แข้บักเฮ้า (แข้บักเห้า) ตำนานแสนเศร้า ของวังสามหมอ
แข้บักเฮ้า (แข้บักเห้า) ตำนานแสนเศร้า ของวังสามหมอ
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีอยู่สมัยหนึ่ง พระอินทร์ ผู้เป็นเทพเจ้าแห่งสิ่งทั้งมวลบนโลกพิภพ อีกทั้งยังเป็นจอมเทพแห่งเทวโลก มนุษย์โลก และสัตว์โลกทั้งหลาย
ในราว พ.ศ. ๒๓๙๔ ตรงกับแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ บ้านเมืองสงบเรียบร้อย ประชาชนอยู่ด้วยกันอย่างมีความร่มเย็นเป็นสุข อาหารการกินอุดมสมบูรณ์ ชาวประชาร้องสาธุกันไปทั่วหน้า และในแผ่นดินสมัยนี้ แดนดินถิ่นวังสามหมอ ยังเป็นป่ารกทึบ มีขุนเขา ลำห้วย มากมาย ยากที่จะหาผู้ใดมากล้ำกรายได้ จึงไม่มีผู้ใดรู้จัก จนกระทั่งหน่วยล่าจระเข้ของพระยาสุทัศน์ แห่งเมืองท่าขอนยาง มาพบเข้า ความลี้ลับต่าง ๆ ของวังสามหมอ จึงได้ถูกเปิดเผยขึ้น ประชาชนจากถิ่นต่างๆ จึงหลั่งไหลเข้าไปตั้งรกราก อาศัยทำมาหากิน จนกระทั่งปัจจุบัน
พระยาสุทัศน์ เป็นเจ้าเมืองท่าขอนยาง (ปัจจุบันคือบ้านท่าขอนยาง เคยขึ้นตรงกับอำเภอเมือง ก่อนแยกมาขึ้นกับ อ.กันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม) มีภรรยาชื่อนางจันทรา อันว่าเมืองท่าขอนย่างนั้น เป็นเมืองที่อุดมสมบูรณ์ เพราะตั้งอยู่ริมแม่น้ำชี ประชาชนมีความรักใคร่สามัคคี มีความสนุกสนาน ในฤดูที่มีประเพณีต่าง ๆ พระยาสุทัศน์กับนางจันทรา มีลูกสาวคนหนึ่ง ชื่อ นางคำบาง เนื่องจากเป็นลูกสาวคนเดียว พ่อแม่จึงรักมาก ได้สรรหาสิ่งต่าง ๆ มาให้ลูกเล่น และให้เป็นเพื่อน ในสิ่งของที่พระยาสุทัศน์ หามาให้นางคำบางเล่นเป็นเพื่อนนั้น มีสิ่งหนึ่งคือ จระเข้ ได้เอามาเลี้ยงเป็นเพื่อนตั้งแต่ยังเล็ก ๆ โดยเลี้ยงไว้ที่ลำชี หน้าจวนของเจ้าเมือง เจ้าเมืองตั้งชื่อจระเข้ตัวนี้ว่า “ฉันท์” แต่ชาวบ้านทั่วไปเรียก “บักเฮ้า” นางคำบางมีความสนิทสนมกับบักเฮ้ามาก และเคยเล่นกันมาตั้งแต่เด็กๆ เวลาจะลงอาบน้ำ นางก็มักจะขี่หลังบักเฮ้าลงไปเป็นประจำ เนื่องจากบักเฮ้า ได้รับการเลี้ยงดูอย่างดี และอยู่กับคนมานาน ทำให้มันเกิดความรู้สึกต่าง ๆ เช่น รู้จักรัก รู้จักกลัว รู้จักงาน และรู้จักเรื่องอื่นๆ ตามวิสัยของสัตว์
จนกระทั่งนางคำบาง มีอายุได้ ๑๗ – ๑๘ ปี เป็นสาวเต็มตัว และมีความสวยงามมาก สมกับเป็นลูกสาวเจ้าเมือง ฝ่ายบักเฮ้า ร่างกายของมัน ก็ใหญ่โตขึ้นมากตามอายุ มีความยาววัดจากหัวถึงหางได้ ๑๒ เมตร หรือ ๒๔ ศอก อ้าปากได้กว้าง ๒ วา หรือ ๘ ศอก วันหนึ่งเวลาพระตีกลองแลง (ประมาณบ่าย ๔ โมง) นางได้ลงไปอาบน้ำในลำชี โดยขี่หลังบักเฮ้า เหมือนที่เคยขี่ทุกครั้ง บักเฮ้าได้พานาง ลอยเล่นไปตามที่ต่าง ๆ ในลำน้ำ ได้รับความสนุกเพลิดเพลิน ทั้งบักเฮ้าและนางคำบาง
