พระธาตุพนมถล่ม

พระธาตุพนมพังทลาย


พระธาตุพนมถล่ม 2518


เมื่อได้เกิดแผ่นดินไหวในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2518 เกิดรอยร้าวขนาดใหญ่ขึ้นมากมาย ลามจากส่วนบนที่เริ่มปริร้าวลงมายังฐาน องค์พระธาตุพนมก็เริ่มเอียงจากแกนเดิม ต่อมาเข้าช่วงฤดูฝน ในเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม มีฝนตกหนักเกือบทุกวัน และมีลมแรงพัดตลอดเวลา รอยร้าวที่มีแต่เดิม เริ่มแยกออกกว้างขึ้น


วันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ 2518 ตอนเช้า ฐานพระธาตุพนมด้านทิศตะวันออก ผนังปูนตรงลวดลายประตูจำหลักซึ่งอยู่ กึ่งกลางของด้าน ตลอดถึงส่วนที่เป็นซุ้มทรงบายศรี ปูนกะเทาะหลุดร่วงลงมาทั้งแผ่นล่วงมา ถึงเวลาเย็นอิฐหลุดร่วง จะได้ยินเสียงครืดคราดออกมาจากภายในองค์พระธาตุ ส่วนฐานนั้น อิฐร่วงลงมาเป็นระยะ ๆ ทะลวงลึกเข้าไปเป็นช่อง เหมือนถูกคว้านให้เป็นโพรงอยู่ภายในฐาน


การหลุดร่วงของอิฐ ในตอนนี้มีทั้งอิฐและดินหล่นลงมา จนกระทั่งมองเห็นหินแท่งยาวแบนอยู่ภายในแท่งหินทำให้เข้าใจว่า ส่วนฐานขององค์พระธาตุพนมภายใน เป็นดินมากกว่าอิฐหรือหิน องค์พระธาตุเอียงไปทางทิศตะวันออกจนเห็นได้ชัด 


ครั้นถึงเวลา 19.38 น. พระธาตุพนมได้ล้มทลายลงมาทั้งองค์ องค์พระธาตุพนมได้หักล้มลงไปทางทิศตะวันออกทั้งองค์ ทับวัตถุก่อสร้างอยู่ในบริเวณนั้น เช่น หอพระทิศเหนือและทิศใต้ ศาลาการเปรียญและพระวิหารหอพระแก้วเสียหายทั้งหมด


ทั้งนี้สืบเนื่องมาจากฐานหรือพระธาตุชั้นที่ 1 ซึ่งสร้างในสมัยแรกนั้นเก่าแก่มาก และไม่สามารถทานน้ำหนักส่วนบนได้ จึงเกิดพังทลายลงมาดังกล่าว






สาเหตุการพังทลายขององค์พระธาตุพนม อาการพังทลายไม่ได้ทรุดที่ฐาน หากเริ่มจากยอด ที่เป็นน้ำหนักในแนวดิ่งที่หนักมาก มากดคอบัวฐานชั้นที่ 1 และชั้นที่ 2 ให้บิออกเป็นแนวฉีกลึกไปในเจดีย์ เพราะอิฐเปียกยุ่ยจากฝนตกติดต่อกันอย่างหนัก ต่อจากนั้นอิฐผนังที่ยุ่ยอยู่แล้วก็ค่อย ๆ ทลายลงเป็นแถบ ๆ ยอดเจดีย์กดพุ่งลงมาตามแนวดิ่ง หักลงเป็นท่อน ๆ องค์พระธาตุได้ล้มฟาดลงมาทางทิศตะวันออก

แตกหักออกเป็นท่อน มีลักษณะเป็น 3 ตอน คือ

ตอนที่ 1  คือฐานชั้นล่างที่ก่อด้วยอิฐแดง จำหลักลวดลายสูง 8 เมตร คือดอนที่เก่าที่สุด สร้างด้วยอิฐเรียงสอด้วยวัตถุเหนียวแตกทับตัวเอง หลุดร่วงและล้มเป็นกองเศษอิฐ แตกกระจายออกทั้ง 4 ด้าน

