ตำนานถ้ำพระขยาง หรือพระขาหยั่ง
ตำนานถ้ำพระขยาง หรือพระขาหยั่ง
“ขยางหรือขาหยั่ง” อันเป็นชื่อของถ้ำนี้ หมายถึงสิ่งที่ประกอบขึ้นด้วยไม้หลัก 3 ต้น ปักโคนทแยงเป็นรูป 3 มุม ปลายหลักผูกมัดปลายติดกัน ใช้เป็นที่เอาคนไปมัด ให้ยืนติดกับหลัก เป็นเครื่องภัณทนาการในสมัยโบราณชนิดหนึ่ง ชาวบ้านเรียกกันว่า “ขาหยาง”
ถ้ำพระขยางหรือขาหยั่ง ซึ่งอยู่หมู่ที่ 9 ตำบลลำเลียง อำเภอกระบุรี จังหวัดระนอง มีตำนานเล่าสืบต่อกันมาว่า เมื่อปลายสมัยแผ่นดินกรุงศรีอยุธยา เป็นราชธานี ซึ่งประมาณเกือบสองร้อยปีมาแล้ว ในขณะนั้น ท้องที่อำเภอกระบุรี เป็นหมู่บ้านกระจัดกระจาย อยู่ในความปกครองของเมืองชุมพร มีนายแก้ว ธนบัตร เป็นนายบ้าน ดูแลปกครองอยู่ นายแก้วผู้นี้ เป็นเชื้อสายของเจ้าพระยานคร ได้อพยพมาจากเมืองนครศรีธรรมราช มาได้นางน้อยเป็นภรรยา ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ดอนนาน้อย หมู่ที่ 2 ตำบลปากจั่น นายแก้ว ได้จับเต่ากระทองตัวหนึ่ง มีลักษณะสวยงามมาก จึงนำไปส่งเจ้าเมืองชุมพร เมื่อเจ้าเมืองชุมพรได้รับเต่ากระทองนี้ไว้แล้ว จึงจัดข้าราชการ นำเต่ากระทองนี้ ไปถวายพระเจ้าอยู่หัว
ด้วยความชอบอันนี้ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกหมู่บ้านต่าง ๆ ที่นายแก้วดูแลปกครองอยู่ขึ้นเป็นหัวเมืองจัตวา เป็นเมืองหน้าด่าน สำหรับรับศึกพม่า คู่กับเมืองมลิวัลย์ ให้ขึ้นต่อเมืองชุมพร ซึ่งเป็นเมืองชั้นตรี แล้วตั้งนายแก้ว ธนบัตร เป็นที่พระแก้วโกรพ ให้ดำรงตำแหน่ง เป็นเจ้าเมืองกระบุรีคนแรก แผนที่ประวัติศาสตร์ของประเทศไทย จึงปรากฎมีเมืองกระบุรี อยู่ทางทิศตะวันตกของเมืองชุมพร เพิ่มขึ้นอีกเมืองหนึ่ง
ในขณะที่พระแก้วโกรพ ได้รับตำแหน่งเป็นเจ้าเมืองกระบุรีนั้น พระแก้วโกรพ มีบุตรชายอยู่สองคน บุตรคนที่หนึ่งชื่อนายทอง บุตรคนที่สองชื่อนายเทพ เนื่องจากพระแก้วโกรพ เป็นชาวเมืองนครศรีธรรมราชจึงได้ส่งนายทองบุตรชายคนใหญ่ ให้ไปศึกษาเล่าเรียนศิลปวิทยา ต่อท่านอาจารย์ของพระแก้วโกรพ ที่สำนักอยู่ในเมืองนครศรีธรรมราช โดยหวังจะให้เป็นเจ้าเมือง สำหรับจะต่อสู้ข้าศึกแทนในภายหน้า