ยิงจากพื้นดินสู่ ฮ.ปลิดชีพ ม.จ.วิภาวดีรังสิต! ขณะปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชดำริ
ยิงจากพื้นดินสู่ ฮ.ปลิดชีพ ม.จ.วิภาวดีรังสิต! ขณะปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชดำริ
เมื่อวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๐ ประชาชนคนไทย ต้องตื่นตระหนกอกสั่นไปตามกัน เมื่อทีวีได้ออกข่าวที่ไม่คาดคิดว่า ม.จ.วิภาวดีรังสิต นางสนองพระโอษฐ์สมเด็จพระราชินีนาถ และรับใช้เบื้องพระยุคลบาทงานในพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ถูกยิงสิ้นชีพขณะประทับบนเฮลิคอปเตอร์ไปเยี่ยมทหาร ตำรวจ ข้าราชการ ตลอดจนราษฎรในอำเภอพระแสงและเคียนซา จังหวัดสุราษฎร์ธานี
เหตุการณ์เกิดขึ้นหลังจากที่ ม.จ.วิภาวดี รังสิต ได้เสด็จโดยเฮลิคอปเตอร์ มีหลวงพ่อฤาษีลิงดำ และหลวงปู่ครูบาธรรมชัย ร่วมเดินทางไปด้วย ขณะออกจากอำเภอเคียนซาจะไปอำเภอพระแสง เมื่อเข้าเขตอำเภอเวียงสระ นักบินได้รับแจ้งจากวิทยุว่า มีตำรวตระเวนชายแดน ๒ นาย บาดเจ็บสาหัสจากการเหยียบกับระเบิด ที่บ้านเหนือคลอง ห่างจากอำเภอพระแสงราว ๕ กม. ด้วยความห่วงใย ม.จ.วิภาวดี จึงรับสั่งให้นักบินแวะลงที่หน้าอำเภอเวียงสระ และขอให้หลวงพ่อฤาษีลิงดำ กับหลวงปู่ครูบา รออยู่ที่นั่นก่อน เพื่อให้เฮลิคอปเตอร์มีที่ว่าง สำหรับรับคนบาดเจ็บไปส่งโรงพยาบาล
ขณะที่เฮลิคอปเตอร์ ลดระดับลงเมื่อใกล้ถึงที่หมาย ผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ หน่วยรบจากค่ายช่องช้าง ที่ซุ่มอยู่บนเนินเขา ได้ระดมยิงมาที่เฮลิคอปเตอร์ นักบินจึงดึงเครื่องขึ้นสูงให้พ้นวิถีกระสุน แต่กระสุนนัดหนึ่งทะลุเฮลิคอปเตอร์ เข้ามาถูก ม.จ.วิภาวดีเป็นแผลฉกรรจ์ แม้กระนั้น พระองค์ก็ยังรับสั่งให้นักบิน ไปรับ ตชด.ที่บาดเจ็บ ไปส่งโรงพยาบาลด้วย แต่เนื่องจากเฮลิคอปเตอร์เสียหาย จากการถูกยิง นักบินต้องนำเครื่องลงฉุกเฉิน ที่สนามโรงเรียนบ้านส้อง ทางอำเภอเวียงสระทราบข่าว หลวงพ่อฤาษีลิงดำ หลวงปู่ครูบา และแพทย์อนามัยจึงรีบรุดมา และแจ้งให้เฮลิคอปเตอร์ลำใหม่ มานำท่านหญิงไปส่งโรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี
ท่านหญิงยังมีพระสติ ตรัสขอให้หลวงพ่อฤาษีลิงดำ และหลวงปู่ครูบา ช่วยกราบถวายบังคมทูลลาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขอลาไปนิพพาน รับสั่งสุดท้ายของท่านหญิงก็คือ
“สว่างแล้ว ๆ เห็นนิพพานแล้ว พระนิพพานมีความสวยสดงดงามแจ่มใสเหลือเกิน”
ทรงสิ้นพระชนม์บนเฮลิคอปเตอรผ์ ก่อนถึงโรงพยาบาล ได้มีการเชิญพระศพคลุมด้วยธงชาติ มาตั้งที่วัดเบญจมบพิตรในวันเดียวกันนั้น โดยมีพวงมาลาดอกไม้สด ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พร้อมคำสดุดีมีความว่า
“จะแน่วแน่แก้ไขในสิ่งผิด จะรักชาติจนชีวิตเป็นผุยผง
จะยอมตายหมายให้เกียรติธำรง จะปิดทองหลังองค์พระปฏิมา”
พวงมาลาของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มีคำอาลัยว่า
“ทิวาวารผ่านมาเยือนหล้าโลก พร้อมความโศกสลดให้ฤทัยหาย
อริราชพิฆาตร่างท่านวางวาย แสนเสียดายชีพกล้าวิภาวดี”
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนา หม่อมเจ้าหญิงวิภาวดี รังสิต เป็น พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิภาวดี รังสิต และรัฐบาล นายธานินทร์ กรัยวิเชียร ได้ตั้งชื่อถนนซุปเปอร์ไฮเวย์ จากดินแดงถึงรังสิตว่า “ถนนวิภาวดีรังสิต”
พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต มีพระนามเมื่อแรกประสูติคือ “หม่อมเจ้าวิภาวดี รัชนี” เป็นพระธิดาในพระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ กับหม่อมเจ้าพรพิมลพรรณ จากราชสกุลเดิมวรวรรณ มีพระอนุชาร่วมพระบิดามารดาเดียวกันองค์เดียว คือ หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี ผู้ถวายงานรับใช้เบื้องพระยุคลบาททั้งชีวิต
หม่อมเจ้าวิภาวดี รังสิต เสกสมรสกับหม่อมเจ้าปิยะรังสิต รังสิต พระโอรสองค์ใหญ่ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร ได้รับพระราชทานน้ำพระมหาสังข์ จากพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร
เนื่องจากพระบิดาเป็นกวีเอก ท่านหญิงจึงสนพระทัยในงานประพันธ์ ทรงแปลวรรณกรรมเยาวชนของอังกฤษพิมพ์เป็นเล่มตั้งแต่พระชันษาเพียง ๑๔ ปี ในชื่อ “เด็กจอมแก่น” และมีผลงานที่มีชื่อเสียงต่อมาอีกหลายเรื่อง เช่น ปริศนา เจ้าสาวของอานนท์ รัตนาวดี นิกกับพิม คลั่งเพราะรัก ฤทธิ์ราชินีสาว พระราชินีนาถวิกตอเรีย เรื่องลึกลับ ตามเสด็จปากีสถาน ตามเสด็จประพาสอิหร่าน ในพระนามแฝง ว.ณ ประมวญมารค
ม.จ.วิภาวดี รังสิต ได้เล่าเรื่องอำเภอพระแสง และมาทำงานช่วยเหลือราษฎรในอำเภอนี้ ตามพระราชดำริ ให้สมาชิกสมาคมสตรีนานาชาติ เมื่อวันที่ ๒๔ กันยายน ๒๕๑๒ ไว้ว่า
“ข้าพเจ้าไม่เคยได้ยินชื่ออำเภอพระแสง มาแต่ก่อนเลย จนกระทั่งได้เข้าเฝ้าฝ่าละอองธุลีพระบาททั้งสองพระองค์ ที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน บ่ายวันหนึ่งเมื่อ ๓ ปีที่แล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เล่าพระราชทานข้าพเจ้า ถึงข้าราชการอนามัยชั้นตรีผู้หนึ่ง ซึ่งถูกส่งไปประจำสถานีอนามัยชั้น ๒ ที่อำเภอพระแสง จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งพอไปถึงก็หมดกำลังใจจะทำงาน อยากจะลาออกจากราชการให้รู้แล้วรู้รอดไป เพราะนอกจากไม่มีที่ให้อยู่อาศัย ถึงกับต้องพาบุตรภรรยาไปเช่าห้องแถวกลางตลาดแล้ว ในสถานีอนามัยยังแทบไม่มีหยูกยาหรือเครื่องใช้ที่จะบริการคนไข้ได้เลย ทั้งๆ ที่อนามัยแห่งนี้ เป็นอนามัยแห่งเดียวที่มีอยู่ในตัวอำเภอ ขนาดตัวอำเภอยังติดต่อกับตัวจังหวัด หรืออำเภออื่นได้ยาก เพราะไม่มีถนนไปถึง ไม่มีทางรถไฟผ่าน ทางเดียวที่จะติดต่อกับภายนอกได้ก็คือทางลำแม่น้ำ ซึ่งจะไปไหนมาไหนก็ต้องเสียเวลาเป็นชั่วโมงๆ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในจังหวัดจึงไม่เคยไปพระแสง ถึงกับพูดกันทีเล่นทีจริงในจังหวัดว่า ไปเวียดนามดีกว่าไปพระแสง