พูนขึ้นเป็นกองอิฐขนาดใหญ่ 

ตอนที่ 2  ระหว่างเรือนธาตุชั้นที่ 2 กับฐานบัลลังก์ เป็นส่วนที่ได้รับการบูรณะ ในภายหลังแตกออกเป็น 2 ท่อน ท่อนล่างละเอียดหมด ท่อนบนยังดีอยู่ ล้มกองไปตามทางทิศตะวันออก 

ตอนที่ 3  คือส่วนยอดที่สร้างครอบยอดเดิมไว้ เมื่อครั้ง พ.ศ. 2483 เป็นโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กยาวประมาณ 20 เมตร (ความสูงใหญ่ 10 เมตร ระยะของความสูงเดิม จากฐานบัลลังก์ขึ้นไป) หักล้มไปทางทิศตะวันออก ทับศาลาการเปรียญหรือโรงธรรมสภาแหลกละเอียด และหอพระแก้ว ราบทะลายลงไปทั้งสองหลัง เฉพาะหอพระแก้ว เหลือแต่เพียงมุขด้านหน้าไว้เท่านั้น ส่วนฉัตรที่ทำด้วยทองคำสวมยอดพระธาตุนั้น เอนปะทะพิงอยู่กับผนังหอพระแก้ว ความเสียหายของฉัตรบุบสลายเพียงเล็กน้อย





ความเสียหายเนื่องจากพระธาตุพนมล้ม มีดังนี้ 

1. กำแพงแก้วรอบองค์พระธาตุพนมชั้นที่ 1 และชั้นที่ 2

      2. หอข้าวพระทรงปราสาทยอดมณฑป ซึ่งสร้างในสมัยเจ้าพระยานครหลวงพิชิตทศทิศราชธานีศรีโคตรบูรหลวง บูรณะพระธาตุพนมเมื่อ พ.ศ. 2153

      3. ศาลาการเปรียญหรือโรงธรรมสภาสร้างเมื่อ พ.ศ. 2466

    4. วิหารหอพระแก้ว หรือวิหารหลวง แรกสร้างในสมัยพระเจ้าโพธิสาร ได้บูรณะพระธาตุพนม เมื่อราว พ.ศ. 2073

    5. หอพระด้านทิศเหนือและทิศใต้ 



ส่วนพระอุโบสถ ซึ่งอยู่ด้านทิศใต้ของหอพระแก้ว รอดพ้นอันตรายไปได้อย่างหวุดหวิด

เพราะอาคารทั้งสองสร้างอยู่ใกล้ชิดกันมาก (ระยะห่างเพียง 5 เมตรเท่านั้น)


จากการศึกษาของคณะอนุกรรมการ เพื่อรักษาสภาพเดิมขององค์พระธาตุพนม และบริษัทวิศวกรรม ที่เข้ามาศึกษาหาสาเหตุภัยพิบัติครั้งนี้ ได้ตั้งสมมุติฐานไว้ดังนี้คือ

      1. ฐานรากขององค์พระธาตุทรุดตัวไม่เท่ากัน ทำให้อาคารเสียการทรงตัว

      2. วัสดุก่อสร้างซึ่งสร้างมานาน เป็นอิฐบางส่วนเสื่อมสภาพไม่สามารถรับน้ำหนักดีเท่าด้านอื่น

ทำให้เสียศูนย์ จึงล้มพังทลาย

      3. เกิดจากแรงกดน้ำหนักภายในของวัสดุในองค์พระธาตุพนม โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือความชื้น