ในระหว่างนี้ พระแก้วโกรพ ได้มาสร้างตัวเมืองอาศัยอยู่บ้านค่าย ซึ่งเป็นที่ตั้งสถานีตำรวจภูธร ณ หมู่บ้านที่ 4 ตำบลปากจั่น ในปัจจุบัน และพระแก้วโกรพ ได้นางจั่นสาวรุ่น เป็นภรรยาอีกคนหนึ่ง ครั้นนายทองเรียนวิชาได้สำเร็จ แล้วก็โตเป็นหนุ่มฉกรรจ์ อาจารย์ส่งกลับให้มาช่วยบิดา ดูแลการบ้านเมือง เพราะตัวพระแก้วโกรพเองมีความชรามากแล้ว
ในระหว่างนี้เอง หนุ่มสาวได้ติดต่อกัน ก็เกิดเรื่องขึ้น คือนายทองกับนางจั่น แม่เลี้ยงสาว เกิดรักชอบเป็นชู้กันขึ้น ด้วยความรักลุ่มหลง นายทอง ไม่มีทางที่จะพรากจากรักได้ จนมีข่าวซุบซิบกันขึ้น นายทองเกรงว่า ข่าวจะเข้าถึงหูบิดาตน แล้วตนจะถูกลงโทษอย่างหนัก เพราะรู้ดีว่า บิดามีนิสัยใจคอโหดร้ายมาก เมื่อมองไม่เห็นทาง ที่จะแก้ไขอย่างใดได้ นายทอง จึงเตรียมแผนการสังหารพระแก้วโกรพ ผู้บิดาบังเกิดเกล้าของเขาเสีย โดยมีความหวังว่า ถ้าแผนการสำเร็จ เขาจะได้นางจั่นแม่เลี้ยงสาวเป็นภรรยา และทั้งตัวเขาเองก็จะได้รับหน้าที่เจ้าเมือง แทนบิดาต่อไปด้วย
แต่เทวดาฟ้าดิน ไม่เข้าด้วยกับคนผิด แผนการปิตุฆาต ได้รั่วไหลเข้าถึงหูพระแก้วโกรพ ไม่ต้องสงสัยว่าพระแก้วโกรพ จะมีความโกรธแค้นนายทอง บุตรยอดชีวิตของท่านสักเพียงใด เพราะท่านเคยเป็นนักเลงใหญ่ ฆ่าคนมามาก จนต้องหนีจากนครศรีธรรมราช มาสงบตัวอยู่ในป่าลึกเช่นนี้ ทั้งนางจั่นสาวรุ่น ก็เป็นที่รักใคร่เสน่หา ดั่งดวงใจของท่าน แม้จะเป็นคนชราแล้วก็จริง อาศัยเหตุผลเหล่านี้ ทำให้พระแก้วโกรพ เกิดความโกรธแค้นอย่างแรงกล้า สั่งให้ข้าราชการ จับตัวนายทอง บุตรผู้ทรยศไว้ได้ แล้วสั่งให้ใส่ขื่อคา เฆี่ยนวันละสามเวลา เมื่อครบเจ็ดวัน ให้จัดการฆ่าเสีย แต่ปรากฏว่า ผลที่นายทอง ได้ศึกษาเล่าเรียนมาจากอาจารย์นั้น หนักไปทางไสยศาสตร์ จะเฆี่ยนตีเท่าใดก็ไม่เจ็บ ถึงกำหนดเจ็ดวันนำตัวไปฆ่า ดาบก็ฟันไม่เข้า พระแก้วโกรพ จึงสั่งให้คุมตัวนายทอง พาไปขึ้นขาหยั่ง ซึ่งชาวพื้นเมืองเรียกกันว่าขาหยาง หรือขาหยั่ง ไว้ในถ้ำเขาแหลมเนียงนี้ ซึ่งต่อมาเรียกว่า “เขาพยาง” หรือเขาขาหยั่ง ทรมานให้อดอาหาร จนกว่าจะตายไปเอง โดยมีคนเป็นยาม อยู่เฝ้าอย่างแข็งแรง
