ตำนานพื้นบ้าน ทุ่งกุลาร้องไห้
ทุ่งกุลาร้องไห้
ทุ่งกุลาร้องไห้ เป็นที่ราบ ที่มีอาณาเขตกว้างขวางใหญ่ที่สุดในภาคอีสาน มีเนื้อที่ประมาณ 2,107,691 ไร่ มีที่ตั้งติด แม่น้ำมูล และลำน้ำสาขาของแม่น้ำมูล เช่น ห้วยทับทัน (ลำทับทันหรือคลองทับทัน) ห้วยเสียว ลำพลับพลา และบางส่วนที่ติด แม่น้ำชี ครอบคลุมพื้นที่ 13 อำเภอ 5 จังหวัด ได้แก่ อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย จังหวัดมหาสารคาม; อำเภอชุมพลบุรีและอำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์; อำเภอปทุมรัตต์ อำเภอเกษตรวิสัย อำเภอสุวรรณภูมิ อำเภอโพนทราย และอำเภอหนองฮี จังหวัดร้อยเอ็ด; อำเภอศิลาลาด อำเภอราษีไศล และอำเภอยางชุมน้อย บางส่วนของ อำเภออุทุมพรพิสัย อำเภอห้วยทับทัน อำเภอบึงบูรพ์ ที่มีที่ตั้งติดห้วยทับทัน ลำทับทันหรือคลองทับทัน จังหวัดศรีสะเกษ; อำเภอค้อวัง และอำเภอมหาชนะชัย จังหวัดยโสธร
ส่วนกว้างที่สุด อยู่ในท้องที่อำเภอปทุมรัตต์ เกษตรวิสัย สุวรรณภูมิ โพนทราย มีเนื้อที่ประมาณ 847,000 ไร่ ส่วนทุ่งที่มีชื่อลือนามว่า ทุ่งกุลาร้องไห้นั้น อยู่เขตอำเภอเกษตรวิสัย และอำเภอสุวรรณภูมิจังหวัดร้อยเอ็ด และอยู่ในเขตอำเภอท่าตูม อำเภอชุมพลบุรี จังหวัดสุรินทร์ ถ้าเรายืนอยู่ในใจกลางทุ่งแถบนี้แล้วเหลียวมองไปรอบ ๆ ตัวเรา จะเห็นแต่ทุ่งหญ้าจดขอบฟ้าสุดสายตา
เมื่อประมาณ 60-70ปีมาแล้ว ไม่มีต้นไม้ขึ้นอยู่เลย มีแต่ป่าหญ้าแท้ๆ สูงแค่ศรีษะคน มาบัดนี้ เห็นมีต้นไม้ขึ้นบ้างเป็นแห่งๆ ตามเนินสูงทั่วๆ ไป แต่ก็มีบางตามาก สภาพของทุ่งไม่ราบเรียบเสมอกัน มีเนินมีแอ่งสูงๆ ต่ำๆ มีลำห้วยเล็กใหญ่ไหลผ่านหลายสาย เช่นลำเสียวเล็ก ลำเสียวใหญ่ ลำเตา ลำพลับพลา เป็นทาง ระบายน้ำออกจากทุ่งในฤดูฝน ลงสู่แม่น้ำมูล สองฝังลำห้วยเหล่านี้เป็นดินทาม
ฤดูฝนน้ำหลากทุ่ง ฤดูแล้งน้ำแห้งขอด ประชาชนได้อาศัยจับปลาตามลำน้ำเหล่านี้เป็นอาหาร ในฤดูแล้งที่น้ำลดลง เมื่อราว พ.ศ. 2460 ถอยหลังขึ้นไป มีสัตว์ป่าอาศัยอยู่หลายชนิด เช่น กว้าง ละมั่ง อีเก้ง อยู่กันเป็นฝูงๆ มีนกตัวใหญ่ๆ มาอาศัยอยู่ก็มาก เช่น นกหงส์ นกกระเรียน นกกระทุง นกเป็ดน้ำ อยู่กันเป็นฝูงใหญ่ๆ แต่เวลานี้ สัตว์ป่าเหล่านั้น ได้หายสาบสูญไปสิ้นแล้ว
มีตำนานเล่าสืบต่อกันมาว่า เมื่อหลายพันปีมาแล้ว ดินแดนทุ่งกุลาร้องไห้ เคยเป็นทะเลสาบมาก่อนกว้างยาวสุดลูกหูลูกตา ไม่มีต้นไม้ใหญ่สักต้น เพราะน้ำลึกมาก เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำนานาชนิด ในสมัยนั้น มีเมืองสำคัญอยู่เมืองหนึ่ง คือเมืองจำปาขัน หรือเมืองจำปานาคบุรี อยู่ทางทิศตะวันตกของทะเลสาบ ปัจจุบันก็คือเทศบาล ตำบลจำปาขัน อำเภอ สุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด คือเมือง จำปานาคบุรี หรือ เมืองจำปาขัน นั้นเอง
ดังตำนานคำกลอนภาษาอีสานกล่าวไว้ว่า
"ท่งกุลาเดิมเค้า มันเป็นทะเลใหญ่ หัวเมืองไกลเทียวค้า เฮือข่วมท่องเที่ยว
