รักที่ถูกปิดของเจ้าหญิงพิษณุโลก ธิดาของพระสุพรรณกัลยา


 รักที่ถูกปิดของเจ้าหญิงพิษณุโลก


 เจ้าหญิงพิษณุโลก คือพระราชธิดาในพระเจ้าบุเรงนองกษัตริย์พม่า กับพระสุพรรณกัลยาผู้ทรงเป็นพระพี่นางของพระมหากษัตริย์ไทย 2 พระองค์คือ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช (พระองค์ดำ) และ สมเด็จพระเอกาทศรถ (พระองค์ขาว) 

เจ้าหญิงพิษณุโลก หรือเจ้าหญิงเจ้าภุ้นซีพระองค์นี้ ได้รับการสถาปนาเฉลิมพระยศ พระราชทานตำแหน่งเป็น พิษณุโลกเมียวซา เพราะทรงได้รับสิทธิในภาษีประจำปี ที่ได้มาจากพิษณุโลก พระองค์ทรงได้รับการพระราชทานนามว่า เจ้าหญิงภุ้นซี ซึ่งมีความหมายว่า ผู้มีสติปัญญาและพระบารมี แต่ผู้คนส่วนใหญ่จะรู้จักกันในพระนาม เมงอทเว (เมง-อะ-ทเว) ที่แปลว่าเจ้าหญิงองค์น้อย 

มิกกี้ ฮาร์ท ชาวพม่าผู้สนใจประวัติศาสตร์ไทย-พม่า ได้แปลเอกสารหลักฐานของพม่าที่เกี่ยวข้องกับเจ้าหญิงพิษณุโลกหรือเจ้าหญิงเจ้าภุ้นซี ไว้ดังนี้

พระสุพรรณกัลยาได้ทรงครรภ์ ตั้งแต่ตอนที่พระเจ้าบุเรงนองกำลังทรงศึกกับล้านช้างที่เมืองลโบ (ปัจจุบันอยู่ชายแดนไทย-ลาว) เมื่อเสด็จมาถึงกรุงหงสาวดีได้ไม่นานพระธิดาพระองค์น้อยก็ประสูติ เมื่อ พ.ศ.2113 พระเจ้าบุเรงนองทรงโสมนัสมาก พระราชทานนามพระธิดาพระองค์ว่าเจ้าภุ้นซี แต่พระองค์ทรงพอพระทัยที่จะเรียกพระธิดาของพระองค์โดยชื่อเล่นว่ามังอะถ้อย (เจ้าหญิงน้อย) 

ในพระราชพงศาวดารพม่าได้กล่าวว่า พระสุพรรณกัลยาเป็นพระมเหสีที่พระเจ้าบุเรงนองทรงโปรดปรานมาก โดยทรงจัดให้สร้างตำหนักทรงไทยขึ้นในพระราชวังกรุงหงสาวดี และเมื่อพระเจ้าบุเรงนองเสด็จกลับหงสาวดีภายหลังการรบจึงได้มีการจัดงานสำคัญ โดยในวันเพ็ญเดือนมีนาคม พ.ศ.2116 มีงานบูชาพระมหาเจดีย์ชเวดากอง พระสุพรรณกัลยาพร้อมด้วยพระราชธิดาองค์น้อย ได้ประทับเรือพระที่นั่ง โดยเสด็จพระเจ้าบุเรงนอง ไปบำเพ็ญพระราชกุศลนาน 5 วัน 

ต่อมาภายหลังเจ้าหญิงเจ้าภุ้นซีซึ่งได้เสกสมรสกับเจ้าเกาลัด ซึ่งเป็นพระโอรสของเจ้าอสังขยา เจ้าเมืองตะลุป ชาวไทใหญ่และมีตำแหน่งเป็นเสนาบดีของพระเจ้ามังรายกะยอชวา พระโอรสองค์ที่สองของพระเจ้านันทบุเรงโดยทรงมีพระธิดาด้วยกันคือเจ้าหญิงจันทร์วดี

จะเห็นได้ว่าในระยะที่มีเหตุการณ์สงครามยุทธหัตถีใน พ.ศ.2135 ระหว่างสมเด็จพระนเรศวรมหาราชกับพระมหาอุปราชของพม่า จนพระมหาอุปราชทรงสิ้นพระชนม์นั้น ได้ทำให้เหตุการณ์บ้านเมือง ของประเทศราชใกล้เคียงของพม่า เริ่มประจักษ์ชัดในพระปรีชาสามารถ ในด้านการรบในสงคราม ของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชในขณะนั้น 

