เจ้านางแว่นทิพย์ กระจกวิเศษอันเป็นนิรันดร์


 

เจ้านางแว่นทิพย์

 

เจ้านางแว่นทิพย์ เป็นธิดาในเจ้าก้อนแก้วอินแถลง เจ้าฟ้าเมืองเชียงตุง เมื่อเจริญวัยได้เข้าศึกษาที่โรงเรียน เซนต์ ไมเคิล ที่เมืองเมเมียว และต้นปี ค.ศ. 1932 เจ้านางย้ายไปศึกษาที่เมืองกะลอ และเป็นเพื่อนร่วมชั้นเรียนกับเจ้าเฮือนคำแห่งเมืองแสนหวี

เจ้าเฮือนคำกล่าวว่า ครั้งแรกที่พบเจ้านางแว่นทิพย์ ก็รู้สึกถูกชะตาในทันที เจ้านางแว่นทิพย์มีไหล่ตรงผึ่งผาย ผิวกระจ่างใสราวเครื่องเคลือบชั้นดี แสดงถึงหญิงสูงศักดิ์ที่มาจากตระกูลขุน เจ้านางยิ้มง่าย พูดภาษาอังกฤษเก่ง แต่ดูดื้อรั้นอยู่ในที ละม้ายกับเจ้านางทิพย์ธิดา ผู้มีศักดิ์เป็นป้า ซึ่งในอดีตเป็นถึงผู้สำเร็จราชการหญิงแห่งเมืองเชียงตุง เมื่อมาศึกษาที่เมืองกะลอ เจ้านางแว่นทิพย์มีชื่อใหม่ว่า โจน

เมื่อเจ้านางแว่นทิพย์มีอายุได้ 16 ปีบริบูรณ์ ก็ได้รับหมายเรียกตัวเข้าหอแสนหวี เพื่อเป็นชายาองค์ใหม่ของเจ้าฟ้า ทุกคนรู้สึกตกใจมาก เพราะเจ้าฟ้าเมืองแสนหวีนั้น มีมหาเทวีและบุตรอยู่แล้ว แต่ทว่าเจ้านางแว่นทิพย์กลับนิ่งเฉย และกล่าวว่า ไม่รู้สึกเสียใจอะไร ที่ต้องสมรสกับเจ้าห่มฟ้าเจ้าฟ้าเมืองแสนหวี บางที เจ้านางอาจจะรู้ชะตาชีวิตของตนเอง มาแล้วตั้งแต่ต้นแล้วก็เป็นไปได้

เจ้านางแว่นทิพย์กล่าวว่า เมื่อเอ่ยคำว่า เจ้านางแว่นทิพย์แห่งหอเมืองแสนหวีนั้น อาจฟังดูไพเราะชวนฝัน แต่แท้ที่จริงแล้ว เมืองแสนหวีน่าเบื่อมาก ในวันสมรส เจ้าก้อนแก้วอินแถลงได้มอบช้าง 1 เชือกให้เป็นของขวัญ และเจ้านางก็นำมาเลี้ยงที่หอแสนหวีด้วย

งานแต่งงาน ถูกจัดขึ้นอย่างสุดอลังการสามวันสามคืน แห่แหนด้วยช้าง และรถยนต์ สมเกียรติเจ้าฟ้าก้อนแก้ว อินแถลง ที่หอคำหลวงเชียงตุง จากนั้น เจ้านางแว่นทิพย์ ก็ต้องเดินทางไปพำนัก ที่เมืองแสนหวีของพระสวามี เมื่อไม่ได้ไปโรงเรียน เจ้านางแว่นทิพย์จึงใช้เวลาทั้งหมดที่แสนหวี ไปกับการอ่านหนังสือไปเที่ยวตลาด เที่ยวงานปอย หรือไม่ก็ต้อนรับแขกที่สนิทสนม




