ประวัติความเป็นมาจังหวัดลำพูน

 


ประวัติความเป็นมาจังหวัดลำพูน

“พระธาตุเด่น พระรอดขลัง ลำไยดัง กระเทียมดี ประเพณีงาม จามเทวี ศรีหริภุญชัย”

        จังหวัดลำพูน เดิมชื่อเมืองหริภุญไชย เป็นเมืองโบราณ มีอายุประมาณ 1,343 ปี ตามพงศาวดารโยนกเล่าสืบต่อกัน ถึงการสร้างเมืองหริภุญไชย โดยฤาษีวาสุเทพ เป็นผู้เกณฑ์พวกเม็งคบุตร หรือ ชนเชื้อชาติมอญ มาสร้างเมืองนี้ขึ้น ในพื้นที่ระหว่างแม่น้ำสองสาย คือ แม่น้ำกวง และแม่น้ำปิง เมื่อมาสร้างเสร็จได้ส่งทูตไปเชิญ ราชธิดากษัตริย์เมืองละโว้พระนาม “จามเทวี” มาเป็นปฐมกษัตริย์ปกครองเมืองหริภุญไชย สืบราชวงศ์กษัตริย์ ต่อมาหลายพระองค์ จนกระทั่งถึงสมัยพระยายีบา จึงได้เสียการปกครองให้แก่พ่อขุนเม็งรายมหาราช ผู้รวบรวมแว่นแคว้นทางเหนือ เข้าเป็นอาณาจักรล้านนา เมืองลำพูน ถึงแม้ว่า จะตกอยู่ภายใต้การปกครองของอาณาจักรล้านนา แต่ก็ได้เป็นผู้ถ่ายทอดมรดกทางศิลปะและวัฒนธรรม ให้แก่ผู้ที่เข้ามาปกครอง ดังปรากฏหลักฐานทั่วไปในเวียงกุมกาม เชียงใหม่และเชียงราย เมืองลำพูน จึงยังคงความสำคัญในทางศิลปะและวัฒนธรรม ของอาณาจักรล้านนา จนกระทั่งสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เมืองลำพูน จึงได้เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทย มีผู้ครองนครสืบต่อกันมา จนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ต่อมา ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 เมื่อเจ้าผู้ครองนครองค์สุดท้าย คือ พลตรีเจ้าจักรคำ ขจรศักดิ์ ถึงแก่พิราลัย เมืองลำพูนจึงเปลี่ยนเป็นจังหวัด มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้ปกครอง สืบมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน

“เมืองโบราณหริภุญไชย” อาณาจักรอันรุ่งเรืองและเก่าแก่ที่สุดในภาคเหนือ แบ่งเป็น ๔ ยุค คือ

 “ยุคก่อนประวัติศาสตร์”

นครในตำนานถึงบ้านวังไฮ ก่อนที่จะเป็นเมืองลำพูน หรืออาณาจักรหริภุญไชย ในอดีตดินแดนแถบลุ่มแม่น้ำปิง น้ำปิงน้ำกวงผืนนี้ เคยมีชื่อว่า “สมันตรประเทศ”มาก่อน เหตุการณ์เกิดขึ้นในช่วงหลังพุทธกาลเล็กน้อย หรือราว ๒,๐๐๐ ปีที่ผ่านมา ว่าด้วยเรื่องราวของนักพรตฤษี ที่เดินทางไกลมาจากชมพูทวีป สู่สุวรรณภูมิ ได้เข้ามาเผยแผ่ศาสนาพราหมณ์ ต่อมาได้ผสมเผ่าพันธุ์กับคนพื้นเมือง ก่อกำเนิดชุมชนกลุ่มแรก กลายเป็นบรรพบุรุษของชาว“ลัวะ”เม็งหรือมอญ ณ ริมฝั่งแม่ระมิงค์ หรือแม่น้ำปิง หลักฐานที่รองรับ ยืนยันถึงการมีอยู่จริงของมนุษย์ ยุคก่อนอาณาจักรหริภุญไชย ได้แก่ โครงกระดูกที่ขุดพบ ณ บ้านวังไฮ ต.เวียงยอง อ.เมือง จ.ลำพูน เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๐ ซึ่งนักโบราณคดีได้ทำการศึกษาพบว่า มีอายุระหว่าง ๒,๘๐๐ - ๓,๐๐๐ ปีมาแล้ว จัดเป็นมนุษย์ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย ที่รู้จักประเพณีฝังศพ ด้วยการอุทิศสิ่งของให้ผู้ตายไว้ใช้ในปรโลก รู้จักทำเกษตรกรรม และตั้งหลักแหล่ง ไม่เร่ร่อน มีการติดต่อกับภายนอก ทั้งซีกโลกตะวันตก คือกลุ่มของพ่อค้าอินโด-โรมัน เห็นได้จากการพบลูกปัด สร้อยกำไลในหลุดศพ ทำด้วยหินควอทซ์ และซีกโลกตะวันออก คืนกลุ่มของอารยธรรมดองซอน กวางสี แถบเวียดนามเหนือและจีนใต้ ซึ่งได้นำเอาเครื่องประดับ ที่ทำด้วยสำริดมาแลกเปลี่ยนค้าขาย ชนกลุ่มนี้ ต่อมาได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของประชากร ในแคว้งหริภุญไชยอีก ๑,๐๐๐ ปีต่อมา 