กล่าวถึงแม่นางน้อย มารดาของนายทอง เมื่อทราบข่าวว่า บุตรได้รับโทษเช่นนั้น ก็มีความตื่นเต้นตกใจและเศร้าใจ จนเป็นลมสลบ จะเข้าพบพระแก้วโกรพผู้สามี เพื่อขอร้องอภัยโทษก็ไม่กล้า เกรงว่าตัวเองก็จะตกอยู่ในฐานะเป็นพรรคพวกของนายทองด้วย เพราะตามปกติ พระแก้วโกรพ ก็ไม่ค่อยจะสนใจในตัวแม่นางนัก จึงไม่มีโอกาสที่จะช่วยเหลือนายทอง บุตรที่รักยิ่งชีวิตของตนได้ แต่ด้วยความรักความอาลัยของแม่ ซึ่งมีต่อบุตรหัวปี ประกอบกับความสงสาร แม่นาง จึงปรึกษาญาติพี่น้องอย่างลับๆ ตกลงให้ญาติสนิท ถือหนังสือไปหาอาจารย์ของนายทอง ที่นครศรีธรรมราช ให้รีบมาช่วย ส่วนตัวแม่นางเองพร้อมด้วยญาติจัดทำโลงบรรจุศพลงรักปิดทอง นำลงเรือ พร้อมด้วยเสบียงอาหาร ลอบเดินทางมาสู่ท่าอย่างเงียบ ๆ โดยมีความประสงค์ว่า ถ้านายทองยังมีชีวิตอยู่ ก็จะพยายามหาทาง เล็ดลอดส่งอาหารให้กิน พอประทังชีวิตอยู่จนกว่าอาจารย์ของนายทองจะมาถึง
ถ้าหากนายทองถึงตายลง ก็จะได้ขอรับเอาศพบรรจุโลงเอาไปทำบุญ แต่เมื่อมาถึงถ้ำนี้ คนยามที่เฝ้ารักษาควบคุมอยู่ ไม่ยอมให้ส่งเสบียงอาหารและเข้าเยี่ยม จะพยายามติดต่ออ้อนวอนเท่าใด ก็ไม่สำเร็จ ด้วยยามเหล่านั้น เกรงอาญาจะเกิดแก่ตนอีก ถึงกระนั้น แม่นางก็ไม่ละความพยายาม นำเรือเข้าจอดซุ่มซ่อนอยู่ในคลองใกล้ถ้ำ ซึ่งปัจจุบันนี้เรียกว่า คลองลำเลียง เพื่อร่อฟังข่าวบุตรของตน และหาโอกาสที่จะลอบส่งอาหารให้
จนทราบข่าวแน่ชัดว่า นายทองได้ถึงแก่ความตายเสียแล้ว แม่นางสลดใจจนสลบอีก เมื่อฟื้นขึ้น ก็ได้เข้าติดต่อผู้เป็นยาม จะขอเยี่ยมศพ และรับศพบรรจุโลงเอาไปทำบุญ คนยามที่เฝ้าก็ไม่ยินยอมให้เยี่ยมและรับศพเอาไป ทั้งได้นำเอาศพนายทอง บรรจุในโพรงหินภายในถ้ำ แล้วเอาหินปิดอัดไว้อย่างมิดชิดแน่นหนา แม่นางน้อยหมดความสามารถ ที่จะเอาศพของนายทองได้ แล้วก็สั่งให้ออกเรือ นำหีบศพขึ้นทิ้งไว้บนเกาะ ปัจจุบันนี้เรียกว่า เกาะโลงทอง ซึ่งอยู่ตรงปากคลองเขมา ด้านฝั่งพม่า แล้วเดินทางกลับ
