ตำนาน เมืองศรีสะเกษ
ตำนานเมืองศรีสะเกษ
ในสมัยอยุธยา มีพระเจ้าแผ่นดินองค์หนึ่ง ทรงปกครองบ้านเมืองให้อยู่เย็นเป็นสุขทั่วหน้า ครั้งนั้นท้องที่จังหวัดศรีสะเกษ และสุรินทร์ยังเป็นป่าดงอยู่มาก พลเมืองโดยมากเป็นชาวป่าชาวเขา ได้มีชาวป่าสามคนชื่อตาเฌอ ตาปะขาว และตากะจะหม้อนึ่ง เป็นเพื่อนร่วมสาบาน ได้แบ่งดินแดนทำมาหากินออกเป็นสามส่วน แล้วปลูกข้าวบำรุงจนงอกงาม
วันหนึ่ง มีช้างเผือกตัวหนึ่ง มาย่ำยีข้าวในที่ของเขา ทั้งสามคนจึงช่วยกันไล่ช้างออกไป ช้างตัวนั้นก็มุ่งเดินทางไปทางทิศตะวันออก หลังจากนั้นก็มีกองทัพของพระราชาองค์หนึ่ง ติดตามจับช้างมาถึงไร่ เมื่อทราบถึงลักษณะของช้าง ที่มากินข้าวในไร่ก็ดีพระทัย จึงให้ทั้งสามสหาย เดินทางติดตามช้างร่วมไปด้วย พอถึงลำน้ำแห่งหนึ่ง ก็พบช้างกำลังกินใบหญ้าใบไม้อยู่ จึงเข้าล้อมจับ แต่ช้างหนีฝ่าวงล้อมไปได้ โดยไปทางทิศตะวันออก จนมาถึงห้วยแห่งหนึ่ง พระราชาถามว่าชื่อห้วยอะไร เมื่อทราบว่ายังไม่มีชื่อ จึงให้ชื่อว่า ห้วยทับทัน ชาวบ้านที่อยู่แถบนั้น ได้ช่วยกันปลูกหอพักให้กองทัพพัก แต่เนื่องจากการติดตามช้าง ต้องรีบติดตามช้างไป หอดังกล่าวจึงได้ชื่อว่า หอเลย หรือหัวเลย และต่อมาเรียกว่า บ้านทับทัน
จากนั้น ก็ไปถึงห้วยแห่งหนึ่ง จึงหยุดพักเป็นที่สำราญ เมื่อตื่นขึ้นก็ตรัสถามว่าชื่อห้วยอะไร เมื่อทราบว่าไม่มีมาก่อน จึงให้ชื่อว่า ห้วยสำราญ แล้วตามช้างต่อ ไปถึงลำห้วยอีกแห่งหนึ่ง พบแรดฝูงหนึ่งกำลังเล่นโคลนอยู่ จึงถามชื่อห้วยอีก และเมื่อทราบว่ายังไม่มีชื่อ จึงให้ชื่อว่า ห้วยแฮด
จากนั้น ได้ตามรอยเท้าช้างต่อ ไปถึงบ้านเขิน ในเขตอำเภอน้ำเกลี้ยง คราวนี้ให้ชาวบ้านช่วยกันจับช้าง โดยได้สร้างคอกที่แข็งแรงแล้วล่อช้างเข้าไปในคอก จึงติดปลอกได้ พระราชาจึงยกทัพกลับ หมู่บ้านที่จับช้างได้จึงได้ชื่อว่า บ้านส่งช้าง หรือบ้านเขินส่งช้าง แล้วได้นำขบวนผ่านไปทางแม่น้ำมูล เพื่อกลับทางเดิม และได้นำช้างลงชำระล้าง ณ บ้านแห่งหนึ่งในท่ามูล พระราชาจึงได้ขนานนามบ้านนั้นว่า บ้านท่าช้าง
เมื่อกองทัพ เดินทางกลับมาถึงบ้านของสามสหาย ทรงพอพระทัยสามสหายมาก ตรัสสั่งให้ไปเยี่ยมพระองค์ที่เมือง