กำเนิดมนุษย์ถ้ำ สู่สัญลักษณ์ภาพเขียนสี เมืองลำพูน มีสภาพภูมิศาสตร์สองลักษณะ กล่าวคือบริเวณอำเภอเมือง บ้านธิ ป่าซาง และเวียงหนองส่อง เป็นเขตที่ราบลุ่มริมน้ำประเภท “ดินดำน้ำชุ่ม” ส่วนอำเภอแม่ทา-ทุ่งหัวช้าง-ลี้และบ้านโฮ่งเป็นเขตของเทือกเขาสูงชัน โดยมากเป็นหินปูน มีทำเลที่ตั้ง เหมาะแก่การตั้งหลักแหล่ง ที่อยู่อาศัยของมนุษย์ยุคหิน ซึ่งต้องใช้เพิงผาถ้ำ ไม่ไกลจากแหล่งที่เป็นที่กำบังกาย จากหลักฐานที่ค้นพบใหม่ล่าสุดในปี พ.ศ.๒๕๕๒ ณ ดอยแตฮ่อดอนผาผึ้ง ต.ป่าพูล อ.บ้านโฮ่ง และดอยผาแดง กับดอยนกยูง ต.ศรีวิชัย อ.ลี้ รวมถึงการขูดขีดเพิงผาหินเป็นรูปรอยเท้าแบบ Rock Art ณ ด้านหลังวัดดอยสารภี อ.แม่ทา ได้พบร่องรอยของมนุษย์ยุคหินกลาง ถึงยุคหินใหม่ มีอายุราว ๑,๐๐๐-๔,๐๐๐ ปีมาแล้ว คนกลุ่มนี้นับถือผี วิถีเร่ร่อนย้ายถิ่นฐานตามฤดูกาล บูชาอำนาจเหนือธรรมชาติที่มองไม่เห็น (Animism) สามารถผลิตเครื่องมือขวานหิน-ใบหอกเป็นอาวุธ ข้อสำคัญ รู้จักเขียนภาพบนผนังถ้ำด้วยสีแดง สีที่ใช้มีส่วนผสมของเลือดนกพิราบ ไข่ขาว กาวยาง หนังสัตว์ หรือสามารถสื่อสัญลักษณ์ด้วยการใช้ขวานหินขูดขีดลวดลาย ภาพเหล่านี้ สะท้อนถึงความเชื่อเรื่องการบูชารอยเท้า งานพิธีกรรมฝังศพ การตัดไม้ข่มนามก่อนการออกล่าสัตว์ ต่อมาเมื่อมนุษย์เริ่มรู้จักใช้ไฟฟ้า ทำให้เปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคจากเนื้อดิบ เป็นปรุงอาหารให้สุก มีการปั้นภาชนะดินเผา สำหรับใส่กระบอกธนู หม้อกระดูก มีการตกแต่งขูดขีดผิดภาชนะ เป็นรูปงูไขว้ ในที่สุดเริ่มตั้งแต่ยุคเร่ร่อน มีการเลือกผู้นำเผ่า และเข้าสู่ยุคสังคมเกษตร ราว ๓,๐๐๐ ปีที่ผ่านมา

