ตำนาน และประวัติความเป็นมา ของอำเภอเถิน จังหวัดลำปาง
ตำนาน และประวัติความเป็นมา ของอำเภอเถิน จังหวัดลำปาง
อ.เถิน ตั้งอยู่ในบริเวณแอ่งเถิน-แม่พริก
เป็นที่ราบแคบๆ แนวเหนือใต้ อยู่ระหว่างทิวเขาดอยขุนตานด้านทิศตะวันตก กับทิวเขาขุนแม่มอกด้านทิศตะวันออก
มีทิวเขาผีปันน้ำกลางกั้นระหว่างกลาง ทำให้มีที่ราบ 2 ส่วน คือ ที่ราบด้านตะวันตก
เป็นที่ตั้งของ ต.แม่ถอด ต.ล้อมแรด ต.เถินบุรี ต.นาโป่ง ต.แม่ปะ ต.แม่วะ ในเขต
อ.เถิน ต.แม่พริก ต.แม่ปุ ต.ผาปัง ต.พระบาทวังตวง ในเขต อ.แม่พริก
และที่ราบด้านตะวันออก เป็นที่ตั้งของ ต.แม่มอก และต.เวียงมอก ในเขต อ.เถิน
เนื่องจากที่ราบด้านตะวันตก มีแม่น้ำวังและน้ำแม่พริกไหลผ่าน
มีพื้นที่ราบกว้างขวาง ทำให้เป็นที่ตั้ง ศูนย์กลางการปกครองของเมืองเถิน และมีการตั้งถิ่นฐานของผู้คนหนาแน่น
มากกว่าที่ราบขนาดเล็กด้านตะวันออก ซึ่งมีน้ำแม่มอกไหลผ่าน
เนื่องจากที่ราบ ในเขตอุตรดิตถ์และสุโขทัย ติดต่อกับแอ่งเถิน-แม่พริก
แอ่งเถิน-แม่พริก จึงกลายเป็นเทือกเขาสูง ทางตอนใต้สุดของล้านนา หรือภาคเหนือตอนบน
ที่มาบรรจบกับที่ราบภาคกลางตอนบน หรือภาคเหนือตอนล่าง ในเขต จ.สุโขทัย
ด้วยภูมิศาสตร์ดังกล่าว เมื่อพัฒนาขึ้นเป็นเมือง
เมืองเถินจึงกลายเป็นเมืองหน้าด่าน และเป็นเมืองชุมทางการค้า และคมนาคมที่สำคัญ สืบเนื่องมาถึงปัจจุบัน
ชุมชนดั้งเดิม ในแอ่งเถิน-แม่พริก ก่อนจะมีการตั้งเมืองเถิน
คือกลุ่มคนตระกูลมอญ-เขมร ที่ชาวล้านนาเรียกว่า “ลัวะ” ในตำนานเมืองเถิน กล่าวถึงทางตอนใต้ของแอ่งเถิน-แม่พริก
มีหมู่บ้านใหม่ บริเวณขุนห้วยแม่พริก (ปัจจุบันอยู่เขต อ.แม่พริก)
รอยต่อระหว่างเถินกับลี้ มีการตั้งถิ่นฐาน 7 ครัวเรือน ส่วนทางตอนเหนือ บริเวณวัดพระธาตุดอยป่าตาล
มี “พญายักษ์”
3 ตน เฝ้าบ่อแก้ว บ่อทองคำ บ่อเงิน
ซึ่งน่าจะเป็นภาพสะท้อนสัญลักษณ์ แทนหัวหน้าลัวะ 3 กลุ่ม ที่ยังไม่ได้นับถือพระพุทธศาสนา
ตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณเมืองเถิน ตำนานเมืองเถินยังกล่าวว่า ทั้ง 3 เป็นสหาย มีการติดต่อช่วยเหลือกัน
การมีปฏิสัมพันธ์ต่อกลุ่มคนทั้ง 3 กลุ่ม แสดงถึงการมีความพร้อมระดับหนึ่ง ของชุมชนหลายๆ
หมู่บ้าน ที่มารวมกันอยู่ และอาจมีการปฏิสัมพันธ์ ระหว่างกลุ่มลัวะในลุ่มน้ำวังกับลุ่มน้ำปิง
จึงได้พัฒนา ขึ้นเป็นหน่วยการปกครองที่ใหญ่และซับซ้อน ขึ้นเป็นเมืองเถิน
ในเวลาต่อมา
เมืองเถิน
จากตำนานในใบลาน ได้กล่าวไว้ว่า ปางเมื่อพระพุทธเจ้า ได้เสวยพระชาติเป็นพระโคอุสุภราชนั้น
