ตำนานรัก เมืองฟ้าแดดสงยาง


 ตำนานรัก เมืองฟ้าแดดสงยาง


เมื่อประมาณสองพันปีมาแล้ว เผ่าไทย ได้อพยพมาจากเมืองหนองแสน่านเจ้า ลงมาทางใต้ สร้างเมืองสองเมือง คือเมืองเชียงโสม ทางใต้ลงมาคือ เมืองฟ้าแดด ทั้งสองเมืองคบหาสมาคม และติดต่อกันโดยทางเรือตามลําน้ำเท่านั้น

เมืองฟ้าแดด มีพญาฟ้าแดดครองเมือง (ในตํานานเขียนเป็นอักษรไทยใหญ่ (ตัวธรรม) เขียนในหนังสือใบลานเก่า ๆ ว่า 

“ยังมีเมืองใหญ่กว้าง เฮืองฮุ่งแต่ปางหลัง ในชมพูทวีป บางคนเขาเอิ้นนครศรีฟ้าแดด มีพญาฟ้าแดดนั่งครองเป็นเจ้า” 

ส่วนเมืองน้องคือเมืองลูกหลวง ชื่อเมืองสงยาง มีต้นยางสูงสวยงามมาก รวมเรียกเมืองทั้งสองว่า ฟ้าแดดสงยาง พญาอิสูรย์ (เจ้าฟ้าระงึม) ผู้เป็นน้องชาย ครองเมืองสงยาง พญาฟ้าแดด มีมเหสีชื่อจันทาเทวี หรือเขียวค่อม พระองค์มีราชธิดาชื่อ นางฟ้าหยาด หรือหยาดฟ้า ทรงมีสิริโฉมรูปร่างสวยงาม ผิวขาว แขนเรียว คิ้วโก้งดังคันธนู คอปล้อง นมตั้งพองาม ผมดําเลื่อมสลวย เนื้ออ่อนละมุนเหมือนสําลี สวยงามดั่งสวรรค์สร้าง 

เมื่อราชธิดาเจริญวัย พญาฟ้าแดดได้สร้างปราสาทเสาเดียว ก่อด้วยศิลาแลงล้วน สูงเท่าปลายต้นตาล ตั้งอยู่ในกลางทะเลหลวง ปัจจุบันเรียก โนนสาวเอ้ เพื่อเป็นที่ประทับของราชธิดา แล้วสร้างเมืองล้อมด้วยประตูทั้งสี่ทิศ มีสนมกํานัลมากมาย จัดให้เสนาอํามาตย์ รักษาพระราชธิดาอย่างกวดขัน ไมํให้คนภายนอกไปเกี่ยวข้องได้

พญาฟ้าแดด ตามตํานานเป็นเผ่าแมนฟ้าหรือเผ่าแถนฟ้า สันนิษฐานว่า ตั้งเมืองก่อนเมืองเชียงโสม เพราะฐานเก่าแก่เป็นปึกแผ่นล้วน ก่อด้วยศิลาแลงทั้งนั้น ขุดสระไว้รอบตัวเมือง มีคูค่ายและเชิงเทินหอรบอย่างแข็งแรง สระที่ขุดพบนั้น สันนิษฐานมีดังนี้ สระแก้ว สระขวัญ สระเงิน สระทอง สระพลิ้ว (สระน้ำฝน) สระเกศ สระบัวแดง หรืออุบลรัตน์ สระบัวเขียว สระบัวขาว (ปทุม) สระบัวขาบ (โกมุท) สระชุบศร และสระอื่น ๆ อีกหลายสระ ซึ่งสมัยก่อนเรียกว่า ตระพังทองตระพังเงิน

บริเวณเมืองเก่า สมัยนั้นกว้างใหญ่มาก มีซากอิฐหินทั่วไป ส่วนเมืองเชียงโสมนั้น มีเพียงกุดบึงหนองเท่านั้น มีค่ายคูเป็นสัญลักษณ์ ปัจจุบัน น้ำเขื่อนลําปาวท่วมเสียแล้ว ซึ่งชาวบ้านเรียกว่ากุดเชียงโสมเคยมีจระเข้อาศัยอยู่เป็นจํานวนมาก ไม่มีใครกล้ามากล้ำกลาย เนื่องจากเชื่อว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ มีอารักษ์คุ้มครองอยู่