ปีต่อมา เมื่อสามสหายเก็บ เกี่ยวข้าวเสร็จแล้ว จึงชวนกันไปเฝ้าพระราชาตามที่ชวนไว้ และได้เตรียมของไปถวายด้วย เมื่อไปถึงวัง ทหารยามไม่ยอมให้เข้าไป พระราชาทราบเรื่องจึงสั่งให้ไปพบได้ แต่เมื่อเห็นของที่เอามาฝาก ก็รู้สึกไม่พอใจแต่ก็รับเอาไว้
เมื่อสามสหายพักอยู่ในวังพอสมควร แล้วก็ลากลับ พระราชาจึงได้มีตราตั้ง ให้ตาเฌอเป็นพระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน ให้มาตั้งที่บ้านควนใหญ่ เรียกว่าเมืองศรีนครลำดวน ตาประขาวเป็นพระยาสังขะภักดี ให้มาตั้งเมืองใหม่ ชื่อเมืองสังขะภักดี ปัจจุบันคืออำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์ ส่วนตากะจะหม้อนึ่ง ให้มาตั้งเมืองที่ดงหวายและให้เป็นพระรัตนบุรี ครองเมืองรัตนบุรี ปัจจุบัน คืออำเภอรัตนบุรี จังหวัดสุรินทร์ เหตุที่ไม่ได้เป็นพระยาเหมือนคนอื่น เพราะพระราชาไม่พอใจที่เอาเต่าไปให้
ตำนานพระนางศรีสระผม (ชื่อเดิม) เป็นคนสัญชาติกล่อม (ขอมแท้) ตามสันนิษฐานเข้าใจว่า เป็นราชธิดา ของท้าวสุริยวรมัน กับพระนางพิณสวัณคราวดี ตำแหน่งเป็นอุปราช ครองพิมานมงคล ในแคว้นโคตรบูร พระนางศรีสระผม เป็นผู้อำนวยการสร้างปราสาทสระกำแพง เป็นผู้รู้วิชานาฎศิลปะ ชำนาญการฟ้อนรำ ทรงเป็นครูฝึกหัดการฟ้อนรำ ทรงเป็นประธาน ในพิธีถวายเทวาลัยปราสาทสระกำแพง
พระนางศรีฯ ได้เข้าพิธีสรงสนาน ลงอาบน้ำสระผมในสระกำแพง แต่งองค์ทรงเครื่องเต็มยศสวยงาม มีดนตรีบรรเลง ทรงฟ้อนรำบวงสรวงเดี่ยว หน้าเทวรูปพระวิษณุ อัญเชิญเทพเจ้าผู้ทรงฤทธิ์ศักดานุภาพ มารับมอบเทวาลัยเป็นที่สิงสถิต คนทั่วไปได้ซาบซึ้ง และระลึกถึงเหตุการณ์ในครั้งนั้น จึงได้เรียกขานว่าพระนางศรีสระผม ต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก โปรดเกล้าพระราชทาน ให้ตั้งเมืองใหม่ แยกจาก “เมืองขุขันธ์” ชื่อว่า “เมืองศรีสะเกษ” เพื่อเป็นการให้เกียรติ และเป็นอนุสรณ์แก่พระนางศรีสระผม
ตำนานเมืองยางชุมน้อย เป็นตำนานการตั้งเมืองก้าน ที่สืบเนื่องเกี่ยวกับการจับตัวจินายโม้ หรือจิ้งหรีดยักษ์ ของคันธนาม แล้วจับจินายโม้ ผูกด้วยเถาวัลย์คอนใส่บ่ามา แต่จิบายโม้ดิ้นหลุดไป ทิ้งไว้แต่ก้านติดกับคาน จึงตั้งชุมชนที่ตั้งถิ่นฐานว่า นครก้าน หรือคอนก้าน หรือบ้านครก้าน ซึ่งปัจจุบันคือ บ้านคอนกาม ต่อมาผู้ครองนครก้าม แบ่งไพรพลให้ลูกหลานของตน ไปตั้งบ้านเรือนที่ป่ายาง ผู้ที่ได้ไพร่พลไปมากคือ หยางไทย บุตรคนโตเรียกว่า ยางชุมใหญ่ ผู้ที่ได้ไพร่พลไปน้อคือหยางนอย บุตรคนเล็กเรียกว่า ยางชุมน้อย ส่วนบุตรสาว คือหยางเครือ ไปตั้งบ้านเรือนที่บ้านยางเครือ