ได้มาประสูติ ณ บริเวณที่ตั้งพระธาตุวัดเวียง ปัจจุบันนี้ ซึ่งแม่โค ได้พาลูกน้อยออกไปหากิน
และได้พลัดพรากจากลูกน้อย แต่ลูกน้อย ยังได้เรียกร้องหาแม่ว่า“อุลอ….อุลอ” ส่วนแม่โคนั้น ได้รอลูกน้อย อยู่บริเวณที่ตั้งพระธาตุวัดอุมลองปัจจุบันนี้
และลูกน้อย ก็ตามหาแม่จนพบที่นั้น จึงเรียกบริเวณที่นั้นว่า “อุลอ” และต่อมาจึงเรียกว่า
“อุมลอง” ต่อจากนั้น แม่โค ก็ได้พาลูกน้อย ไปหากินยังเนินเขาทางทิศตะวันตกเฉียงใต้
และได้นอนอยู่บริเวณนี้ จนกระทั่งโตขึ้น ณ บริเวณนี้จึงเรียกว่า “ม่อนงัวนอน”
ซึ่งอยู่ในเขตบ้านป่าตาล
ตำบลเถินบุรี ปัจจุบันนี้คือ “วัดดอยป่าตาล” นั่นเอง
ครั้งเมื่อพระบรมโพธิสัตว์
ได้จุติลงมาเกิดในโลก ได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ระลึกชาติแต่หนหลังว่า เคยเสวยพระชาติเป็นอะไร
และอยู่ที่ไหน พระองค์ทรงตรัสรู้ ให้สาวกนำเอาเกศาหรืออัฐิ ไปบรรจุไว้ในที่สำคัญๆ
ดังกล่าว หลังจากที่พระพุทธองค์ปรินิพพานไปแล้ว
ต่อมาหลังจากนั้น
พระพุทธเจ้า ได้ดับขันปรินิพพานไปแล้ว 250ปี พระยาอโศกราช ได้สร้างเจดีย์ขึ้นจำนวนแปดหมื่นสี่พันองค์
และได้ส่งทูตมาบรรจุอัฐิ ตามคำสั่งขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ว่าให้บรรจุวัดเวียงชื่อ
“พระธาตุเล็บมือ” บรรจุที่วัดอุมลองชื่อ “พระธาตุกระดูกด้ามพร้า” และบรรจุวัดดอยป่าตาล ชื่อ “พระธาตุลิ้นไก่”
ขณะที่ทูต นำผอบบรรจุพระอัฐิ
ของพระพุทธเจ้ามานั้น ก็ได้มาพักอยู่ที่จวนเจ้าเมือง
ซึ่งตั้งอยู่บริเวณพระธาตุวัดเวียงปัจจุบันนี้ เจ้าเมืองได้ถามทูตว่า จะนำอัฐิของพระพุทธเจ้า
ไปบรรจุไว้ที่ใด ฑูตบอกว่า จะนำไปบรรจุที่วัดดอยต้อก (วัดศิลาวารี ในปัจจุบัน)
พอพูดจบ พระอัฐิซึ่งบรรจุอยู่ในผอบแก้ว ก็ลอยออกจากผอบแล้ว ร่วงลงสู่พื้นดิน
แผ่นดินก็ยุบลง ฑูตจึงสั่งให้เจ้าเมือง สร้างเจดีย์ครอบไว้ เจ้าจึงย้ายจวนออกแล้วทำการสร้างพระเจดีย์ครอบไว้
แต่ก็ไม่ใหญ่โตเช่นปัจจุบัน
ส่วนวัดอุมลองและวัดดอยป่าตาล
ก็สร้างขึ้นในเวลาใกล้เคียงกัน และกำหนดวัดทั้งสาม เป็นวัดคู่บ้านคู่เมือง
เปรียบเสมือนสามเส้า จะขาดวัดใดวัดหนึ่งไม่ได้ และให้พุทธศาสนิกชนกราบไหว้บูชา
และบำรุงรักษาวัดทั้งสามแห่งนี้ ดังคำโบราณกล่าวไว้ว่า
"จึงมีจารีตประเพณี
สรงน้ำพระธาตุแต่ก่อน ดังนี้ เดือนห้าเป็งเหนือ หื้อสรงน้ำพระธาตุเจ้าวัดเวียง
เดือนเจ็ดปี๋ใหม่ พยาวันหื้อปากั๋น ไปสรงน้ำพระธาตุเจ้าวัดอุมลอง
พอถึงเดือนแปดเป็ง หื้อปากั๋น ล่องไปสรงน้ำพระธาตุวัดดอยป่าตาล และหื้อปากั๋น บำรุงรักษาบูชา
กราบไหว้ทั้งสามวัด บ้านเมืองจักรุ่งเรืองตลอด ทั้งฝนก็จะตกตามฤดูกาล
