกับฉัน
ได้ช่วยกันทำนุบำรุงแผ่นดินมา ได้อยู่เย็นเป็นสุขตลอดมาจนสิ้นตัวฉัน
ถ้าสิ้นตัวฉันแล้ว ขอท่านทั้งหลาย จงช่วยกันทำนุบำรุงการแผ่นดินต่อไปให้เรียบร้อย
สมณพราหมณ์อาณาประชาราษฎร์ จะได้ที่พึ่งอยู่เย็นเป็นสุข
แต่ต้องรับฎีการ้องทุกข์ของราษฎร ให้เหมือนฉันที่เคยรับมาแต่ก่อน
ผู้ที่จะเป็นพระเจ้าแผ่นดินต่อไปภายหน้า
ให้พร้อมกันเลือกหาเอาเถิด จะเป็นพี่ก็ตาม จะเป็นน้องก็ตาม จะเป็นลูกก็ตาม
จะเป็นหลานก็ตาม สุดแต่จะเห็นพร้อมกัน ท่านพระองค์ใดมีปรีชาญาณ ควรจะรักษาแผ่นดินได้
ก็ยกขึ้นเป็นเจ้า จะได้ทำนุบำรุงแผ่นดินและพระราชวงศานุวงศ์ และราษฎรให้อยู่เย็นเป็นสุขต่อไป
อย่าหันเหียนตามพระกระแสพระเจ้าแผ่นดินก่อนเลย เอาแต่ความดีความเจริญเป็นที่ตั้ง”
ไม่มีผู้ใดในคณะเข้าเฝ้า คาดคิดเลยว่า พระเจ้าอยู่หัวใกล้จะเสด็จสวรรคตอยู่แล้ว
เพราะขณะที่มีพระราชกระแสรับสั่งนั้น พระสุรเสียงยังชัดเจนแจ่มใส
พระสติสัมปชัญญะก็สมบูรณ์ เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์จึงลงเรือกลับไปพักผ่อนที่บ้าน ซึ่งอยู่อีกฝั่งของแม่น้ำ
แต่แล้วก่อนถึงเวลา ๒๑ นาฬิกาเล็กน้อย ก็มีผู้ไปตามที่บ้าน พร้อมทั้งแจ้งข่าวว่าพระเจ้าอยู่หัวกำลังจะสวรรคต
เมื่อเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์รีบลงเรือไปถึงพระบรมมหาราชวัง
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯก็ได้เสด็จสวรรคตไปแล้ว
เหตุการณ์ขณะเสด็จสวรรคตนั้น
เจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรงได้บันทึกไว้ มีข้อความว่า
“ครั้น
เวลา ๒ ทุ่ม ๖ บาท จึงรับสั่งเรียกพระยาบุรุษรัตนราชพัลลภว่า
พ่อเพ็งเอาโถมารองเบาให้พ่อที พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ จึงเข็ญเอาโถพระบังคนขึ้นไปบนพระแท่น
ถวายลงพระบังคนแล้ว ก็พลิกพระองค์ไปข้างทิศตะวันออก
รับสั่งบอกว่าจะตายเดี๋ยวนี้แล้ว แล้วพลิกพระองค์หันพระพักตร์สู่เบื้องตะวันตก
ก็รับสั่งบอกอีกว่า จะตายเดี๋ยวนี้แล้ว แล้วก็ทรงภาวนาว่า อรหังสัมมา สัมพุทโธ
ทรงอัดนิ่งไปแล้วผ่อนอัสสาส ปัสสาส เป็นคราวๆ ยาวแล้วผ่อนสั้นเข้าทีละน้อยๆ
ทรงพระสุรเสียงมีสำเนียงดัง โธ โธ ทุกครั้ง สั้นเข้า โธ ก็เบาลงทุกที
ตลอดไปจนยามหนึ่งก็ดังครอกเบาๆ พอระฆังยามหอภูวดลทัศไนย์ย่ำก่างๆ
นกตุ๊ดก็ร้องขึ้นตุ๊ดหนึ่ง
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสู่สวรรคตโดยสงบ
ในท่าบรรทมเหมือนกับท่าไสยาสน์”
นี่คือการสวรรคต ของพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์หนึ่ง
ที่ทรงศึกษาจนรู้จักโลกตะวันตก มากกว่าคนไทยทุกคน ในยุคสมัยของพระองค์
แต่ก็ไม่ได้นิยมชมชื่นจนเดินตามไปทุกฝีก้าว ทรงยึดมั่นในพระธรรมของพระพุทธองค์
และความเป็นตัวตนในวิถีชีวิตไทยอย่างมั่นคง ทรงรู้เขารู้เรา จึงนำพาชาติรอดปลอดภัยมาได้
ในขณะที่กระแสล่าอาณานิคมโหมกระหน่ำทั่วเอเซีย
แต่พระองค์ก็ทรงนำชาติไทยรอดพ้นมาได้เป็น ๑ ใน ๓ ชาติเท่านั้น
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น