“ยุคหริภุญไชย” หริภุญไชย ปฐมอารยนครแห่งล้านนา หริภุญไชยนค มีฐานะเป็นราชธานีแห่งแรกของภาคเหนือ เป็นรากฐานอารยธรรมอันเจริญรุ่งเรืองสูงสุด ส่งในทุกๆ ด้าน ให้แก่อาณาจักรล้านนานับตั้งแต่ด้านพุทธศาสนา เศรษฐกิจ การเมือง การปกครอง ศิลปกรรม วัฒนธรรม การทหาร ดังมีหลักฐานยืนยันจากศิลาจารึก ตำนาน โบราณสถาน โบราณวัตถุ ฯลฯ ปฐมอารยนครแห่งนี้เป็นบ่อเกิดแห่งการประดิษฐ์อักขระมอญโบราณในพุทธศตวรรษที่ ๑๕-๑๗ พบจำนวนมากถึง ๑๐ หลักเรื่องราวจากศิลาจารึกแสดงถึงอัจฉริยภาพด้านการปกครอง และความรุ่งเรืองทางศาสนา อักษรมอญโบราณเหล่านี้ ส่งอิทธิพล ด้านรูปแบบอักขระให้แก่อักษรในพุกาม สะเทิม รวมไปถึงอักษรพม่าและมอญที่ใช้ในปัจจุบัน นอกจากนี้แล้ว ยังเป็นต้นกำเนิดลายสือไท สมัยสุโขทัยในอีก ๔๐๐ ปีต่อมา และอักษรธรรมล้านนา ให้แก่ชาวไทยภาคเหนือ (ไทยวน) และต่อมาได้แพร่หลายไปสู่อักษรไทลื้อ ไทอาหม ไทใหญ่ หริภุญไชยนคร มีความเจริญรุ่งเรืองอย่างยิ่ง และเป็นที่เลื่องลือในกลุ่มชนชาวตะวันออกเฉียงใต้ อันได้แก่ พุกาม นครวัต (เขมร) จำปา ศรีวิชัย นครศรีธรรมราช ละโว้ และจีน หริภุญไชย ได้กลายเป็นยุทธศาสตร์นคร ที่หลายๆ แคว้นได้เข้ามาเยือน เพื่อสร้างสัมพันธไมตรีทางการทูต ทางการค้า ทางสวัสดิการสังคม ความเป็นอยู่สู่ความเห็นพ้อง ทางด้านวัฒนธรรมอันทรงคุณค่า ด้วยเหตุนี้ ศิลปวัฒนธรรมสมัยหริภุญไชย จึงเป็นผสมผสานศิลปะอันมีค่าได้อย่างลงตัว กษัตริย์ในราชสกุลจามเทวีวงศ์แห่งหริภุญไชยนคร ได้ครองราชสมบัติยาวนานสืบเนื่องต่อมา ราว ๖๒๐ ปี มีพระมหากษัตริย์ทั้งสิ้นประมาณ ๕๐ พระองค์

สงครามสามนครสู่สายสัมพันธ์มอญหงสาวดี เมื่อหริภุญไชยนคร ผ่านกาลเวลามาได้สามศตวรรษ รัฐละโว้ เมืองแม่แต่เดิม เคยเป็นเครือข่ายทวารวดี ได้ถูกปกครองโดยขอม ทำให้ละโว้กลายเป็นศัตรูกับหริภุญไชย ยุคนี้ รัฐทางใต้ มีการแผ่แสนยานุภาพจากชายฝั่งทะเล มาสู่เขตที่ราบลุ่มภูเขาตอนใน เพื่อขยายเส้นทางการค้าหลายระลอก ทำให้เกิดสงครามครั้งใหญ่ ระหว่าง“นครศรีธรรมราช-ละโว้-หริภุญไชย” จนกระทั่งถึงสมัยพระเจ้ากมลราช นครหริภุญไชย เกิดโรคห่าครั้งใหญ่ ประชาชนชาวมอญหริภุญไชย อพยพหนีไปอยู่เมืองหงสาวดี และสะเทิมเป็นเวลา ๖ ปี เมื่อสร่างจากโรคระบาด ได้นำเอาชาวมอญ-หงสาวดี และมีการถ่ายเททางอารยธรรม ระหว่างชาวแม่ระมิงค์กับลุ่มน้ำสาละวิน จนเกิดประเพณีลอยหะโมด ในฤดูน้ำหลาก อันเป็นต้นกำเนิดของประเพณีลอยกระทงของสุโขทัย ปัจจุบันชาวมอญจากหงสาวดี ยังคงตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บ้านหนองคู่ เวียงเกาะกลาง ต.บ้านเรือน อ.ป่าซาง จ.ลำพูน และบ้านต้นโชค บ้านหนองคอบ อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ ด้วยการรักษาขนบธรรมประเพณีชาวมอญ