เมื่อมีพิธีกั่นต๊อคารวะเจ้าฟ้าแสนหวี บรรดาผู้ดูแลหมู่บ้าน พร้อมครอบครัว จะมาร่วมพิธีในตัวเมือง บางครั้ง เจ้าหน้าที่ชาวอังกฤษก็มาร่วมพิธีคารวะ ในหอหลวงเมืองแสนหวีด้วย พวกเขาไม่ต้องนั่งคุกเข่าเหมือนผู้เฒ่าผู้แก่แสนหวี แต่นั่งสังเกตการณ์บนเก้าอี้ ที่ตั้งเป็นแถวอยู่บนพื้นลดระดับ ด้านขวามือของเจ้าฟ้า พวกกะลาอังกฤษ เข้ามายืนค้ำศีรษะเจ้าฟ้า และไม่ถอดรองเท้า เมื่อเข้าในท้องพระโรงอันศักดิ์สิทธิ์ เจ้าฟ้า ไม่อยากให้ชาวอังกฤษเห็นว่า ตนเองล้าสมัยจึงไม่แยแส และยอมรับวัฒนธรรมที่แตกต่าง ซึ่งสื่อให้เห็นถึงการศึกษาที่ดี และมีโลกทัศน์กว้าง

ถนนสายเมืองจีน ตัดผ่านแสนหวี จึงมีนักเดินทางมากมาย แวะมาดื่มน้ำชา หรือรับประทานอาหารกลางวันที่หอหลวงอยู่เสมอ เจ้าแว่นทิพย์ ต้อนรับอาคันตุกะเหล่านั้น ในนามชาวแสนหวีได้อย่างดีเยี่ยม เจ้าฟ้าแสนหวี แต่งงานกับเจ้าแว่นทิพย์แห่งเชียงตุง เพราะว่าเธอทันสมัย พูด อ่าน เขียนภาษาอังกฤษได้อย่างคล่องแคล่ว ฉาดฉาน ส่วน มหาเทวีนั้น มักโอ้อวด เรื่องที่นางเคยไปลอนดอนสมัยเป็นเด็กด้วยความภูมิใจ แต่เมื่อถูกเชิญมาพบแขกต่างชาติ มหาเทวี กลับหลบหายไปในกลุ่มสาวใช้ นี่จึงเป็นเหตุผล ที่ทำให้เจ้าแสนหวี แต่งงานกับ หญิงสาวที่มีการศึกษา และทันสมัย

เจ้าแว่นทิพย์ ทำความคุ้นเคยกับชีวิต ในแสนหวีอย่างง่ายดาย อย่างไรก็ตาม แสนหวี เป็นเมืองที่น่าเบื่อ เมื่อเทียบกับ เชียงตุงบ้านเกิดที่เจ้านางจากมา เชียงตุงเป็นเมืองที่ใหญ่ และร่ำรวยที่สุดในฉาน มีพื้นที่ ๒๐,๐๐๐ ตร. ไมล์ ยื่นยาวไปจรดพรมแดนประเทศไทย ลาว และ จีน

ตัวเมืองเชียงตุง ตั้งอยู่ภายใต้กำแพงที่ล้อมรอบอย่างแน่นหนา และมีคูเมือง เป็นปราการชั้นนอก เมือง ล้อมรอบด้วยทิวเขาสลับซับซ้อน สิ่งก่อสร้างภายในเมือง มักจะประดับประดาไปด้วยนกยูง และ สิงห์เชียงตุง ตั้งอยู่ริมฝั่งทางด้านทิศตะวันออก ของแม่น้ำสาละวิน เหมือนกับ โกก้าง

เจ้าฟ้าเชียงตุง ปฏิเสธกฎหมายค้าฝิ่นของอังกฤษ หากปราศจากฝิ่นแล้ว เชียงตุง จะไม่สามารถจ่ายค่าบรรณาการแก่อังกฤษ ที่กำหนดไว้ปีละ ๓๐,๐๐๐ รูปีได้เลย

เจ้าฟ้าเชียงตุง มีรายได้เป็นกอบเป็นกำ จนสามารถสร้างหอหลวง สถาปัตยกรรมอินเดียอันสง่างาม ยิ่งใหญ่ที่สุดในฉานได้ ไม่น่าแปลกใจเลย ที่เจ้าแว่นทิพย์ เริ่มเบื่อหน่าย เมืองที่มีเพียงถนนลูกรังเพียงเส้นเดียว เจ้าแว่นทิพย์ จึงพาญาติผู้น้องมาอยู่ด้วย เพื่อเยียวยาจิตใจ รวมทั้งเด็กชายตัวเล็กแสนซุกซน ที่เล่นกับเจ้าได้ตลอดเวลา แต่เมื่อถึงช่วงเปิดเรียน เด็กๆ ทุกคนก็ไปโรงเรียน และละทิ้งเจ้าอยู่เบื้องหลัง ที่เมืองแสนหวี อันเงียบเหงาตามลำพัง

