ตำนาน วัดเขาวงพระจันทร์ จังหวัดลพบุรี


 

ตำนาน วัดเขาวงพระจันทร์ จังหวัดลพบุรี

 

วัดเขาวงพระจันทร์ เป็นวัดที่ตั้งอยู่ใน ตำบลห้วยโป่ง อำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี มี พระมงคลภาวนาวิกรม พระราชาคณะชั้นสามัญ เป็นอดีตเจ้าอาวาสซึ่งได้มรณภาพไปแล้ว โดยชาวลพบุรีจะเรียนท่านว่า หลวงปู่ฟัก

วัดเขาวงพระจันทร์ ตั้งอยู่ห่างจากตัวอำเภอเมืองลพบุรีประมาณ 28 กม. ตามเส้นทางถนนพหลโยธิน ตรงหลักกม.ที่ 178 มีทางแยกเลี้ยวขวาอีก 5 กม. ตั้งอยู่ในเขตตำบลห้วยโป่งอำเภอโคกสำโรงบริเวณเชิงเขาจะเป็นที่ตั้งของวัดเขาวงพระจันทร์ จะมีทางบันไดไปสู่ยอดเขาประมาณ 3,799 ขั้นยอดเขานี้สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 650 เมตร

ถ้าวัดจากเชิงเขาถึงยอดเขา โดยแนวบันไดจะยาว 1,680 เมตร ใช้เวลาเดินทางจากเชิงเขาถึงยอดเขาประมาณ 2-3 ชั่วโมง สองข้างทางจะเต็มไปด้วยป่าไม้ขึ้นสลับซับซ้อนเต็มไปหมด บางแห่งจะเป็นที่ลาด บางแห่งจะเป็นที่ชัน เมื่อขึ้นไปถึงยอดเขาวงพระจันทร์จะมองเห็นทิวทัศน์เบื้องล่างได้ไกลสุดสายตา สถานที่นี้เป็นแหล่งสะสมวัตถุโบราณ ของหายากมากมาย และพระพิมพ์ต่างๆมากมาย เพราะ หลวงปู่ฟัก อดีตเจ้าอาวาส ท่านเป็นนักสะสมพระเครื่องมาก่อนที่ท่านจะบวช ซึ่งมีการจัดเป็นพิพิธภัณฑ์ให้ได้ชมกันอีกด้วย

พระพุทธโชค หรือ พระเชียงแสนเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะสมัยเชียงแสน มีขนาดใหญ่ที่สุดในจังหวัดลพบุรี และใหญ่เป็นลำดับที่ 2 ของประเทศไทย (รองจากพระพุทธมหานวมินทรศากยมุนีศรีวิเศษชัยชาญ) พระพุทธโชคประดิษฐานอยู่บริเวณริมเชิงเขาวงพระจันทร์

โดยแรกเริ่มโครงการก่อสร้างจะใช้ชื่อว่า พระเชียงแสนองค์พระก่อด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก ขนาดหน้าตักกว้าง 45 เมตร สูง 75 เมตร เริ่มก่อสร้างตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2553 ใช้ระยะเวลาในการก่อสร้างองค์พระ 8 ปี (โดยประมาณ)

ในปัจจุบัน พระเชียงแสนได้ทำการก่อสร้างแล้วเสร็จสมบูรณ์ เมื่อต้นปี พ.ศ. 2561 และมีการจัดพิธีถวายพระนามใหม่ว่า พระพุทธโชคเมื่อวันอังคารที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2561 และมีพิธีสมโภชพระพุทธโชค เมื่อวันพุธที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2561 โดยสมเด็จพระวันรัต วัดบวรนิเวศวิหาร กรรมการมหาเถรสมาคม เป็นองค์ประธาน พร้อมด้วยกรรมการมหาเถรสมาคมรูปอื่น ตลอดจนพระมหาเถระที่มีชื่อเสียงร่วมประกอบพิธีอีกเป็นจำนวนมาก

ในส่วนบริเวณพื้นที่รอบๆองค์พระพุทธโชค ด้านหน้าเป็นลานกว้างประกอบไปด้วย บันไดขึ้นสู่องค์พระ, ศ าลาธรร มขนาดใหญ่ จำนวน 2 หลัง, จุดชมวิว, อนุสรณ์หนุมาน ฯลฯ ด้านหลังเป็นพื้นที่จอดรถ, บันไดขึ้นสู่ด้านหลังองค์พระ และยังมีพื้นที่ในบางจุดยังอยู่ในระหว่างก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จ