ในอำเภอยางชุมน้อย มีชื่อสถานที่เกี่ยวกับขุนนาง ตามรูปแบบการปกครอง แบบอาชญาสีของลาว ที่บ้านแสน เป็นคอกวัวของขุนนางศรีสะเกษ บ้านกุดเมืองฮาม และป่าดงเมืองซ้าย ทั้งสามชื่อคือ ตำแหน่งของขุนนางในอาณาจักรล้านช้าง รวมทั้งบ้านเพียน้ำก็เช่นกัน
ตำนานตัวอักษรส่วยและเยอ ตำนานได้เล่าถึงการที่ชาวส่วย ชาวเยอ ชาวเขมร และชาวลาว คิดประดิษฐ์อักษรเพื่อให้เขียน จารึก เมื่อคิดตัวอักษรเสร็จแล้ว ชาวขอมได้จารึกตัวอักษรลงบนแผ่นหิน ชาวลาวจารึกบนใบลาน แต่ชาวส่วยกับชาวเยอ จารึกบนหนังวัวควาย แล้วนำไปตากให้แห้ง ก่อนนำไปเก็บรักษา เผอิญมีสุนัข มาลากหนังสัตว์ที่จารึกอักษรไว้ไปกินจนหมด ดังนั้น เมื่อมีผู้ถามเรื่องตัวอักษรส่วยหรือเยอ จะได้รับคำตอบว่า จอจาจิม หมายความว่า สุนัขกินไปหมดแล้ว
ขุนหาญปราบนาคเจ็ดเศียร อำเภอขุนหาญ สมัยก่อนตั้งอยู่ใกล้กับลำห้วยใหญ่แห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นที่อยู่ของพญานาคใหญ่มีเจ็ดหัว เป็นที่หวาดเกรงของผู้คน มีผู้อาสามาปราบ แต่ถูกพญานาคฆ่าตายหมด ต่อมามีผู้ชายคนหนึ่งอาสาไปสู้ ได้ต่อสู้จนเลือดนองไปทั่วแผ่นดิน แถบภูเขาและเนินเหล่านั้น จนทำให้ดินกลายเป็นสีแดงไปทั่ว จนถึงปัจจุบัน ชายคนนั้นเป็นฝ่ายชนะ จึงได้รับแต่ตั้งให้เป็นขุนปกครองเมือง ว่าขุนหาญ เป็นที่มาของชื่ออำเภอขุนหาญ
ตำนานเมืองน้อยเมืองหลวง เมื่อครั้งสงครามเจ้าอนุวงศ์ เวียงจันทน์ มีขุนนางผู้หนึ่ง พร้อมทั้งทหารข้าทาสบริวารชายหญิง ได้ทำการสู้รบข้าศึก ที่บริเวณทุ่งฐาน ปัจจุบันคือ บ้านโคก ตำบลโคกฐาน อำเภออุทุมพรพิสัย เมื่อได้ชัยชนะ ก็เคลื่อนขบวนต่อไป แล้วได้หยุดพัก เพื่อซ่อมแซมอาวุธ ซึ่งต่อมา กลายเป็นบ้านเตาเหล็ก ขณะที่พักขุนนางนั้น ได้ชอบพอกับสตรีพื้นบ้านสองคน จึงได้สมรสในเวลาพร้อมกัน แต่ภรรยาทั้งสองไม่ปรองดองกัน ขุนนางผู้นั้น จึงให้ภรรรยาคนที่สองพร้อมไพร่พล เดินทางไปสร้างบ้าน ห่างจากกันไปประมาณสิบร้อยก้าว ที่บริเวณหนองพอง ต่อมาบ้านที่ภรรยาหลวงอยู่เรียกว่า บ้านเมียหลวง หมู่บ้านที่ภรรยาน้อยอยู่เรียกว่า บ้านเมียน้อย ต่อมาจึงเรียกว่า บ้านเมืองหลวง และบ้านเมืองน้อย อยู่ในเขตอำเภอห้วยทับทันในปัจจุบัน