เจ้าคิดถึง โรงเรียน เเต่เจ้าแว่นทิพย์ไม่เคยเบื่อหน่ายชีวิต รอบหอแสนหวี เจ้าแว่นทิพย์มีสนามเทนนิส ม้า ที่ฝึกฝนมาอย่างดี รถพร้อมคนขับ และเบี้ยเลี้ยง บางครั้งเธอก็นั่งรถไปในป่า เพื่อเยี่ยมช้างที่เป็นของขวัญวันแต่งงานจากเชียงตุง ช้างตัวใหญ่มาก จึงไม่สามารถเลี้ยงไว้ที่หอได้

บางโอกาส พวกเขาก็ขับรถไปเยี่ยมเยียนเมืองใกล้ๆ เช่น สีป้อ และพักผ่อนยามบ่าย ริมสระน้ำคอนกรีต ท่ามกลางสวนกุหลาบสวยงาม บางคราว ก็ไปเยี่ยมเจ้าฟ้าเมืองไหญ่ ที่ยังพำนักอยู่ในหอไม้สักเก่าแก่ และมืดสลัว พร้อมด้วยชายาหลายองค์ บรรยากาศราวกับย้อนกลับไปในอดีตอันไกลโพ้นทีเดียว

วันเวลาผ่านไปอย่างเรียบง่าย และสงบสุข ถึงกระนั้น เจ้าตระหนักว่า โลกกำลังสั่นไหวด้วยพายุลูกใหม่ ที่โหมกระหน่ำอยู่เบื้องหลังแสนหวี โชคดีที่รัฐฉาน ยังคงพึ่งพาตนเองได้ ความอุดมสมบูรณ์ปกป้องชาวไตให้พ้นจากความอดอยาก แม้แต่หลังเหตุการณ์ ตลาดข้าวโลกล่มสลายก็ตาม ในที่ราบลุ่มพม่า ข้าวส่วนใหญ่ส่งออกสู่ตลาดโลก จึงทำให้ในตลาดท้องถิ่น ขาดแคลนข้าว และราคาก็ขึ้นตามตลาดสากล แต่ที่ แสนหวี ทุกคนกินข้าวที่ปลูกเอง พวกเขาไม่เดือดร้อน หรือขาดแคลนอะไรเลย

วันหนึ่งมีชายแปลกหน้าชาวไต วัยกลางคนมาที่ห้องรับแขก บุคลิกของเขาเข้มแข็งแบบทหารถึงไม่บอกก็รู้ได้ว่าชายผู้นี้คือ เจ้าฟ้าหยองห้วย เจ้ายังจำความประทับใจของหอหยองห้วย ในขณะไปทัศนศึกษาที่หนองอินเลได้ดี เจ้าได้ยินมาว่าเจ้าส่วยไต้ก์ผู้นี้ ได้มรดกเป็นหอหลวงหยองห้วยอย่างไม่คาดฝัน จากลุงของเขาที่เสียชีวิตไป อดีตเจ้าฟ้าลุงของเขา เคยให้ฮิลเดอบราหนด์ ยืมเรือหงสาทองคำ ล่องหนองอินเลใน ปี 1890

ก่อนตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษนั้น ราชสำนักหยองห้วย ใกล้ชิดกับราชสำนักมัณฑะเลย์มาก อดีตเจ้าฟ้าองค์นี้เป็นบุตรบุญธรรม ของพระเจ้าสีป่อ เมื่อสิ้นรัชสมัยพระเจ้าสีป่อ บรรดาเจ้าฟ้า เริ่มทำสงครามรบพุ่งกันเอง ทำให้อังกฤษ ฉวยโอกาสเข้าครอบครองรัฐฉาน อังกฤษสนับสนุนเจ้าฟ้าหยองห้วย ทำสงครามเพื่อต่อต้าน และรุกรานศัตรู ซึ่งแลกกับสัมปทาน และผลประโยชน์อีกมากมาย