ตำนานเขาวงพระจันทร์ ท้าวกกขนาก ยักษ์ตนสุดท้ายที่ไม่ยอมแพ้พระราม ตามตำนานเรื่องรามเกียรติ์ จึงถูกพระรามแผลงศร โดนยักษ์กระเด็นลอยละลิ่ว ข้ามมหาสมุทรอินเดีย มาตกที่ยอดเขาลูกนี้ แล้วพระรามก็สาบให้ศรปักอกเอาไว้ หากวันใดที่ศรเขยื้อน จะให้หนุมานลูกพระพาย(ลูกลม ถ้าตายเมื่อต้องลมพัดผ่าน จะกลับฟื้นคืนชีพ หนุมานจึงไม่รู้จักตาย) เอาฆ้อนมาตอกย้ำลูกศร ให้ปักอกไว้เช่นเดิม

แต่ยักษ์โดนเข้าขนาดนี้ก็ยังไม่ตาย นอนรอความตาย ฝ่ายนางนงประจันทร์ลูกสาวท้าวกกขนาก ก็เหาะตามมาเพื่อปรนนิบัติดูแลพ่อ เพราะพ่อยังไม่ตาย ท้าวกกขนาก ได้แต่นอนอยู่ในถ้ำยอดเขานางพระจันทร์นี้ และต่อมาเมื่อนางทราบว่า หากได้น้ำส้มสายชูมารดที่โคนศร แล้วศรจะเขยื้อนหลุดออกมาได้ แต่หากศรเขยื้อน ไก่แก้วก็จะขันเรียกหนุมานเอาฆ้อนมาตอกศร

จึงเป็นเหตุผลให้เมืองลพบุรี ไม่มีน้ำส้มสายชูขายมานาน จากตำนานนี้จึงเรียกเขาลูกนี้ว่า เขานงประจันต์หรือนางพระจันทร์ ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๖ หลวงพ่อโอภาสี ได้ขึ้นมาบนเขานี้ และเห็นว่าบริเวณเขาทั้ง ๔ ด้าน เป็นรูปเขาโค้ง มองทางไหนก็เห็นเป็นวงโอบล้อมอยู่ จึงขนานนามว่า เขาวงพระจันทร์นับตั้งแต่นั้นมา

สิ่งมหัศจรรย์ 9 อย่าง

มีรอยพระพุทธบาทแท้ (รอยพระบาทที่ 4)

มีรอยเขี้ยวแก้วพระพุทธเจ้าแท้

หลวงปู่ฟัก อายุ 93 ปี อดีตเจ้าอาวาส ฉันมังสะวิรัติตลอดชีวิต,ไม่สรงน้ำ(อาบน้ำ)ตลอดชีวิต

มีพระบรมสารีริกธาตุเสด็จมาเองจำนวนมาก

มีพิพิธภัณฑ์ พันล้าน

มีบันไดขึ้นเขา 3,799 ขั้น

มีต้นปลัดขิก ธรรมชาติ

มีควาย 3 เขา แห่งเดียวในโลก

มีงาช้างสีดำ แห่งเดียวในโลก

งานประเพณีที่สำคัญของวัด เทศกาลขึ้นเขาวงพระจันทร์ จัดขึ้นประมาณเดือนสามช่วงเทศกาลตรุษจีนของทุกปี ประชาชนโดยเฉพาะชาวไทยเชื้อสายจีนทั้งใกล้ และไกลจะหลั่งไหลกันมานมัสการรอยพระพุทธบาทและพระพุทธรูปบนยอดเขาแห่งนี้อย่างเนืองแน่นเป็นประจำตลอดช่วงเทศกาล สิ่งก่อสร้างและรูปแบบของการแสดงความเคารพที่วัดแห่งนี้จึงมีอิทธิพลจีนนิกายฝ่ายมหายานอยู่มาก

เขาวงพระจันทร์ ได้ชื่อว่าเป็นเขาที่สูงที่สุดของจังหวัดลพบุรี และเป็นภูเขาที่สร้างชื่อเสียงให้ผู้คนรู้จักเมืองลพบุรีมาช้านาน



ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ศาลาการเปรียญไม้ทรงโบราณ ที่อำเภอเสาไห้

ตำนาน และประวัติความเป็นมา ของอำเภอเถิน จังหวัดลำปาง

[คติธรรม] คมธรรมของหลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