ย้อนนาทีศาลโลกสั่ง “ไทย-เขมร” ถอนทหาร พ้นเขาพระวิหาร!
ย้อนนาทีศาลโลกสั่ง “ไทย-เขมร”
ถอนทหาร พ้นเขาพระวิหาร!
จุดเริ่มต้นของการปะทุครั้งใหม่แถบชายแดนไทย-กัมพูชา
ที่เคยมอดไปแล้วกว่าครึ่งศตวรรษ เกิดจากความไม่พอใจของกัมพูชาเอง ทั้งๆ ที่ “ศาลโลก” เคยตัดสินให้ “ปราสาทพระวิหาร” ตกเป็นของกัมพูชาแล้วตั้งแต่
พ.ศ.2505 แต่ประเทศผู้ชนะไม่หยุดอยู่แค่นั้น เพราะถือว่ายังมีพื้นที่อีก 4.6
ตารางกิโลเมตร รอบพระวิหาร ที่คำตัดสินไม่ครอบคลุม
ส่งผลให้ทั้งไทยและกัมพูชาต้องส่งกำลังทหารเข้าปกป้องพื้นที่นี้ที่ทั้งสองฝ่ายถือว่าเป็นของตัวเอง
บริเวณปราสาทพระวิหาร |
แต่เมื่อ “กำลังทหาร”
ไม่อาจชิงพื้นที่ส่วนนั้นมาได้ก็ต้องพึ่ง “กระบวนการยุติธรรม”
ดังนั้น กัมพูชาจึงยื่นคำขอต่อศาลฯ
ให้ตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหารใหม่อีกครั้ง
ขณะเดียวกันได้ขอให้ศาลกำหนดมาตรการชั่วคราวสั่งให้ไทยถอนทหารออกจากบริเวณปราสาทพระวิหารโดยทันทีอย่างไม่มีเงื่อนไข
ในระหว่างที่รอคำตัดสินคดีที่ถูกรื้อขึ้นใหม่
เห็นดังนั้นไทยไม่รอช้ารีบยื่นคำร้องขอให้ศาลยกเลิกการพิจารณาข้อเรียกร้องของรัฐบาลกัมพูชา
ด้วยมองว่าเป็นการกระทำที่เกินขอบเขตของศาลและไม่ยุติธรรม
กระทั่งเวลาล่วงเลยมาถึงนาทีสำคัญ เมื่อ นายฮิซาชิ โอวาดะ
ประธานศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ศาลโลก) นั่งบัลลังก์อ่านคำตัดสิน ณ กรุงเฮก
ประเทศเนเธอร์แลนด์
นำมาซึ่งคำตัดสินที่คาดไม่ถึง !?
เวลา 15.00 น. 18 ก.ค.54 วันที่ชาวไทยต่างลุ้นระทึก
ด้วยต่างไม่ทราบว่า การตัดสินร่วมกันของคณะผู้พิพากษาศาลโลก ทั้ง 16 คน
จะออกมาหน้าหรือหลังมือ จะฟังคำขอกัมพูชาหรือจะยกเลิกข้อเรียกร้องตามความต้องการของไทย
แต่เมื่อคำประกาศซึ่งผลเป็นเอกฉันท์ได้ถูกอ่านขึ้น
ก็นำมาซึ่งความลำบากใจของทั้งสองฝ่าย โดยมติมีเนื้อหาสรุปได้ ดังนี้
1. ศาลมีมติ 11 ต่อ 5 เสียง
ให้ทั้งสองฝ่ายถอนทหารทั้งหมดออกจากเขตพื้นที่
ซึ่งกำหนดให้เป็นเขตปลอดทหารตามมาตรการชั่วคราว
และให้ทั้งสองฝ่ายหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมทางทหารใดๆ ภายในพื้นที่นี้
2. ศาลมีมติ 15 ต่อ 1 เสียง
ไม่ให้ไทยขัดขวางการเข้า-ออกพื้นที่ปราสาทพระวิหารของฝ่ายกัมพูชา
ที่ไม่ใช่กิจกรรมทางทหาร ไทยกับกัมพูชาต้องร่วมมือกันต่อไปภายใต้กรอบของอาเซียน
โดยอนุญาตให้ผู้สังเกตการณ์ภายใต้อาเซียนสามารถเข้าไปในพื้นที่เขตปลอดทหาร
ภายใต้มาตรการชั่วคราวได้
3. ศาลมีมติ 15 ต่อ 1 เสียง
ให้ทั้งสองฝ่ายต้องรายงานการปฏิบัติตามมาตรการชั่วคราวที่ได้สั่งไว้ข้างต้น
จนกว่าศาลจะมีคำตัดสินเกี่ยวกับการตีความคำพิพากษาเดิม
ตัวแทนรัฐบาลไทยและกัมพูชา นั่งฟังคำตัดสินศาลอย่างลุ้นระทึก |
จากคำวินิจฉัยข้างต้น คงไม่มีใครพูดได้เต็มปากว่า "ชัยชนะ"
ตกเป็นของตัวเองได้
เพราะหากมองในมุมมองที่แตกต่างกันคำตัดสินก็ต่างเอื้อประโยชน์ให้สองฝ่ายแบบจำกัดจำเขี่ย
