ความรักของ เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี
ความรักของ เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี มีพระนามเดิมว่า พระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าจันทบุรี เป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (รัชกาลที่ 1) กับเจ้าจอมมารดาทองสุก (คำสุก) พระธิดาของพระเจ้าอินทวงศ์ กษัตริย์แห่งกรุงศรีสัตนาคนหุต (นครเวียงจันทน์)
เมื่อพระชนมายุได้ 5 พรรษา เจ้าจอมมารดาได้ถึงแก่พิราลัย พระราชบิดา (รัชกาลที่ 1) จึงสงสารและทรงพระกรุณามากด้วย โปรดให้เจ้าจอมแว่นเป็นผู้ถวายการอภิบาล
ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2347 ทรงเกิดอุปัทวเหตุ โดยพลัดตกน้ำหายไประหว่างเรือบัลลังก์กับตำหนักแพต่อกัน แต่ทรงรอดพระชนม์ จึงได้โปรดประทานพระนามใหม่และทรงสถาปนาเลื่อนชั้นเป็น สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี และเมื่อพระชนม์ได้ 11 พรรษา ได้มีพระราชพิธีโสกันต์เต็ม ตามอย่างสมเด็จเจ้าฟ้าพระราชกุมารีเป็นครั้งแรก ของกรุงรัตนโกสินทร์
เมื่อปี พ.ศ. 2352 พระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้เสด็จเสวยราชสมบัติสืบต่อจากพระราชบิดา จนในที่สุด ได้เกิดเรื่องที่พระองค์ทรงต้องพระทัยในเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี สร้างความระทมทุกข์ตรอมพระทัยให้กับเจ้าฟ้าบุญรอด (พระอัครมเหสี) เป็นยิ่งนัก ทั้งด้วยพระชนม์แตกต่างกันถึง 30 ปี และยังมีพระรูปโฉมงดงาม และมีพระเกียรติยศที่สูงส่งเป็นถึงเจ้าฟ้าที่เป็น พระราชธิดาพระมหากษัตริย์ ทรงประสูติภายใต้พระเศวตฉัตร และยังมีฝ่ายพระมารดา เป็นพระธิดาของกษัตริย์กรุงศรีสัตนาคนหุต (นครเวียงจันทน์) แตกต่างจากเจ้าฟ้าบุญรอด ที่มีกำเนิดมาจากสามัญชน เป็นเจ้าฟ้าจากการสถาปนาแต่งตั้ง เจ้าฟ้าบุญรอดทรงน้อยพระทัยในพระราชสวามี ได้เสด็จไปประทับที่พระราชวังเดิม กรุงธนบุรี โดยไม่ยอมพระทัยอ่อน ขึ้นเฝ้าพระพุทธเลิศหล้านภาลัยอีกเลย จนพระราชสวามีสิ้นพระชนม์ แม้รัชกาลที่ 2 จะทรงเสด็จไปถึงพระตำหนักที่ประทับด้วยพระองค์เอง แต่เจ้าฟ้าบุญรอด ก็ไม่ทรงยินยอมเข้าเฝ้าแต่ประการใดทั้งสิ้น นับว่าทรงเป็นสตรีที่มีจิตใจแข็งแกร่งเด็ดเดี่ยวมากนัก
เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี ได้ถวายตัวตั้งแต่มีพระชนม์ 16-17 พรรษา มีพระราชโอรสกับพระราชธิดา 4 พระองค์ดังนี้
1. เจ้าฟ้าอาภรณ์ หรือ เจ้าฟ้าอัมพร ประสูติวันศุกร์ที่ 19 เมษายน ปีชวด พ.ศ. 2359
2. เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ ประสูติวันเสาร์ที่ 24 เมษายน ปีเถาะ พ.ศ. 2362
3. เจ้าฟ้าหญิง ยังไม่ปรากฏพระนาม สิ้นพระชนม์ตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ประสูติวันพุธที่ 21 มีนาคม ปีมะโรง พ.ศ. 2363 ได้พระราชทานเพลิงศพพร้อมพระราชชนนี ในรัชกาลที่ 3 เมื่อ พ.ศ. 2382
4. เจ้าฟ้าปิ๋ว ประสูติเมื่อวันศุกร์ที่ 26 เมษายน ปีมะเมีย พ.ศ. 2365