ทะเลสาบคดเคี้ยว ฟองแก่งแฮงกระแส หมู่ชาวแฮือชาวแพ ซ่อยขนสินค้า
ปัจจิมพ้น จำปานคเรศ เขตเวนตกก้ำพี้ เมืองบ้านน่านนคร"
พระเจ้าแผ่นดิน ผู้ครองเมืองนครนั้น มีธิดาอยู่องค์หนึ่งชื่อว่า นางแสนสี และมีหลานสาวคนหนึ่งชื่อว่า คำแพง นางทั้งสองเป็นหญิงสาวรุ่นราวคราวเดียวกัน และมีรูปร่างหน้าตาสายงาม พร้อมทั้งลักษณะเท่ากับนางอัปสร มีวัย 15 หยกๆ 16 หย่อนๆ พระราชารักเหมือนดวงพระเนตร และได้จัดให้มีคนดูแลรักษาอย่างดี ผู้ดูแลรักษามีชื่อว่า จ่าแอ่น เมื่อนางทั้งสองจะไปที่ใด จ่าแอ่น ก็จะติดตามไปด้วยทุกหนทุกแห่ง
ในเมืองจำปานาคบุรีนี้ มีพญานาคอยู่ฝูงหนึ่ง เป็นพญานาคที่มีฤทธิ์มาก ถ้าชาวเมืองได้รับความเดือดร้อน พญานาคนี้ จะให้ความช่วยเหลือทุกอย่าง จึงมีชื่อว่า นาคบุรี ในสมัยเดียวกันนั้น มีเมืองอีกเมืองหนึ่งชื่อว่า บูรพานคร ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกของทะเลสาบ มีโอรสชื่อ ท้าวฮาดคำโปง และมีหลานชายชื่อ ท้าวอุทร ทั้งสองได้ออกไปเรียนวิชาศิลปศาสตร์สำนักเดียวกัน เมื่อเรียนจบแล้ว อาจารย์อยากจะให้ลูกศิษย์ลองวิชาดู ว่าจะมีความสามารถเพียงใด จึงเรียกลูกศิษย์ทั้งสองเข้ามาหาแล้วสั่งว่า ให้เจ้าทั้งสองไปสู้รบกับพญานาค ที่เมืองจำปานาคบุรี และกำชับว่า พญานาคนั้นมีฤทธิ์มาก หากเจ้าทั้งสองชนะพญานาคได้ก็หมายความว่า วิชาที่เจ้าได้ร่ำเรียนมานั้นเป็นผลสำเร็จ ศิษย์ทั้งสอง ก็ยอมปฏิบัติตามคำสั่งของอาจารย์ จึงพากันกราบลาอาจารย์ออกจากสำนัก ไปยังเมืองจำปานาคบุรี
เมื่อไปถึง ท้าวทั้งสองยังมิได้ลองวิชาแต่อย่างไร แต่ได้ทราบว่า เจ้าเมืองจำปานาคบุรีนั้น มีพระธิดาและหลานสาวที่สาวงามมาก จึงเป็นเหตุให้ชายหนุ่มทั้งสอง หันมาให้ความสนใจสาวงาม มากกว่าการที่จะสู้รบ ทดลองวิชากับพญานาค จึงได้พยายามติดต่อกับนางทั้งสอง แต่มองไม่เห็นหนทางที่จะสำเร็จได้ เพราะนางทั้งสอง มีผู้ดูแลรักษาอย่างเข้มงวด จึงหาโอกาสติดต่อได้ยาก แต่หนุ่มทั้งสองก็มิได้ละความพยายามแต่อย่างใด และได้สืบทราบมาว่า ทุกๆ เจ็ดวันนางทั้งสอง จะพาบ่าวไพร่และผู้ดูแลรักษา ออกไปเล่นน้ำทะเลสักครั้งหนึ่ง จึงคิดว่าจะใช้วิชาที่ได้ร่ำเรียนมาเข้าช่วย
อยู่มาวันหนึ่ง พระนางทั้งสองพร้อมด้วยบริวาร และจ่าแอ่นผู้ดูแลรักษา ได้พายเรือลงไปเล่นน้ำทะเล ท้าวทั้งสองเห็นเป็นโอกาสดี จึงเสกผ้าเช็ดหน้าให้กลายเป็นหงส์ทอง ลอยไปข้างหน้าเรือของนางทั้งสอง เมื่อนางทั้งสองเห็นหงส์ทองลอยน้ำมา ก็อยากได้ไว้ชม จึงอ้อนวอนจ่าแอ่น ให้พายเรือติดตามเอาหงส์ทองมาไห้ได้ แต่ยิ่งตามไปใกล้เท่าไร หงส์ทองก็ยิ่งลอยออกไปไกลทุกที ครั้งชะลอฝีพายลง หงส์ทองก็ลอยช้าลงด้วย ทำท่าจะให้จับตัวได้ เมื่อยิ่งตามไป เรือของนางทั้งสอง ก็ตกอยู่กลางทะเลใหญ่ ท้าวฮาดคำโปงและท้าวอุทรเห็นเป็นโอกาสดี จึงแล่นเรือสำเภาของตน ซึ่งจอดรอคอยอยู่แล้ว ออกสกัดหน้าเรือของนางทั้งสอง แล้วเอานางทั้งสองพร้อมด้วยบริวาร ขึ้นเรือสำเภาของตน แล้วแล่นออกไปในทะเลใหญ่