กล่าวถึงบักนนท์จระเข้ป่า ไม่มีใครเลี้ยง อาศัยอยู่ในลำน้ำชี มีความใหญ่โตพอ ๆ กับบักเฮ้า เป็นจระเข้ที่เกเร ชอบไล่ฟัดกินคน และสัตว์เลี้ยงอยู่เนื่อง ๆ เมื่อบักนนท์ มองเห็นคนขี่หลังบักเฮ้า มันจึงตรงรี่เข้าหา หมายจะใช้หางฟาดและงับกินเป็นอาหาร จึงได้เกิดการต่อสู้กันขึ้น ระหว่างบักเฮ้ากับบักนนท์ เนื่องจากเป็นจระเข้ขนาดใหญ่ทั้งสองตัว การต่อสู้จึงเป็นไปอย่างรุนแรง ท้องน้ำบริเวณที่ต่อสู้ เกิดความปั่นป่วน คลื่นกระแทกฝั่งชีเป็นระลอกๆ บักเฮ้าเห็นว่า การต่อสู้ครั้งนี้หนักมาก ประกอบกับมีความพะวักพะวง กลัวนางคำบางจะตกจากหลัง แล้วถูกบักนนท์คาบไปกิน จึงได้ผละถอยออกจากการต่อสู้ชั่วคราว พร้อมทั้งคาบนางคำบางไส่ในปาก บักนนท์ เมื่อเห็นบักเฮ้าผละหนี จึงตรงเข้าไล่คาบบักเฮ้าเป็นการใหญ่ บักเฮ้าหันกลับไปต่อสู้อีกครั้งหนึ่ง และหลงกลืนนางคำบางลงไปในท้อง การต่อสู้ลงเอยด้วยชัยชนะของบักเฮ้า โดยบักนนท์ได้หลีกหนีไป พร้อมด้วยบาดแผลเหวอะหวะทั้งตัว
ฝ่ายบักเฮ้า เมื่อได้รับชัยชนะแล้ว จะพานางคำบางกลับเข้าท่า เพราะเป็นเวลาค่ำแล้ว ซ้ำมองหานางที่ขี่อยู่บนหลังก็ไม่เห็น และมองดูบนฝั่ง เห็นเจ้าเมืองและคนอื่นๆ มองดูอยู่เต็มฝั่ง จึงคิดทบทวนเหตุการณ์ดู จึงรู้ว่าตนได้กลืนนางคำบางลงไปในท้องเสียแล้ว ถ้าจะเลยไปที่ท่าน้ำ ก็กลัวเจ้าเมืองจะจับฆ่า และถ้าจะอาศัยอยู่ที่นี่ ก็กลัวหมอจระเข้ของพระยาสุทัศน์จะทำร้าย เพราะโทษครั้งนี้ใหญ่หลวงนัก จำเป็นต้องหนีไปให้ไกลที่สุด
เมื่อคิดได้ดังนั้น บักเฮ้ารีบไหว้น้ำดำน้ำ หนีไปอย่างเร่งรีบ มุ่งหน้าตามลำน้ำลงไปเรื่อยๆ เมื่อมาถึงปากน้ำลำปาวไหลตกลำชี เห็นว่า ถ้าขึ้นไปลำน้ำปาว คงจะปลอดภัยกว่าเป็นแน่ เพราะตามลำชี มีหมู่บ้านตั้งอยู่ริมฝั่งมากมาย กลัวคนเห็น เมื่อขึ้นมาตามลำปาวแล้ว ได้เดินทางมา จนกระทั่งเกือบถึงตัวเมืองจังหวัดกาฬสินธุ์ รู้สึกว่า การเคลื่อนตัวเองไปตามลำน้ำนั้นลำบากมาก เพราะลำน้ำปาวแคบเข้าไปเรื่อยๆ และหมู่บ้านหนาแน่นเข้ากลัวคนเห็น จึงได้ตัดลัดทางขึ้นเลิงบักดอก (เลิง หมายถึงทุ่งน้ำกว้าง เมื่อน้ำหลากน้ำจะเต็มไปทั้งทุ่ง ในฤดูแล้ง จะมีน้ำขังอยู่ตามแอ่งตามหนอง และลำห้วยบ้างเล็กน้อย ส่วนที่เป็นทุ่งทั้งหมดแตกระแหง) ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกของตัวเมือง จ.กาฬสินธุ์ ในปัจจุบัน แล้วเดินทางผ่านป่าเขาลำห้วย มุ่งหน้าไปยังทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ของเมืองกาฬสินธุ์ เพื่อหาที่ปลอดภัยสำหรับตัวเอง ด้วยความทุกข์แสนสาหัส