ข้าวกล้าจักงอกงาม หากปากั๋นเพิกเฉยเสีย บ้านเมืองก็จะแห้งแล้ง เกิดยุคเข็ญ
ข้าวกล้าในนาจักเหี่ยวแห้ง ฟ้าฝนก็จะไม่ตกต้องตามฤดูกาล”
จากนั้น บ้านเมืองก็เกิดศึกสงครามไทยกับพม่า
ผู้คนล้มหายตายจากกันจำนวนมาก วัดวาอาราม ก็ถูกทำลายสูญหายไปมาก จึงกลายเป็นที่รกล้างว่างเปล่าไป
พม่ารู้ดีว่า พระธาตุเจ้าวัดเวียง มีความศักดิ์สิทธิ์ เพราะตำนานของพม่าก็มี
พม่าได้บูรณะให้เป็นปูชนียสถานอันสำคัญ และพากันกราบไหว้บูชา ต่อมาได้เกิดสงครามไทยกับพม่าอีก
เมืองก็รกร้างไปอีกครั้ง เพราะสงครามสมัยนั้น หากฝ่ายใดชนะ ก็กวาดตอนเอาผู้คนไปหมด
เมืองก็ต้องรกร้างว่างเปล่า ต้นไม้ก็ขึ้นปกคลุม จนมองแทบไม่ออกว่า บริเวณนี้ มีพระธาตุอยู่
จนกระทั้งมีพระครูบาอาทิตย์
ได้ธุดงค์มาปักกลด เมตตาภาวนา อยู่ที่เมืองร้าง(หรือวัดเวียง) ก็เห็นว่าว่างอยู่ จึงทำการบูรณะขึ้น
และได้นำญาติบ้านเดียวกับท่าน คือบ้านปงยางคก อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง
มาตั้งบ้านเรือนอยู่ใกล้ๆ วัด สามครอบครัว จากนั้น ก็ได้ช่วยกันบูรณะ ดูเป็นวัดเป็นวาขึ้น
และต่อมาศิษย์ของท่านชื่อ ครูบาอินทร์จันทร์ ก็ได้ติดตามมา
และบังเอิญญาติของท่านที่ตามมาด้วย ล้มป่วยลง ครูบาอินทร์จันทร์ ต้องคอยรักษาโดยใช้สมุนไพร
จึงได้ออกไปหายาสมุนไพรจากรากไม้ ในบริเวณม่อนเขาทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ คือ
ม่อนงัวนอน และได้ไปขุดพบหลามคำแผ่นหนึ่ง จารึกเป็นอักษร ขอมนำมาให้ครูบาอาทิตย์อ่านดูจึงรู้ว่า
มีพระธาตุอยู่ 3 แห่ง ซึ่งพระพุทธเจ้า ได้กะปันนะไว้ จึงได้ชักชวนกันค้นหา และพบพระธาตุเจดีย์
3 แห่งดังกล่าว จึงได้ช่วยกันบูรณะซ่อมแซม จนเป็นปูชนียสถานที่สำคัญสืบมา
ทำให้มีความเจริญรุ่งเรืองอีกครั้งหนึ่ง เมืองนี้มีชื่อว่า “เมืองสังฆะเติ๋น”
คำว่า ”เติ๋น” แปลว่า เตือน
หรือบอกให้ คล้ายกับว่า พระสงฆ์เตือน คือพระสงฆ์ปกครองบ้านเมืองนั้นเอง
ใครคิดจะทำอะไร ต้องปรึกษาพระสงฆ์ก่อน ถ้าพระสงฆ์อนุญาต จึงจะทำได้
ถ้าพระสงฆ์ไม่อนุญาตก็กระทำไม่ได้ จึงเรียกเมืองนี้ว่า “เมืองสังฆะเติ๋น” ต่อมาเหลือเพียงคำว่า
“เถิน”เพียงคำเดียว
และบริเวณวัดเวียง คือใจกลางของเมืองเถิน เพราะคำว่า “เวียง” มีความหมายว่า “เมือง” รอบๆ วัดเวียง จะมีกำแพงดินล้อมรอบ
ทั้งกำแพงของวัด ที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน และกำแพงที่วัดสร้างด้วยดินสองชั้น
และยังมีคูเมือง หรือที่เรียกว่า “คือเมือง” ล้อมรอบอีกชั้นหนึ่ง
ต่อมาปี พ.ศ.