ดังตำนานคำกลอนภาษาอีสานกล่าวว่า
"บ่าวสำน้อย ท้าวฮาดคำโปง ท้าวอุทรกะลง สู่สำเภาลอยน้ำ
คึดอยากไปเทียวก้ำ จำปานคเรศ อยากเห็นเนตรยอดฟ้า สาวหล้าซาวไกล
หลายเพลาขวบได้ เฮือแล่นตามลม หมายซิชมเอานาง ต่างเมืองมาซ้อน
สำเภามาจวนค่อย จำปาเมืองใหญ่ เขาจอดเฮืออยู่ใกล้ มนต์ร่ายใส่เสน่ห์
เสกเป็นหงส์ทองเอ้ ลงท่าลีลา ใช่เป็นสาส์นหงส์มา ล่อเอานางน้อย
ตอนนั่นคำแพงสร้อย แสนสีน้องพี่ ลงวารีอาบล้าง หน้าน้อยค่อยละมัย
เห็นหงส์ทองอยากได้ เอิ้นใส่ทาสา ให้จ่าแอ่นนั่นมา ไล่หงส์บ่พอได้
ทำมาอยากกรายใกล้ ไหวดีล่อหลอก ออกมาหวิดเขตน้ำ กรายก้ำบ่อนสิคืน
บังคับสาวให้ขึ้น เฮือแล่นหนีไป"
เมื่อเจ้าเมืองจำปานาคบุรีได้ทราบข่าวว่า นางทั้งสองหายไป ก็ตกพระทัยเป็นอันมาก แต่พระราชาองค์นี้ มีพญานาคเป็นสหาย เคยสัญญากันไว้ว่า ถ้าเกิดศึกสงครามแก่บ้านเมืองเวลาใด ให้ตีกลองชัย จะได้มาช่วย เมื่อเกิดเหตุกระทันหันขึ้นดังนี้ พระราชาจึงใช้ให้มหาดเล็กตีกลองชัยขึ้น เมื่อพญานาคได้ยินเสียงกลองของพระราชา ก็ได้จัดกองทัพขึ้นมา แต่ไม่เห็นข้าศึก จึงถามพระราชาว่า มีเรื่องอะไรเกิดขึ้นจึงได้ตีกลองชัย พระราชาจึงบอกว่า มีหนุ่มวิทยาคมสองคน ได้ลักพาพระธิดาและหลานสาวทั้งสอง หายไปในทะเลสาบ จึงขอให้ท่านช่วยเหลือด้วย พญานาคเป็นผู้มีฤทธิ์ จึงบันดาลให้ทะเลสาบแห้งเหือดทันที
ดังตำนานคำกลอนภาษาอีสานกล่าวว่า
"เจ้าเมืองคึดสงสัยว่า ลูกสาวตายคึกน้ำ ลูกบ่ฟังความห้าม เสียใจเครียดใหญ่
อุกพระทัยคั่งแค้น พอม้วยละแม่งตาย จั้งฮู้ว่าผู้ร้าย มาแย่งชิงนาง
หลูตนเด๊คิงบาง พรางไกลเมืองบ้าน ขอให้นาคดั้น ด้นดินปิ้นไป่
ทะเลแห้งแต่ครั้ง นาคก่นนำสาว ตามประวัติเรื่องราว กล่าวกลอนมาไว้"
เรือสำเภา ของท้าวฮาดคำโปงและท้าวอุทร แล่นต่อไปไม่ได้ ท้าวทั้งสองจึงนำจ่าแอ่น ผู้ดูแลนางทั้งสอง ไปซ่อนไว้ในดงแห่งหนึ่ง ต่อมาได้เรียกชื่อว่า ดงจ่าแอ่น และได้กลายเป็นที่ตั้งของ บ้านจ่าแอ่น ซึ่งปัจจุบันนี้เรียกว่า บ้านแจ่มอารมณ์ ตั้งอยู่ในเขตอำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด
และนำนางแสนสี ไปซ่อนไว้ในดงแห่งหนึ่ง ต่อมาได้ชื่อว่า ดงแสนสี และได้กลายเป็นที่ตั้งของ บ้านแสนสี ปัจจุบันนี้ ตั้งอยู่ในเขตอำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด ส่วนนางคำแพงผู้เป็นหลาน ได้นำไปซ่อนไว้ในดงแห่งหนึ่ง ต่อมาได้เรียกชื่อว่า ดงป่าหลาน และได้กลายเป็นที่ตั้ง อำเภอบาหลาน ปัจจุบันนี้เรียกว่า อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย จังหวัดมหาสารคาม