ฝ่ายเจ้าเมืองพร้อมทั้งภรรยา และข้าราชบริพารทั้งหลาย ต่างพากันโศกเศร้าเสียใจ ที่นางคำบางต้องถูกบักเฮ้ากลืนกินเข้าไป ทุกคนเคียดแค้นชิงชังบักเฮ้าเป็นอย่างมาก บรรดาหมอจระเข้าทั้งหลาย ได้มาอาสา ขอตามไปปราบและฆ่าบักเฮ้ามากมาย ในจำนวนนี้ มีหมอจระเข้ผู้หญิงรวมอยู่ด้วยคนหนึ่ง มีอายุมากแล้ว ชาวบ้านทั่วไปเรียกว่า “ยาแม่คำหม่อน” พระยาสุทัศน์ เมื่อเห็นผู้คนมามากมาย ที่จะตามไปปราบจระเข้ในครั้งนี้ ถ้าจะให้เดินทางเป็นขบวนเดียวกันก็กลัวว่า ผู้นำ จะบังคับบัญชาไม่ไหว จึงได้แบ่งออกเป็น ๒ ขบวน ขบวนที่หนึ่งมอบหมายให้ขุนบวร เป็นหัวหน้าฝ่ายขวา ขบวนที่สองมอบให้ขุนประจวบ เป็นหัวหน้าฝ่ายซ้าย ให้ทั้งสองคน ช่วยกันปกครองบังคับบัญชา และให้ช่วยกันคิดช่วยกันทำ และช่วยกันแก้ปัญหา
ขบวนล่าบักเฮ้า ได้ออกเดินทางเลียบไปตามฝั่งลำน้ำชี มุ่งหน้าลงไปตามทางน้ำ ไปจนถึงบ้านเกิ้ง (บ้านเกิ้ง อ.เมือง จ.มหาสารคาม ในปัจจุบัน) คณะติดตามเกิดความลังเลใจว่า อาจจะติดตามมาไม่ถูกทาง จึงตัดสินใจไปทางลัดดีกว่าไปเส้นตรง (ปัจจุบันเส้นทางลัดเส้นนี้ มีผู้ไปตั้งหมู่บ้านขึ้นเรียกว่า บ้านลาด อ. เมืองมหาสารคาม) บังเอิญเมื่อมาทางลัด ได้เห็นรอยบักเฮ้าอย่างชัดเจน เพราะบักเฮ้าตัวใหญ่มาก เมื่อไปทางใดต้นไม้ต้นหญ้าและพืชอื่น จะล้มเป็นทาง รอยตะกุยดินลึก และรอยลากหางจะหนักมาก คณะติดตามจึงได้ติดตามเรื่อยมาจนถึงลำปาวแล้ว เลยขึ้นเลิงบักดอก แล้วจึงได้พักนอนที่บ้านหลุบ (อยู่ทางตะวันตกของเลิงบักดอก) ตื่นเช้าขึ้นมา รีบเดินทางติดตามรอยต่อไป ประมาณ ๔ โมงเช้า จึงพากันหยุดพักผ่อนและกินข้าวเช้า เมื่อกินข้าวเสร็จ ได้ปรึกษากันว่า อาวุธที่จะใช้ล่าบักเฮ้ายังมีไม่ครบ ส่วนที่มีอยู่แล้วมันเล็ก ไม่สามารถที่จะฆ่าบักเฮ้าได้ จึงได้พากันตั้งเตาตีเหล็กอยู่ที่นั่น โดยหาเหล็กที่มีอยู่ทั้งหมดตีรวมกันเข้า ให้มีขนาดใหญ่ขึ้น เช่น ฉมวกสามง่าม เหล็กแหลม และเหล็กแหลมหัวท้าย ที่มีเหล็กกันจระเข้งัดบ้าง (ที่ตั้งเตาตีเหล็กนี้ ปัจจุบันเป็นบ้านเหล็ก อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์)
