ตำนานเขาหินกลิ้ง เรื่องเล่าเมืองทวารวดีแถบ ไพศาลี - ท่าตะโก จ.นครสวรรค์


 ตำนานเขาหินกลิ้ง เรื่องเล่าเมืองทวารวดีแถบ ไพศาลี - ท่าตะโก จ.นครสวรรค์ 

ตำนานเขาหินกลิ้ง เป็นเรื่งราวที่คนสมัยก่อนแต่งขึ้น เพื่ออธิบายโบราณสถานต่างๆ ในแถบนี้ ก่อนมีการขุดค้นทางโบราณคดี เมื่อหลายร้อยปีกว่ามาแล้ว ในละแวกแถบนี้มีเมืองอยู่ 3 เมืองคือ

1.เมืองจำคานคร หรือจอมปราสาท คือเมืองโบราณดอนคา มีเจ้าชายปราสาททองเป็นเจ้าเมือง

2.เมืองประคำ หรือปัญจคีรี คือเขาช้างฟุบ เขาท่าลอบ มีเจ้าชายจิตเกษมเป็นเจ้าเมือง

3.เมืองไพศาลี คือเมืองเก่าเวสาลี มีท้าวไพศาล เป็นเจ้าเมือง มีมเหสีชื่อนางสร้อยจำปา และมีพระราชธิดาพระองค์หนึ่ง ชื่อ สร้อยลัดดา 

เจ้าชายปราสาททอง แห่งเมืองจำคานคร และเจ้าชายจิตเกษม แห่งเมืองประคำ มีความประสงค์ที่จะได้นางสร้อยลัดดา มาเป็นพระชายา ทั้งคู่ จึงไปสู่ขอพระนางสร้อยลัดดาต่อท้าวไพศาล ท้าวไพศาลตัดสินใจไม่ได้ ว่าจะยกพระราชธิดาให้กับใครดี เนื่องจากทั้งสองเมือง เป็นเพื่อนสนิทกัน จึงออกอุบายให้ทั้งสองเมือง แข่งขันขุดอ่างเก็บน้ำ โดยใช้ทหารจำนวนข้างละหนึ่งพันคน ถ้าเมืองไหนขุดได้ชนะ ก็จะยกลูกสาวให้กับเจ้าเมืองนั้น

ถึงวันนัดหมาย ทหารเมืองจำคานคร ได้ไปขุดอ่างน้ำแต่เช้า เพื่อแข่งขันกับทหารเจ้าชายจิตเกษม ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองจำคานคร ประมาณ 6 กิโลเมตร ทางด้านตะวันออกของเขาตีคลี ขณะที่ทหารเมืองจำคานนคร กำลังขุดอ่างน้ำอยู่นั้น ทหารม้าเร็วของเมืองประคำ ได้มาแจ้งว่า ฝ่ายตนยังมาไม่พร้อม ขอเลื่อนการแข่งขันไปวันต่อไป ทหารเมืองจำคานครยกทัพกลับ อ่างที่ทหารเมืองจำคานคร ขุดกันคนละเล็กละน้อยนั้น ปัจจุบัน กลายเป็นสระใหญ่ เรียกว่า “หนองพันกลับ”

ต่อมา ท้าวไพศาล แห่งเมืองไพศาลี กำหนดกติกาการแข่งขันขึ้นใหม่ โดยให้ทหารทั้งสองเมือง กลิ้งหินแข่งขันกัน (จุดหมายปลายทาง คือเขาหินกลิ้ง ในปัจจุบัน) ซึ่งอยู่ระหว่างเมืองจำคานคร และเมืองประคำมีระยะทางประมาณ 15 กิโลเมตร ใครถึงก่อน ให้ลั่นฆ้องกลองสัญญาณให้ทราบ ในการกลิ้งหินครั้งนี้ ทหารของเมืองจอมปราสาท เสียเปรียบมาก เพราะว่าต้องกลิ้งหินจากที่ต่ำ ขึ้นไปที่สูง ส่วนทหารของเมืองประคำนั้น ได้เปรียบ เพราะกลิ้งหินจากที่สูงลงที่ต่ำ