ตำนานปราสาทโดนตวล กล่าวถึงสตรีผู้สูงศักดิ์ รูปร่างหน้าตาสวยงาม แต่มีลักษณะอาภัพคือ หน้าอกใหญ่ กิตติศัพท์เลื่องลือไปจนถึงกษัตริย์ขอม จึงให้เหล่าอำมาตย์มารับนางไปเฝ้า ขณะเดินทางได้พักที่ลานหินโดนตวล (ยายอ่อน) ขณะนั้นตาเล็ง ซึ่งเป็นคนบ้านเดียวกันกับนาง ได้ไปตามนางให้เดินทางกลับ จึงเกิดการต่อสู้กับเหล่าอำมาตย์ ตาเล็งถูกฆ่าตายทิ้งไว้ในป่า บริเวณที่สร้างปราสาทโดนตวล
ตำนานเมืองร้างกลางดง ป่าดงเมืองซ้าย ชาวข่า หรือกวย หรือส่วย มักจะยกย่องสตรีเป็นผู้ปกครองเช่น นครจำปาศักดิ์ ก่อนตกอยู่ใต้อิทธิพลของลาว ก็มีนางเภานางแพงเป็นเจ้าเมือง ในตำนานป่าดง ก็มีนางเภานางแพงเป็นเจ้าเมือง
ในตำนานป่าดงเมืองซ้าย กล่าวถึงนางพญาเจ้าเมืององค์หนึ่ง เมื่อหลายร้อยปีที่ผ่านมา ได้พาไพร่ฟ้าประชาชน อพยพจากฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง เพื่อหนีโรคระบาด ผ่านพื้นที่เมืองอุบล ฯ มาตั้งถิ่นฐานที่ป่าริมฝั่งซ้ายแม่น้ำมูล ได้มีการวางผังเมืองตามคติโบราณ แบ่งเขตชนชั้นต่าง ๆ เป็นสัดส่วน เขตในเป็นพื้นที่อาศัยของเจ้าเมือง ชั้นนอก เป็นที่อยู่ของไพร่ฟ้าประชาชน เรียกว่าเมืองซ้าย เมืองนี้ไม่ปรากฎชื่อ ในพงศาวดารไทย มีร่องรอยหลักล่ามช้างของนางพญา ซากเตาหลอมโลหะหลงเหลืออยู่ ซากปรักหักพังของอาคาร มีลักษณะคล้ายโบสถ์ ที่ก่อสร้างด้วยอิฐก้อนใหญ่ ใต้ฐานมีอุโมงเล็ก ๆ คล้ายห้องเก็บของ มีบ่อน้ำก่อขอบบ่อด้วยอิฐอยู่ใกล้อาคาร บริเวณโดยรอบ มีป่ามะม่วงอายุนับร้อยปีปกคลุม ปัจจุบัน อยู่ที่บ้านลิ้นฟ้า ตำบลลิ้นฟ้า อำเภอยางชุมน้อย เหลือพื้นที่ป่าประมาณ ๖๐๐ ไร่ จากพื้นที่ ๓,๐๐๐ ไร่
ตำนานปราสาทตำหนักไทร เรื่องมีอยู่ว่า นานมาแล้วมีพระราชาองค์หนึ่ง ครองเมืองที่ตั้งอยู่ที่บ้านดอนข่า (ตำบลพราน อำเภอขุนหาญ) อยากจะเสวยเนื้อ จึงได้เกณฑ์พรานหาเนื้อมาถวาย โดยผลัดเปลี่ยนเวรกันไปเป็นรอบ รอบละเจ็ดวัน พรานคนหนึ่งอยู่บ้านพราน (ตำบลพราน อำเภอขุนหาญ) รับเวรออกล่าสัตว์เกือบครบเจ็ดวัน ยังหาเนื้อไม่ได้ ซึ่งหากหาเนื้อไปให้ไม่ทัน ก็จะถูกประหารชีวิต