เมื่อได้อาวุธครบทุกอย่างแล้ว ก็พากันออกเดินทางต่อ เห็นรอยบักเฮ้ามุ่งหน้าขึ้นโคก ซึ่งเป็นป่าทึบ ขุนบวรกับขุนประจวบ จึงคิดว่า บักเฮ้าหลบอยู่ตรงนั้น สั่งให้ไพร่พลทั้งหลาย ออกเลียบไปตามโคกจนตลอด ส่วนหมอจระเข้ให้ติดตามรอยเข้าไป ถ้าเห็นให้ไล่ต้อนออกมา เพื่อจะฆ่า ปรากฏว่าบักเฮ้า ไม่ได้อาศัยอยู่ที่นี้ (ปัจจุบันที่ตรงนั้นทั้งหมด เป็นที่ตั้งหมู่บ้าน เรียกว่าบ้านต้อน และบ้านโคกเลียบ อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์) การทำงานหนนี้ ทุกคนในคณะเหนื่อยมาก เดินทางไปชั่วประเดี๋ยว จึงได้หยุดพักกินข้าว ที่พักกินข้าวตรงนี้ ปรากฏว่า ไม่ค่อยจะมีผักกินกับแจ่ว พวกหนึ่งจึงไปหาแหนมากิน เอามากเหลือเกิน จนกระทั่งได้หามมา (ปัจจุบันเรียกว่าบ้านหามแหน อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์) พวกกินแหนคิดว่าอร่อย จึงกินคนละมากๆ เมื่อกินข้าวอิ่มแล้ว จึงได้เดินทางต่อไป เนื่องจากกินแหนมากดังกล่าว ทำให้ทุกคนปุ้นท้อง (หรือแน่นท้อง) (ที่ปุ้นท้องนั้น ปัจจุบันเป็นบ้านโพนทอง อ.เมืองกาฬสินธุ์) เมื่อเดินทางมาถึงบริเวณฝั่งห้วยสีทน พวกปุ้นท้องทั้งหลาย ได้พากันอาเจียนออกจนหมด ทำให้เกิดความสบายขึ้นมาอีกมาก จึงได้รีบเดินทางติดตามรอยต่อไป
มาถึงบริเวณลำห้วยแห่งหนึ่ง คณะติดตามเกิดหลงรอย เพราะบักเฮ้าไม่ลงน้ำ มันใช้วิธีกระโดดข้ามจากฝั่งหนึ่งไปฝั่งหนึ่ง (ปัจจุบันเรียกว่า ห้วยแข้เต้น อยู่ในท้องที่ อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์) และคณะติดตาม ไม่ได้ข้ามไปดูอีกฝั่งหนึ่ง คิดว่าบักเฮ้า คงจะขึ้นไปตามลำห้วย จึงได้เดินลัดขึ้นไปตามสันเขา ซึ่งภูเขาลูกนี้ มีเป้งมาก (เป้ง เป็นพืชชนิดหนึ่ง เป็นพูนคล้ายหวาย แต่ไม่มีหนามมาก ใบเป้งใช้ทำไม้กวาด ยอดของเป้งถอดออกมา รับประทานได้ทันทีและอร่อยมาก) คณะเดินทาง ได้ถอดเป้งกินเดินตามทาง (ปัจจุบันเรียกภูเป้ง ในเขต อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์) เมื่อลงจากภูเป้ง ได้เดินขึ้นเขาแห่งหนึ่ง เขาลูกนี้ มีลักษณะเป็นราวหินแนวยาว ชั่วขณะที่เดินไปตามราวหินนั้น ได้พบถ้ำ และมีตาปะขาว (คนนุ่งขาวห่มขาวบำเพ็ญศีลอยู่โดดเดี่ยว) อาศัยอยู่คนหนึ่ง จึงได้พากันเข้าไปสอบถามดูว่า เห็นจระเข้ตัวใหญ่ผ่านมาทางนี้หรือไม่ ก็ได้รับคำตอบว่า เห็นผ่านหน้าถ้ำราวตีกลองแลง เนื่องจากคณะติดตาม ได้ทราบข่าวจระเข้ที่นี้ จึงได้พากันเรียกภูลูกนี้ว่า ภูข่าว และเดินทางติดตามต่อไป จนถึงลำห้วยแห่งหนึ่ง เวลาจวนค่ำแล้ว ไม่สามารถที่จะหารอยบักเฮ้าได้ และไม่ทราบว่าบักเฮ้า จะขึ้นเหนือหรือลงใต้ลำห้วยแน่ จึงเกิดความกระสังเกิ้ง (คือลังเลใจ ไม่แน่นอนว่าจะติดตามไปทางไหนดี จึงได้ตั้งชื่อลำห้วยแห่งนี้ว่า ห้วยสังกะ อยู่ในท้องที่ อ.สหัสขันธ์ จ.กาฬสินธุ์