ในระหว่างนี้ แม่นางเกิดเป็นไข้อย่างแรง คิดว่าจะกลับไปถึงบ้าน กลัวพระแก้วโกรพผู้สามี จะเฆี่ยนตีลงโทษอีก จึงสั่งให้แวะเรือ เข้าพักในคลองบ้านตะเภาทรุด และแม่นาง ก็ได้ถึงแก่กรรมลงในคลองนี้ ชาวบ้านจึงเรียกชื่อคลอง “แม่นางน้อย” แต่ต่อมา กลับเรียกเพี้ยนเป็น แม่น้ำน้อย และปัจจุบันนี้ คงเรียกน้ำน้อย อยู่ทางฝั่งพม่า
ทางด้านอาจารย์ของนายทอง ที่นครศรีธรรมราช เมื่อได้ทราบข่าวร้ายของศิษย์รักก็ตกใจ ได้รวบรวมว่านชนิดต่างๆ อันล้วนแต่มีสรรพคุณสำคัญ เดินทางมาถึงที่นายทองถูกทรมาน โดยท่านอาจารย์ตั้งใจไว้ว่า จะใช้ว่านชนิดหนึ่ง ฝนทาตัวอาจารย์ เดินเข้าไปที่นายทองถูกทรมานอยู่ พวกผู้คนที่คอยคุมอยู่นั้น ดูตัวอาจารย์ไม่เห็น แล้วอาจารย์ ก็จะได้เอาว่านอีกชนิดหนึ่ง บดทำผงใส่ลงในอาหาร ที่พวกผู้คุมรับประทาน เมื่อผู้คุมรับประทานเข้าไปแล้ว ทุกคนจะเมาหมดสติ และในโอกาสต่อไป อาจารย์ก็จะเข้าถึงตัวนายทอง เอาว่านอีกชนิดหนึ่ง ให้นายทองรับประทาน ความหิวโหยที่นายทองกำลังมีอยู่ ก็จะหายไป แล้วกลับมีกำลังแข็งแรงขึ้น แล้วอาจารย์ ก็จะได้แก้ไข ช่วยเอาตัวนายทอง ออกจากขาหยั่งที่ทรมาน นำออกไปให้เป็นอิสระภาพได้
แต่ที่ไหนได้ ความหวังของอาจารย์ ที่ได้กะไว้ ต้องล้มเหลวไปหมด เพราะเมื่ออาจารย์เดินทางมาถึงถ้ำนี้ ก็ปรากฏว่า นายทองศิษย์รัก ได้ตายไปเสียแล้ว หมดหนทางที่จะช่วยได้ จึงเกิดความน้อยใจ ขึ้นไปบนเขาเหนือถ้ำ เอาว่านต่างๆ ออกจากย่าม หว่านโปรยไว้บนเขานั้น แล้วก็เดินทางกลับไปยังเมืองนครศรีธรรมราช ต่อจากนั้นมาถึงบัดนี้ ก็ยังมีพระสงฆ์และฆราวาส มาหาเก็บเอาว่านบนเขานี้อยู่เสมอ เกือบทุกปี
เมื่อพระแก้วโกรพ ได้สั่งให้นำนายทองไปขึ้นขาหยั่ง ไว้ที่ถ้ำเขาแหลมเนียม แล้วก็สั่งให้เอาตัวนางจั่นภรรยาสาว ลงแพพร้อมเสบียงอาหาร ลอยออกจากคลอง ปัจจุบันเรียกว่าคลองจั่น ไปสู่แม่น้ำกระบุรี แพได้ลอยตามกระแสน้ำ ไปติดอยู่ที่หาด มีเรือพวกตรวจตระเวณ ปราบปรามโจรสลัด ระหว่างเมืองตะกั่วป่ากับเมืองกระบุรี และเมืองมะลิวัลย์ ซึ่งมีคนประจำเรือหลายคนมาพบเข้า จึงนำนางจั่นขึ้นพักอยู่บนเกาะ ปัจจุบันเรียกว่า เกาะคนที เป็นที่ตั้งของหมู่บ้านปากน้ำระนอง เมื่อเรือตระเวณตรวจ กลับไปตะกั่วป่า ได้พานางจั่นไปด้วย