เมื่อน้ำทะเลได้แห้งเหือดหมดแล้วนั้น บรรดาสัตว์น้ำต่างๆ มี ปู ปลา กุ้ง หอย เหรา แข้ เต่า และตะพาบน้ำ ที่อาศัยอยู่ในทะเลสาบนั้นได้ตายหมด แล้วเน่าเหม็น ส่งกลิ่นเหม็นคลุ้งฟ้า ขึ้นไปถึงพระนาสิกของพระอินทร์บนสวรรค์ชั้นฟ้า พระอินทร์ทนไม่ไหว จึงใช้นกอินทรีสองผัวเมีย ลงมากินซากสัตว์ที่ตายให้หมด นกอินทรีได้กินอยู่ประมาณครึ่งเดือนจึงหมด และได้ถ่ายมูลไว้เป็นกองใหญ่มาก ทุกวันนี้เรียกว่า โพนขี้นก ปรากฏอยู่ที่กลางทุ่งกุลาร้องไห้ ( โรงเรียนบ้านโพนครกน้อย ) ในเขตตำบลหินกอง อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด
ดังตำนานคำกลอนภาษาอีสานกล่าวว่า
"กล่าวเถิงท่งครั้งนั่น ลมปั่นมาตี เหลียวเบิ่งน้ำบ่มี หาดดินหินก้อน
ปูปลาหอยตายข่อน กองกันเป็นเถ้า ลางบ่อนแข่นเส้าเง้า ฮาวเล้าท่อโพน
เปลือกหอยตายกองขึ้น เป็นขี่นกอินทรี นกมันมีฤทธิ์ เซินลงแต่เทิงฟ้า
กินหอยปลาแล้วขี่ บินหนีไปบ่อนใหม่ ขี่กองน้อยกองใหญ่ มันกะมีจั่งเว้า
ท่งมันกว้างต่อกว้าง สุดขั่วแสงตา พระอินทร์ใซ่ลงมา คาบกินให้มันล่อน
ว่าให้กินปลาข่อน อย่าให้มันเน่าเหม็น เดี่ยวนี่เหม็นอูดเอ้า ไปสู่เมืองสวรรค์
เมินปูหอยปลาแล้ว เทียวขี่ใส่จนเป็นโพน จักว่าโดนปานใด หั่นเล่ามาเท่าสู่มื้อ"
ส่วนนกอินทรีนั้น เมื่อกินสัตว์ที่ตายหมดแล้ว จึงไปทูลถามพระอินทร์ว่า ข้าแต่จอมเทพผู้เป็นใหญ่แห่งเทวดาทั้งหลาย พระองค์จะให้หม่อมฉันกินอะไรต่อไปอีกเล่า ครั้นพระอินทร์จะบอกให้กินสัตว์ที่มีชีวิต ก็กลัวศีลจะขาด จึงบอกเป็นอุบายว่า ให้ท่านทั้งสอง นอนฝันกินเอาเองเถิด ถ้าหากฝันว่าได้กินอะไร ก็จงไปกินตามความฝันนั้นเถิด อยู่มาวันหนึ่งนกอินทรีผัวเมียฝันว่า ได้กินพระยาช้างสาร จึงพากันไปสู่ดงใหญ่แห่งหนึ่ง อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของทะเลสาบ มีชื่อเรียกว่า ดงน้ำเปียก ซึ่งเป็นที่อยู่ของพระยาช้างสารคำว่า ดงน้ำเปียก ในที่นี้ เพ่งตามภาษาแล้วเข้าใจว่า เป็นภาษาเขมร เช่นคำว่า ตะตึก แปลว่าเปียกน้ำ ในปัจจุบันเราเรียกว่า ดงสะตึก ซึ่งเป็นที่ตั้งของอำเภอสะตึก จังหวัดบุรีรัมย์ ในทุกวันนี้ เพราะดงสะตึกนี้ เป็นดงที่ราบต่ำ และอยู่ริมทะเลด้วย เป็นดงที่มีช้างอยู่มากมาย มีเจ้าโขลงชื่อพระยาช้างสาร เมื่อนกอินทรีผัวเมียไปพบพระยาช้างสารแล้ว จึงพูดว่า พระอินทร์ได้ให้ข้าพเจ้า มากินท่านเป็นอาหาร พระยาช้างสารไม่เชื่อนกอินทรี เพราะตามปกติแล้ว พระอินทร์จะไม่เบียดเบียนสัตว์โลกทั้งหลาย มีแตจะช่วยให้พ้นทุกข์เท่านั้น พระยาช้างสารจึงพูดว่า ท่านจะกินข้าพเจ้าไม่ว่าอะไร แต่ข้าพเจ้าขอผลัดเวลาไว้สักวันหนึ่ง เพื่อจะได้ไปทูลถามพระอินทร์ให้เป็นการแน่นอน นกอินทรีก็ผ่อนผันให้
ครั้นแล้ว พระยาช้างสาร ก็ใช้ให้พระยาช้างเคล้าคลึง เพื่อนสนิท ไปทูลถามพระอินทร์แทนตน ครั้นพระยาช้างเคล้าคลึงไปถึงพระอินทร์ จึงทูลถามว่า ข้าแต่เทพเจ้าผู้เป็นจอมแห่งเทวดา พระองค์ใช้ให้นกอินทรีไปกินพระยาช้างสารหรือ พระอินทร์ตอบไปอย่างฉับพลันว่า ข้าไม่ได้บอกนกอินทรีไปกินพระยาช้างสาร แต่เราได้บอกนกอินทรีผัวเมีย นอนเสี่ยงทายฝันกินเอง เมือฝันว่าได้กินอะไรก็ให้ไปกินตามความฝันนั้นเถิด นกอินทรีฝันว่าได้กินอะไร ก็เป็นเรื่องของเขา หาใช่เรื่องของเราไม่ พระยาช้างเคล้าคลึงจึงทูลว่า ถ้าเช่นนั้นเมื่อคืนนี้หม่อมฉันฝันว่า ได้นอนร่วมกับนางสุชาดา อัครมเหสีของพระองค์ พระองค์จะให้หม่อมฉันนอนร่วมกับพระนางสุชาดาหรือไม่