หลังจากนั้น ได้พากันมาพักนอนในที่แห่งหนึ่ง ไม่ห่างจากห้วยสังกะเท่าไหร่นัก ตื่นเช้าขึ้นมา ได้พากันพับสาด (พับเสื่อ) แล้วม้วนไว้ (ที่แห่งนี้ เป็นที่ตั้งหมู่บ้าน เรียกว่า บ้านพับ) และพากันแบกพันสาด (ม้วนเสื่อ) นั้น เดินลัดตัดไปตามสันโคก จนตลอดวัน เมื่อมาถึงดงทึบ ปรากฏว่ามีน้ำซับน้ำซึมมาก เต็มไปด้วยสัตว์ร้ายนานาชนิด เช่น เสือ ช้าง งูพิษ ถ้าหากจะอาศัยนอนพื้นดิน ย่อมไม่ปลอดภัย จึงได้พากันทิ้งพันสาดไว้ข้างล่าง แล้วผากันไปผูกอู่ (เปล) นอนบนต้นไม้ (ปัจจุบันเรียก คำแขวนอู่ อยู่ในพื้นที่ อ.สหัสขันธ์ จ.กาฬสินธุ์) ตื่นขึ้นมาด้วยความเร่งรีบ ที่จะเดินทางต่อไป จึงพากันลืมพันสาดที่วางไว้ และขณะเดินทาง ไม่มีใครนึกถึง เมื่อเดินทางมาถึงลำห้วยแห่งหนึ่ง ได้เวลาอาหารเช้า เห็นมีกลอยมาก จึงได้พากันขุดหัวกลอยมานึ่งกินแทนข้าว เมื่อกินเสร็จปรากฏว่าเมากลอย (กลอยมีลักษณะคล้ายมัน เกิดอยู่ตามป่า ตามเชิงเขา และที่ชุ่มชื้น) ลำห้วยแห่งนั้นจึงได้เรียกว่า ห้วยกลอย จนถึงปัจจุบัน เมื่อทุกคนสร่างเมากลอยแล้ว ได้เดินทางไปจนตลอดวัน และมาค่ำ ที่ลำห้วยแห่งหนึ่ง เตรียมตัวพักนอน ทุกคนได้ถามหาสาด (เสื่อ) ที่พันไว้ จึงได้ทบทวนย้อนหลังดู และนึกได้ว่า ได้ลืมพันสาดไว้ที่คำแขวนอู่ ลำห้วยแห่งนี้จึงได้ชื่อว่า ห้วยพันสาด ภายหลังได้เรียกชื่อเพี้ยนมาเป็น พันชาด จนกระทั่งบัดนี้ ณ ที่พักนอนแห่งนี้เป็นแก่งหิน บางแห่งเป็นลานมีหาดทรายน่านอนมาก และที่แห่งนี้ มีต้นก้านเหลืองปกคลุมร่มรื่นเย็นสบาย จึงได้ชื่อว่า แก่งก้านเหลือง (อยู่ด้านเหนือสะพานคอนกรีต ข้ามลำพันชาด ต่อบ้าน หนองลุมพุก อ.วังสามหมอ จ.อุดรธานี ไปบ้านหนองกรุงใหญ่ อ.คำม่วง จ.กาฬสินธุ์)
ตื่นเช้าขึ้นมา คณะติดตาม ได้ตรวจค้นหารอยบักเฮ้า ปรากฏว่าบักเฮ้า ไม่ได้ว่ายขึ้นไปตามลำน้ำ แต่มันขึ้นบนบก คลานเลียบฝั่งพันชาดขึ้นไปตอนบน ผ่านภูและเขาดงดิบ คณะติดตาม ได้อาศัยอาหารจากดงแห่งนี้ ซึ่งมีพืชพันธุ์ธัญญาหารมากมาย เหมือนกับมีคนมาปลูกไว้ และดงแห่งนี้มีผึ้งมากมาย รังผึ้งห้อยระย้าเต็มไปหมด จึงได้เรียกดงแห่งนี้ว่า “ดงสวนผึ้ง” หรือ ดงสวน อยู่ทางทิศตะวันออกของลำพันชาด ด้าน อ.คำม่วง จ.