1157 เจ้าดาวแก้วไข่ฟ้า ซึ่งเป็นเจ้าเมืองเถินสมัยนั้น ได้สร้างวิหารอุโบสถขึ้น
โดยมีนางจำปาเทวี หรือนางจามเทวี พระสหายของเจ้าเมือง ได้ช่วยกันก่อสร้าง
พระยาเจ้าเมืองมีมเหสีชื่อ “พระนางนารา” และมีนางป้อม,นางเป็งเป็นบริวาร
ตามตำนานเล่าว่า พระนางจามเทวี ได้ปลูกต้นขนุนขึ้นเพื่อเป็นหลักเมือง เรียกว่า “ขนุนนางจามเทวี” ต้นขนุนจามเทวีมี
3 ต้น คือ ที่วัดพระธาตุดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่ 1 ต้น วัดพระธาตุลำปางหลวง 1 ต้น
และวัดเวียง 1 ต้น ส่วนนางเป็งนั้น ได้สร้างบ้านเรือน อยู่ทางทิศตะวันตกของวัดเวียง
หรือเรียกว่าหนองสาง และนางป้อม ก็สร้างบ้านเรือนอยู่ที่หนองผ้าอ้อม
ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกของวัด เช่นเดียวกัน ทั้งหมดได้ช่วยกันสร้างวัดเวียง และปลูกต้นไม้ไว้มากมายในยุคนั้น
มีต้นโพธิ์ ต้นจำปาแดง ฯลฯ
พระยาดาวแก้วไข่ฟ้า
ได้สร้างวิหารไว้แต่ไม่ใหญ่โตนัก เหมือนปัจจุบัน ส่วนนางจามเทวี หลังจากได้บูรณะพระธาตุแล้ว
ก็เดินทางกลับไปจังหวัดลำพูน
ต่อมาแม่น้ำวัง
ได้เซาะฝั่งเข้ามาใกล้ตัวเมือง (คือวัดเวียงในปัจจุบัน) อยู่ในเขตอันตราย
เพราะแม่น้ำได้เซาะฝั่ง เข้ามาถึงโรงเรียนบ้านเวียง ในปัจจุบันนี้
ผู้คนได้อพยพไปอยู่หนองสางและหนองผ้าอ้อมหรือเมืองของนางป้อม นางเป็ง
พระนางทั้งสอง จึงได้มาตั้งจิตอธิฐาน ต่อองค์พระธาตุเจ้าอันศักดิ์สิทธิ์
เพื่อขอให้แม่น้ำวัง เปลี่ยนทิศไปทางทิศตะวันออก เมื่ออธิฐานเสร็จแล้ว อีกไม่นานแม่น้ำวัง
ก็เปลี่ยนทิศทางไปทางทิศตะวันออก ทำให้บริเวณกลางเมือง หรือวัดเวียงปลอดภัย
ผู้คนจึงอพยพมาบูรณะบ้านเมืองเช่นเดิม
หลังจากนั้นมา พม่าได้อพยพมาตีหัวเมืองฝ่ายเหนืออีก
พระนางนารา และนางป้อม,นางเป็ง
จึงหลบหนีสาบสูญไป และตามตำนานเล่าว่า พม่าได้บูรณะวัดเวียงอีกครั้งหนึ่ง
และได้เกณฑ์พวกญวณมาเป็นช่าง สร้างวิหารให้ใหญ่กว่าเดิม รวมทั้งอุโบสถและซุ้มประตู
จนเสร็จสมบูรณ์
ในที่สุด
ครั้นที่กรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ได้ยกทัพมาตีพม่า จนถอยกลับไป
และยึดประเทศไทยตอนบน คืนมาจนหมด เมื่อพม่าแตกทัพแล้ว สมเด็จพระนเรศวร ก็ยกทัพกลับกรุงศรีอยุธยา
วัดเวียง จึงเป็นวัดร้างอีกครั้งหนึ่ง
จนกระทั่งในสมัยรัชกาลที่
5 แห่งราชวงศ์จักรี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดให้บูรณะ ซ่อมแซมวัดวาอารามทั่วประเทศ
