พระแก้วมรกต เคยประดิษฐาน ณ นครเชียงตุง


 นักโบราณคดีจีนมีหลักฐานว่าพระแก้วมรกตสร้างขึ้นที่นครต้าลี่ สมัยน่านเจ้า1,500 ปีมาแล้ว แต่ด้วยปัญหาความมั่นคงจึงต้องปกปิดเรื่องนี้ไว้ไม่ให้รู้ถึงจักรพรรดิจีนในสมัยราชวงศ์ถัง 


ต่อมาเมื่อความลับรั่วไหล มีข่าวว่าเมืองต้าลี่มีสมบัติล้ำค่า จักรพรรดิจึงดำริเรื่องยกทัพ ชาวน่านเจ้าจึงแอบอัญเชิญพระแก้วมรกตลงมาทางใต้ ประดิษฐานไว้ที่วัดพระแก้วในสิบสองปันนา โดยมีหลักฐานคือวัดพระแก้วอยู่ที่เชียงรุ่งมีอายุกว่า1,300 ปี 


เมื่ออิทธิพลของกองทัพจีนมารุกรานถึงเชียงรุ่ง พระแก้วมรกตก็ถูกอัญเชิญเคลื่อนย้ายมาอยู่ที่เมืองเชียงตุง คาดว่าจะประดิษฐานอยู่ที่วัดพระแก้วในเมืองเชียงตุงเป็นเวลาเกือบ 300 ปี และมีการปกปิดไว้ไม่ให้รู้ว่าเป็นองค์พระที่มีความล้ำค่า


ต่อมาเมื่อราว 600 ปีมานี้ มีการค้นพบพระแก้วมรกตหุ้มด้วยปูนซ่อนอยู่ในเจดีย์ที่เมืองเชียงราย ด้วยความที่ไกลพ้นจากอิทธิพลของกองทัพจีนและมองโกล พระแก้วมรกตจึงถูกเปิดเผยออกมาสู่ประวัติศาสตร์ของสยามโดยไม่ต้องซุกซ่อนอีกต่อไป


มีร่อยรอยหลักฐานที่พิสูจน์ได้ว่าพระแก้วมรกตเคยประดิษฐานอยู่ในวัดพระแก้ว 9 วัดและแต่ละวัดสามารถระบุช่วงเวลาที่ชัดเจนได้ โดยมีพระแท่นหรือจุดที่วางพระแก้วมรกตไว้แน่ชัด คือ


        1. วัดพระแก้ว ในเมืองเชียงรุ่ง สิบสองปันนา ราว พ.ศ. 1200 – 1500 ช่วงก่อนหน้านั้นอาจจะประดิษฐานอยู่ในพระราชวังโบราณของอาณาจักรน่านเจ้า ปัจจุบันไม่มีร่องรอยเกี่ยวกับพระแก้วมรกตเหลืออยู่แล้วในเมืองต้าลี่ แต่เราสามารถพบเห็นแหล่งหินธรรมชาติชนิดเดียวกันกับพระแก้วมรกตได้ทั่วไปในเมืองต้าลี่ ส่วนวัดพระแก้วอันเก่าแก่ของเมืองเชียงรุ่งมรดกของชาวลื้อนั้น ถูกรัฐบาลจีนรื้อถอนออกไปเมื่อประมาณ พ.ศ. 2546 เพื่อปรับปรุงเมืองให้ทันสมัย


        2. วัดพระแก้ว ในเมืองเชียงตุง รัฐฉาน ราว พ.ศ. 1500 – 1900 ในช่วงแรกนั้นพระแก้วอาจจะมิได้หุ้มด้วยปูนลงรักเพื่อพลางเนื้อใน ชาวลื้อสามารถสัมผัสและสรงน้ำองค์พระแก้วได้ในวันขึ้นปีใหม่ โดยดูได้จากการถอดความบันทึกโบราณภาษาลื้อในเชียงตุงซึ่งมีอายุกว่า 1,000 ปี เมื่อกองทัพแห่งมองโกลรุกรานมาถึงดินแดนแถบนี้ก็ไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีการสรงน้ำองค์พระแก้วในวันขึ้นปีใหม่อีกเลย อาจเป็นไปได้ว่ามีการหุ้มองค์พระด้วยปูนแล้วลงรักองค์พระแก้วมรกตไว้ในช่วงสมัยนี้นี่เอง จนเวลาล่วงไปทำให้ผู้คนก็ลืมไปแล้วว่ามีพระแก้วที่สลักจากหินมรกตอยู่ที่นครเชียงตุง