กาฬสินธุ์ เมื่อคณะติดตามผ่านดงนี้ จึงรู้แน่ชัดว่า ขณะนี้ ได้ติดตามบักเฮ้ามาอย่างกระชั้นชิดแล้ว เพราะปรากฏรอยชัดเจน เมื่อพ้นออกจากดงสวน จึงได้พบรอยบักเฮ้าล งไปอยู่ในแอ่งน้ำแห่งหนึ่ง มีขนาดลึกมากแต่แคบ บักเฮ้าอยู่ไม่ได้ จึงขึ้นมาจากแอ่ง แล้วรีบหนีลงมาตามลำพันชาด ไม่ได้ขึ้นบกอีก คณะติดตาม ได้เดินเลียบฝั่งลำพันชาดลงมาเรื่อย ๆ พร้อมกับสำรวจแอ่งน้ำมาตลอดทาง เมื่อมาถึงที่แห่งหนึ่ง พบแอ่งน้ำขนาดใหญ่ มีน้ำตกเป็นระยะทางยาว ทำให้เกิดวังน้ำกว้างใหญ่ เป็นที่น่าเกรงขามยิ่งนัก บรรดาหมอจระเข้ทั้งหลาย ไม่กล้าลงไปสำรวจ เป็นเพียงเสี่ยงเทียนลอยเทียน และนั่งทางในดูเท่านั้น เนื่องจากวังน้ำแห่งนี้ เป็นที่น่าเกรงขามดังกล่าว จึงได้ชื่อว่า วังเกรงขาม ภายหลังได้เพี้ยนมาเป็น วังแก่งขาม จนถึงปัจจุบัน ผลของการเสี่ยงเทียนลอยเทียน และนั่งทางในดูปรากฏว่า บักเฮ้าไม่ได้อยู่ที่นี้ เป็นเพียงผ่านไปเฉย ๆ โดยมุ่งหน้าลงไปทางใต้
คณะติดตาม จึงได้มุ่งหน้าติดตามลงไปอีก ห่างประมาณ ๒ กิโลเมตรเศษ จึงได้พบวังน้ำขนาดใหญ่เห็นรอยบักเฮ้าลงที่นี้ วังน้ำแห่งนี้ มีขนาดกว้าง ๒ เส้น ยาว ๖ เส้น ลึก ๑ เส้น หมอจระเข้ ได้ทำพิธีกรรมตรวจหาบักเฮ้าดู ก็ได้รู้ว่า บักเฮ้าได้อาศัยอยู่ที่นี้ โดยไม่รอช้า ขุนบวร กับขุนประจวบ จึงสั่งให้หมอจระเข้ ลงไปจับให้ได้ หมอคนแรกคือ “หมอบุญ” ลงน้ำไปตั้งแต่เช้าจนค่ำ ไม่เห็นขึ้นมา จึงได้สั่งให้ “หมอพรหม” ตามลงไป และช่วยเหลือตลอดทั้งคืน ตอนเช้าก็ยังไม่โผล่ทั้งสองคน จึงเหลือแต่หมอคนสุดท้าย คือ“ยาแม่คำหม่อน” ยาแม่ ได้พิจารณาไตร่ตรองโดยรอบคอบแล้ว เห็นว่า หมอบุญกับหมอพรหมนั้น ถูกบักเฮ้ากินแล้ว เพื่อความแน่นอน จึงควรที่จะได้ลงไปดูอีกครั้งหนึ่ง ยาแม่จึงได้ใช้มนต์คาถา แหวกน้ำให้เป็นช่อง ลงไปตรวจดูจนทั่ววัง พบจระเข้มากมาย แต่ไม่เห็นบักเฮ้า เมื่อยาแม่ตรวจดูโดยละเอียดอีกครั้งหนึ่ง จึงได้พบถ้ำในระดับความลึก ๓๐ เมตร อยู่ทางด้านใต้ของวัง ได้พบบักเฮ้า อยู่ในลักษณะอ้าปากปิดปากถ้ำ จึงคิดได้ว่า หมอบุญ กับหมอพรหม คงจะหลงกลหลง เดินเข้าไปในปากบักเฮ้า โดยนึกว่าเป็นปากถ้ำ และคงจะถูกบักเฮ้ากลืนกินในลักษณะนี้ เมื่อแน่ใจ ดังนั้นยาแม่ จึงได้ขึ้นจากน้ำ ใช้เวลาอยู่ในน้ำตั้งแต่เช้าถึงเที่ยง
การทำงานครั้งนี้ ยาแม่ได้รับความเหน็ดเหนื่อยมาก เพราะมีอายุมากแล้วนั้นเอง จึงขอพักผ่อนสักชั่วคราว ในขณะพักผ่อน ยาแม่ได้ปรึกษาหารือขุนบวรกับขุนประจวบ โดยยาแม่บอกว่า เห็นบักเฮ้าแล้ว การที่จะจับนั้นไม่ยาก แต่เชือกที่จะใช้ผูกมัดนั้น เท่าที่เรามีอยู่ ไม่สามารถที่จะมัดมันได้ เพราะเส้นเล็กเกินไป ควรที่จะให้ไพร่พลทั้งหลาย