ประชาชน ก็เริ่มเข้ามาอาศัยอยู่ และทำมาหากินในละแวกนี้ต่อไป
ทิศตะวันตกของวัดเวียง คือบ้านเก่าของนางป้อม นางเป็ง ก็มีวัดอยู่วัดหนึ่งชื่อ “วัดแพะหนองสาง” มีปู่หลวงแสนเป็นเจ้าอาวาส
หลวงปู่แสนคำ ก็ได้มาบูรณะซ่อมแซม และย้ายมาประจำอยู่ที่วัดวียงแห่งนี้ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
หลังจากหลวงปู่แสนคำและพระสงฆ์
ได้ช่วยกันบูรณะวัดเวียงแล้ว ก็ได้พบกับสิ่งปฏิหารย์ในวัด คือ มีเสาวิหารต้นหนึ่ง มีนางไม้ออกไปเล่นน้ำที่หนองท่วม
ซึ่งห่างจากวัดประมาณ 2กิโลเมตร ตอนเช้าจะมีจอกแหนติดอยู่ปลายเสา มีสาหร่าย หรือแม้แต่หอยยังติดมาด้วย
หลวงปู่แสนคำจึงใช้เวทย์มนต์คาถา สะกดเสาต้นนี้ และเอาโซ่เหล็กมาผูกไว้ที่โคนเสา
จากนั้น ก็มีผึ้งมาทำรังในโพรงเสา และมีหมีมาควักกินน้ำผึ้ง
(เพราะบริเวณวัดเวียงในสมัยนั้น ยังติดกับป่าอยู่ ไม่เจริญเหมือนเช่นปัจจุบันนี้)
เมื่อหมีมาควักกินน้ำผึ้ง ก็ทำให้เสาแตก หลวงปู่แสนคำ จึงสั่งให้ช่วยกันเอาเสานั้นออก
แล้วก่ออิฐฉาบปูนขึ้น แทนเสาต้นเดิม จนเห็นเช่นทุกวันนี้
นอกจากนั้น ยังมีต้นขนุนนางจามเทวี
ซึ่งจะมีผลทุกปี ปีใดฟ้าฝนตกดี ก็จะมีผลดกมาก แม้แต่รากก็ยังมีผล ทราบว่ารากมีผล ก็เพราะข้างๆ
ต้นขนุนจะมีบ่อน้ำอยู่ รากของขนุน โผล่เข้าไปในบ่อน้ำ และมีผลให้เห็นชัดเจน
ผู้คนทั้งหลาย ต่างนับถือต้นขนุนต้นนี้มาก เพราะถือว่าเป็นขนุนศักดิ์สิทธิ์ บางราย
ก็ไปสังเกตเลขข้างตามความเชื่อ บางรายก็แอบไปดูโชคชะตา
ภายในวิหาร ยังมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์
คู่กับวัดเวียงอีกอันหนึ่งคือ “พระเพชร” เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยสมัยเชียงแสน
ขนาดองค์พระไม่ใหญ่โตนัก แต่บารมีนั้นมีมากมาย “พระเพชร” เป็นพระพุทธรูป ที่เก็บไว้ที่ปลอดภัยแล้ว
เนื่องจากเมื่อประมาณ พ.ศ. 2524 ได้มีคนตัดเศียรพระพุทธรูปองค์หนึ่งของวัดไป
และได้จ้างช่างปั้นจากลำพูน มาปั้นไว้แทน โดยได้รับการอนุญาตจากกรมศาสนา
และกรมศิลปกรแล้ว
ใน พ.ศ. 2500 คณะศรัทธาวัดเวียง
ได้พร้อมใจกันบูรณะพระธาตุวัดเวียง โดยพร้อมใจกัน อันเชิญลูกแก้วบนยอดพระธาตุลงมา เพื่อปฏิสังขรณ์
และทำให้ชาวอำเภอเถิน ได้เห็นความศักดิ์สิทธิ์ของพระธาตุเจ้า โดยเรื่องมีอยู่ว่า
