เจ้าฟ้าพินทวดี เจ้านายที่ทรงรอดพระชนม์ จากคราวเสียกรุงครั้งที่ 2
เจ้าฟ้าพินทวดี เจ้านายที่ทรงรอดพระชนม์ จากคราวเสียกรุงครั้งที่ 2
เจ้าฟ้าพินทวดี เจ้านายกรุงศรีอยุธยา ที่ทรงรอดพระชนม์ จากคราวเสียกรุงครั้งที่ ๒ และทรงพระชนม์ มาถึงต้นกรุงรัตนโกสินทร์
เจ้าฟ้าพินทวดี เลือดขัตติยนารี ๓ แผ่นดิน คำว่า ๓ แผ่นดิน มิได้หมายถึง ๓ รัชกาลแต่อย่างใด แต่หมายถึง ๓ อาณาจักร คือ กรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี กรุงรัตนโกสินทร์
เจ้าฟ้าพินทวดี เป็นพระราชธิดาพระองค์ที่ ๓ ในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ประสูติแต่กรมหลวงพิพิธมนตรี พระองค์ทรงเป็นเจ้านาย ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเพียงไม่กี่พระองค์ ที่มีพระชนมายุยืนยาว มาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งพระองค์มีบทบาทสำคัญ ในการถ่ายทอดราชประเพณี ในราชสำนักฝ่ายในตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา สู่ราชสำนักรัตนโกสินทร์ ทำให้ประเพณีโบราณไม่สูญหายไป
พระองค์ เป็นพระเชษฐภคินี ในสมเด็จพระเจ้าเอกทัศ และสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร ประสูติเมื่อพุทธศักราช ๒๒๕๐ มีพระเชษฐภคินี พระอนุชา และพระขนิษฐา ร่วมพระชนกพระชนนี ทั้งหมด ๘ พระองค์ คือ เจ้าฟ้าประภาวดี เจ้าฟ้าประชาวดี เจ้าฟ้าพินทวดี เจ้าฟ้าเอกทัศน์ กรมขุนอนุรักษ์มนตรี (สมเด็จพระเจ้าเอกทัศ) เจ้าฟ้าจันทวดี เจ้าฟ้ากษัตรี เจ้าฟ้ากุสุมาวดี และเจ้าฟ้าอุทุมพร กรมขุนพรพินิจ (สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร)
หลังจากเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ ในปี ๒๓๑๐ นั้น ชาวเมืองอยุธยาและเชื้อพระวงศ์ ต่างถูกจับเป็นเชลย และถูกกวาดต้อนไปยังกรุงอังวะ ส่วนเจ้าฟ้าพินทวดี ถูกจับไปที่ค่ายโพธิ์สามต้น พร้อมด้วยพระขนิษฐา คือเจ้าฟ้าจันทวดี และเจ้าฟ้าสุริยา พระขนิษฐาต่างพระมารดา และเจ้านายพระองค์อื่น ๆ เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงตีค่ายโพธิ์สามต้นแตกแล้ว ก็ทรงโปรดฯ อัญเชิญ เสด็จมาประทับที่กรุงธนบุรี ดังปรากฏในพระนิพนธ์ ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพว่า
“...เมื่อพระเจ้าตาก มีชัยชนะพม่าแล้ว ตั้งพักกองทัพ อยู่ที่ในค่ายพม่า ที่โพธิ์สามต้น ขณะนั้น ผู้คนและทรัพย์สมบัติ ซึ่งสุกี้มิได้ส่งไปเมืองพม่า เอารวบรวมรักษาไว้ ในค่ายแม่ทัพ มีพวกข้าราชการ ที่พม่าจักเอาไปไว้หลายคน คือ พระยาธิเบศร์บดี จางวางมหาดเล็ก เป็นต้น ต่างพากันมาเฝ้าถวายบังคมเจ้าตาก ทูลให้ทราบถึง ที่พระเจ้าเอกทัศสวรรคต สุกี้ให้ฝังพระบรมศพไว้ที่ในกรุงฯ และทูลว่า ยังมีเจ้านาย ซึ่งพม่าจับได้ ต้องกักขังอยู่ในค่ายนั้นหลายพระองค์ ที่เป็นพระราชธิดา ของพระเจ้าบรมโกษฐ์ คือ เจ้าฟ้าสุริยาพระองค์หนึ่ง เจ้าฟ้าพินทวดีพระองค์หนึ่ง เจ้าฟ้าจันทวดีพระองค์หนึ่ง พระองค์เจ้าฟักทองพระองค์หนึ่ง รวม ๔ พระองค์ ที่เป็นชั้นหลานเธอ คือ หม่อมเจ้ามิตร ธิดาของกรมพระราชวังบวรมหาเสนาพิทักษ์ (เจ้าฟ้ากุ้ง) องค์หนึ่ง หม่อมเจ้ากระจาด ธิดากรมหมื่นจิตรสุนทรองค์หนึ่ง หม่อมเจ้ามณี ธิดากรมหมื่นเสพภักดีองค์หนึ่ง หม่อมเจ้าฉิม ธิดาเจ้าฟ้าจีด องค์หนึ่ง รวม ๔ องค์ เจ้านายทั้ง ๘ องค์นี้ เมื่อพม่าจับได้ประชวรอยู่ จึงยังมิได้ส่งไปยัง เมืองอังวะ...”