        3. วัดพระแก้ว ในเมืองเชียงราย ถูกพบว่าเป็นองค์พระแก้วมรกตจากพระที่มีปูนหุ้มไว้ในเจดีย์ที่ถูกฟ้าผ่า ราว พ.ศ. 1979 ขณะนั้นเชียงรายอยู่ในอิทธิพลของนครเชียงแสนและเมืองเชียงแสนเป็นถิ่นฐานที่สามารถติดต่อกับชาวลื้อในดินแดนอื่นๆและน่านเจ้าได้โดยการเดินทางผ่านแม่น้ำล้านช้างหรือแม่น้ำโขง เป็นไปได้ว่าองค์พระแก้วที่หุ้มด้วยปูนแล้วลงรักอาจจะถูกชาวลื้ออัญเชิญมาอยู่ที่เชียงรายในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 18 หรือประมาณ พ.ศ. 1900 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ชาวมอญแพ้สงครามกับพม่า เป็นช่วงที่อาณาจักรพุกามกำลังเรืองอำนาจ เป็นเวลาเดียวกับการเริ่มสถาปนาอาณาจักรล้านนา เมื่อชาวลื้อเพิ่มจำนวนและเข้ามาตั้งถิ่นฐานในภาคเหนือของไทย


         4. วัดพระแก้ว ในเมืองลำปาง หรือเมืองเขลางค์นคร ปัจจุบันคือวัดสุชาดาราม หรือ พระแก้วดอนเต้า ราว พ.ศ. 1979 – 2011 ในฐานะเป็นเมืองลูกหลวงของนครเชียงใหม่ วัดพระแก้วดอนเต้า หรือสุชาดารามนี้ ตั้งอยู่ที่ ถนนสุชาดา ภายในเมืองลำปาง เป็นวัดเก่าแก่สวยงาม มีอายุเกือบพันปี มีปูชนียสถานที่สำคัญของวัดทดแทนพระแก้วมรกต คือ พระบรมธาตุดอนเต้า พระเจดีย์องค์ใหญ่ซึ่งเชื่อว่าบรรจุพระเกศาธาตุของพระพุทธเจ้า


  5. วัดพระแก้ว ในเมืองลำพูนหรือหริภุญชัย ราว พ.ศ. 2009-2011 เป็นเส้นทางผ่านในการอัญเชิญพระแก้วมรกตจากลำปางไปสู่เมืองเชียงใหม่ โดยได้ประดิษฐานพระแก้วมรกตไว้เป็นการชั่วคราวที่นี่ก่อนที่จะมีการก่อสร้างปราสาทที่เก็บรักษาพระแก้วในเมืองเชียงใหม่


        6. วัดพระแก้ว ในเมืองเชียงใหม่ ปัจจุบันคือวัดเจดีย์หลวง ราว พ.ศ. 2011 จนถึง 2096 โดยมีการก่อสร้างปราสาทหอพระแก้วไว้บริเวณซุ้มจรนัม ทางทิศตะวันออกของพระธาตุเจดีย์หลวง ปัจจุบันหอพระแก้วเดิมได้ผุพังไปแล้ว มีการก่อสร้างอาคารใหม่ขึ้นมาทดแทน