ด้วยเหตุนี้ใน พ.ศ. 2137 พระเจ้านยองยันกษัตริย์ตองอูผู้ทรงเป็นพระราชโอรสของพระเจ้าบุเรงนองกับพระเจ้าอนรธาเมงสอกษัตริย์เชียงใหม่ ที่ทรงเป็นพระราชโอรสของพระเจ้าบุเรงนองที่ประสูติแด่ “ราชเทวี” ซึ่งทั้งสองเมืองนี้ได้ “แข็งเมือง” คือแยกตัวเป็นอิสระจากหงสาวดีโดยพระเจ้านยองยัน ได้เข้าครองกรุงอังวะ ทั้งนี้พระเจ้านยองยันทรงมีความสนิทสนมคุ้นเคยเป็นอันดีกับเจ้าอสังขยาพระบิดาของเจ้าเกาลัด (พระสวามีในเจ้าหญิงเจ้าภุ้นซี) 

หลังจากนั้นเจ้าเกาลัดได้นำทหาร 3,000 นายออกจากหงสาวดีไปสวามิภักดิ์กับพระเจ้านยองยัน ดังนั้นเจ้าเกาลัดจึงได้รับพระราชทานนามให้เป็น เจ้าโกโตรันตรมิตร และได้รับพระราชทานตำแหน่งเสนาบดีเช่นเดียวกันกับเจ้าอสังขยาผู้เป็นพระบิดา จากนั้นต่อมาเมื่อพระเจ้านยองยันสวรรคตและพระเจ้าสุทโทธรรมราชาพระราชโอรสได้ครองราชย์ต่อ โดยพระองค์ได้แต่งตั้งให้เจ้าโกโตรันตรมิตรเป็นเสนาบดีของพระนางอดุลจันทร์เทวีพระอัครมเหสีของพระองค์ ทั้งนี้พระอัครมเหสีได้โปรดปรานและมีพระเมตตารักใคร่ต่อเจ้าหญิงจันทร์วดีเป็นอย่างยิ่ง ต่อมาเมื่อเจ้าหญิงจันทร์วดีมีพระชนมายุได้ 20 พรรษาจึงเสกสมรสกับเจ้าจอสูร์ จากเมืองส้าในไทใหญ่ เมื่อปี พ.ศ. 2168 และมีพระประสูติกาลพระโอรสนามว่าเจ้าจันทร์ญีและพระธิดานามว่าเจ้ามณีโอฆ ซึ่งภายหลังเจ้ามณีโอฆได้เสกสมรสกับมหาเศรษฐีชาวอังวะ (พ.ศ.2191-2192) โดยมีบุตรชายด้วยกันนามว่า กุลา และนายกุลาผู้นี้ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ในสมัยพระเจ้าศรีมหาสีหสูรสุธรรมราชาเป็น “เจ้ารูปลังกา” ซึ่งท่านเป็นผู้แต่งพงศาวดารมหาราชวงษ์อันเป็นพงศาวดารพม่าที่มีชื่อเสียงที่สุดฉบับหนึ่ง ในปี พ.ศ. 2257 

อย่างไรก็ตามมิกกี้ ฮาร์ท ได้นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับพระสุพรรณกัลยาว่า เจ้าหญิงเจ้าภุ้นซีกับพระราชมารดา ได้เสด็จออกมาประทับนอกพระราชวังกัมโพชธานี ภายหลังพระเจ้าบุเรงนองเสด็จสวรรคตตามพระราชประเพณีที่ถือปฏิบัติกันมาของพระราชวงศ์พม่าและทั้งสองพระองค์ได้ทรงย้ายมาประทับอยู่อังวะ มิได้อยู่ในหงสาวดีและอาจจะดำรงพระชนม์ชีพตามวิถีกาลเวลา ซึ่งข้อสันนิษฐานของมิกกี้ ฮาร์ทได้ขัดแย้งกับพงศาวดารไทยหลายฉบับ แม้กระทั่งพงศาวดารของพม่าฉบับหอแก้ว โดยเฉพาะในกรณีการสิ้นพระชนม์ ของพระสุพรรณกัลยา จากพระแสงดาบของพระเจ้านันทบุเรง พร้อมพระราชโอรสหรือพระราชธิดา และการไม่ยอมรับของพระสุพรรณกัลยา ในพระมเหสีของพระเจ้านันทบุเรง 

แต่ถ้าหากได้พิเคราะห์ถึงพระทายาท ผู้สืบเชื้อสายของพระสุพรรณกัลยานั้น อาจจะเป็นไปได้ว่าเจ้าหญิงพิษณุโลก หรือเจ้าหญิงเจ้าภุ้นซี เมื่อทรงเสกสมรสกับเจ้าเกาลัดนั้น คงเป็นช่วงก่อนเกิดเหตุสงครามยุทธหัตถีใน พ.ศ. 2135 หลายปี เพราะตามโบราณราชประเพณี เจ้าหญิงพระราชธิดา จะเสกสมรสตั้งแต่พระชันษายังเยาว์ และต้องแยกพระองค์ไปอยู่กับพระสวามี ที่ใดที่หนึ่งในหงสาวดี (โดยพิเคราะห์จากเหตุการณ์ที่เจ้าเกาลัด นำทหารจากหงสาวดี ไปสวามิภักดิ์พระเจ้านยองยัน ที่กรุงอังวะภายหลัง พ.ศ. 2137)    