พญาฟ้าแดดครองเมือง มีพระโอรสเหมือนกัน แต่ชื่อไม่ปรากฏในตํานาน เมืองเชียงโสมเป็นเมืองหนึ่ง ที่มีความใกล้ชิดกับเมืองฟ้าแดด มีความเจริญรุ่งเรือง อยู่ทางฝ่ายเหนือ เมืองทั้งสองมีการติดต่อค้าขายไ ปมาหาสู่กันทางเรืออยู่เสมอ มีพญาจันทะราชเป็นผู้ปกครอง เมืองเชียงโสม มีเมืองบริวารอยู่หลายเมือง ซึ่งเป็นญาติพี่น้องกันดังนี้ คือ เมืองเชียงโสม มีพญาจันทะราชเป็นกษัตริย์ปกครอง มีพญาธรรมผู้เป็นอนุชา เป็นอุปราชเมืองเชียงส่ง มีพญาเชียงส่งเป็นเจ้าเมือง เมืองเชียงสา มีพญาเชียงสาเป็นเจ้าเมือง เมืองเชียงเครือ มีพญาเชียงเครือเป็นเจ้าเมือง และเมืองสาบุตรกุดดอก มีพญาสาบุตรเป็นเจ้าเมือง เมื่อถึงเทศกาลฤดูปี จะมีเทศกาลเล่นหมากรุก และตีคลี เป็นประเพณี ใครแพ้ ชนะ ก็จะส่งส่วยกินเมืองตามประเพณี นอกจากนั้น ยังนิยมไปประพาสป่าล่าสัตว์และต่อไก่ บริเวณหนองน้ำใหญ่ (หนองเลิงไก่โอก) อยู่เสมอ

ครั้งหนึ่ง พญาจันทะราช ได้เสด็จประพาสป่า ออกล่าสัตว์และต่อไก่พร้อมด้วยทหาร มุ่งหน้าลงมาทางใต้ จนถึงหนองเลิง ต่อไก่บ้านได้ตัวหนึ่ง จึงอยากทราบว่า เป็นไก่ของผู้ใด จึงตัดปีกตัดหางของไก่แล้วปล่อยไก่ไป จนถึงหนองนกพีด ได้หลงทางเข้าไปในอุทยานของนางฟ้าหยาด ขณะนั้น นางฟ้าหยาด พระธิดาของพญาฟ้าแดด กับนางเขียวค่อม ผู้เป็นมเหสี กําลังเล่นน้ำอยู่กับนางสนมกํานัล เมื่อพบนางฟ้าหยาด ก็เกิดความรักใคร่ชอบพอกัน ลอบเป็นชู้กับพระราชธิดาของพระองค์ เป็นแรมเดือนแรมปี พญาฟ้าแดด ทรงทราบข่าวแว่ว ๆ เหมือนกัน แต่หาหลักฐานไม่ได้ จึงนิ่งเฉยไว้ก่อน เพียงแค้นใจไม่หาย

บางตำนานเล่าว่า พญาจันทะราช กับข้าราชบริพาร ทรงเสด็จประพาสป่าเพื่อล่าเนื้อ บังเอิญไปพบสุวรรณมิคะราชกวางคำ ซึ่งพระอินทร์แปลงกายลงมา พญาจันทะราช ได้ติดตามกวางคำไป จนข้าราชบริพารตามเสด็จไม่ทัน พระองค์หลงรอนแรมไปในป่า และได้เดินทางทะลุป่า ไปจนถึงเมืองฟ้าแดด จึงหยุดพักที่ศาลานอกเมือง 