ถึงแม้ว่าพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จะทรงสนิทเสน่หา ในเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดีมากเพียงใดก็ตาม แต่ตลอดรัชสมัยของพระองค์ ก็มิได้ทรงยกย่องหรือสถาปนาพระยศแต่งตั้งของพระนาง รวมถึงพระโอรสกับพระธิดาแต่อย่างใด คงกล่าวขานเรียกกันแค่เพียงว่าองค์ใหญ่ องค์กลาง องค์ปิ๋วเท่านั้น มิได้เรียกกันเป็นเจ้าฟ้า หรือทูลกระหม่อมฟ้า ตามสมควรที่ควรจะได้รับ ตามชนชั้นพระเกียรติยศทั้งของพระราชบิดา และพระราชมารดาที่เป็นเจ้าฟ้าทั้งสองพระองค์ ซึ่งก็เป็นที่เข้าใจว่ารัชกาลที่ 2 คงทรงเกรงพระทัยเจ้าฟ้าบุญรอด พระมเหสีดั้งเดิมก่อนเสวยราชย์ และเคยได้ทรงปฏิญาณทานบนไว้ว่า จะมิให้บุตรและภริยาทั้งปวงเป็นใหญ่กว่า หรือเทียบเสมอเทียบเท่ากับเจ้าฟ้าบุญรอดทั้งสิ้น ซึ่งทรงให้คำมั่นไว้กับเจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ พระเชษฐาของเจ้าฟ้าบุญรอด ในตอนเกิดเรื่องพิศวาส จนเจ้าฟ้าบุญรอดทรงพระครรภ์ ซึ่งรัชกาลที่ 2 ก็ได้ทรงถือปฏิบัติตามนั้นตลอดพระชนม์ชีพ
ต่อมา ภายหลังในแผ่นดินของพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ได้ทรงพระกรุณา โปรดตั้งองค์ใหญ่ พระโอรสเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี สถาปนาเป็นเจ้าฟ้า พระราชทานพระนามว่าอาภรณ์ ตั้งแต่นั้นมาจึงเรียกกันว่า เจ้าฟ้าอาภรณ์ แต่องค์กลางกับองค์ปิ๋วนั้น ทรงพระกรุณาเรียกว่า เจ้าหนูกลางกับเจ้าหนูปิ๋ว ต่อมาเมื่อถึงรัชสมัยพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 จึงทรงพระกรุณาโปรดกล้า พระราชทานพระนาม พระองค์กลางว่า “มหามาลา” ตั้งแต่นั้นมาจึงเรียกกันว่า เจ้าฟ้ามหามาลา สำหรับองค์ปิ๋วนั้น สิ้นพระชนม์ ตั้งแต่ในแผ่นดินพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงเป็นที่น่าเสียดาย ที่ไม่ได้มีการพระราชทานนามตามควรแก่พระเกียรติยศ ตามพระชาติกำเนิด
สำหรับความงามของเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดีนั้น ด้วยทรงมีพระสิริรูปโฉมงามโสภาคย์เพียงใด จนทำให้รัชกาลที่ 2 ได้ทรงสนิทเสน่หาในพระนางยิ่งนัก โดยทรงพระราชนิพนธ์เรื่องอิเหนา เปรียบเทียบเรื่องของนางบุษบา ในเรื่องไว้ว่า
“พักตร์น้องละอองนวลปลั่งเปล่ง ดังดวงจันทร์วันเพ็ญประไพศรี
อรชรอ้อมแอ้นทั้งอินทรีย์ ดังกินรีจงสรรคงคาลัย
งามจริงพริ้งพร้อมทั้งสารพางค์ ไม่ขัดขวางเสียทรงที่ตรงไหน
พิศพลางประดิพัทธ์กำหนัดใน จะใคร่โอบอุ้มองค์มา”
เมื่อสิ้นรัชกาลที่ 2 โดยมิได้คาดการณ์ หรือประชวรอันใดก่อนหน้านั้นเลย เพียงแค่ 7-8 วันเท่านั้นก็ทรงสิ้นพระชนม์ ซึ่งขณะนั้นเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี มีพระชนมายุได้เพียง 26 พรรษา จึงทรงทำนุบำรุงเลี้ยงเจ้าฟ้าพระราชโอรส 3 พระองค์ต่อมา ด้วยความยากลำบากอย่างยิ่ง
สำหรับเรื่องการศึกษาของเจ้าฟ้าพระราชโอรสทั้ง 3 พระองค์นั้น ได้ทรงมอบให้สุนทรภู่ เป็นพระอาจารย์ ถวายพระอักษร มาตั้งแต่ปลายรัชกาลที่ 2 ซึ่งได้เกิดคุณประโยชน์ต่อประวัติศาสตร์ชาติไทย ในด้านวรรณคดีอย่างยิ่งใหญ่ ที่ได้มีกลอนอมตะเรื่องสวัสดิรักษา ที่สุนทรภู่ได้แต่งถวายเจ้าฟ้าอาภรณ์ และได้แต่งเพลงยาวถวายโอวาท ให้กับเจ้าฟ้ากลางหรือเจ้าฟ้ามหามาลา นอกจากนี้ยังได้มีการสันนิษฐานกันว่า ท่านสุนทรภู่ ได้แต่งเรื่องสิงหไตรภพ ตอนต้น ๆ ถวายเจ้าฟ้าอาภรณ์ด้วย โดยท่านสุนทรภู่ได้เรียกพระนามแฝงว่า “พระสิงหไตรภพ” แต่เมื่อถึงรัชสมัยรัชกาลที่ 3 ซึ่งพระองค์ไม่ทรงโปรดสุนทรภู่ ทำให้ทุกคนเกรงจะเป็นเรื่องฝ่าฝืนพระราชนิยม จนสุนทรภู่ น้อยใจเจ้าฟ้าอาภรณ์ ซึ่งเป็นศิษย์ของท่านที่ทำเพิกเฉย มึนตึงกับท่าน