เมื่อความทุรกันดารของพระแสง ทราบถึงพระกรรณโดยบังเอิญ รวมทั้งข้อขัดข้องของข้าราชการชั้นผู้น้อย ซึ่งเต็มไปด้วยความตั้งใจดี อยากจะทำงานตามหน้าที่ แต่หมดปัญญาสิ้นวิธี เพราะไม่ว่าจะคิดหาทางออกอย่างไรก็ตันไปหมดทุกทาง ก็ทรงสนพระราชหฤทัยเป็นอย่างยิ่ง ทรงมีพระราชปรารถนา ที่จะช่วยให้ข้าราชการชั้นผู้น้อยที่ชื่อ ดุสิต ผู้นั้น ได้ทำงานตามความตั้งใจให้ลุล่วงไปให้ได้ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ ม.จ.ประเสริฐศรี ชยางกูร ราชองครักษ์พิเศษ นำตัวคุณดุสิต ซึ่งบังเอิญขึ้นมากรุงเทพฯขณะนั้น มาเฝ้าฝ่าละอองธุลีพระบาทเป็นการส่วนพระองค์ ที่ศาลาผกาภิรมย์ ในบริเวณพระตำหนักจิตรลดา เมื่อวันที่ ๗ กรกฎาคม ๒๕๐๙ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเงินช่วยเหลือคุณดุสิต ให้สามารถทำงานตามหน้าที่ ๒๐,๐๐๐ บาท โดยโปรดเกล้าฯ ให้ซื้อจักรยานยนต์สำหรับใช้ ๑ คัน ซื้อเวชภัณฑ์และยาตามบัญชีที่เขียนมา และยังพระราชทานเงินสดจำนวนหนึ่ง สำหรับเก็บไว้ใช้จ่ายในการเดินทางไปตามตำบลต่างๆ เพื่อช่วยเหลือบำบัดโรคแก่ราษฎร เช่นค่าน้ำมันรถ ค่าจ้างคนขับเรือ ค่าซ่อมยานพาหนะ ค่าอาหาร เป็นต้น ซึ่งไม่สามารถจะเบิกจากทางราชการมาใช้ให้ทันท่วงทีได้ นอกจากคุณดุสิตจะเป็นคนดีซื่อสัตย์สุจริตแล้ว ยังทำงานละเอียดลออมาก ส่งบัญชีรายรับ-รายจ่าย และรายงานผลงานที่เริ่มทำทันที ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯช่วยเหลือ ให้ทรงทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทอยู่เสมอ มิได้ขาด เมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เล่าเรื่องพระราชทานข้าพเจ้า ข้าพเจ้าซึ่งเป็นคนชอบท่องเที่ยวในที่แปลกๆ และสนใจในสิ่งเหล่านี้อยู่แล้ว ก็กลายเป็นหนุมานอาสาขึ้นมาทันที”
นับตั้งแต่ได้รับมอบภารกิจ จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ให้เข้าไปดูแลทุกข์สุขของชาวอำเภอพระแสง ซึ่งขณะนั้นเป็นเมืองปิดแล้ว ยังเป็นแหล่งซ่องสุม ของกองกำลังพรรคคอมมิวนิสต์ แต่ ม.จ.วิภาวดี รังสิต ก็ได้ทุ่มเทชีวิตจิตใจ ช่วยเหลือชาวพระแสงอย่างสุดพระชนม์ชีพ แม้แต่หมู่บ้านที่ห่างไกลก็บุกไปถึง ไม่ว่าจะโดยทางเรือ มอเตอร์ไซด์ หรือแม้แต่ทางเท้า
ด้วยเหตุนี้ชาวบ้านพระแสง จึงขนานพระนาม หม่อมเจ้าวิภาวดี รังสิต ว่า “เจ้าแม่พระแสง”
ทุกวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ชาวจังหวัดสุราษฎร์ธานีจัดเป็น “วันวิภาวดี” บำเพ็ญกุศลถวาย และได้สร้างอนุสาวรีย์เป็นที่ระลึกถึง หม่อมเจ้าวิภาวดี รังสิต ไว้หลายแห่ง
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น