“พระยารัตนาณาเขตร์” (น้อยเมืองไชย) เจ้าเมืองเชียงรายองค์สุดท้ายที่ถูกลืม
“พระยารัตนาณาเขตร์”
(น้อยเมืองไชย) เจ้าเมืองเชียงรายองค์สุดท้ายที่ถูกลืม
“จังหวัดเชียงราย” ในอดีตเป็นเมืองที่พญามังรายสร้างต่อจาก “เมืองเชียงแสน”
ซึ่งมีความสำคัญอยู่ติดกับ “แม่น้ำกก” ซึ่งเป็นเส้นทางการเชื่อมต่อระหว่างเมืองเชียงรายกับเมืองเชียงแสน “พญามังราย” เป็นปฐมกษัตริย์องค์ของ “อาณาจักรล้านนา” และเป็นต้นตระกูลของ “ราชวงศ์มังราย” เมื่ออาณาจักรล้านนาถูกผนวกเข้ากับสยามอำนาจของเจ้านายในอาณาจักรล้านนาก็ลดน้อยลงไปจนในที่สุดก็ไม่มีอำนาจในอาณาจักร
“พระยารัตนาณาเขตร์” หรือ “น้อยเมืองไชย” เป็นเจ้าเมืองเชียงรายคนสุดท้าย
“พระยารัตนาณาเขตร์” (น้อยเมืองไชย) (ในสัญญาบัตรแต่งตั้งว่า พระยารัตนาณาเฃตร) หรือ“เจ้า หลวงเมืองไชย” เป็นบุตรของ “พระยาราชเดชดำรง” (อินต๊ะ) เจ้าเมืองเชียงแสน ถูกตั้งเป็นเจ้าหลวงเมืองเชียงรายแทนสายเมืองเชียงใหม่ ด้วยสาเหตุที่เจ้าอุปราชคำตุ้ยกระทำกริยาไม่เหมาะสมกับข้าหลวงรัฐบาลสยาม จึงถูกปลดออกจากตำแหน่ง เจ้าหลวงเมืองไชยได้สมรสกับ “เจ้าหญิงน้อยชมพู” เหลนของพระยารัตนาณาเขตร์ (ธัมมลังกา) เจ้าเมืองเชียงรายคนแรกก่อนที่จะพิราลัย และสมรสใหม่กับเจ้าแม่แว่นแก้ว ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าเมืองเชียงรายเมื่อ พ.ศ.2442 ขึ้นตรงต่อเมืองนครเชียงใหม่ ดังที่จดหมายเหตุเมืองเชียงรายได้กล่าวว่า
“…วันที่ 29 ธันวาฅม ศก 118 ตรงกับ เดือน 3 ลง 12 ฅ่ำ สกราชนี้เจ้าน้อยเมืองไชย ลงไพรับสัญญาบัตเปนที่เจ้าหลวงเมืองเชียงรายที่เชียงใหม่ เปนพญารัตณานาเขต เจ้าหนานมหายศ เปนอุปราช เจ้าฅำหมื่น เปนราชวงค์ เจ้ากาบ เปนรัตนบุรี เจ้าน้อยเทพวงค์ เปนราชบุตร…”
ในปี พ.ศ.2442
รัฐบาลสยามได้ยกเลิกหัวเมืองประเทศราช กลายเป็นส่วนหนึ่งของพระราชอาณาจักรสยาม “เจ้าหลวงเมืองไชย” ได้เป็นเจ้าเมืองเชียงรายคนสุดท้าย
และดำรงตำแหน่งนายอำเภอเมืองเชียงรายคนแรก การปฏิรูปการปกครองนี้ทำให้เจ้านาย
และราษฎรไม่พอใจเป็นอย่างมาก เนื่องจากการสูญเสียอำนาจ การถูกเกณฑ์แรงงาน
การจัดเก็บภาษีระบบใหม่ ทำให้เกิดการต่อต้านหลายคราว เช่น “กบฏพระยาปราบสงคราม”
และ “กบฏเงี้ยวเมืองแพร่” ซึ่งได้ลุกลามไปส่วนอื่นด้วย