พอถึงวันที่เจ็ด ได้เห็นงูใหญ่ตัวหนึ่ง กำลังโน้มกิ่งยอดยาง แต่ยังไม่ตาย จึงได้เลื้อยไล่นายพราน ไปถึงหนองน้ำแห่งหนึ่ง พรานก็หมดกำลังล้มลง งูตามมาทัน ก็กัดกินนายพรานตาย บรรดาเหลือบ ริ้น ยุง ก็กัดและดูดเลือดนายพรานกิน พิษงูที่อยู่ในตัวนายพราน ทำให้สัตว์ดังกล่าว ตายทับถมกันอยู่เกลื่อนตัวพราน เมื่อพิษงูหมดไปจากตัว พรานก็พื้นขึ้น แล้วเดินตามรอยงูไปถึงถ้ำพระพุทธ ที่อยู่เชิงเขาพนมดงรัก พบงูตายอยู่ในถ้ำ พรานจึงตัดเอาเขี้ยวงู ไปให้พระเจ้าแผ่นดิน เมื่อพระราชาเห็นเขี้ยว แล้วก็พอใจ มิได้ลงโทษพรานแต่อย่างใด ต่อมาบ้านเมืองเดือดร้อน โหรทำนายว่า จะต้องสร้างปราสาทไว้เก็บเขี้ยวงู บ้านเมืองจึงจะร่มเย็นเป็นสุข พระราชา ได้สร้างปราสาทหลังหนึ่งขึ้นบริเวณต้นไทร เรียกว่า ตำหนักไทร
หนองน้ำที่พรานถูกงูกัดตายนั้น เรียกว่า หนองสิ ซึ่งแปลว่าเหลือบ ริ้น ยุง ปัจจุบันหนองน้ำนี้ อยู่ในเขตอำเภอขุนหาญ ถ้ำพระพุทธรูปอยู่เชิงเขาพนมดงรัก รอยงูที่ไล่พราน แล้วเลื้อยกลับไปยังถ้ำพระพุทธนั้น ปัจจุบันเป็นรอยคดเคี้ยวไปมาจน ถึงถ้ำพระพุทธ แนวนั้นกว้างประมาณ ๑ วา ปรากฏให้เห็นเป็นแห่ง ๆ ไป ตลอดแนวนี้ ไม่มีต้นหญ้าสูงขึ้นเลย บ้านดอนข่า ปัจจุบันอยู่ที่ตำบลพราน อำเภอขุนหาญ เดิมชื่อว่าบ้านออรอง เป็นภาษาเขมร แปลว่า บ้านพระราชาใจดี สำหรับบ้านพราน เดิมชื่อเป็นภาษาเขมรว่า ซรอกเปรียน แปลว่า บ้านของพราน
ตำนานบ้านเหม้า หลังจากที่ได้มีการยกฐานะบ้านพันทา บ้านเจียงอี ขึ้นเป็นเมืองศรีสะเกษ ตั้งท้าวชมเป็นพระยาวิเศษภักดี เป็นผู้ครองเมือง และมีเจ้าเมืองครองเมืองศรีสะเกษ ติดต่อกันมาหลายคน มาถึงสมัยพระเจ้าอินทสะเกษ มีเรื่องเล่าว่า เจ้าชีซ้วน มีธิดานามว่าเจี่ยงได เป็นผู้มีรูปร่างหน้าตาสวยงาม เป็นที่ต้องตาต้องใจ ของหนุ่มผู้ครองนครทั้งหลาย ท้าวกาฬหงส์ ลูกชายเจ้าเมืองกาฬหงส์ หรือเมืองพะนา ได้ส่งบิดาไปสู่ขอ เจ้าเมืองชีซ้วนก็ยอมรับหมั้น ฝ่ายท้าวอินทสะเกษ ก็คิดจะได้นางเป็นคู่ครองเช่นกัน จึงยกกองทัพเมืองศรีสะเกษ จะไปสู่ขอนาง โดยได้ไปตามเส้นทางโพธิ์ฐานข้ามแม่น้ำมูล ได้พักไพร่พลเพื่ออาบน้ำ ต่อมาที่นี่เรียกว่า สีไคล เมื่อเดินทางต่อไป ผ่านบ้านบัวน้อย ทราบข่าวว่านางเจี่ยงไดมีคู่หมั้นแล้ว ก็เกิดลังเลใจ แต่เมื่อมาแล้ว ต้องไปให้ถึง