ออกไปหาตัดหวายเส้นขนาดใหญ่ มาให้มากที่สุด แล้วมัดเป็นเกลียวให้ได้ขนาดเส้นละเท่าแขนคน จำนวน ๓ เส้น แต่ละเส้นให้ยาว ๑๐๐ ศอก เป็นอย่างน้อย บรรดาไพร่พลทั้งหลาย ได้พากันไปหาตัดหวายในดงแห่งหนึ่ง ปรากฏว่า มีหวายขนาดใหญ่มากมาย ตัดเครือเดียว ก็ได้หวายจนเหลือเฟือ ดงแห่งนั้นจึงได้ชื่อว่า ดงหลุบหวาย จนกระทั่งปัจจุบัน (อยู่ทางทิศตะวันออกบ้านหนองกุงทับม้า ตั้งแต่ลำพันชาด จ.อุดรธานี ขึ้นไปตอนบน)
เมื่อได้หวายมาแล้ว ไพร่พลบริวารทั้งหลาย ช่วยกันฟั่นเป็นเกลียว ตามคำสั่งยาแม่ตลอดคืน จึงเสร็จเรียบร้อย รุ่งเช้า ยาแม่ได้เตรียมตัวลงน้ำ เพื่อจับบักเฮ้า โดยนำหวายทั้ง ๓ เส้นมาต่อกัน ผูกกึ่งกลางด้วยเหล็กแหลม ที่แหลมเป็นฉมวกทั้งสองด้าน ที่มีเหล็กค้ำยันปากจระเข้อยู่ในตัวเอง ป้องกันไม่ให้งับมาได้ ปลายเชือกหวายข้างหนึ่ง นำไปผูกไว้ที่โคลนต้นประดู่ ริมฝั่งด้านดงสวน (ท้องที่ อ.คำม่วง จ.กาฬสินธุ์) ต้นประดู่นี้ใหญ่ขนาด ๒ คนโอบ และถูกพวกค้าไม้ตัด ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๙๔ ตอไม้ถูกไฟป่าไหม้หมดแล้ว เมื่อทุกอย่างเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ยาแม่ จึงได้ร่ายมนต์คาถา แหวกน้ำลงไปเหมือนวันก่อน บักเฮ้ายังเตรียมพร้อมอยู่ในลักษณะเดิม ยาแม่ได้ถือแหลมทางตั้ง เดินตรงเข้าไปในปากบักเฮ้า
ฝ่ายบักเฮ้า เมื่อเห็นคนเดินเข้าไปในปากลึกพอประมาณ จึงได้งับปากลงมาอย่างแรง เสียงดังก้องทั่ววังน้ำ ด้วยความแรงของการงับ ทำให้เหล็กแหลม เสียบประกบทั้งบนและล่างจนทะลุ ไม่สามารถจะถอนหรืองับลงมาได้อีก ยาแม่เห็นได้ที จึงรีบออกจากปากแล้วขึ้นฝั่ง พร้อมทั้งสั่งกำลังทั้งหมด ให้ช่วยกันลากดึง ฝ่ายบักเฮ้า เมื่อถูกเหล็กแทงทะลุปาก ได้พยายามดิ้นรนจนสุดกำลัง เพื่อให้ตนเองได้รับอิสรภาพ แรงดิ้นทำให้ปากถ้ำพังทลาย เกิดน้ำปั่นป่วนทั่ววัง มีเสียงสะเทือนเลื่อนลั่นไปทั่วป่าแถบนั้น จากแรงสะเทือนดังกล่าวจึงได้ตั้งชื่อดงแห่งนั้นว่า ดงหลุบฝั่งเฟื่อน (เฟื่อนมาจากคำว่าสะเทือน) อยู่ด้านใต้ของดงหลุบหวาย ปัจจุบันเรียกเพี้ยนไปเป็น ดงหลุบฟังเฟือน บักเฮ้าดิ้นรนอยู่ จนกระทั่งหนึ่งวันหนึ่งคืนเต็มๆ รู้สึกอ่อนระโหยโรยแรง ฝ่ายคนดึง ก็ไม่สามารถดึงขึ้นฝั่งได้ จึงปล่อยไว้ รุ่งเช้าของวันใหม่ พากันออกแรงอีกครั้งหนึ่ง จนดึงบักเฮ้าขึ้นมาจากน้ำได้สำเร็จ