ในขณะที่เจ้าฟ้าพินทวดี ทรงเป็นผู้แนะนำเรื่องราชประเพณี และการรั้ววังต่าง ๆ จนกระทั่งหมดสมัยกรุงธนบุรี เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงก่อตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ พระองค์จึงเชิญเจ้าฟ้าพินทวดี ให้เข้ามาประทับในพระบรมมหาราชวัง
เจ้าฟ้าพินทวดี เป็นเจ้านายผู้ใหญ่พระองค์หนึ่ง ที่เคยดำรงพระชนม์ชีพ อยู่ในกรุงศรีอยุธยา พระองค์จึงมีพระกรณียกิจสำคัญ ในการถ่ายทอดราชประเพณี ในราชสำนักฝ่ายใน ตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาสู่ราชสำนักรัตนโกสินทร์ โดยเฉพาะพระราชพิธีสำคัญ คือพิธีโสกันต์ ซึ่งเจ้าฟ้าพินทวดี เป็นผู้มีพระดำริให้จัดการโสกันต์ แบบสมัยอยุธยา ดังปรากฏเรื่องราวของพระองค์ ในพระราชนิพนธ์ ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่อง พระราชพิธีโสกันต์ตอนหนึ่งว่า
“...เจ้าฟ้าพินทวดี ซึ่งเป็นพระราชธิดาพระเจ้าแผ่นดิน กรุงศรีอยุธยาโบราณนั้น ท่านเคยลงสรงโสกันต์ ด้วยพระองค์เอง แลเห็นการงานต่าง ๆ เมื่อเวลาลงสรงโสกันต์ เจ้าพี่เจ้าน้องของท่านๆ ทราบการทุกอย่าง เป็นผู้แนะนำอย่างธรรมเนียมโบราณอื่น ๆ ต่าง ๆ หลายอย่างหลายประการ ในกรุงเทพฯ นี้ เมื่อท่านเห็นว่า เจ้าฟ้า ๗ พระองค์ที่โสกันต์ ไม่ได้ทำเต็มตามตำราพระราชพิธี แต่สักพระองค์หนึ่ง จนหมดเจ้าฟ้าไปแล้ว ท่านก็บ่นนักว่า การอย่างธรรมเนียม พระราชพิธีลงสรงโสกันต์ เจ้าจะสาบสูญไปเสียแล้ว ท่านก็ทรงชราแล้ว เมื่อไม่มีพระชนม์ท่าน ถ้าการสืบไปมีเวลาที่จะได้ทำขึ้น ใครจะมาแนะชี้การให้ถูกต้อง ตามแบบแผนได้เล่า
ท่านจึงคิดอ่านจดหมายการงาน ลงสรงโสกันต์ต่าง ๆ ลงไว้ แล้วชี้แจงให้ผู้ใหญ่ผู้น้อยข้างหน้าข้างใน เรียนดูรู้ไว้ด้วยกันมาก เพื่อจะไม่ให้การสาบสูญไป ความที่เจ้าฟ้าพินทวดีทรงพระวิตกนั้น กรมพระราชวังฯ ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงเห็นชอบด้วย จึงทรงสร้างเขาไกรลาส มีพระมณฑปเป็นยอด และมีสระอโนดาต และท่อไข นำจากปากสัตว์ทั้ง ๔ ตามอย่างเจ้าฟ้าพินทวดีชี้การให้ทำ ครั้นการเขาไกรลาสเสร็จแล้ว ก็กราบทูลขอแต่พระเจ้าอยู่หัว ได้โปรดให้ทำการโสกันต์ พระราชบุตร แลพระราชบุตรีของท่าน ที่เป็นแต่พระองค์เจ้า สมมติให้เป็นดังเจ้าฟ้าทำการ ทั้งนี้แม้นผิดอย่างธรรมเนียม ก็เพื่อว่าจะให้เห็นเป็น (ตัว) อย่างทันเวลา เมื่อเจ้าฟ้าพินทวดียังทรงพระชนม์อยู่ จะให้มีผู้ได้รู้ได้เห็น ไว้เป็นอันมาก มิให้การสาบสูญไป...”
ในวาระสุดท้ายแห่งพระชนม์ชีพ คาดว่าทรงประทับอยู่ฝ่ายใน พระบรมมหาราชวัง จนสิ้นพระชนม์ในวันที่ ๒๗ มกราคม พุทธศักราช ๒๓๔๔ ในรัชกาลที่ ๑ พระราชทานเพลิงศพ เจ้าฟ้าพินทวดี ณ วัดสุวรรณาราม
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น