        7. วัดพระแก้ว ในเมืองเชียงทองหรือหลวงพระบาง สปป.ลาว พระเจ้าไชยเชษฐา โอรสพระเจ้าโพธิสาร ซึ่งเป็นพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุต (เวียงจันทน์) ได้ครองเมืองเชียงใหม่ต่อจากพระอัยกา ครั้นเมื่อพระเจ้าโพธิสารสวรรคต ทางกรุงศรีสัตนาคนหุต จึงเชิญพระเจ้าไชยเชษฐากลับไปครองเมืองหลวงพระบาง พร้อมกับได้อัญเชิญพระแก้วมรกตไปยังหลวงพระบางด้วย

ราว พ.ศ. 2094 พระแก้วมรกตได้ประดิษฐานอยู่ที่เมืองหลวงพระบางเป็นเวลา 12 ปี


        8. วัดพระแก้ว ในนครหลวงเวียงจันทร์ ราว พ.ศ.2107-2321 พระแก้วมรกตได้ถูกอัญเชิญเคลื่อนย้ายไปอยู่ที่นครเวียงจันทร์เพื่อหลบหนีการรุกรานของพม่า พระแก้วมรกตได้ประดิษฐานอยู่ที่เวียงจันทน์อีก 214 ปี ปัจจุบันพระแท่นที่เคยประดิษฐานพระแก้วมรกตว่างเปล่า ไม่มีการตั้งพระพุทธรูปองค์ประธานอื่นไว้ทดแทน เพราะชาวลาวเชื่อว่าสักวันหนึ่งพระแก้วมรกตจะได้กลับมาที่เดิม


        9. วัดพระแก้ว หรือวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในกรุงเทพ ราว พ.ศ. 2321 จนถึงปัจจุบัน ในช่วงแรกที่อัญเชิญมาจากเวียงจันทร์ ในสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีศรีสรรเพ็ชร์ คือระหว่าง พ.ศ. 2321-2325 ได้ประดิษฐานไว้ในโรงภายในพระราชวังเดิม ซึ่งปลูกไว้ริมพระอุโบสถวัดแจ้ง ฝั่งธนบุรี (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นวัดอรุณราชวรารามในรัชกาลที่ 2) ครั้นเมื่อสิ้นรัชกาลพระเจ้ากรุงธนบุรีแล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติ ณ กรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อปี พ.ศ. 2325 ได้โปรดให้เรียกนามพระแก้วมรกตว่า พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร แล้วอัญเชิญมาประดิษฐานในพระบรมมหาราชวัง จนมีการสร้างพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามแล้วเสร็จ ในปี พ.ศ. 2327 จึงให้อัญเชิญพระแก้วมรกตมาประดิษฐานอยู่ในที่นั้นจวบถึงปัจจุบัน


ไม่ปรากฏหลักฐานทางโบราณคดีใด ที่จะเชื่อได้ว่า พระแก้วมรกตจัดสร้างขึ้นที่เมืองปาลีบุตรประเทศอินเดียตามตำนานของฝ่ายไทย เพราะในยุคนั้นบริเวณเมืองปาลีบุตรไม่มีหินหยกขนาดใหญ่และไม่ปรากฏหลักฐานที่จะเชื่อได้ว่าพระแก้วมรกตเคยประดิษฐานที่ลังกาหรือประเทศศรีลังกามาก่อน แม้ว่าจะมีวัดพระเขี้ยวแก้วในประเทศศรีลังกาก็ตาม ยังไม่ปรากฏหลักฐานใดที่จะเชื่อมโยงกับพระแก้วมรกตเลยในเมืองนครธมและในที่อื่นๆของกัมพูชา รวมทั้งขาดเหตุผลที่พระแก้วมรกตเคยประดิษฐานที่เมืองกำแพงเพชรและเมืองอโยธยา(กรุงศรีอยุธยาสถาปนาขึ้นในสมัยพระเจ้าอู่ทองประมาณ 600 ปีก่อนเท่านั้น) ส่วนใหญ่จึงเป็นความเชื่อที่จดจำกันมา แม้ว่าจะมีวัดพระแก้วในพระนครศรีอยุธยาและเมืองเก่ากำแพงเพชรก็ตาม แต่น่าจะเป็นวัดที่สร้างใหม่ภายหลังอายุไม่เกิน 400 -500 ปี ซึ่งช่วงเวลานั้นเป็นที่แน่ชัดว่าพระแก้วมรกตอยู่ที่เชียงใหม่ ลำพูนและลำปาง ดังนั้นตำนานเล่าขานเกี่ยวกับพระเจ้าอติตะราช (อาทิตยราช) เจ้าครองนครอโยธยาโบราณมารับเอาพระแก้วมรกตไปจากเขมรจึงน่าจะคลาดเคลื่อนอย่างมาก


