พระองค์เจ้าวิมลนาคนพีสี พระราชธิดาเจ้าดารารัศมี พระราชชายา ถูกวางยาพิษ จริงหรือไม่?

2 ตุลาคม 2432 วันประสูติ พระองค์เจ้าวิมลนาคนพีสี พระราชธิดาเจ้าดารารัศมี พระราชชายา


พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าวิมลนาคนพีสี (วิ-มน-นาก-นะ-พี-สี) พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ประสูติแต่เจ้าดารารัศมี พระราชชายา ประสูติเมื่อวันพุธ ขึ้น 8 ค่ำ เดือน 11 ปีฉลู ตรงกับวันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2432 เป็นพระราชบุตรีองค์ที่ 73 ในรัชกาลที่ 5

ปีพ.ศ. 2429 ในพระราชพิธีสถาปนา สมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ เป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมารนั้น มีธรรมเนียมมาแต่โบราณ ที่เจ้าประเทศราช จะต้องมาเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท พระเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ขณะนั้น จึงเสด็จมายังกรุงเทพฯ โดยมีพระราชธิดา คือเจ้าดารารัศมีเสด็จตามมาด้วย รัชกาลที่ 5 จึงโปรดเกล้าให้เจ้าดารารัศมีเข้ามารับราชการฝ่ายใน

กระทั่งเจ้าดารารัศมี ได้ถวายตัวเป็นเจ้าจอมในรัชกาลที่ 5 ในปีเดียวกัน ตรงกับวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2429 (นับศักราชแบบใหม่ตรงกับ พ.ศ. 2430) ปรากฏหลักฐานในจดหมายเหตุพระราชกิจรายวันในรัชกาลที่ 5 ความว่า “วันนี้เจ้าดารารัศมี ธิดาพระเจ้านครเชียงใหม่ เข้ามาอยู่ในพระบรมมหาราชวัง พระเจ้านครเชียงใหม่ถวาย โปรดให้เรือหลวงไปรับ”

ต่อมา เมื่อเจ้าดารารัศมี ประสูติกาลพระราชธิดา เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2432 แล้วนั้น รัชกาลที่ 5 โปรดให้มีพิธีขึ้นพระอู่ เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2432

รายละเอียดพิธี ปรากฏในจดหมายเหตุพระราชกิจรายวันรัชกาลที่ 5 สรุปความได้ว่า เวลาเช้าเลี้ยงพระที่ตำหนักที่ประสูตินั้น เวลาค่ำสองทุ่มเศษ รัชกาลที่ 5 และพระบรมวงศานุวงศ์ เสด็จลงสมโภชตามโบราณราชประเพณีทั้งแบบไทยและลาว มีบายศรีพื้นเมืองอย่างเชียงใหม่ ทั้งบายศรีโต๊ะเงิน บายศรีโต๊ะทอง รัชกาลที่ 5 พระราชทานสมโภชสำหรับพระอู่ เป็นทองคำหนัก 5 ตำลึง เงินราง 6 แท่ง เงินวางข้างพระอู่ 10 ชั่ง ขันลงยาสำหรับหนึ่ง กาทองคำกาหนึ่ง แต่เงิน 100 ชั่ง ได้งดไว้พระราชทานวันอื่น

แต่รัชกาลที่ 5 มีพระราชดำริว่า ด้วยพระญาติวงศ์ของพระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าวิมลนาคนพีสี มากันพรั่งพร้อมเป็นการครึกครื้น จึงโปรดพระราชทานเงินเพิ่มอีก 100 ชั่ง รวมเป็น 200 ชั่ง และโปรดให้ทำ “ชื่อเงิน ชื่อทอง ชื่อนากอย่างลาว” สำหรับผูกพระหัตถ์ข้างละ 3 ข้อ พระบาทข้างละ 3 ข้อ จากนั้นทำพิธีผูกข้อไม้ข้อมือตามประเพณีทางเหนือ

รัชกาลที่ 5 พระราชทานพระนามว่า “พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าวิมลนาคนพีสี” แปลว่า “ผู้ประเสริฐไม่มีมลทินของเมืองเชียงใหม่” เป็นอันเสร็จพิธีขึ้นพระอู่ โดยรัชกาลที่ 5 ตรัสเรียกพระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าวิมลนาคนพีสี ว่า “ลูกหญิงวิมลนาค” ปรากฏในพระราชหัตถเลขาถึงพระยาวรพงศ์ วันที่ 9 พฤศจิกายน ร.ศ. 128 ว่า

“นางดาราโทรเลขลงมาบอกว่า รูปพระเจ้ากาวิโรรสสุริวงษ รูปเจ้าอุษา และรูปพระเจ้าอินทรวิไชยานน รูปเจ้าเทพไกรสร รูปลูกหญิงวิมลนาคที่ติดอยู่ที่เรือนในวัง อยากให้เอามาติดที่เรือนใหม่ ให้เรียกกุญแจเรือนที่คุณท้าวศรีสัจจา”

เมื่อเจ้าดารารัศมีได้ฉายพระรูป พระองค์เจ้าวิมลนาคนพีสี ส่งขึ้นไปถวายพระเจ้าอินทวิชยานนท์ ก็ทำให้พระองค์ทรงปลื้มปิติเป็นอย่างมาก พระองค์โปรดให้มีการจัดขบวนแห่อย่างยิ่งใหญ่ ไปรับพระรูปที่จวนของพระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าโสณบัณฑิต ข้าหลวงพิเศษที่เชียงใหม่ ปรากฏในบันทึกของพระองค์เจ้าโสณบัณฑิตความว่า