ครั้นพระอินทร์จะตอบว่า ให้นอน ก็คงจะเสียเปรียบพระยาช้างเคล้าคลึง ถ้าพระองค์จะตอบว่าไม่ให้นอน ก็เป็นการเสียสัตย์ ด้วยเหตุนี้ พระอินทร์จึงนิ่งเฉยไม่ทรงตอบว่ากระไร จึงเรียกนางเทพธิดามาฟ้อนรำ ให้พระยาช้างเคล้าคลึงดู พระยาช้างเคล้าคลึง ดูความสวยงามอ่อนช้อยของนางเทพธิดา จนเพลิดเพลินและเคลิ้มหลับไปในที่สุด จนลืมวันที่นัดหมายกับนกอินทรีไว้ แล้วนกอินทรีไม่เห็นพระยาช้างเคล้าคลึงลงมา ก็กินพระยาช้างสาร แล้วคาบเอาเท้าของพระยาช้างสาร ไปทิ้งไว้ในดงเมืองศรีภูมิ ชื่อว่า ดงท้าวสาร ปัจจุบันคือที่ตั้งของอำเภอ สุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด
คาบเอาหัวของพระยาช้างสาร ไปทิ้งไว้ที่ บ้านหัวช้าง และต่อมาได้ตั้งอำเภอขึ้นครั้งแรก เรียกว่า อำเภอหัวช้าง ครั้นต่อมาท้าวพรมสุวรรณธาดา จึงย้ายไปตั้งที่ทำการใหม่ จึงเรียกว่า อำเภอ จตุรพักตร์พิมาน เหตุที่เรียกเช่นนี้ก็เพราะว่า พระพรหม โดยมากมีสี่หน้า จึงเรียกตามชื่อของพระพรหมมาจนถึงปัจจุบันนี้ เมื่อนกอินทรี ได้กินพระยาช้างสารตามความฝันแล้ว ก็มีใจกำเริบเสิบสาน นึกอยากจะฝันกินมนุษย์และสัตว์ทั้งหลายเป็นอันมากทำให้ มนุษย์และสัตว์จะไปไหนมาไหนก็ลำบาก เพราะกลัวแต่นกอินทรีจะกิน จนไม่เป็นอันทำมาหากิน
ในขณะเดียวกันนั้น พระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นที่พึ่งของสัตว์โลกทั้งหลาย ซึ่งประทับอยู่ ณ พระเวฬุวันมหาวิหาร ทรงแผ่พระสัพพัญญตญาณ ตรวจดูสัตว์โลกในเวลาปัจจุบันสมัย ตามพุทธวิสัยของพระองค์ ได้ทรงเล็งเห็นความโหดร้ายของนกอินทรีผัวเมีย ซึ่งกำลังเบียดเบียนสัตว์โลกอยู่ จึงทรงตรัสเรียก พระโมคคัลลานะเข้ามาหา แล้วตรัสว่า ดูก่อนโมคคัลลานะ เธอเป็นผู้ได้เอตทัคคะในทางฤทธิ์ เธอจะไปช่วยสรรพสัตว์ที่ได้รับความเดือดร้อนอยู่นั้นเถิด ครั้นแล้วพระโมคคัลลานะ ก็ถือบาตรและจีวร เหาะเหินมุ่งหน้าสู่ดงท้าวสาร ได้มาพักอยู่ดงท้าวสาร เข้าฌาณเตโชกสิณ เพ่งไฟเป็นอารมณ์ เกิดเป็นเพลิงลุกโพลงขึ้น ไปกระทบทรมานนกอินทรีผัวเมียทั้งสอง ร้อนแทบใจจะขาด นกอินทรีผัวเมียจึงแผดเสียงร้องขึ้น ดังไปไกลได้ร้อยโยชน์ สะเทือนไปถึงพื้น บาดาล
ขณะนั้น มีพญานาคอยู่ฝูงหนึ่ง ซึ่งอยู่ในบ่อแห่หนึ่ง ไม่ไกลจากดงท้าวสาร ได้ยินเสียงแปลกประหลาดดัง จนหวั่นไหว นึกว่าอันตรายจะมาถึงตัว จึงโผล่ขึ้นมาจากพื้นบาดาล พ่นพิษออกไปเป็นควันมืดฟ้ามัวดิน พิษไปถูกลูกตาของมนุษย์ที่อยู่บ้านใกล้เคียง เป็นอันตรายจำนวนมาก บางคนถึงกับลูกตากระเด็นออกมา ต่อมาหมู่บ้านนั้นได้ชื่อว่า บ้านตาเด็น ปัจจุบัน คือ บ้านตาเณร อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด
ดังตำนานคำกลอนภาษาอีสานกล่าวว่า