 ปัจจุบันโอกาสที่โอกาสเห็นองค์จริง ๆ (Model พระพักตร์และลวดลายแกะสลัก)ของพระแก้วมรกตนั้นมีน้อยมาก เพราะได้มีการนำเครื่องทรง 3 ฤดู ไปสวมและปกปิดความมหัศจรรย์ขององค์พระจริง ๆเพราะหากไม่มีเครื่องทรงแล้ว ดูองค์พระจากหินมรกตเปล่าๆ จะเห็นแตกต่างไปจากที่เราคุ้นเคยมาก 


ทุกๆ 4เดือนจะมีพระราชพิธีเปลี่ยนเครื่องทรง สรงน้ำ และบวงสรวงพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร อาจจะมีโอกาสได้เห็นพระแก้วมรกตตอนถอดเครื่องทรงออกเปลี่ยนและทำความสะอาดทางทีวีบ้าง พระแก้วมรกตเป็นพระพุทธรูปที่แกะสลักจากหยกอ่อน(เนไฟรต์)สีเขียวดังมรกต เป็นพระพุทธรูปสกุลศิลปะก่อนเชียงแสนถึงศิลปะเชียงแสน(ตามความเห็นของช่างชาวไทย)


วัดราชฐานหลวงพระแก้ว แห่งนครเชียงตุง วัดพระแก้วสันนิษฐานว่า เป็นวัดคู่กันกับวัดหลวงหัวข่วง หรืออาจเป็นวัดเดียวกันมาก่อน สองวัดนี้ตั้งอยู่วังหน้าของบริเวณพระราชวังเดิม ปัจจุบันได้แยกโดยถนนสองสาย วัดทั้งสองนี้ได้สร้างขึ้นในสมัยเจ้าฟ้าเจ็ดพันตู ต่อมาเจ้าก้อนแก้วอินแถลงได้ทรงบูรณะขึ้นใหม่ ในวิหารมีพระพุทธรูปหลายองค์ มีพระแก้วมรกต องค์จำลองประดิษฐานอยู่ด้วย ภายในวิหารประดับประดาตกแต่งอย่างวิจิตรพิสดารด้วยกระจกสีและลายฉลุไม้ ได้รับอิทธิพลสกุลช่างมัณฑะเลย์ แบบเตงเบงกาว ด้านหลังวิหารมีพระเจดีย์ประดิษฐานอยู่เป็นสถูปเจดีย์อาคารเรือนธาตุ ได้รับอิทธิพลศิลปะสมัยพุกามตอนปลายรูปแบบผสมกับศิลปะสมัยมัณฑเลย์ ฐานกลมซ้อนเป็นชั้นๆองค์ระฆังครึ่งวงกลมปล้องไฉนเป็นทรงพีระมิดปลียอดทาสีเหลืองอร่ามสวยงามมาก