“…พระเจ้านครเชียงใหม่ เจ้าอุปราช เจ้านายบุตรหลานหลายคน มาพร้อมกันที่ที่พักข้าพระพุทธเจ้าๆ ได้เชิญพระรูปให้ดูพร้อมกัน พระเจ้านครเชียงใหม่ดูพระรูปแล้ว กลั้นน้ำตาไม่ได้ คิดถึงเจ้าทิพเกสร พูดว่าพระขนงนั้น ‘แม่แม่เฒ่าทีเดียว’ เจ้านายตนอื่นอยู่ข้าง ปิติยินดีเชยชมกันมาก…”

ส่วนขบวนแห่ก็จัดกันอย่างยิ่งใหญ่ บริเวณคุ้มเจ้าหลวงนครเชียงใหม่ ก็ประดับประดาอย่างสวยงาม บรรดาเจ้านายฝ่ายเหนือและข้าราชการแต่งกายเต็มยศ พระเจ้าอินทวิชยานนท์ สวมครุยและชฎาขึ้นรับพระรูปบนเกย แล้วเข้ากอดพระรูปอย่างปลื้มปริ่ม จากนั้นในเวลาบ่าย มีการเชิญพระสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์ที่คุ้มหลวง

พระเจ้าอินทวิชยานนท์ ยังได้จัดงานเลี้ยงมื้อค่ำ เชิญบรรดากงสุลและฝรั่งในเชียงใหม่อีกด้วย และจัดให้มีการละเล่น เช่น มวย ละคร บ่อนป๊อก มีการโปรยผลกัลปพฤกษ์หรือการโปรยทาน ซึ่งฉลองสมโภชกันถึง 4 วัน 4 คืน

กระทั่งพระธิดา มีพระชนมายุได้ 3 ชันษาเศษ เมื่อวันอังคาร เดือน 4 ขึ้น 6 ค่ำ ปีมะโรงจัตวาศก จ.ศ.1254 ตรงกับวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2435 เสด็จเจ้าน้อย ได้สิ้นพระชนม์ด้วยโรคไข้รากสาดน้อยหรือ ท้องร่วง(ปัจจุบันชื่อโรคไข้ไทฟอยด์) เป็นที่เศร้าโศกเสียใจแก่เจ้าดารารัศมีอย่างหาที่สุดมิได้ 

มีการโจษจันกันว่า พระองค์ถูกพระพี่เลี้ยงวางยาพิษ เพื่อหวังเครื่องแต่งพระองค์ แต่ข่าวลือดังกล่าวก็ถูกปฏิเสธ เพราะเจ้าจอมมารดาดารารัศมี ก็กล่าวถึงพระอาการประชวรของพระราชธิดาไว้ชัดแจ้ง 

แต่มีหนังสือเล่มหนึ่ง ที่เขียนโดยเจ้านายฝ่ายเหนือว่า ทรงถูกวางยาพิษโดยใส่ในขนมครก และยังบอกอีกว่าเป็นฝีมือของฝ่ายใน  อันจะเห็นว่าเจ้าดารารัศมี ทรงไม่เป็นที่โปรดของบรรดาฝ่ายในอยู่แล้ว   

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเอง ก็ทรงเสียพระทัยมากนัก ทรงปรารภกับสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร กรมพระยาดำรงราชานุภาพว่า "ฉันผิดเอง ลูกเขาควรเป็นเจ้าฟ้าแต่ฉันลืมตั้งจึงตาย"

ต่อมาจึงได้มีศุภอักษร จากพระเจ้าอินทวิชยานนท์ถึงเจ้าดารารัศมี ความว่า “…..พ่อได้ทราบข่าวว่า พระองค์เจ้าหญิงวิมลนาคนพีสี พระเจ้าลูกเธอของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับเจ้าน้อย ได้ถึงกาลกิริยาสิ้นพระชนม์เมื่อเดือนก่อน พ่อมีความเสียใจเป็นอย่างมากที่สุด เพราะว่าพระองค์เจ้าหญิงองค์นี้ เป็นหลานสุดที่รักของพ่อ ซึ่งพ่อรักเจ้าน้อยเพียงใด พ่อก็ย่อมรักพระองค์เจ้าหลานมากเท่านั้น…” หลังจากเสด็จเจ้าน้อยสิ้นพระชนม์ พระราชชายาฯ ก็ไม่ได้มีพระประสูติการพระโอรส-ธิดาอีกเลย

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าพระองค์เจ้าวิมลนาคนพีสีจะสิ้นพระชนม์ไปแล้ว แต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ยังไม่สิ้นพระกรุณากับเจ้าจอมมารดาดารารัศมี ในปี พ.ศ. 2451 ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า สถาปนาเจ้าจอมมารดาดารารัศมี ขึ้นเป็นเจ้าในราชวงศ์จักรีดำรงพระอิสริยยศเป็น "พระราชชายา"

ภายหลังพระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าหญิงวิมลนาคนพีสีสิ้นพระชนม์ ได้มีการเฉลิมพระนามขึ้นเป็นพระเจ้าน้องนางเธอ พระองค์เจ้าหญิงวิมลนาคนพีสี ในรัชกาลที่ 6 พระเจ้าพี่นางเธอพระองค์เจ้าหญิงวิมลนาคนพีสี ในรัชกาลที่7 และพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าหญิงวิมลนาคนพีสีในรัชกาลที่8

ส่วนพระอัฐิของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิมลนาคนพีสี ถูกประดิษฐานเคียงคู่ กับพระอัฐิของเจ้าดารารัศมี พระราชชายา ณ สุสานหลวง วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร





ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ศาลาการเปรียญไม้ทรงโบราณ ที่อำเภอเสาไห้

ตำนาน และประวัติความเป็นมา ของอำเภอเถิน จังหวัดลำปาง

[คติธรรม] คมธรรมของหลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