บ่อพันขัน ตรงนั้น มีตำนาน แต่โบราณ เรียกว่า จำปาขัน
เป็นเมืองเก่า เล่าลือ ระบือกัน จำปาขัน ได้ข่าว ลูกสาวมี
ชื่อคำแพง แต่งเห็น เป็นพี่เลี้ยง รูปเกลาเกลี้ยง นามธิดา ว่าแสนสี
เคยฟังดู รู้ชัด ประวัติมี สาวแสนสี สาวคำแพง แห่งจำปา
นางนั่งเรือ เล่นน้ำ ตามทะเล ต้องเสน่ห์ ท้าวอุธร นอนผวา
ฮาดคำโปง ชื่อนี้ มีมนต์ตรา ต้องเข่นฆ่า รักเกี้ยว สาวเดียวกัน
ทางเจ้าเมือง ทราบเรื่อง จึงออกปาก เรียกฝูงนาค มาหา จำปาขัน
เจาะบาดาล พ่นพิษ ฤทธิ์อัศจรรย์ พิษนาคนั้น กระจายเต็ม เค็มเหมือนเกลือ
ปูปลาหอย พลอยตาย ไม่วายนับ กลิ่นเหม็นอับ ทั่วไป ทั้งใต้เหนือ
นกอินทรี สองผัวเมีย อิ่มเหลือเฟือ กินจนเบื่อ อยากกินเนื้อ มนุษย์จัง
พระพุทธองค์ ทรงสั่ง โมคคัลลาน์ ขอให้มา ปราบกุสุมา ใจโอหัง
ไล่เข้าถ้ำ จีวรปิด ใช้ฤทธิ์บัง ชี้นิ้วสั่ง บ่อครกหิน น้ำกินมี
เพราะพิษของพญานาค มีรสเค็มจัดยิ่งกว่าเกลือเสียอีก พระโมคคัลลานะอรหันต์ เมื่อเล็งเห็นเหตุการณ์ ดังนั้นจึงเข้าฌาณเตโชกสิณ เกิดเป็นเปลวไฟไป ปกปิดปากบ่อ ที่พญานาคโพล่ขึ้นมาพ่นพิษ ไม่ให้โผล่ขึ้นมาพ่นพิษได้อีก และท่านเกรงว่า พญานาคจะขึ้นมาได้อีก จึงอธิษฐานเท้าซ้าย เหยียบที่ชายจีวร ปัจจุบัน ยังเหลือให้เห็นเป็นรอยเท้าคน ขนาดยาว 1 เมตร กว้าง 40 เซนติเมตร อยู่ระหว่างเนินย่าน้อยบริเวณบ่อพันขัน และอธิษฐานเท้าขวา เหยียบที่ชายจีวร ห่างกันไปทางทิศใต้ประมาณ 1 กิโลเมตร ตรงปากน้ำลง ลำน้ำเสียว ( คอคีบ ) มีรอยขนาดเท่ากัน ยังเหลือปรากฏอยู่เหมือนเดิม ปัจจุบันเป็นที่น่าเสียดายที่ทางราชการได้ปิดบ่อเป็นฝายกั้นน้ำ จึงทำให้น้ำท่วมทั้งสองรอย ต่อมาจีวรของพระมหาโมคคัลลานะ จึงเกิดเป็นแผ่นหินเป็นรูปจีวร และท่านเกรงว่า ประชาชนต่อไป จะไม่มีน้ำจืดกิน จึงได้อธิษฐานใช้นิ้วชี้ ชี้ลงไปตรงผ้าจีวรผืนนั้น เกิดรอยแตกเท่าขันน้ำ มีรัศมีกว้าง 9 นิ้ว ความลึกประมาณ 8 นิ้ว มีน้ำไหลออกมาประจำ ชาวบ้าเรียกว่า น้ำสร่างโครก เพราะมีลักษณะเหมือนครกตำข้าว และบริเวณทั้งหมดทั่วบริเวณนั้น เรียกว่า บ่อพันขัน
เมื่อปราบพญานาคเสร็จแล้ว ก็แสดงธรรมโปรดชาวเมือง ให้ยึดมั่นในพระรัตนตรัย จากนั้น ก็กลับเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ และมิได้กลับคืนมาสู่ดินแดนแถบนี้ จนกระทั่งนิพพาน ข่าวการนิพพานของพระเถระ เจ้า ได้แพร่กระจายรู้ถึงชาวเมือง จึงได้ส่งคนให้ไปอัญเชิญพระอัฐิธาตุ มาทำสถูปบรรจุไว้ ที่ดงเท้าสาร ปัจจุบันสันนิษฐานว่า คงเป็นพระธาตุอรหันต์โมคคัลลาน์ วัดกลาง อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด หรือเป็นอุทเทสิกเจดีย์ ให้พวกเราชาวพุทธได้สักการะต่อมาช้านาน