 ตำนานฝ่ายสยาม..เรื่องเล่าขานถึงที่มาที่ไปขององค์พระแก้วมรกต เชื่อกันว่า พระแก้วมรกตนี้สร้างขึ้นในปี พุทธศักราช 500 โดยพระนาคเสนเถระ เป็นพระอรหันต์วัดอโศการาม กรุงปาฏลีบุตร ในแผ่นดินพระเจ้ามิลินท์ ประเทศอินเดีย (เมนันเดอร์) โดยเชื่อว่ามีสมเด็จพระอมรินทราธิราช (พระอินทร์ที่เป็นใหญ่) พร้อมกับพระวิสสุกรรมเทพบุตร ผู้เป็นเทพบนสวรรค์ได้นำแก้วโลกาทิพยรัตตนายก มีสีเขียวทึบ (หยกอ่อน) นำมาจำหลักเป็นพระพุทธรูปถวายให้พระนาคเสน และถวายพระนามว่า พระพุทธรัตนพรรณมณีมรกต พระนาคเสนจึงได้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ 7 องค์ (ชิ้น) ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้แก่พระโมลี พระนลาฏ พระนาภี พระหัตถ์ซ้าย พระหัตถ์ขวา พระเพลาซ้าย และพระเพลาขวาลงไปในองค์พระพุทธรัตนพรรณมณีมรกต โดยไม่มีรอยตัดต่อของเนื้อหินเลย เมื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุแล้วก็อัญเชิญขึ้นประดิษฐานให้ประชาชนสักการะ ได้เกิดแผ่นดินไหวขึ้น พระนาคเสนจึงได้พยากรณ์ว่า พระแก้วองค์นี้ จะเสด็จไปโปรดสรรพสัตว์ในเบญจประเทศ คือ ลังกาทวีป กัมโพชะศรีอโยธยา โยนะวิสัย ปะมะหละวิสัย และ สุวรรณภูมิ


ตำนานนี้ยังเล่าต่อว่า ในพุทธศักราช 800 สมัยแผ่นดินพระเจ้าศิริกิตติกุมาร พระเชษฐ์ราชโอรสในพระเจ้าตักละราช ซึ่งได้ขึ้นครองราชสมบัติเมืองปาฏลีบุตรในช่วงที่เมืองปาฏลีบุตรเกิดมหากลียุค คือมีการจลาจลภายในและข้าศึกภายนอกจู่โจม พุทธศาสนิกชนในเมืองปาฏลีบุตรที่เคารพนับถือพระพุทธรัตนพรรณมณีมรกต ได้นำพระแก้วมรกตลงเรือสำเภาแล้วเดินทางลี้ภัยไปยังลังกาทวีป (เกาะศรีลังกา) เมื่อถึงลังกาทวีปพระเจ้าแผ่นดินลังกาทวีปในสมัยนั้น (ไม่ได้ระบุพระนาม) ทรงรับพระพุทธรัตนพรรณมณีมรกตมาเก็บรักษาเป็นอย่างดียิ่ง และทรงอุปถัมภ์ค้ำชูชาวปาฏลีบุตรที่ลี้ภัยเป็นอย่างดี ในประมาณปีพุทธศักราช 1000 สมัยแผ่นดินศรีเกษตรพุกามประเทศ พระมหากษัตริย์ผู้ครองนครขณะนั้นคือพระเจ้าอนุรุทธราชาธิราช หรือในภาษามอญคือ มังมหาอโนรธาช่อ เป็นกษัตริย์ที่มีพระอานุภาพมาก บริบูรณ์ด้วยพลช้างพลม้าและทหารมากมาย และทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาอย่างดี ได้มีพระราชโองการ ส่งพระราชสารและเครื่องมงคลบรรณาการ ไปยังลังกาทวีป เพื่อขอคัดลอกพระไตรปิฎกและขอพระแก้วมรกตกลับมาด้วย แต่เรือที่บรรทุกพระแก้วมรกตได้ถูกพายุพัด พลัดเข้าไปทางอ่าวกัมพูชาแทน พระเจ้านารายณ์ราชสุริยวงศ์ เจ้ากรุงอินทปัตถ์มหานคร (นครธม) แห่งแคว้นกัมพูชา สั่งให้อำมาตย์คุมสำเภากลับไปถวายคืนแก่พระเจ้าอนุรุทธ แต่ส่งกลับไปเพียงพระไตรปิฎกเท่านั้น มิได้ส่งพระพุทธรัตนพรรณมณีมรกตไปด้วย พระแก้วมรกตจึงได้ประดิษฐานอยู่กรุงอินทปัตถ์นานพอสมควร(ไม่ได้ระบุปี) ต่อมาในแผ่นดินพระเจ้าเสน่ห์ราช ได้เกิดพายุฝนขนาดใหญ่ตกเป็นนิจกาลยาวนานหลายเดือน(ไม่ได้ระบุ) พระเจ้าเสน่ห์ราชก็สวรรคตด้วยอุทกภัยนั้น พระมหาเถระ(ไม่ปรากฏพระนาม) ได้อัญเชิญพระแก้วมรกตขึ้นสำเภาหนีไปยังที่ดอน พระเจ้าอติตะราช (อาทิตยราช) เจ้าครองนครอโยธยา(หมายถึงเมืองอยุธยาในสมัยโบราณ) ทราบเรื่องจึงเสด็จไปเองโดยกระบวนพยุหยาตรา เพื่อไปอัญเชิญพระแก้วมรกตมาไว้ในที่ปลอดภัย โดยทรงอัญเชิญพระแก้วมรกตประดิษฐานในพระมหาเวชยันต์ปราสาท (ไม่สามารถระบุปี พ.ศ.ได้) และได้ประดิษฐานในนครอโยธยาต่อมาในอีกหลายรัชสมัย