เมื่อนำขึ้นบนฝั่ง บักเฮ้ามีอาการปลงตก น้ำตาไหลตลอดเวลา พร้อมทั้งคิดว่า ถ้าหากคนเหล่านี้จะรู้สักนิดว่า ที่เรากลืนนางคำบางลงไปในท้องนั้น เราไม่ได้มีเจตนา แต่เรากระทำไปด้วยความกลัวว่า นางจะได้รับอันตราย จากการกระทำของบักนนท์ต่างหาก ถึงอย่างไร เราก็จะหนีความตายไม่พ้น ยอมให้เขาฆ่าเสียดีกว่า คิดได้ดังนั้น จึงอยู่ในลักษณะนิ่งเฉย บรรดาไพร่พลบริวารทั้งหลาย ได้พากันรุมฆ่าบักเฮ้าเป็นการใหญ่ มีทั้งค้อน มีด ขวาน เหล็กแหลม และอาวุธอื่น ๆ มากมาย ตี แทง ฟัน ตั้งแต่หัวตลอดหาง บักเฮ้าได้รับความเจ็บปวดทรมานมาก แต่ไม่ยอมดิ้น ให้คนเหล่านั้นเห็นเป็นอันขาด พร้อมกับตั้งใจไว้ว่า เมื่อตายไป เราขอเป็นผี เฝ้าวังน้ำแห่งนี้ตลอดไป กว่าที่จะฆ่าบักเฮ้าได้สำเร็จ ทุกคนก็เหนื่อยหอบไปตาม ๆ กัน
หลังจากนั้น พวกชำแหละ ได้ทำการตัดหัวบักเฮ้าออกไว้ต่างหาก แล้วผ่าท้องดู เห็นกระดูกของหมอบุญและหมอพรหม อยู่ครบทุกชิ้น ส่วนนางคำบางนั้น คงเห็นเฉพาะกะโหลกศีรษะ และเส้นผมเท่านั้น จึงได้นำกระดูกของทั้งสามคม ชำระล้างที่วังน้ำแห่งนี้ จนสะอาดเรียบร้อย แล้วใช้ผ้าขาวห่อทั้ง ๓ ห่อ แล้วออกเดินทางกลับเมืองท่าขอนยาง พร้อมหามหัวบักเฮ้าไปด้วย ถึงแม้ว่าบักเฮ้าจะตายลงไปนานแล้วก็ตาม แต่วิญญาณของบักเฮ้า ยังคงวนเวียนเฝ้ารักษาวังน้ำแห่งนี้ บางครั้ง ผู้บุกป่าฝ่าดงเข้าไป อยากจะเห็นจระเข้ เมื่อไปถึงฝั่ง ได้พูดขอ ให้เจ้าพ่อปรากฏตัวให้ดู ก็จะเห็นเจ้าพ่อขนาดใหญ่ไม่ต่ำกว่า ๓ ตัว ลอยให้เห็นทันที เพราะความเฮี้ยนดังกล่าว คนทั้งหลายจึงเรียกวังน้ำแห่งนี้ว่า วังสามหมอ มาจนกระทั่งทุกวันนี้
เพราะความศักดิ์สิทธิ์ของวังสามหมอ จึงไม่มีบุคคลใดกล้าพูดดูหมิ่น และไม่กล้าลงไปจับสัตว์น้ำ จึงทำให้น้ำในวังนี้ ใสสะอาดตลอดฤดูแล้ง เมื่อทางอำเภอมีงานเกี่ยวกับพิธีต่างๆ มักจะนำน้ำจากวังสามหมอมา ให้พระคุณเจ้าทำเป็นน้ำมนต์ ประพรมให้แก่ชาวบ้านข้าราชการ ทำให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุขโดยทั่วหน้ากัน (จึงมีคำสำนวนที่ว่า “วังสามหมอ”)
นิทานปรัชญาชาวบ้านปรัมปราเรื่องนี้ ได้เสนอแนวคิด เรื่องความเป็นมาของวังสามหมอ ว่ามีความเป็นมาอย่างไร จะเห็นได้ว่า การที่จะถูกเรียก วังสามหมอ นั้น ย่อมมีที่มาอันเกิดขึ้นจริง มีสถานที่จริงทางประวัติศาสตร์ คำว่า วัง เกิดจากแหล่งน้ำที่มีอยู่ในท้องที่ คำว่า สาม มาจากหมอสามท่าน ที่เดินทางมาปราบจระเข้ ที่เข้ามาอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำแห่งนี้ และคำว่า หมอ คือหมอธรรม ที่มีความชำนาญทางไสยศาสตร์
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น