หลังจากนั้น ท่านสุนทรภู่จึงได้ออกบวชเพื่อหนีราชภัยจากรัชกาลที่ 3 ต่อมา ในปีฉลู พ.ศ. 2372 เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี จึงได้ทรงฝากเจ้าฟ้ากลางกับเจ้าฟ้าปิ๋ว ซึ่งขณะนั้นพระชนมายุได้ 11 ปี กับ 8 ปี ให้เป็นศิษย์สุนทรภู่ เหมือนอย่างเจ้าฟ้าอาภรณ์ได้เคยเป็นศิษย์มาแล้วในรัชกาลที่ 2 และเจ้าฟ้ากุณฑลยังได้ทรงส่งเสียอุปการะท่านสุนทรภู่และที่สำคัญที่สุดคือ เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี ยังได้ทรงฝากฝังพระราชโอรสทั้ง 3 พระองค์ ให้เป็นศิษย์ของเจ้าฟ้ามงกุฎ (พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4) ซึ่งขณะนั้นได้ทรงผนวชอยู่วัดบวรนิเวศวรวิหารอีกด้วย ในรัชกาลที่ 3 นี้ เจ้าฟ้าอาภรณ์ได้เริ่มรับราชการ โดยได้ทรงช่วยกำกับกรมพระคชมาล และเจ้าฟ้ากลาง (เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์) ได้รับราชการในกรมวัง ส่วนเจ้าฟ้าปิ๋วนั้นยังทรงพระเยาว์ จึงไม่ได้ทรงรับราชการแต่อย่างใด
สำหรับเจ้าฟ้าอาภรณ์พระองค์นี้ทรงเป็นต้นราชสกุล อาภรณ์กุล ตอนหลังทรงถูกกล่าวหาว่าสมรู้ร่วมคิดกับหม่อมไกรสร (กรมหลวงรักษ์รณเรศ) จึงให้คุมเข้าที่คุมขังแต่ยังมิทันชำระคดี ก็สิ้นพระชนม์ด้วยพระโรคอหิวาต์ จึงให้นำพระศพไปฝังดินไว้อย่างคนโทษ ซึ่งพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขณะนั้นเป็นเจ้าฟ้าพระ ซึ่งทรงผนวชที่วัดบวรนิเวศ ทรงพระกรุณาสงสารพระอนุชาองค์นี้มาก จึงขอพระบรมราชานุญาติ รัชกาลที่ 3 ขุดพระศพเจ้าฟ้าอาภรณ์ขึ้นมาใส่โกศ ที่ภายหลังรัชกาลที่ 4 เรียกว่า พระโกศลังกา และเสด็จทรงบำเพ็ญพระราชกุศลพระราชทานเพลิงพระศพอย่างเงียบ ๆ เพราะรัชกาลที่ 3 มิได้เสด็จ เจ้านายอื่น ๆ จึงมิกล้าเสด็จ โดยทรงทำพิธีถวายพระเพลิงอย่างพระศพเจ้านายชั้นเจ้าฟ้า
นอกจากนี้ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาบำราบปรปักษ์ ซึ่งเป็นพระโอรสของพระนางทรงรับราชการเป็นหลักสำคัญของแผ่นดินซึ่งรัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาและเคารพนับถือเป็นอันมาก
ต่อมาภายหลังเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี ทรงพระประชวรสิ้น พระชนม์ในรัชกาลที่ 3 เมื่อปีจอ พ.ศ. 2381 พระชันษาได้ 42 ชันษา โดยได้พระราชทานเพลิงพร้อมพระศพของพระราชธิดาของพระนาง
จะเห็นได้ว่า สมเด็จเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี ทรงได้อุทิศและถวายตัว พร้อมกับได้ร่วมทุกข์ร่วมสุขมาด้วยกันกับพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ซึ่งทรงเป็นทั้งพระราชสวามี และพระเชษฐาร่วมพระราชบิดาเดียวกัน และที่สำคัญคือ ทรงมีพระสิริโฉมงดงามทั้งกายและจิตใจ ได้ทรงปฏิบัติหน้าที่ในทุกพระฐานะได้อย่างดียิ่ง ทั้งในฐานะพระราชธิดาของพระมหากษัตริย์ (รัชกาลที่ 1) และยังเป็นพระน้องนางเธอกับเป็นพระมเหสีของพระมหากษัตริย์ (รัชกาลที่ 2) รวมทั้งเป็นพระราชมารดาของพระโอรสและพระธิดาทั้ง 4 พระองค์ของพระมหากษัตริย์ โดยทรงกระทำหน้าที่ทุกหน้าที่และทุกบทบาท ได้อย่างสมบูรณ์และสมศักดิ์ศรี จวบจนวาระสุดท้ายแห่งพระชนม์ชีพ
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น