พระองค์ทรงทราบข่าวว่า พระธิดาของพญาฟ้าแดด ทรงพระนามว่า “พระธิดาฟ้าหยาด” ทรงมีสิริโฉมงดงามมาก พระบิดาทรงสร้างปราสาทกลางน้ำ ให้เป็นที่ประทับ มีข้าราชบริพารและทหาร คอยถวายความปลอดภัยอย่างแน่นหนา พญาจันทะราช มีพระประสงค์จะได้ยลโฉม และประสงค์จะได้เป็นชายา จึงได้ลอบเข้าหาพระธิดาฟ้าหยาด โดยพระอินทร์ได้ช่วยเหลือ ให้ได้พบกันที่ศาลากลางน้ำ ทั้งสองพระองค์ มีใจเสน่หาต่อกัน และประทับอยู่ด้วยกันอย่างลับ ๆ ที่ปราสาทกลางน้ำ จนพระธิดาฟ้าหยาดทรงครรภ์อ่อน ๆ โดยที่พญาฟ้าแดดไม่ทรงทราบเลย

จากนั้น พญาจันทะราช ได้เสด็จกลับเมืองเชียงโสม และทรงมีรับสั่งให้ขุนเส็ง ขุนคาน อํามาตย์ผู้ใหญ่ เป็นราชทูต นําเครื่องบรรณาการ มาสู่ขอพระธิดาฟ้าหยาด แต่พญาฟ้าแดด ไม่ทรงรับบรรณาการสู่ขอ และทรงกริ้วมาก ถือว่า พญาจันทะราช หมิ่นพระบรมเดชานุภาพของพระองค์ ด้วยความแค้นเคืองใจ จนเป็นเหตุให้ขุนเส็ง ขุนคานต้องรีบกลับไป

เมื่อพญาจันทะราชทรงทราบว่า พญาฟ้าแดด ไม่ทรงรับบรรณาการสู่ขอจากพระองค์ ก็ทรงกริ้วมากเช่นกัน พญาจันทะราช จึงยกทัพมาทําสงคราม เพื่อชิงเอาพระธิดาฟ้าหยาด จึงตราทัพมาถึงแดนเมืองพญาฟ้าแดด บรรดานายด่านพร้อมด้วยชาวด่าน ต่างพากันแตกตื่นเข้ามาในเมืองหลวง เพราะเกรงข้าศึกมาประชิดเมืองทําอันตราย พญาจันทะราช ตั้งด่านเรียบร้อยแล้ว จึงส่งทูตไปถึงพญาฟ้าแดด โดยพญาเมืองแพนนําทูตเข้าเฝ้ายังค่าย แล้วจึงขึ้นกราบทูลพญาจันทะราช เพื่อทรงทราบความเป็นไป ในการทําศึกชิงนางครั้งนี้ พญาจันทะราช ได้ประกาศขอความร่วมมือ ไปยังหัวเมืองต่าง ๆ ซึ่งเป็นเจ้าผู้ครองนคร ญาติพี่น้องเดียวกัน คือหัวเมืองต่าง ๆ ได้พร้อมกัน ยกทัพมาช่วยพญาจันทะราช เพื่อรบพญาฟ้าแดด ชิงเอานางฟ้าหยาดให้ได้ จึงจัดแจงให้พญาธรรมน้องชาย เป็นทัพหน้า พญาหัวเมืองต่าง ๆ เป็นทัพซ้ายและทัพขวา พญาเซียงสร้อยเป็นทัพหลัง ส่วนพญาจันทะราชเป็นทัพหลวง อยู่กลางแม่ทัพนายกอง พระองค์คอยควบคุมทัพอย่างแข็งแรง เมื่อทูตานุทูตกลับไปยังกองทัพ พญาฟ้าแดดก็สั่งไพร่พลเตรียมออกทําศึก พระองค์สั่งให้ไปตามพญาอิสูรย์ หรือฟ้าระงึม น้องชายผู้ปกครองเมืองสงยาง ให้เตรียมกองทัพมาให้พร้อม เพื่อออกต่อสู้กับพญาจันทะราช ที่จะมาทําศึกชิงนางฟ้าหยาด 

กองทัพของทั้งสองเมือง จึงเกิดรบพุ่งกันขึ้น พญาจันทะราช เสียทีแก่กองทัพพญาฟ้าแดด ถูกพญาฟ้าแดดฟันสิ้นพระชนม์ในสนามรบ เมื่อพญาฟ้าแดดมีชัยชนะกับการทําศึก โดยที่พญาจันทะราชสิ้นพระชนม์ในสนามรบ ข่าวได้แพร่ไปถึงนางฟ้าหยาด ที่ถูกกักตัวอยู่บนปราสาท เมื่อนางได้ทราบข่าวการตายของชายคนรัก นางเศร้าเสียใจเป็นที่สุด ถึงกับสิ้นลมตายตามคนรักไป บนปราสาทกลางบึงใหญ่