บริเวณ บ่อพันขัน ที่นั้นเป็นลำห้วย มีขนาดกว้างประมาณ 20 เส้นเศษ ยาวประมาณ 30 เส้นเศษ เป็นลำน้ำเล็กไหลลงสู่ลำน้ำเสียว หน้าแล้งน้ำแห้งขอด ดินในท้องบ่อจะเป็นส่าเกลือ เพราะพิษพญานาคไหลออกมาจากจีวร เค็มเป็นเกลือ อยู่ที่ดินแดนอำเภอพนมไพรและสุวรรณภูมิจดกัน หน้าแล้งคนสองอำเภอนี้ จะพากันขูดเอาผิงดินในท้องบ่อ มากรองเอาน้ำเกลือที่ไหลออกมา ต้มเป็นเกลือสินเธาว์ เป็นสินค้าประจำตลอดมา ที่เรียกว่า บ่อพันขันนั้น เพราะว่าจีวรของพระนั้น นับเป็นขัน จีวรพระที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้ มี 7 ขัน และ 9 ขัน แต่จีวรของพระมหาโมคคัลลานะนั้น ท่านทำด้วยฤทธิ์ใหญ่ตั้งพันขัน จึงปกคลุมพญานาคได้ ผู้คนจึงเรียกบ่อนี้ว่า บ่อพันขัน
จะกล่าวถึงท้าวฮาดคำโปงและท้าวอุทร เมื่อได้นางแสนสีและนางคำแพงเป็นเมียแล้วนั้น ท้าวทั้งสองได้เกิดขัดใจกัน และได้ชิงดีชิงเด่นกัน เพราะเกิดรักนางแสนสีร่วมกัน เมื่อตกลงกันไม่ได้ จึงเกิดการรบพุ่งกันขึ้น ท้าวฮาดคำโปงเป็นฝ่ายปราชัย โดยถูกท้าวอุทรฟันคอขาด และสิ้นชีพไปอย่างอนาถ จึงกลายเป็นผีหัวแสง หรือ ผีทุ่งศรีภูมิ เฝ้าทุ่งกุลาร้องไห้ ใครไปคนเดียวในเวลาค่ำคืน จะเห็นแสงไฟออกจากหัว พุ่งขึ้นเหมือนแสงตะเกียงเจ้าพายุ ออกสกัดลัดต้อนผู้คน จนไม่มีใครกล้าออกบ้านในเวลาค่ำคืนคนเดียว เมื่อเจ้าเมืองจำปานาคบุรีทราบรายละเอียดดังกล่าว จึงทำให้เกิดความสงสารและให้อภัยโทษ และจัดเสนาข้าราชการ ไปติดตามเอานางทั้งสอง พร้อมท้าวอุทรกลับเข้ามายังเมืองจำปานาคบุรี พร้อมทั้งประทานไพร่พล ให้ท้าวอุทร ไปสร้างดงท้าวสารขึ้น เป็นเมืองเท้าสาร ปัจจุบันคือที่ตั้ง อำเภอสุวรรณภูมิ พร้อมทั้งยกนางแสนสีให้เป็นมเหสีท้าวด้วย
เมื่อทะเลอันกว้างใหญ่ไพศาล ได้กลายสภาพมาเป็นท้องทุ่งอันกว้างใหญ่ ทำให้มองเห็นดินจดขอบฟ้ามาแล้ว เป็นเวลานานเท่าไร ไม่มีใครสามารถจะบอกได้ แต่คนเฒ่าคนแก่ได้เล่าสืบต่อกันมาว่า เมื่อหลายร้อยปีมาแล้ว ได้มีการไปมาค้าขาย ติดต่อกับพ่อค้าต่างบ้านต่างเมือง ทั้งที่ใกล้เคียงและห่างไกลกัน มีพ่อค้าหาบสินค้าเที่ยวขายไปตามหมู่บ้าน แถบทุ่งกว้าวนี้เป็นประจำ โดยเฉพาะในฤดูแล้ง บรรดาพ่อค้าที่มาค้าขายในเขตทุ่งกุลาร้องไห้นี้ ได้มีพ่อค้าพม่าเผ่าหนึ่งมีชื่อว่า เผ่ากุลา ได้นำสินค้ามาเร่ขาย และมากันเป็นหมู่ หมู่ละ 20 - 30 คน สินค้าที่นำมาขายได้แก่ สีย้อมผ้า เข็ม เสื้อผ้า ยาสมุนไพร เครื่องถม ซึ่งสารด้วยไม้ไผ่ทารักลงสี ลวดลายสวยงาม เป็นกล่องคล้ายกระติบข้าวเหนียว ชาวบ้านนิยมซื้อไว้ใส่บุหรี่แลหมากพลู เวลาเดินทางไปไหนมาไหน พวกพ่อค้าจะนำสินค้าใส่ถึงใบใหญ่ ที่เรียกว่า ถึงกระเทียวมาขาย จะหาบเร่ร่อนรอนแรมไปเรื่อย ๆ เป็นแรมเดือนแรมปี ขายหมดที่ใด จะซื้อสินค้าหาบขายไปเรื่อย ๆ
ครั้งหนึ่ง ได้มีกุลาพวกหนึ่ง เที่ยวเร่ขายสินค้าจาก อุบลราชธานี ศรีสะเกษ เรื่อยมาจนถึงสุรินทร์พอมาถึงอำเภอท่าตูม พวกกุลาได้ซื้อครั่งเป็นจำนวนมาก เพื่อนำไปขายต่อ พอหาบครั่งข้ามแม่น้ำมูลมาได้สักหน่อยหนึ่งก็ถึงท้องทุ่งอันกว้าวใหญ่ หมายใจว่าจะเดินตัดทุ่งไปสู่ เมืองป่าหลาน ซึ่งก็คือ อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย จังหวัดมหาสารคาม ขอนแก่น อุดรธานี ขึ้นเหนือไปเรื่อย ๆ ซึ่งเป็นเส้นทางที่พ่อค้าพวกนี้ ยังไม่เคยเดินผ่านทุ่งแห่งนี้มาก่อน ทำให้ไม่ทราบระยะทางที่แท้จริง เพราะมองเห็นเมืองป่าหลาน อยู่หลัด ๆ หาทราบไม่ว่า ใกล้ตาแต่ไกลตีน ( สำนวนภาษาอีสาน แปลว่า มองเห็นเป็นใกล้แต่ต้องเดินไกล )