นางจั่นป่วยหนัก ต้องหยุดเรือพา ขึ้นพยาบาลรักษา ที่เกาะใสยา ปากน้ำเมืองตะกั่วป่า ครั้นถึงกำหนดต้องตรวจตระเวณ มาทางเมืองกระบุรีและมลิวัลย์อีก ในระหว่างทาง นางจั่นก็ถึงแก่ความตาย พวกเรือ เอาศพนางจั่น ขึ้นไว้บนเกาะผี ซึ่งใช้เป็นที่ตั้งกระโจมไฟ หรือประภาคาร ที่ปากน้ำระนองในปัจจุบัน
พระแก้วโกรพ เมื่อได้จัดการลงโทษนายทองบุตร และนางจั่นภรรยาสาวของตนแล้ว ทราบว่า แม่นางน้อย ภรรยาของท่าน ก็ได้เสียชีวิตไปด้วย เกิดความกลัดกลุ้มและเศร้าใจ ประกอบทั้งขณะนั้น ก็มีความชรามาก จึงได้ลาออกจากหน้าที่ราชการ ตำแหน่งเจ้าเมืองกระบุรี พระเจ้าอยู่หัวทรงอนุญาต และโปรดเกล้าฯ ให้นายเทพ ธนบัตร บุตรชายคนที่สอง ของพระแก้วโกรพ เป็นที่พระศรีสมบัติ รับตำแหน่งเป็นเจ้าเมืองกระบุรีคนที่สอง แทนพระแก้วโกรพ
พระแก้วโกรพนั้น เมื่อมีความชรามากเข้า ก็กระวนกระวาย อยู่ร่วมกับผู้อื่นไม่ได้ พระศรีสมบัติ บุตรชาย จึงได้สร้างศาลาขึ้นที่หน้าเมือง จัดเป็นที่พระแก้วโกรพไปพักอาศัยอยู่ พระแก้วโกรพได้สมาทานศีลอุโบสถ และกระทำวิปัสสนากรรมฐานจนสำเร็จ สามารถดูฤกษ์ยาม และโชคชะตาได้แม่นยำ ชาวบ้านนิยมนับถือ ถึงกับนำทอง มาปิดตามร่างกายและไม้เท้าให้ ครั้นอายุล่วงได้ร้อยปีเศษ จึงได้ถึงแก่กรรม ต่อจากนั้นมา ก็มีคนสรรเสริญ นับถือกันว่าศักดิ์สิทธิ์ สมมุตินามเรียกกันใหม่ว่า “พ่อตาหลวงแก้ว” ซึ่งปัจจุบันนี้ ก็ยังนับถือ บนบานเซ่นไหว้กันแพร่หลาย รวมไปถึงคนในจังหวัดใกล้เคียงด้วย
ในขณะนั้น การคมนาคม มีแต่ทางน้ำทางเดียว ประชาชนใช้เรือแจวไปมา ต้องผ่านอ่าวเขาถ้ำนี้ ที่อ่าวนี้ เป็นทะเลเวิ้งว้างกว้างใหญ่มาก ชาวเรือต้องประสพกับลมพายุ และคลื่นลมอยู่เสมอ ชาวเรือคนหนึ่งขณะที่เรือถูกพายุจัด กลัวอันตราย ก็ระลึกขึ้นได้ว่า มีลูกชายเจ้าเมือง ถูกลงโทษขึ้นขาหยั่ง ทรมานไว้จนตายในถ้ำนี้ แต่นึกไม่ออกว่า มีนามว่าชื่ออะไร และขาหยั่งนั้น ชาวพื้นเมืองเรียกกันว่าขาหยาง ชาวเรือผู้นี้เห็นว่าพายุรุนแรงมาก ก็ยกมือขึ้นไหว้ร้องประกาศว่า ขอเดชะพระขาหยางในถ้ำนี้ จงช่วยให้คลื่นลมสงบ เมื่อลูก หลานได้ไปถึงบ้านแล้ว จะจุดประทัดถวาย