พุทธศตวรรษที่ ๑๖-๑๗ ถือว่าเป็นยุครุ่งเรืองของความเจริญทุกๆ ด้าน ประวัติศาสตร์ยุคนี้ มีความชัดเจนขึ้นทีละน้อยๆ ไม่เพียงแต่ปรากฏหลักฐาน ทางโบราณคดีอย่างมากมายเท่านั้น หากยังอ้างอิงได้ถึงหลักฐานทางด้านอักขระ กล่าวคือ มีการพบศิลาจารึกอักษรมอญ-โบราณมากที่สุดในประเทศไทย หลังจากยุคของพญาอาทิตยราช มหาราชแห่งหริภุญไชยนคร ผู้ทรงขุดพบพระธาตุ และกระทำการสถาปนา พระบรมสารีริกธาตุกลางมหานคร ขึ้นเป็นศูนย์รวมความศรัทธาครั้งแรกของภาคเหนือแล้ว พระราชโอรสของพระองค์ คือพระเจ้าธรรมิกราชาได้สร้างพระอัฏฐารส(พระยืนสูง ๑๘ ศอก) ที่วัดอรัญญิการาม (วัดพระยืน) จนถึงยุคสมัยของพญาสรรพสิทธิ์ กษัตริย์ผู้ทรงผนวช ระหว่างครองราชย์ ทรงถวายพระราชวัง เชตวนาลัยให้สร้างวัดเชตวนารามหรือวัดดอนแก้ว ทรงผนวชพร้อมมเหสีและโอรส ทรงสร้างต้นโพธิ์ และประกาศเชิญชวนประชาชน ให้ค้ำจุนต้นโพธิ์ ถือเป็นต้นแบบของกษัตริย์ในยุคต่อมา ที่ดำเนินรอยตาม ในส่วนของการกัลปนาวังเพื่อสร้างวัด การผนวชขณะครองราชย์ และประเพณี “ไม้ก๊ำสะหลี” ของชาวล้านนาต่อมา

ก่อนยุคหริภุญไชยนคร คนพื้นเมืองชาวลัวะดั้งเดิม เคยบูชาผีแถน ผีบรรพบุรุษที่เรียกว่า “ผีปู่แสะย่าแสะ” มีการบูชาเสาสะกัง หรือเสาอินทขีล ต่อมา ยอมรับเอาศาสนาพราหมณ์จากฤษี นักพรต ล่วงสู่ยุคหริภุญไชย จึงมีการสถาปนาศาสนาพุทธแห่งแรกของภาคเหนือ กระทั่งเปลี่ยนเป็นนิกายลังกาวงศ์ รามัญวงศ์ ฯลฯ ศาสนาทุกลัทธิในหริภุญไชยนคร ได้รับการผ่องถ่ายไปสู่เมืองอื่นๆ ทั้งในล้านนา ล้านช้าง สิบสองปันนา ลำแสงแรกแห่งพระพุทธศาสนา รุ่งเรืองไสวขึ้น นับตั้งแต่ได้มีการขุดพบพระบรมสารีริกธาตุ ในส่วนของพระเกศาธาตุ ณ บริเวณวัดพระธาตุหริภุญไชยปัจจุบัน ในรัชสมัยของพญาอาทิตยราช ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖-๑๗ ทรงสถาปนา พระบรมธาตุเจดีย์ขึ้นแห่งแรก ในภาคเหนือ โบราณราชประเพณีกำหนดให้พระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ จักต้องมากราบนมัสการพระบรมธาตุเจดีย์แห่งนี้ ก่อนพระราชพิธีบรมราชาภิเษก มีหลักฐานปรากฏว่า แม้แต่หลวงจีนทิเบต ในแต่ละปี ก็ต้องจารึกแสวงบุญ ด้วยการมาสักการะพระมหาธาตุเจดีย์หริภุญไชย สะท้อนว่า เมืองลำพูน คือศูนย์กลางของพุทธศาสนาแห่งลุ่มแม่น้ำปิง วัง ยม น่าน ตลอดจนลุ่มน้ำ โขง-สาวะวิน ตราบถึงวันนี้ ลำพูน ได้กลายเป็นศูนย์รวมอารยธรรมทางพุทธศาสนา แห่งอาณาจักรล้านนา ซึ่งศาสนสถานที่ปรากฏให้เห็นในปัจจุบันได้แก่ วัดพระธาตุหริภุญชัย วัดพระพุทธบาทตากผ้าในอำเภอป่าซาง และวัดพระพุทธบาทห้วยต้มในอำเภอลี้ เป็นต้น องค์พระบรมเจดีย์ ในวัดพระธาตุหริภุญชัยเชื่อว่า เป็นพระเจดีย์ที่เก่าแก่ที่สุด โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลที่ ๔ ได้ทรงยกย่อง และสถาปนาพระบรมธาตุเจดีย์องค์นี้ พร้อมทั้งได้จารึกไว้ว่า เป็นพระเจดีย์องค์หนึ่งในแปดพระบรมธาตุเจดีย์ ที่มีชื่อเสียงที่สุดในประเทศไทย วัดพระธาตุหริภุญชัย ยังได้ชื่อว่า เป็นพระบรมธาตุเจดีย์ประจำราศี ของผู้เกิดปีระกาอีกด้วย