ขณะเดินทางข้ามทุ่ง รู้สึกเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้ามาก และในช่วงนั้นเป็นฤดูแล้งด้วย น้ำจะดื่มก็ไม่มี ต้นไม้จะอาศัยร่มเงาแม้แต่เพียงต้นเดียวก็ไม่มี ทั้งแดดก็ร้อนจัด ต่างพากันอิดโรยไปตาม ๆ กัน ครั่งที่หาบมาจะทิ้งก็เสียดาย จึงพากันโอดครวญและคิดว่า คงจะเอาชีวิตมาตายในทุ่งแห่งนี้เป็นแน่แท้ จึงพากันร้องไห้ไปตาม ๆ กัน (ร้องไห้ครั้งแรก)
ดังตำนานคำกลอนภาษาอีสานกล่าวว่า
"ตกกลางท่งแล้วล้า เดินฝ่าเทิงหัว เห็นแต่ท่งเป็นทิว มือกุมควันกุ้ม
เหลียวไปไสฟ้าหุ้ง งุมลงคือสักสุ่ม มือกลางเวนจุ้มกุ้ม คงไม้กะบ่มี
คักละนอบาดนี่ หลงท่งคนเดียว ถิ่มฮอดถงกะเทียว ย่ามของสินค้า
เหลียวทางหลังทางหน้า กุลายั้งบ่อยู่ ลมออกหูจ้าวจ้าว ไคค้าวย่าวไหล
จนปัญญาแล้วไห้ เทิงจ่มระงมหา คึดฮอดภรรยา ลูกเมียอยู่ทางบ้าน
ลมอัสสวาสกั้น เนื้อสะเม็นเย็นหนาว อ้าปากหาวโหยแฮง แข้งลาขาล้า
เพื่อไปนำกองหญ้า เวลาค่ายค่ำ ยากนำปากและท้อง เวรข่อยจ่องเถิง
ป่าหญ้าแฝกอึ้งตึง กุลาฮ่ำโมโห ตายย้อนความโลโภ ล่องเดินเทียวค้า
ใจคะนึงไปหา โศกาไห้ฮ่ำ คึดผู้เดียวอ้ำล้ำ ทางบ้านบ่เห็น
ในหนังสือกล่าวไว้ บอกว่ากุลา หรือแม่นไปทางได้ แต่นานมาไว้
ท่งกุลาฮ้องไห้ ที่หลังท้ายหมู่ อยู่โดนมาแต่พ้น พันร้อยกว่าปี"
พวกกุลาต่างพากันร้องไห้ แล้วได้พากันพัก พอหายเหนื่อยจึงเดินทางต่อไป แต่ครั่งที่หาบมามันหนักมาก พวกกุลาจึงพากันเทครั่งน้อยทิ้งหมด ( ครั่งน้อย คือ ครั่งที่แยกตัวครั่งออก แล้วราคาไม่คอยดี ) ต่อมากลายเป็นหมู่บ้านชื่อ บ้านดงครั่งน้อย อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด
เมื่อพวกกุลาเดินต่อไปอีก รู้สึกอิดโรยมาก ครั้นไปถึงกลางทุ่ง จึงตัดสินใจเทครั่งใหญ่ทั้งหมดทิ้ง ( ครั่งใหญ่ คือ ครั่งที่ยังไม่แยกตัวครั่งออกจากครั่ง เพราะเวลาย่อมไหม จะมีสีแดงสดและได้ราคาดี ) คงเหลือไว้แต่อาหารเท่านั้น บริเวณที่พวกกุลาเทครั่งทั้งหมดนี้ ต่อมาได้กลายเป็นหมู่บ้านชื่อ บ้านดงครั่งใหญ่ อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด
เมื่อพวกกุลาเดินทางมาพ้นทุ่งแล้ว เข้าสู่หมู่บ้าน มีคนมามุงดูเพื่อจะซื้อสินค้าเป็นจำนวนมาก แต่พวกกุลาไม่มีสินค้าที่จะขายให้แก่ชาวบ้าน พวกกุลาพากันเสียใจ และเสียดายสินค้าที่ตนได้เททิ้งที่กลางทุ่ง พวกกุลาจึงพากันร้องไห้อีกเป็นครั้งที่สอง ทำให้เกิดเป็นชื่อเรียกท้องทุ่งอันกว้างใหญ่ไพศาลนี้ว่า ทุ่งกุลาร้องไห้ มาตราบเท่าทุกวันนี้
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น