เป็นการมหัศจรรย์ ลมพายุและคลื่น ก็สงบลงทันที ข่าวนี้เล่าลือแพร่หลายไป จนชาวบ้านนับถือว่าเป็นที่ศักดิ์สิทธิ์ เวลาเรือถูกพายุคลื่นลมจัดก็ดี ชาวเรือปวดท้องหรือมีเหตุขัดข้องเดือดร้อนก็ดี ออกชื่อบนบานบวงสรวง แล้วได้รับผลดีทุกครั้ง ความนิยมนับถือนี้ ได้แพร่หลายขึ้น ถึงกับคนที่อยู่ตามหมู่บ้านต่างๆ ก็ยกย่องสรรเสริญว่า พระขาหยั่งนี้ศักดิ์สิทธิ์นัก และมีจระเข้ขนาดใหญ่ ตัวโตเท่ากับเรือหกวา ขนาดยาวจากหัวตลอดหาง ประมาณแปดเมตร เป็นสีดำหนึ่งตัว ตัวสีขาวหนึ่งตัว
ถ้ำนี้อยู่ในภูเขาหิน ตั้งอยู่ที่บ้านบางบอน หมู่ที่ 9 ตำบลลำเลียง อำเภอกระบุรี จังหวัดระนอง ปากถ้ำอยู่ตีนเขาที่ราบ ภายในถ้ำมืด ต้องใช้ไต้หรือตะเกียงตามเข้าไป ห่างจากถ้ำเข้าไปประมาณ 10 วา เป็นลานกว้าง มีแสงสว่างลอดมาจากช่องบนหลังเขา มีทางเดินแยกไปทางซ้ายมือ เดินลึกเข้าไปประมาณ 1 เส้น ตามทางที่เดินผ่านไปนี้ ต้องใช้ไฟ มีหินลักษณะต่างๆ กัน สวยงามมาก เช่น หินเป็นแท่นคล้ายเตียงนอน และมีกลีบหินย้อยลงมา เหมือนม่านแกวก จึงเรียกว่าถ้ำม่านแกวก กับอีกทางหนึ่งเป็นช่องเล็ก อยู่ทางขวามือ พอขนาดเดินลอดตัวเข้าไปได้ ข้างในเป็นทางลาดลงไป มีหาดทรายและน้ำ เรียกว่าถ้ำน้ำ
ตรงลานนี้เอง มีทางที่จะต้องปีนป่าย ฝ่าอันตรายขึ้นไปตามช่องหิน สู่ชั้นบนอีกชั้นหนึ่ง เมื่อได้ไปถึงชั้นบนมีลานกว้าง และทางตะวันออก มีช่องเป็นหน้าต่าง มองเห็นวัด หมู่บ้าน และทางรถยนต์ ตอนนี้มีค้างคาวมาก จึงเรียกถ้ำค้างคาว ชาวสวนเก็บเอามูลค้างคาวใส่กระสอบ หย่อนลงไปทางช่องหน้าต่างนี้ นำไปใช้ทำปุ๋ยใส่ต้นไม้ ได้ผลดี พ้นจากชั้นนี้ มีช่องทางออกไปสู่เขาหลังถ้ำ มีทางที่จะปีนป่ายไปตามแง่งหินไปถึงยอดเขาได้หลายยอด บางแห่งมีไม้ทอดเป็นสะพานสี่ห้าวา ข้ามจากยอดเขาหนึ่ง ไปยังอีกยอดเขาหนึ่ง น่าสนุกเพลิดเพลิน แต่เสียวไส้มาก บางคนปีนขึ้นไป เวลาจะกลับ หาทางลงมิได้ ต้องเสียเวลาปีนป่ายหาทาง พอพาชีวิตรอดลงมาได้ ซึ่งกินเวลาทั้งวันก็มี