          ภายหลังจากการล่มสลายของเมือง “สมันตรประเทศ” ด้วยการขาดผู้นำที่ทรงคุณธรรม กลุ่มนักพรตฤษี ผู้มีบทบาทในการสร้างเมืองตั้งแต่เริ่มแรก ได้กอบบ้านกู้เมืองข้นมาใหม่ ในราวปี พ.ศ.๑๒๐๔ เฉลิมนามว่า “หริภุญไชยนคร” โดยได้อัญเชิญราชธิดาของพระเจ้ากรุงละโว้นามว่า “พระนางจามเทวี” มาเป็นปฐมกษัตริย์ในปี พ.ศ.๑๒๐๖ พระนางทรงนำเอาอารยธรรมชั้นสูงแบบทวารวดี ขึ้นมาทางแม่น้ำปิง สู่ดินแดนภาคเหนือของไทยเป็นครั้งแรก ทรงรวบรวมชนพื้นเมืองกลุ่มต่างๆ เข้าด้วยกัน ภายใต้การปกครองแบบทศพิธราชธรรม ทรงประกาศพระพุทธศาสนาให้เลื่องลือไกล ด้วยการสร้างวัดวาอารามกระจายทั่วดินแดน อีกทั้งยังทรงขยายอาณาเขตความเจริญไปยังลุ่มน้ำต่างๆ อาทิเมืองเขลางค์นคร-อาลัมพางค์(ลำปาง) แห่งลุ่มน้ำวัง เวียงเถาะ เวียงท่ากาน เวียงมะโน เวียงฮอด บั้นปลายพระชนม์ชีพ ทรงสละราชสมบัติให้แก่พระราชโอรสฝาแฝด “เจ้ามหันตยศ เจ้าอนันยศ” ให้ครองแควันหริภุญไชย-เขลางค์นครสืบมา ในขณะที่พระองค์ทรงครองศีลอุบาสิกา คุณงามความดีที่ทรงกระทำไว้ เป็นที่ขจรขจาย มีมากเกินคณานับ จนได้รับฉายาว่าเป็น”พระแม่เมือง-พระมิ่งเมือง” ของชาวเมืองหริภุญไชย