จนผนังอิฐบางส่วนทนรับน้ำหนักไม่ไหว แตกร้าวล้มในที่สุด






จากการศึกษาของบริษัทวิศวกรรม ได้ขุดศึกษาชั้นดินลงมา พบชั้นกรวดในระดับความลึก 20 เมตร ซึ่งจัดว่าเป็นชั้นรากฐานที่ดีมาก และไม่มีการทรุดตัวของชั้นดินโดยรอบเลย ประเด็นในข้อที่ 1 จึงตกไป


      ส่วนในข้อที่ 2 และ 3 นั้น มีเค้าความเจริญอยู่มาก แต่ไม่ได้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ในกรณีทั่วๆ ไป เป็นพฤติกรรมต่อเนื่อง ที่สร้างสมติดต่อกันมาไม่น้อยกว่าสามสิบปี กล่าวคือ เมื่อมีการต่อยอดโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก ซึ่งเป็นโครงสร้างขนาดใหญ่ ในปี พ.ศ. 2483-2484 นั้น ไม่มีการเสริมความแข็งแรงฐานเรือนธาตุทั้งสองชั้นใหม่ ทั้งที่ฐานทั้งสองต้องแบกน้ำหนักเพิ่มขึ้นอีกมหาศาล


ความแข็งแรงมั่นคง เท่าที่มีอยู่ ได้กลับเป็นความรอบคอบ ของท่านราชครูหลวงโพนสะเม็ก การต่อยอดครั้งนั้น ได้อัดอิฐดินภายในโพรงอาคารเดิมจนทึบตัน รับน้ำหนักได้เป็นอย่างดี และลำพังอิฐก่อสร้างอาคารในส่วนที่ดีอยู่นั้น (อยู่ในช่วงประมาณ พ.ศ. 1300-1400) มีความแข็งแรงเกือบเท่าคอนกรีต






      ความแข็งแรงทั้งหมดนี้ จึงแยกน้ำหนักของยอดอาคารองค์พระธาตุได้เป็นอย่างดียิ่ง ต่อเมื่อมีการต่อยอดเสริมขึ้นใหม่นั้น เปิดช่องระบายอากาศทุกด้าน ช่องเหล่านี้เป็นทางให้น้ำฝนสาดเข้าไปได้ แต่ไม่ได้เปิดทางระบายน้ำไว้ เมื่อน้ำเข้าไปช่องเหล่านี้ ก็จะไหลไปกองอยู่ที่มุมใดมุมหนึ่งที่ไม่ได้ระดับ น้ำเหล่านี้ ค่อย ๆ ซึมเซาะอิฐให้เสื่อมสภาพไปอย่างช้า ๆ จนฐานรากไม่สามารถรับน้ำหนักท่อนบนไหว พังทลายลงมาทั้งองค์


จากเหตุการณ์ฝนตกหนัก ติดต่อกันหลายวัน ทำให้องค์พระธาตุพนม พุทธศาสนสถานศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองนครพนม อายุ ๒, ๐๐๐ ปี ทรุดตัวพังทลายลงทั้งองค์ เมื่อวันที่ ๑๑ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๑๘




รัฐบาลและประชาชนชาวไทย ได้ร่วมกันบูรณปฏิสังขรณ์องค์พระธาตุ ให้สง่างามดังเดิม เมื่อแล้วเสร็จ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้จัดการพระราชพิธียกฉัตร




ยอดองค์พระธาตุพนม ในวันที่ ๒๒ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๒๒ และได้เสด็จพระราชดำเนิน ไปในพระราชพิธีเชิญพระบรมสารีริกธาตุ ขึ้นบรรจุในองค์พระธาตุพนม เมื่อวันที่ ๒๓ มีนาคม ปี ๒๕๒๒ ณ วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม



ขอบพระคุณ ;แหล่งที่มาของภาพ/ข้อมูล


ความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ศาลาการเปรียญไม้ทรงโบราณ ที่อำเภอเสาไห้

ตำนาน และประวัติความเป็นมา ของอำเภอเถิน จังหวัดลำปาง

[คติธรรม] คมธรรมของหลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