    ดังนั้น จึงน่าจะเป็นข้อสันนิษฐานได้ว่า พระสุพรรณกัลยา คงจะมิได้พำนักอยู่นอกพระราชวังกับพระธิดา ที่หงสาวดี แต่พระองค์ทรงอยู่หงสาวดีในพระราชวัง ในฐานะพระมเหสีของพระเจ้านันทบุเรง และเจ้าหญิงพิษณุโลก หรือเจ้าหญิงเจ้าภุ้นซี มิได้เข้าไปประทับกับพระสุพรรณกัลยา ภายในพระราชวังด้วยเพราะพระองค์ทรงพระเจริญวัย และทรงเสกสมรสแล้ว ในตอนที่เกิดเหตุ พระสุพรรณกัลยาสิ้นพระชนม์พร้อมพระราชโอรสหรือพระราชธิดา (ที่ทรงเป็นพระอนุชา หรือพระขนิษฐาของเจ้าหญิงพิษณุโลก แต่ต่างพระราชบิดากัน) ซึ่งขณะนั้น คงจะทรงมีพระชนมายุประมาณ 23-24 พรรษา

    ทั้งนี้ จากพงศาวดารของไทย และพงศาวดารฉบับหอแก้ว ที่ระบุว่า พระสุพรรณกัลยาสิ้นพระชนม์ขณะประทับในพระที่พร้อมพระราชโอรส และพระสุพรรณกัลยา กำลังทรงพระครรภ์อยู่ด้วย แสดงว่า พระราชโอรสพระองค์นั้น คงจะมีพระชันษายังเยาว์อยู่ ซึ่งจะเป็นข้อสันนิษฐานได้ว่า พระราชโอรส อาจจะทรงเป็นพระราชโอรสของพระเจ้าบุเรงนอง หากพระชนม์เกิน 12 พรรษา แต่ถ้าหากพระชนม์ต่ำกว่า 12 พรรษาคงจะต้องเป็นพระราชโอรส ของพระเจ้านันทบุเรง และหากพระสุพรรณกัลยาทรงพระครรภ์จริง ก็ต้องถือว่าพระราชบุตรในพระครรภ์ ต้องเป็นพระราชบุตรในพระเจ้านันทบุเรง ซึ่งทุกพระองค์ ได้สิ้นพระชนม์พร้อมพระสุพรรณกัลยาพระราชมารดา มีแต่เจ้าหญิงเจ้าภุ้นซีเพียงพระองค์เดียว ที่ทรงรอดพ้นมาได้ 

สำหรับเรื่องราวความรัก และชีวิตส่วนพระองค์ของเจ้าหญิงพิษณุโลก หรือเจ้าหญิงเจ้าภุ้นซีพระองค์นี้ ไม่เคยถูกเปิดเผย หรือมีข้อมูลนำเสนอ ให้คนไทยส่วนใหญ่ได้รับรู้มาก่อนเลย เสมือนหนึ่งรักที่ถูกปกปิด ในประวัติศาสตร์ชาติไทยมาโดยตลอด แต่เมื่อมีโอกาสได้มีข้อมูลรายละเอียด เหตุการณ์เกี่ยวกับการสืบสายพระโลหิต ในลำดับชั้นที่ 4 นับตั้งแต่สมเด็จพระศรีสุริโยทัย สืบสายต่อมายังพระวิสุทธิ์กษัตรีย์ สืบสายต่อมายังพระสุพรรณกัลยา และสืบสายจนมาถึงเจ้าหญิงพิษณุโลก และพระทายาทในลำดับต่อมา

ดังที่ได้กล่าวไว้ในพระราชประวัติข้างต้นนั้น ได้ทำให้เกิดเป็นความหวังในอนาคตว่า อาจจะมีหลักฐานในพม่าและไทย ให้สืบค้นได้เพิ่มเติมมากกว่าที่เป็นอยู่ ถึงพระราชประวัติของพระสุพรรณกัลยาพระราชมารดากับเจ้าหญิงพิษณุโลก มิให้กลายเป็นรักที่ถูกปิด แต่จะแปรเปลี่ยนเป็นรักที่ถูกเปิด จากนักประวัติศาสตร์รุ่นใหม่ในภายหน้า ให้คนไทยทุกคนได้รับรู้ และสำนึกถึงพระกรุณาธิคุณ ที่ได้กระทำต่อแผ่นดินไทย ของสายพระโลหิตนักสู้ผู้กล้า อย่างมิรู้ลืมตลอดกาล



ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ศาลาการเปรียญไม้ทรงโบราณ ที่อำเภอเสาไห้

ตำนาน และประวัติความเป็นมา ของอำเภอเถิน จังหวัดลำปาง

[คติธรรม] คมธรรมของหลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