“ยุคล้านนา” ยามสิ้นแสงอัสดงคต หริภุญไชยนคร ผ่านกาลเวลอันรุ่งโรจน์ มานานถึงหกศตวรรษด้วยกิตติศัพท์ความอุดมสมบรูณ์ มั่งคั่ง ทำให้เป็นที่หมายปองของ “พญามังราย” เจ้าผู้ครองแคว้น “หิรัญนครเงินยาง”แถบเมืองเชียงราย ปี พ.ศ.๑๘๒๔ พญามังราย ได้ยกกองทัพอันแข็งแกร่ง มาเผาแคว้นหริภุญไชยจนวายวอด ในสมัย “พญายีบา” แต่พญามังราย ก็ไม่ประทับอยู่ที่เมืองหริภุญไชย โดยให้เหตุผลว่าเป็นเมืองพระธาตุ อีกเหตุผลหนึ่ง ชัยภูมิไม่เหมาะ เป็นเมืองขนาดเล็ก การขยายตัวของเมืองเป็นไปได้ยากจึงให้อ้ายฟ้า หรือขุนฟ้าครองเมืองหริภุญไชยแทน และย้ายราชธานีใหม่ไปอยู่ที่ “เวียงชะแว่” หรือ “เวียงแจ้เจียงกุ๋ม”และย้ายไปอยู่ที่ “เวียงกุมกาม” และ “นพบุรีนครพิงค์เชียงใหม่” ในปี พ.ศ.๑๘๓๙ โดยการผนวกแคว้นหริภุญชัย และแคว้นโยนกเข้าด้วยกัน โดยมีเชียงใหม่เป็นศูนย์กลาง ส่วนหริภุญไชย เป็นส่วนกลางด้านศาสนา โดยให้บูรณะพระธาตุหริภุญชัย สร้างมณฑปทรงปราสาท ที่พญาสัพสิทธิ์สร้างไว้ ให้สูงขึ้นเป็น ๓๒ ศอก ได้ถวายข้าทาสบริวารแก่วัดพระธาตุหริภุญชัย และสั่งให้กษัตริย์เมืองเชียงใหม่องค์ต่อๆ มาทุกพระองค์ มีหน้าที่ในการดูแลบูรณะวัดพระธาตุหริภุญชัยสืบต่อมา 

ในปี พ.ศ.๑๙๙๐ สมัยพญาติโลกราช กษัตริย์เมืองเชียงใหม่ ราชวงศ์มังรายลำดับที่ ๙ ได้อาราธนาพระมหาเมธังกร มาเป็นผู้ควบคุมการบูรณะ และเสริมองค์พระธาตุขึ้นใหม่ โดยปรับปรุง โดยสร้างพระธาตุจากเจดีย์ทรงปราสาท เป็นทรงระฆังหรือทรงลังกา ตามแบบพระพุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์ ของเมืองเชียงใหม่ โดยก่อเป็นเจดีย์สูงขึ้นเป็น ๓๒ ศอก กว้างขึ้นเป็น ๕๒ ศอกเป็นรูปทรงที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน ในปี พ.ศ.๒๐๕๔ สมัยพระเมืองแก้ว กษัตริย์เมืองเชียงใหม่ รางวงศ์มังราย ลำดับที่ ๑๑ ได้ทรงบำเพ็ญ พระราชกุศล ที่วัดพระธาตุหริภุญชัยเป็นประจำทุกปี ได้ป่าวร้องโฆษณาเรี่ยไร่ จ่ายซื้อทองบุองค์พระธาตุเจดีย์ เป็นทองแดงหนัก สิบเก้าแสนแปดหมื่นห้าพันสี่ร้อยบาทสองสลึง แล้วลงรักปิดทองคำเปลว ให้สร้างพระวิหารหลวง แล้วสร้างรั้วรอบพระบรมธาตุ (สัตตบัญชร) ระเบียงหอก ๕๐๐ เล่ม เกรณฑ์กำลังพลรื้อและก่อกำแพงเมืองหริภุญไชยด้วยอิฐ ในปี พ.ศ. ๒๐๕๙ เพื่อป้องกันภัยจากอยุธยา

จนมาถึงสมัยพญากือนา กษัตริย์ล้านาองค์ที่ ๖ ทรงอาราธนาพระสุมนเถระจากสุโขทัยในปี มาจำพรรษาที่วัดพระยืน พ.ศ.๑๙๑๒ เมืองหริภุญไชยก่อน เมื่อสร้างวัดบุปผารามหรือวัดสวนดอก พระสุมนเถระจึงมาจำพรรษาที่แห่งนี้ จนถึงแก่มรณภาพในปี พ.ศ.๑๙๓๒ นับว่าพระสุมนเถระ ได้มาวางรากฐานพระพุทธศาสนา ลัทธิลังกาวงศ์ในเมืองเชียงใหม่ ให้เป็นศูนย์กลางแทนนิกายเดิม คือนิกายรามัญวงศ์ ที่มีหริภุญไชยเป็นศูนย์กลางแต่เมืองเดิม และในสมัยต่อมาคือ พญาแสนเมืองมา ในราวปี พ.ศ.๑๙๕๑ มีพระราชกรณียกิจด้านทะนุบำรุงพระพุทธศาสนา โดยโปรดให้หุ้มพระบรมธาตุเจดีย์หริภุญชัย ด้วยแผ่นทองคำหนักสองแสนหนึ่งหมื่นบาทหรือ ๒๕๒ กิโลกรัม