บางคนขึ้นลงได้คล่อง ซึ่งนับว่า เป็นสิ่งมหัศจรรย์ลี้ลับอยู่เหมือนกัน ทางที่ดีที่สุด ไม่ควรเสี่ยงอันตราย ปีนป่ายขึ้นไปบนหลังเขาถึงชั้นยอด เพราะลำบากในการไต่กลับ ดั่งที่ผู้เคยประสพมาหลายคนแล้ว เมื่อขึ้นจากถ้ำชั้นสอง ถึงยอดหลังเขาแล้ว จนเห็นแง่งหิน ต้นไม้ น้ำทะเล และภูเขาทางฝั่งพม่าเป็นวิวสวยงามมาก
ถัดจากถ้ำนี้ไปประมาณสิบวา มีถ้ำอีกถ้ำหนึ่งเรียกว่าถ้ำพระ มีผู้สร้างพระพุทธรูปไว้สองสามองค์ ถ้ำนี้เคยมีพระสงฆ์สำนักจำพรรษาอยู่เป็นครั้งคราว ไม่ได้อยู่ประจำตลอดปี ต่อจากถ้ำพระไปอีกถ้ำหนึ่ง ปากถ้ำเป็นช่องเล็กไม่มีคนค่อยกล้าจะเข้าไป เพราะปรากฏว่าเคยมีผู้เห็นรอยเสือเดินเข้าออก จึงเรียกถ้ำนี้ว่าถ้ำเสือ
เมื่อประมาณ พ.ศ. 2497 ทางอำเภอ ได้สำรวจเขาถ้ำนี้ ไว้เป็นที่ของวัดลำเลียง หรือวัดสุวรรณรัตนารามซึ่งอยู่ติดต่อกัน เขาถ้ำนี้ ตั้งอยู่ในป่าพังนา มีคลองน้ำไหลโอบโดยรอบ แล้วรวมกันไหลออกแม่น้ำกระบุรี ระยะทางประมาณครึ่งกิโลเมตร สองฝั่งคลองมีป่าจากเป็นดงใหญ่ ราษฎรได้อาศัย ตัดใบเย็บเป็นจากมุงหลังคา และตัดยอดทำเป็นสินค้า ส่งไปขายต่างจังหวัดปีละมากๆ
ในลำคลองมีกุ้งและปู ปลา นานาชนิด ราษฎรใช้เครื่องมือจับเอาไปขายเป็นสินค้าประจำ พื้นดอนมีที่ดินของวัด โอบอยู่ทางทิศตะวันออก และมีป่าดอนแหลมเนียง โอบอยู่ทางทิศใต้ ส่วนทางทิศเหนือและทิศตะวันตก เป็นป่าพังกา จนจดแม่น้ำกระบุรี บนหลังเขา มีพันธุ์ไม้หลายชนิด มะปริงมะปรางก็ยังมี ถึงฤดูขึ้นถ้ำ ลูกกำลังสุกอร่าม และมีกล้วยไม้ดินชนิดหนึ่ง ชื่อ กาลันเท เป็นภาษาฝรั่ง ความจริงก็เป็นว่านชนิดหนึ่ง มีแปลกกว่าที่อื่น ก็เพราะมีหัวเป็นสองชั้น คือหัวใหญ่ขึ้นเรียวกิ่วเป็นคอคอด แล้วมีหัวเล็กติดอยู่ตอนบน เป็นยอดชั้นหนึ่งต่อ มีใบ ฤดูแล้งใบตาย มีดอกเป็นก้านยาวชูขึ้นสูง ดอกเรียงขึ้นเป็นแถวตามลำก้าน ตลอดกลีบดอกสีขาวสะอาด จุดเกสรเป็นสีเหลืองสวยงามมาก มีคนไปเก็บต้นบ่อยๆ เข้าใจว่า คงเกือบจะหมดพันธุ์เสียแล้ว หากมีเหลืออยู่บ้าง ก็ที่หน้าผาขึ้นเอาไม่ได้ และที่หน้าผาทางทิศตะวันออกและทิศใต้ เดิมเคยมีรังผึ้งห้อยเป็นระย้าน่าดู แต่จะเก็บเอามาไม่ได้ เพราะสูงชันมาก เมื่อมีการระเบิดหินก็ร้างไป
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น