สำหรับเมืองเชียงราย “พญาศรีสองเมือง” ลูกเขยของ “พญาสิงหนาทราชา” (ชานกะเล)
เจ้าเมืองแม่ฮ่องสอน หัวหน้าชาวเงี้ยวแขวงเชียงแสนน้อย นำกองกำลังตีเชียงแสน
(แม่จัน) อีกสองวันถัดมา คือ วันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ.2445 ยกกองกำลังบุกเมืองเชียงราย
โดยนัดแนะกับเงี้ยวในเมือง เมื่อพญาศรีสองเมืองเข้าตีเชียงรายเมื่อใด
ก็จะจัดเรือข้ามฝากไว้คอยรับที่แม่น้ำกก 4 ลำ
เมื่อพญาศรีสองเมืองข้ามสะพานประชิดกำแพงเมืองได้แล้ว จะจุดไฟเผาที่ว่าการแขวง
ที่ว่าการรัฐบาล บ้านเรือนข้าราชการ จับข้าราชการฝ่ายใต้ ฝ่ายเหนือฆ่าเสียให้สิ้น
โดยเข้าโจมตีเมืองตั้งแต่บ่ายสี่โมงถึงสี่ทุ่ม
ในยามฉุกละหุกอยู่นั้น “หมอบริกส์” แพทย์ประจำอยู่ในโรงพยาบาลโอเวอร์บรู๊ค
ได้ชักธงชาติอังกฤษขึ้นที่บ้านพัก
ส่วนชาวไทยที่นับถือศาสนาคริสต์ก็พากันไปพึ่งใต้ร่มของธงนั้น ท่านหมอบริกส์ได้เข้าไปที่ประชุมข้าราชการด้วย
ท่านออกความเห็นว่า ต้องสู้ โดยให้ตัดสะพานแม่น้ำกกตอนฝั่งทางในเมืองเสียก่อน แล้วให้ตั้ง
“อะม๊อก” (ปืนใหญ่ขนาดเล็ก)
ยิงต่อสู้ข้าศึก ฝ่ายข้าราชการไทย และตำรวจก็เกิดมีกำลังใจขึ้น จึงเข้าประจำแนวรบ
เวลานั้นเจ้าหลวงเมืองไชย ได้พาคนใช้คนหนึ่ง มีปืนลูกซองสองกระบอก มีลูกปืนอยู่ราว
100 กว่านัด เข้าประจำหน้าที่อยู่ที่หัวสะพานซึ่งถูกตัดออกนั้น ฝ่ายเงี้ยวเห็นสะพานขาดก็กลับไปหาไม้มาคนละท่อน
เพื่อพาดข้ามมารบกับไทย แต่พอไปถึงหัวสะพาน ก็ถูกเจ้าหลวงยิงตกลงไปในน้ำคนแล้วคนเล่า
แม่น้ำกกเวลานั้นลึกประมาณ 2 เมตรเศษ เจ้าหลวงเมืองไชย
ต้องเปลี่ยนปืนยิงสลับกันเพราะปืนร้อน ฝ่ายเงี้ยวซึ่งเสียชีวิตไปประมาณ 100 คนเศษ
เห็นว่า เหลือกำลังที่จะเข้าเมืองได้ก็ชะงักอยู่
ส่วนพวกที่หนุนหลังก็เข้ามาสมทบอีก พวกที่หนุนเนื่องเข้ามา พากันพักใต้ต้นกวาวเป็นกลุ่มก้อน
ทางฝ่ายไทย จึงยิงปืนใหญ่ไปถูกกิ่งต้นกวาว หักสะบั้นลง
ตอนนี้เงี้ยวขวัญเสียไม่คิดสู้แล้ว พากันวิ่งหนีไปทางบ้านจ้อง ไปหา “ตุ๊เจ้ากันวี” ที่เป็นแกนนำเงี้ยวที่บ้านจ้อง
ฝ่ายไทย เมื่อเห็นได้ที ก็เอาไม้พาดสะพานข้ามไปทีละคนๆ
โดยมี “เจ้าหลวงเมืองไชย”
วิ่งนำหน้า ระยะทางจากในเมืองเชียงรายถึงบ้านจ้อง 52 กิโลเมตร