ที่แห่งนี้ ต่อมาเรียก ทุ่งกะเพิน ต่อมาเพี้ยนเป็น ทุ่งเพิน เมื่อเดินทางต่อไป ผ่านหนองน้ำ มีพืชสีเขียวลอยอยู่ในน้ำ ต่อมาเรียกว่า บ้านหนองเทา ต่อมา ได้แย่งนางเจี่ยงไดมาได้ จึงเดินทางกลับ ไปพักอยู่ที่หมู่บ้านแห่งหนึ่ง ต่อมาเรียกว่า บ้านเจี่ย
ทัพของเจ้าอินทสะเกษ เดินทางมาถึงฝั่งแม่น้ำมูลจึงหยุดพัก นางเจี่ยงไดเศร้าเสียใจมาก จึงได้พูดบ่ายเบี่ยงว่า ลืมสร้อยสังวาล ขอกลับไปเอา แต่ท้าวอินทสะเกษไม่ยอม ที่แห่งนี้ต่อมาเรียกว่า หนองสังวาล ต่อมาเพี้ยนเป็นหนองไชยวาน ได้หยุดกินอาหารกัน ณ ที่นั้น ต่อมาเรียกว่า กุดกินดอง มีการใช้เต่าเป็นอาหารเลี้ยงกัน ที่แห่งนี้ต่อมาเรียกว่า ถ้ำเต่า หรือท่าถ้ำเต่า
ท้าวกาฬหงส์ ได้นำทัพเมืองกาฬหงส์ และเมืองชีซ้วนติดตามมา เมื่อเห็นจวนตัว ท้าวอินทสะเกษจึงนำทัพไปตั้งมั่นอยู่ที่แห่งหนึ่ง ได้ขุดคูประตูหอรบเพื่อรับศึก ที่แห่งนี้ต่อมาเรียกว่า บ้านเมืองน้อย ศึกครั้งนี้กินเวลาเป็นแรมปี จนนางเจี่ยงไดตั้งครรภ์ คลอดบุตรเป็นชาย แต่มีรูปร่างอัปมงคล คือมีขนทั่วตัวคล้ายลิง ท้าวอินทสะเกษ จึงให้นำไปไหลล่องแพที่ลำน้ำมูล นางเจี่ยงไดเสียใจ ได้ติดตามลัดเลาะไปตามฝั่งลำน้ำมูล แพที่ไหลไป จนถึงที่พักทัพครั้งลืมสร้อยสังวาล นางนั่งโศกเศร้าคิดถึงลูกถึงพ่อแม่ ที่แห่งนี้ต่อมาเรียกว่า ท่านางเหงา มาจนปัจจุบัน
ตำนานเมืองกตะศิลา มีเรื่องเล่าว่า บริเวณเมืองศรีสะเกษเป็นเมืองโบราณเรียกว่า เมืองอินทเกษ ที่อำเภอราษีไศล มีเมืองหนึ่งเรียกว่า เมืองกตะศิลา ที่อำเภอเขื่องในมีเมืองหนึ่งเรียกว่า เมืองชีทวน เจ้าเมืองมีธิดาคนหนึ่ง ซึ่งชอบพอกับบุตรชายเจ้าเมืองกตะศิลา แต่บิดาไม่ทราบความจริง ฝ่ายเจ้าเมืองอินทเกษไปสู่ขอธิดาเจ้าเมืองชีทวนให้แก่บุตรของตน ฝ่ายเจ้าเมืองชีทวนยินยอม และพร้อมกันกำหนดวันแต่งงานตามประเพณี พอใกล้วันแต่งงาน ธิดาเจ้าเมืองชีทวน ลอบหนีไปอยู่กับบุตรเจ้าเมืองกตะศิลา เจ้าเมืองอินทเกษไม่พอใจ จึงยกทัพเพื่อชิงนางแต่สู้ไม่ได้ เจ้าเมืองชีทวน ได้ยกธิดาให้โอรสเจ้าเมืองกตะศิลา พร้อมกับให้ตั้งกองทัพ อยู่ระหว่างทางไปเมืองอินทเกษ ที่บ้านเมืองน้อย อำเภอกันทรารมย์