พ่อแก้ว นอศรี หัวหน้าช่าง ผู้ขึ้นไปอัญเชิญลูกแก้วลงมา ได้เกิดอาการผิดปกติในร่างกาย
คือเมื่อลงมาถึงพื้น ก็มีเลือดออกมาจากปาก จมูก และรูหู คณะกรรมการและญาติพี่น้อง จึงได้ไปตามหมอมาดูอาการ
หมอเวิทร์ สุวรรณ ซึ่งเป็นหมอที่มีชื่อเสียงในขณะนั้น มาดูอาการแล้วบอกว่า “ช่วยไม่ได้”
ก็คือ
พ่อแก้วต้องตายนั้นเอง จากนั้น พ่อแก้วก็พูดออกมาเป็นภาษาพม่า ไม่มีใครฟังออก
จึงไปเชิญ ”หม่องแป่น” เป็นชาวพม่า อาศัยอยู่ใกล้วัดเวียงมาช่วยแปล
จึงได้ใจความว่า เป็นวิญญาณของชาวพม่า ที่คอยปกป้องรักษาพระธาตุนี้ ไม่ต้องการให้ใครมาแตะต้องลูกแก้วศักดิ์สิทธิ์นี้
เมื่อหม่องแป่นได้เจรจาแล้ว ก็ ให้ขอขมา เมื่อทำพิธีขอขมาแล้ว
อาการพ่อแก้วก็ดีขึ้น และสามารถมีชีวิตได้อีก 36 ปี และเสียชีวิต ในปี พ.ศ.2536
ท่านสามารถเล่าเหตุการณ์ต่างๆ แก่ผู้อื่น ได้อย่างชัดเจนโดยตลอด ท่านบอกว่า ตอนที่เป็นหัวหน้าช่าง
ท่านมีอายุ 58 ปี และเมื่อ พ.ศ. 2536 ที่ท่านเสียชีวิต ท่านมีอายุได้ 94 ปี
ในระหว่างที่มีอายุมาอีก 36 ปี นั้น ท่านไม่เคยเจ็บป่วย
จนกระทั่งเสียชีวิตด้วยโรคชรา
เกี่ยวกับความศักดิ์สิทธิ์ของลูกแก้ว
บนยอดพระธาตุวัดเวียงนี้ ยังมีผู้พบเห็นพระแก้ว ลอยออกจากพระธาตุหลายครั้ง
เชื่อกันว่า วัดเวียง วัดอุมลอง และ วัดดอยป่าตาลนั้น ลอยไปเที่ยวหากันในวันโกน
วันพระ เกี่ยวกับเรื่องนี้ มีคนพบเห็นด้วยตาตัวเองมาแล้ว
โดยจะเห็นลูกแก้วอยู่บนท้องฟ้า มีแสงสว่างสีเขียวนวล และเมื่อมีคนชี้จะทักว่า “ลูกแก้วยอดพระธาตุวัดเวียง ไปเที่ยวหาลูกแก้วบนยอดพระธาตุวัดดอยป่าตาล” ลูกแก้ว ก็ดับวูบหายไปไม่เห็นอีก จนกว่าจะปรากฏให้เห็นอีกครั้งต่อไปเท่านั้น
มีหลายคนพบเห็นเช่นนี้อยู่เสมอ
คณะศรัทธาวัดเวียง
ได้บูรณปฏิสังขรณ์หลังคาวิหาร ในปีพ.ศ.2518
–พ.ศ. 2519ได้ทำการรื้อพระอุโบสถหลังเก่า
แล้วสร้างใหม่ในที่เดิม รวมทั้งได้สร้างศาลาการเปรียญขึ้นอีกหลังหนึ่ง ในทางทิศใต้
เมื่อ พ.ศ. 2534 ทางวัดได้ขออนุญาตไปยังกรมศาสนา เพื่อซ่อมแซมภาพจิตรกรรมฝาผนังวิหาร
ซึ่งเป็นลายรดน้ำ และขออนุรักษ์ลวดลายคงเดิมไว้ ก็ได้รับอนุญาตให้บูรณะได้
จึงได้ลงมือบูรณะซ่อมแซม โดยช่างเขียนลวดลายจากเชียงใหม่ ต่อมา กรมศิลปกรมาพบเข้า ก็จึงบอกว่า
ไม่สมควรทำการบูรณะ เพราะเห็นว่าควรอนุรักษ์ของเก่าไว้
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น