“ยุคต้นรัตนโกสินทร์” การใช้วิเทโศบายทางการเมือง ระหว่างล้านนา (เชียงใหม่) กับสยามประเทศ เป็นไปอย่างชิงไหวชิงพริบ เจ้าเมืองฝ่ายเหนือ ใช้ความพยายามอย่างยิ่งยวด ที่จะรักษาประเทศล้านนาเอาไว้ แต่มิอาจต้านแรงคุกคามข้างฝ่ายสยามประเทศได้ เนื่องจากสยามได้ใช้วิธีหลายรูปแบบ ที่จะรวมล้านนาให้เป็นหนึ่งเดียว อาทิ ส่งนักกฎหมายฝรั่งและหมอสอนศาสนา เข้ามาอยู่ในเชียงใหม่ อีกทั้งส่งข้าหลวงสามหัวเมืองมาประจำ

หลังจากจากที่รัฐบาลส่วนกลางสยาม ได้เซ็นสนธิสัญญาเบาริงกับอังกฤษ ในปี พ.ศ. ๒๓๙๘ (สมัยรัชกาลที่ ๔) บริษัทอังกฤษ ก็มีสิทธิเข้ามาทสัมปทานไม้ในล้านนาได้ เพียงแค่ขออนุญาตต่อเจ้าผู้ครองนครโดยตรง จนเกิดกรณีพิพาทขึ้นหลายครั้ง ระหว่างเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่กับบริษัททำไม้ รัฐบาลกลางเห็นว่า ผลประโยชน์การทำไม้กับชาวตะวันตก มีรายได้มหาศาล จึงทำสนธิสัญญาเชียงใหม่ขึ้น ๒ ครั้ง ในปีพ.ศ.๒๔๑๖ และพ.ศ.๒๔๒๖ เนื้อหาสาระ อยู่ที่การลดอำนาจเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ลง ไม่ให้เข้ามามีบทบาทด้านสัมปทานได้ พร้อมส่งเจ้าหน้าที่จากส่วนกลางเข้ามาดูแลเชียงใหม่ และจัดตั้งกรมป่าไม้ขึ้นที่นี่ในปี พ.ศ.๒๔๓๗ สถานการณ์ครั้งนั้น เป็นเหตุสำคัญ ให้เกิดการปฏิรูปการปกครองแผ่นดินขึ้น โดยรวบรวมอำนาจการปกครองทั้งหมด ให้อยู่กับส่วนกลาง ลดบทบาทของเจ้าเมืองฝ่ายเหนือให้น้อยลง ยกเลิกฐานะหัวเมืองประเทศราช จัดเป็นหน่วยปกครองที่เรียกว่า “มณฑล” โดยส่งข้าราชการจากส่วนกลางเข้ามาปกครอง กระทั่งเจ้าดาราดิเรกรัตนไพโรจน์ เจ้าผู้ครองนครลำพูนองค์ที่ ๗ ถึงแก่พิราลัย ได้เกิดการแย่งชิงอำนาจขึ้น ท่ามกลางทายาท จึงเป็นโอกาสอันดีของทางส่วนกลาง ที่จะใช้ฉวยโอกาสข้ออ้าง เข้ามาจัดระเบียบการปกครองเมืองลำพูนใหม่ อย่างเบ็ดเสร็จเรียบร้อย 