“กัมพูชา” ชนะเพราะศาลสั่งให้ไทยถอนทหารจากบริเวณรอบๆ
เขาพระวิหารได้ตามที่ตั้งเป้าเอาไว้ แต่ที่ขัดใจคือ
ไม่ใช่แค่ไทยที่ต้องยอมถอนเพราะศาลสั่งให้ทำทั้งสองประเทศ
ทว่าการถ่ายทอดเสียงผ่านเครือข่ายกว่า 20 สถานี ทั่วประเทศกัมพูชา
กลับบอกประชาชนว่า เป็นชัยชนะครั้งยิ่งใหญ่ ที่ขับไล่ทหารไทยออกไปไทย
ส่วนทหารกัมพูชาจะยังคงตรึงกำลังอยู่ในที่เดิม
ขอให้พี่น้องมั่นใจว่าปราสาทพระวิหารจะเป็นของกัมพูชาแน่นอน
“กัมพูชาพอใจกับคำตัดสินของศาลโลกในครั้งนี้
เพราะการที่ศาลโลกสั่งให้ตั้งเขตปลอดทหารรอบปราสาทพระวิหารจะช่วยให้เกิดสันติภาพ
แผนที่ดังกล่าวหมายความว่าจะมีการหยุดยิงแบบถาวร” นายฮอร์ นัมฮง รมว.การต่างประเทศกัมพูชา
เปิดเผยหลังทราบคำตัดสินของศาลโลก
โดยเป็นที่น่าสังเกตว่า ไม่มีการเอ่ยถึงข้อเรียกร้องที่ให้กัมพูชาถอนทหารออกจากบริเวณปราสาทพระวิหารด้วยแต่อย่างใด
ฮอร์ นัมฮง รมว.ต่างประเทศกัมพูชา |
ขณะที่ “รัฐบาลไทย” ก็พอใจเพราะในที่สุดกัมพูชาก็ต้องถอนทหารออกจากปราสาทพระวิหาร
อ้างอิงได้จากคำกล่าวของ นายกษิต ภิรมย์ รมว.การต่างประเทศ ในขณะนั้น
“ถ้าถามว่าพอใจหรือ ไม่
เรื่องนี้เป็นท่าทีของไทยมาโดยตลอดที่ฝ่ายกัมพูชาต้องถอนทหารออกจากปราสาทพระวิหาร
ซึ่งในแง่นี้เรามีความพึงพอใจเป็นอย่างมาก
ส่วนการจะต้องเจรจากับฝ่ายกัมพูชาก็เป็นไปตามที่เราต้องการตลอดเวลา ในที่สุดก็กลับมาในประเด็นที่เราต้องการ”
ตรงข้ามกับความคิดเห็นของคนไทยบางส่วน
ที่มองว่ามติที่เป็นเอกฉันท์ดังกล่าว
แสดงให้เห็นว่าเสียงส่วนใหญ่เข้าข้างกัมพูชามากกว่าประเทศไทย
ถือเป็นความล้มเหลวของรัฐบาล !
บางคนมองว่า กระทรวงการต่างประเทศของไทยภายใต้การนำของนายกษิต ภิรมย์
ประสบความล้มเหลวในการปฏิบัติราชการแผ่นดิน หรือหากพูดให้ถูก
กล่าวได้ว่าคดีพระวิหารถือเป็นคดีที่รัฐบาลไทยแทบทุกสมัยต้องรับผิดชอบร่วมกัน
เพราะในขณะที่ รัฐบาลของนายฮุน เซน
วางยุทธศาสตร์และดำเนินการจะยึดครองพื้นที่ของประเทศไทยมาอย่างยาวนานและต่อเนื่อง
หลายสิบปี แต่รัฐบาลไทยไล่มาตั้งแต่รัฐบาลนายชวน หลีกภัย ,รัฐบาล ทักษิณ
ชินวัตร, รัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช, รัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์, รัฐบาลนายอภิสิทธิ์
เวชชาชีวะ และรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มิได้สนใจใยดี
มิหนำซ้ำยังมีพฤติกรรมที่เอนเอียงและเอื้อประโยชน์ต่อฝั่งกัมพูชาในบางคราว
จับมือปรองดอง |
แต่คำตัดสินคราวนั้นก็เป็นเพียงระฆังยกแรก
ของกระบวนการยุติธรรมที่ยืดยาวและซับซ้อน เพราะระฆังยกสุดท้ายได้ลั่นขึ้นในวันที่
11 พ.ย. 2556 บ่งบอกถึงการสิ้นสุดของคดีความ
ที่ลงท้ายแล้วคำตัดสินดูเอื้ออำนวยประโยชน์ให้แก่ฝ่ายกัมพูชาตามความคาดหมาย
แถมทิ้งท้ายให้ไทย กับ กัมพูชา ตกลงเรื่องเขตแดนกันเอง
ซึ่งยังคงหาที่สิ้นสุดไม่ได้มาจนถึงวันนี้…
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น