บางตำนานเล่าว่า เกิดการรบฆ่ากันตาย ไพร่พลทั้งสองสองฝ่ายล้มตายเป็นอันมาก ในที่สุดฝ่ายพญาฟ้าแดดมีชัย จับพญาจันทะราช (พญาเชียงโสม) ขังคอกประจาน ในที่สุด พญาจันทะราชได้สิ้นชีวิตลงคาคอกช้าง นางฟ้าหยาด เมื่อได้ทราบข่าวว่า พญาจันทะราช ได้ถูกขังจนเสียชีวิต ก็มีความโศกเศร้าเสียใจ ไม่ยอมกินข้าวปลาอาหาร ในที่สุดนางฟ้าหยาด ก็ขาดใจตายตามพญาจันทะราช นำความเศร้าสลดใจมาสู่พญาฟ้าแดด และชาวเมืองยิ่งนัก ต่างร้องให้ระงมไปทั้งเมือง

พญาฟ้าแดด ทราบข่าวการตายของพระราชธิดาฟ้าหยาด ก็ทรงเสียพระทัยเป็นอันมาก พระองค์โปรดให้นําพระศพของทั้งสองพระองค์ บรรจุลงในโกศทองอันเดียวกัน แล้วจึงทําพิธีถวายพระเพลิงพระศพของทั้งสองพระองค์พร้อมกัน แล้วจึงโปรดเกล้า ฯ ให้ก่อพระเจดีย์ บรรจุอัฐิของทั้งสองพระองค์ไว้คู่กัน และให้ช่าง หล่อพระพุทธรูปทองคํา จํานวน 84,000 องค์ แล้วนํามาบรรจุไว้ที่เจดีย์บรรจุอัฐิ ของพระธิดาฟ้าหยาด และพญาจันทะราช จากนั้นเมืองทั้งสอง จึงมีไมตรีต่อกัน โดยให้เมืองเชียงโสม ส่งบรรณาการแก่เมืองฟ้าแดดเป็นประจําทุกปี

กาลต่อมา พญาธรรม ผู้เป็นอนุชาของพญาจันทะราช ปกครองเมืองเชียงโสมได้หกปี พระองค์มีความเคียดแค้นพญาฟ้าแดดอยู่ไม่หาย ที่พญาฟ้าแดด ทําให้พระเชษฐาของพระองค์ ต้องสิ้นพระชนม์ พระองค์จึงเตรียมทําศึก กับพญาฟ้าแดด โดยได้รับความช่วยเหลือจากเมืองต่าง ๆ ที่เป็นมิตรสหาย และเมืองโดยรอบ นอกจากนั้นยังมีเมืองที่เป็นญาติพี่น้องกัน คือเมืองเชียงส่ง เมืองเชียงสา เมืองเชียงเครือ เมืองเชียงสร้อย เมืองสาบุตร และเมืองเชียงยืน ได้ยกทัพมาช่วยเหลือ 

ซึ่งรวมพลแล้ว มีมากมายเหลือคณานับ จนเมืองฟ้าแดด ไม่อาจทําการต่อสู้ได้ พญาฟ้าแดดจึงยอมอ่อนน้อมต่อพญาธรรม แล้วทําบรรณาการ ดอกไม้เงิน ดอกไม้ทอง เทียนเงิน เทียนทอง ไปขออ่อนน้อมต่อพญาธรรมแห่งเมืองเชียงโสม จากนั้นเมืองฟ้าแดดและเมืองเชียงโสม จึงมีไมตรี เป็นทองแผ่นเดียวกัน ไม่มีการทําสงครามกันอีกเลย จนบ้านเมืองร้างไปในที่สุด 




ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ศาลาการเปรียญไม้ทรงโบราณ ที่อำเภอเสาไห้

ตำนาน และประวัติความเป็นมา ของอำเภอเถิน จังหวัดลำปาง

[คติธรรม] คมธรรมของหลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