ภายหลังเจ้าเมืองกำแพงเพชร ซึ่งเป็นพระญาติกับกษัตริย์อโยธยาสมัยนั้น ได้ทูลขอนำพระแก้วมรกตขึ้นไป ประดิษฐานที่เมืองกำแพงเพชรอีกหลายรัชสมัย ซึ่งว่ากันว่า ปัจจุบันก็คือวัดพระแก้วกำแพงเพชร ในอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร ต่อมา พระเจ้าพรหมทัศน์เจ้านครหิรัญนครเงินยาง แห่งเชียงแสนได้ทูลขอพระแก้วมรกตต่อพระเจ้ากำแพงเพชร พระเจ้ากำแพงเพชรก็ยอมมอบให้นครเชียงแสน ต่อมานครเชียงแสนได้เกิดมีศึกกับเมืองศรีนครพิงค์เชียงใหม่ เจ้าผู้ครองนครเชียงแสนในเวลานั้นได้ทำการพอกปูนจนทึบและลงรักปิดทองเสมือนพระพุทธรูปสามัญทั่วไป แล้วบรรจุเก็บไว้ในเจดีย์วัดป่าญะในเมืองเชียงราย จากนั้นกษัตริย์และพระราชวงศ์อพยพผู้คนลงมาทางใต้ ส่วนเมืองเชียงแสนก็ถูกตีแตกและถูกรวมเป็นส่วนหนึ่งของเชียงรายและอาณาจักรล้านนาในที่สุด พระนามพระพุทธรัตนพรรณมณีมรกตจึงหายสาบสูญไปแต่นั้นมาในปี พ.ศ.1979 ได้เกิดฟ้าผ่าที่องค์เจดีย์นั้น ชาวเมืองเชียงรายจึงได้พบเห็นพระพุทธรูปลงรักปิดทองโบราณ และต่อมาปูนที่ลงรักปิดทองได้กะเทาะออก กลายเป็นการค้นพบพระแก้วมรกตในแผ่นดินล้านนาเมื่อประมาณ600ปีที่ผ่านมา

เรื่องราวความเป็นมาของพระแก้วมรกตยังคงเป็นเรื่องที่น่าค้นคว้าค้นหาต่อไปของชาวอุษาคเนย์




ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ศาลาการเปรียญไม้ทรงโบราณ ที่อำเภอเสาไห้

ตำนาน และประวัติความเป็นมา ของอำเภอเถิน จังหวัดลำปาง

บอกใจไว้รอเจ็บ แท้งก่อนเกิด หลังพับเก็บความคิดฝันเข้าแฟ้มไปแล้ว