อังกฤษปกครองเมืองหยองห้วย จากเมืองตองจีที่อยู่เหนือขึ้นไป ในปี 1917 มีชาวบ้านพบกาเผือกในบริเวณหนองน้ำที่เชิงเขา ชาวบ้านนำกาเผือกไปถวายแด่เจ้าฟ้าที่หอ เจ้าฟ้าแต่งตั้งชายผู้นั้น เป็นผู้พิทักษ์กาเผือก อดีตเจ้าฟ้าหลวงหยองห้วย ตั้งใจจะกอบกู้ความรุ่งโรจน์ ให้กลับคืนมา หลังจากที่หอเก่า ถูกเผาจนสิ้นซาก

เจ้าฟ้า ว่าจ้างช่างฝีมือชั้นเยี่ยม มาสร้างหอใหม่ ที่มีสถาปัตยกรรมผสมผสาน ระหว่างใหม่ และ เก่าไว้ด้วยกัน ชั้นล่างของหอก่ออิฐถือปูนสีแดง ชั้นบนเป็นอาคารไม้ตามจารีตโบราณ มีสามหลังเชื่อมต่อกัน นอกจากนี้ ยังสั่งให้ก่อสร้างกรงนกกาเผือกขนาดใหญ่ ไว้ที่สวนด้วย

หอหลวงขนาดใหญ่นี้ ใช้เวลาก่อสร้างแรมปี แต่เจ้าฟ้าก็สิ้นใจไปก่อนที่จะยกปราสาท 7 ชั้น อันเป็นสัญลักษณ์กษัตริย์ ตามแบบมัณฑะเลย์ เหนือหอหลวงหลังใหม่ เจ้าฟ้าจากไป ละทิ้งภารกิจสำคัญอยู่เบื้องหลัง ท่านยังไม่ได้แต่งตั้งรัชทายาทเลย ในปี 1927 อังกฤษ ถือโอกาสเข้าควบคุมสถานการณ์ และ ประกาศการเสียชีวิตของเจ้าฟ้า ให้สาธารณชนได้รับทราบ และแจ้งว่า ก่อนที่เจ้าฟ้าจะสิ้นใจ ท่านได้เอ่ยชื่อหลานชายห่างๆ คนหนึ่งออกมา ซึ่งรับราชการทหาร ในกองพลตะวันออกเฉียงเหนือของพม่า และ ประจำการอยู่ที่ตองจี คือเจ้าส่วยแตก ซึ่งได้ครองเมืองต่อจากเจ้าฟ้า และเสกสมรสกับเจ้านางเฮือนคำจากแสนหวี เพื่อนสนิทของ เจ้าแว่นทิพย์นั่นเอง

ช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 มีนักเขียนชาวอังกฤษเดินทางไปหอแสนหวี และได้พบกับเจ้านางแว่นทิพย์ เขากล่าวว่า เจ้านางมีผิวขาวละเอียด ราวกับตุ๊กตาญี่ปุ่น ถ้าได้ออกงานสังคมในกรุงลอนดอนแล้ว ทุกคนจะต้องมองเป็นตาเดียว แม้แต่ในเมืองแสนหวีที่ห่างไกลนี้เองก็ตาม เจ้านางแว่นทิพย์ก็ยังคงงดงามโดดเด่นชวนตะลึง

ในหนังสือ จากเอดินเบอร์กสู่อินเดียและพม่า ผู้เขียนได้กล่าวถึงเจ้านางแว่นทิพย์ ที่พบในที่พักแรมของบรรดาเจ้าฟ้าไทใหญ่ ชานกรุงย่างกุ้งดังนี้

ผมสังเกตเห็นเจ้านางชาวไตสามองค์ ที่มีรูปร่างได้สัดส่วนสวยงาม แต่มีอยู่องค์หนึ่งสวมใส่เองจีสีเขียวมรกต และนุ่งซิ่นสีเข้ากัน ที่มวยผมด้านหลัง ประดับด้วยเพชรพลอยและดอกไม้ ที่แผ่ออกไปราวกับแสงรัศมี เจ้านางสวยเหลือเกิน อีกทั้งยังมีบุคลิกที่เก่งกล้าสามารถ แลดูฉลาดหลักแหลม เจ้านางเดินทางเป็นระยะทาง 600 ไมล์ เพื่อมาเข้าเฝ้าเจ้าชายและเจ้าหญิงแห่งเวลส์ ได้ยินมาว่า เจ้านางได้เดินทางไปยังทิศตะวันออกเฉียงเหนือ 300 ไมล์ เพื่อพบกับ มิสเตอร์ คาเรย์ แต่ก็คลาดกันเสีย จากนั้นก็เดินทางอีก 200 ไมล์ เพื่อมายังที่พักแรมแห่งนี้ ดูมวยผมที่ดำขลับ ประดับด้วยเพชรและทับทิมของเจ้านางสิ ผมคิดว่า เจ้านางองค์นี้ ยอดเยี่ยมและน่าสนใจมากที่สุด อีกทั้งยังเป็นชายาของเจ้าฟ้าเมืองแสนหวีที่อยู่ทางเหนือ มีอาณาเขตติดต่อกับประเทศจีน