"ยุคเก็บผักใส่ซ้าเก็บข้าใส่เมือง" หลังจากขับไล่พม่าออกจากเมืองล้านนาแล้ว พญาจ่าบ้านได้รับการแต่งตั้ง ให้เป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่ ส่วนพญากาวิละ ให้เป็นเจ้าเมืองลำปาง โดยพิธีดังกล่าว ทำขึ้นที่วัดพระธาตุหริภุญชัย เชียงใหม่สามารถปกครองตนเองได้ ในฐานะเมืองประเทศราชของราชอาณาจักรสยาม แต่ในขณะเดียวกัน พม่ายังไม่หมดอำนาจเสียทีเดียว คอยมาคุกคามเชียงใหม่อยู่ไม่ขาด พญาจ่าบ้าน ซึ่งมีประชากรอยู่น้อยนิด ไม่สามารถต่อสู้กับพม่าได้ จึงชักชวนกันทิ้งบ้านเมือง และหนีไปอยู่กับเจ้าเจ็ดตน ที่เมืองลำปาง เมื่อพญาจ่าบ้านเสียชีวิตลง พระเจ้ากรุงธนบุรี ได้แต่งตั้งพญากาวิละขึ้นครองเมืองเชียงใหม่แทน ในปี พ.ศ.๒๓๒๕ ซึ่งในขณะนั้น เชียงใหม่เป็นเมืองร้าง พม่ายังมีอิทธิพลอยู่ การที่จะฟื้นฟูเชียงใหม่ จึงเป็นปัญหาหนัก พญากาวิละจำต้องค่อยๆ รวบรวมไพล่พลให้มั่นคง โดยขอผู้คนจากเมืองลำปาง และกลุ่มไพร่เดิมอีกจำนวนหนึ่ง ใช้เวียงป่าซางเป็นฐานที่มั่น รวบรวมผู้คนซึ่งเรียกว่า “เก็บฮอมตอมไพร่” พญากาวิละ ใช้เวลารวบรวมชาวบ้านนานถึง ๑๔ ปี จึงจักสามารถเข้าไปฟื้นฟู และตั้งเมืองเชียงใหม่ได้ ในปี พ.ศ. ๒๓๘๘ และฟื้นเมืองลำพูนขึ้นมาใหม่ แต่งตั้งพญาบุรีรัตน์คำฟั่น เป็นเจ้าเมืองลำพูนชื่อว่า พญาลำพูนชัย และเจ้าบุญมา น้องคนสุดท้องของเจ้าเจ็ดตน เป็นพญาอุปราช โดยนำคนมาจากเมืองลำปาง ๕๐๐ คน จากเมืองเชียงใหม่อีก ๑,๐๐๐ คน และกวาดต้อนคนยองจำนวน ๑๐,๐๐๐ คน ให้อยู่ที่เมืองลำพูน ตรงข้ามกับพระธาตุเจ้าหริภุญชัย อีกฟากหนึ่งของแม่น้ำกวง กลุ่มชาวยองเหล่านี้ ต่อมาได้เป็นช่างทอผ้า สล่าช่างฝีมือ ผู้มีบทบาทสำคัญ ในการฟื้นฟูวัฒนธรรมล้านนาให้แก่เมืองลำพูน

นอกจากชาวยองแล้ว ยังมีอีกกลุ่มชนที่เคยกวาดต้อนมาได้ สมัยเมื่อพญากาวิละอยู่เวียงป่าซาง คือกลุ่มเมืองแถบตะวันตก ริมแม่น้ำคง ได้แก่ บ้านสะต๋อยสอยไร บ้านวังลุง วังกาศ น่าจะเป็นกลุ่มชาวลัวะ ชาวเม็ง อีกกลุ่มคือพวกชาวไตใหญ่จากเมืองปุ เมืองปั่น เมืองสาด เมืองนาย เมืองชวาด เมืองแหน กลุ่มที่ตามมาภายหลังก็คือกลุ่มชาวไตเขินจากเมืองเชียงตุง และทยอยกันเข้ามาอีกระลอก เพื่อหนีภัยสงครามคือกลุ่มไตลื้อในเขตอำเภอบ้านธิ ชาวหลวยจากบ้านออนหลวย ในยุคนี้ นักประวัติศาสตร์ขนานนามว่า ยุค “เก็บผักใส่ส้า เก็บข้าใส่เมือง” การอพยพยังคงมีมาอย่างต่อเนื่อง จนถึงหลังสงครามมหาเอเชียบูรพา การหลั่งไหลถ่ายเทชาวยองและชาวลื้อ ได้สิ้นสุดลง เมื่อมีการกำหนดปักปันเขตแดนประเทศไทย - จีน - พม่า - ลาวอย่างชัดเจน และปัจจุบันเมืองยอง ขึ้นอยู่กับการปกครองของสหภาพพม่า




ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ศาลาการเปรียญไม้ทรงโบราณ ที่อำเภอเสาไห้

ตำนาน และประวัติความเป็นมา ของอำเภอเถิน จังหวัดลำปาง

[คติธรรม] คมธรรมของหลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