ท่านเจ้าหลวงเมืองไชยไม่ยอมพักผ่อน บุกตะลุยไปจนถึง “ตุ๊เจ้ากันวี”
เวลานั้นพลพรรคเงี้ยวหนีข้ามแม่น้ำสายไปแล้ว คงเหลือแต่ตุ๊เจ้ากันวี
นั่งเข้าญาณอยู่ผู้เดียว ท่านเจ้าหลวงฯ กำลังเมามันจึงวิ่งเข้าไปตัดหัว
ตุ๊เจ้ากันวีขาดเลือดพุ่งกระฉูดขึ้น เมื่อเจ้าหลวงฯ
เห็นเลือดก็ถึงกับลืมสติไปพักหนึ่ง เมื่อได้ชัยชนะแล้วท่านก็กลับไปอยู่บ้าน
ตั้งแต่นั้นมาเจ้าหลวงฯ ก็เสียสติพูดจาผิดแผกไป มีอาการลมขึ้นจุกอกบ่อย
อีก 3 ปีต่อมา ใน พ.ศ.2448 “พระยารัตณานาเขตร์” ก็ถูกปลดจากตำแหน่งนายอำเภอเมืองเชียงราย ที่ว่าปลดนั้น เพราะให้เหตุผลว่า
ป่วยเรื้อรัง ซึ่งไม่เป็นความจริง เพราะหลังจากท่านถูกปลด
ท่านยังใช้ชีวิตตามปรกติอีกเกือบ 20 ปี
ตั้งแต่ที่ “เจ้าหลวงเมืองไชย” ได้เสียสติครั้งรบกับเงี้ยว ก็ได้พยายามรักษาตัว จิตใจ จึงค่อยสบายขึ้น
แต่ฝ่ายบ้านเมือง ไม่มีใครสนใจกับความเป็นอยู่ของท่าน ความอับจนเข้าครอบครอง
ที่ดินหลายแห่งจำเป็นขายเพื่อเลี้ยงชีวิต ที่นาที่ดินถูกริบเอาไปทำสถานที่ราชการ
เจ้าหลวงเมืองไชย เหลือแค่ที่นาไว้ปลูกข้าวเท่านั้น ลำบากยากแค้น
ถึงขั้นเหลือแค่สลุงเงิน เอามาตั้งไฟแกงผักกิน
เมื่อ พ.ศ. 2460 “พระราชชายาเจ้าดารารัศมี” ได้เสด็จจากเชียงใหม่ไปเยี่ยมเชียงราย ได้ให้ “เจ้าหลวงเมืองไชย”
เข้าเฝ้า ก็ได้ถามถึงความทุกข์สุข และได้ทราบว่า
มีความเป็นอยู่อย่างแร้นแค้น ก็ทรงกริ้วว่า
ทางบ้านเมืองไม่อุปการะให้สมกับเป็นวีรบุรุษ จึงขอร้องให้ ผู้ว่าราชการจังหวัด ทำเรื่องขอเงินเบี้ยหวัดบำนาญเพื่อช่วยค่าครองชีพ
ซึ่งต่อมา ก็ได้รับพระราชทานให้จ่ายเป็นเงินเดือนๆ ละ 30 บาท จนกระทั่งสิ้นชีพ
เงิน 30 บาทสมัยนั้น ก็เพียงพอกับสมัยนั้นเพราะเงินเขียม (ใช้อย่างประหยัด)
อาหารก็ไม่แพง จ่ายค่าอาหารรวมทั้งข้าวด้วย วันละ 15 สตางค์ก็พอ
ใน ปี พ.ศ.2463 “เจ้าหลวงเมืองไชย” พิราลัยในตูบซอมซ่อ ที่บ้านไร่ สิริอายุ 66 ปี จัดพิธีศพแบบง่ายๆ
ไม่ใหญ่โตนัก ถึงแม้ว่า เจ้าหลวงเมืองไชยได้ล่วงลับไปนานแล้วก็ดี
แต่ความดีที่มีต่อประเทศชาตินั้นเล่า ใครจะลืมได้ เลือดนักรบอย่างท่านนั้น หายากเต็มที
“พระยารัตณานาเขตร์” (น้อยเมืองไชย)
เจ้าเมืองเชียงรายองค์สุดท้าย “เจ้าเมืองเชียงรายที่ถูกลืม”
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น