ผมเชื่อว่า เจ้านางที่สวมเองจีสีเขียวมรกตนั้น ต้องมาจากดินแดนในเทพนิยายอย่างแน่นอน เจ้านางจับมือทักทาย แล้วยื่นถ้วยน้ำชา พร้อมกับถาดใส่น้ำตาลก้อน และเหยือกครีมให้เรา จากนั้นยังมอบช่อดอกไม้ สำหรับเสียบกระดุมเสื้อ ที่มีกลิ่นหอมจัดคล้ายกับกลิ่นซิการ์ ถ้าผมพูดภาษาไตกับเจ้านางได้นั้น คงเหมือนกับอยู่ในโลกแห่งความฝันเลยทีเดียว ....

“....และแล้วผมก็ทราบว่า เจ้านางองค์ที่ใส่เองจีสีเขียวมรกต คือเจ้านางแว่นทิพย์ ชายาเจ้าฟ้าเมืองแสนหวีนั่นเอง จากเมืองแสนหวีมากรุงย่างกุ้งนั้น ใช้ระยะเวลา 50 วัน เจ้านางแว่นทิพย์ เป็นน้องสาวต่างมารดากับเจ้าฟ้าเมืองเชียงตุง เจ้านางถือว่า เป็นกำลังหลักของเมืองแสนหวี เจ้านางดูงดงามไร้ที่ติ ดวงหน้าพริ้มพราย รูปไข่ ตั้งอยู่บนลำคอยาวระหง ดวงตาเรียวงาม กิริยามารยาทเรียบร้อยสมเป็นกุลสตรี

ในกลางปี ค.ศ. 1947 เมื่อเจ้าเฮือนคำ ซึ่งได้เป็นมหาเทวีเมืองหยองห้วย กลับไปเยือนเมืองแสนหวีได้บันทึกไว้ว่า

เมื่อถึงเมืองเเสนหวี มีหลายอย่างเปลี่ยนไป ไม่รู้สึกอบอุ่น เหมือนได้กลับมาเยี่ยมเหมือนก่อน สาเหตุหนึ่งก็คือ อดีตเพื่อนร่วมชั้นเรียน เจ้านางแว่นทิพย์ ไม่ได้อยู่ที่แสนหวีแล้ว เธอได้หย่าร้างกับเจ้าห่มฟ้า แล้วกลับไปอยู่ที่เมืองเชียงตุง

ในกาลต่อมา เมื่อสิ้นการปกครองแบบเจ้าฟ้าในรัฐฉาน การเมืองระหว่างรัฐ ไม่ใช่เงื่อนไขของการครองชีวิตคู่อีกต่อไป เจ้านางแว่นทิพย์ จึงทรงหย่าขาด กับเจ้าห่มฟ้า เมื่อปี พ.ศ. 2490 และ ทูลลากลับมาพำนักที่เชียงตุง โดยทั้งสองไม่มีบุตรธิดาด้วยกัน และเจ้านางแว่นทิพย์ผู้เลอโฉม ก็ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย และไม่ได้เสกสมรสกับชายใดอีก ตราบจนสิ้นชีวิตเมื่อ ปีพ.ศ. 2520 ทิ้งไว้เพียงความงามฉายฉาน ดุจนางในตำนาน จากโลกยุคเก่า เจ้าหญิงแว่นทิพย์ กระจกวิเศษอันเป็นนิรันดร์



ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ศาลาการเปรียญไม้ทรงโบราณ ที่อำเภอเสาไห้

ตำนาน และประวัติความเป็นมา ของอำเภอเถิน จังหวัดลำปาง

[คติธรรม] คมธรรมของหลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