ตำนานบ้านบักแมว ในปี พ.ศ.๒๓๖๙ เจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์ คิดกบฏต่อไทย ได้ยกกองทัพมาตีเมืองรายทาง จนถึงเมืองกาฬสินธุ์ จับเจ้าเมืองกับกรมการเมืองฆ่าเสีย แล้วกวาดต้อนวัวควาย ครอบครัวไพร่พลเมืองกาฬสินธุ์ ส่งไปเมืองเวียงจันทน์ แล้วยกทัพไปตีเมืองเขมรัฐ จับเจ้าเมืองฆ่าเสีย แล้วยกกองทัพไปตีเมืองร้อยเอ็ด เจ้าเมืองร้อยเอ็ดยอมเป็นเมืองขึ้น กองทัพเจ้าอนุวงศ์ ยกทัพตีหัวเมืองรายทางไปจนถึงนครราชสีมา
การสงครามครั้งนี้ ประชาชนได้หลบหนีไปซ่อนตัวตามป่าเขา ครั้งนั้นมีพี่น้องสองคน คนพี่ชื่อบักมาย มีเมืยชื่ออีปาด คนน้องชื่อบักแมว มีเมียชื่ออีหลง ได้หนีมาถึงไร่แห่งหนึ่ง อีปาดเจ็บท้องคลอดลูกและตาย ปัจจุบันคือบ้านอีปาด อำเภอกันทรารมย์ คนที่เหลือเดินทางต่อมา สองพี่น้องแยกกันอยู่ โดยเลือกตั้งถิ่นฐานใกล้แหล่งน้ำ บักมาย แยกไปอยู่ใกล้ลำห้วยพระบาง ปัจจุบันคือ บ้านหมากมาย อำเภอค้อวัง จังหวัดยโสธร ส่วนบักแมวกับอีหลง ได้ตั้งบ้านอยู่ใกล้แม่น้ำมูล ชื่อบ้านบักแมว ปัจจุบันคือบ้านหนองนาดูอำเภอราษีไศล
ต่อมา ทหารเจ้าอนุวงศ์ก็จับบักมายได้ และฆ่าเสียที่บ้านหมากมาย แล้วตามไปฆ่าอีหลงที่หมู่บ้านแห่งหนึ่ง ปัจจุบันคือ บ้านหนองอีหลง อำเภอยางชุมน้อย ส่วนบักแมวถูกฆ่าตายที่หนองน้ำ ปัจจุบันคือ หนองเซียงแมว อยู่ในเขตบ้านดอนไม้งาม อำเภอราษีไศล
ตามพงศาวดารกล่าวว่า พวกกบฎเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์ ได้มาตั้งค่ายไว้แห่งหนึ่ง ที่แขวงเมืองขุขันธ์เรียกว่า ค่ายส้มป่อย อยู่ในท้องที่อำเภอราษีไศล ทางทิศตะวันตกของบ้านส้มป่อยปรากฎว่า มีโพนหรือจอมปลวกเป็นเนินดิน ตั้งเรียงกันอยู่เป็นแนวติดต่อกันไป เริ่มตั้งแต่ทางทิศตะวันตกของบ้านส้มป่อย จนเกือบถึงบ้านบึงหมอก ชาวบ้านเรียกว่า ค่ายส้มป่อยโพนเลียน
นอกจากนี้ ยังมีตำนานชื่อหมู่บ้านต่างๆ เป็นจำนวนมาก ที่บันทึกไว้ในหนังสือประวัติศาสตร์ของจังหวัดศรีสะเกษ
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น