หินที่กลิ้งแข่งขันกัน มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2 - 3 วา เริ่มจากนครของตนเอง ถึงจุดหมายปรายทางคือ “หลักประโคน” ( ปัจจุบันอยู่ในหมู่บ้าน เขาหินกลิ้ง) เป็นเสาหินที่สูงใหญ่ ทาด้วยสีขาว ให้สังเกตเห็นแต่ไกล หลักประโคน ปัจจุบันชำรุดมาก การกลิ้งหินนั้น ทหารจากเมืองจำคานคร ได้กลิ้งไปถึงก่อน พวกนางสนมกำนัล แห่งเมืองไพศาลี จึงเอาเหล้ายา อาหารคราวหวานมาเลี้ยง ในฐานะที่เมืองจำคานครชนะการแข่งขัน ด้วยความดีใจ ทหารแห่งเมืองจำคานคร กลับลืมลั่นฆ้องกลองสัญญาณกันสิ้น ฝ่ายทหารแห่งเมืองประคำ กลิ้งหินมาถึงทีหลัง แต่ทำถูกกติกา คือตีฆ้อง กลอง สัญญาณให้ทราบ เจ้าหญิงสร้อยลัดดากลับเห็นว่า การตัดสินนั้นไม่ยุติธรรม นางจึงวิ่งหนีไป ไม่ยอมอภิเษกกับเจ้าชายจิตเกษม ท้าวไพศาลได้ส่งญาติมาเกลี้ยกล่อมพระราชธิดา พระราชธิดาไม่ยอมกลับ แต่หนีต่อไปอีก ที่เขาโลมนาง ( อยู่ในอำเภอไพศาลี ) 

บนยอดเขาโลมนางนั้น มีแท่นหินตั้งคู่กัน อยู่ทางด้านทิศตะวันตกของยอดเขา เข้าใจว่า พระเจ้าจิตเกษม ใช้เป็นที่ปลอบประโลมนางสร้อยลัดดา แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ พวกญาติก็ตามไปปลอบประโลมอีก นางสร้อยลัดดา ก็เดินหนีอีก กลับมาทางเดิม พอมาถึงวังน้ำแห่งหนึ่ง นางรู้สึกเศร้าโศกเสียใจมาก จึงโดดลงไปในวังน้ำนั้น หมายฆ่าตัวตาย แต่นางสนมและญาติช่วยไว้ทัน

ต่อมา ภายหลัง วังที่นางโดดน้ำนั้นชื่อว่า วังปลาสร้อย พวกญาติช่วยกันปลอบประโลม นางก็เดินกลับเมือง ในระหว่างพระราชธิดาเห็นแก่พระราชบิดา และพระราชมารดา จึงยินยอมอภิเษก กับเจ้าชายจิตเกษม แห่งเมืองประคำ ต่อมา สถานที่นางตกลงใจ ยอมอภิเษกกับเจ้าชายจิตเกษมนั้นชื่อว่า ตะกุดพยอม ต่อมา นางมีพระราชโอรสด้วยกันพระองค์หนึ่ง 

เจ้าชายปราสาททอง แห่งเมืองจอมปราสาท หรือจำคานคร ใคร่ครวญว่า การกลิ่งหินกันในคราวนี้ฝ่ายตนเองเป็นฝ่ายชนะ แต่ทำผิดกติกา จึงถูกปรับให้แพ้ ตรงกับสำนวนที่ว่า “วัวเห็นแก่หญ้า ขี้ข้าเห็นแก่กิน” จึงสั่งลงโทษทหาร ที่กลิ้งหินในครั้งนั้น ด้วยการจองจำใส่ขื่อคา ย่างข่าไฟให้ตายทั้งเป็น เมืองจอมปราสาท จึงเปลี่ยนชื่อเป็นเมืองย่างข่า คำพูดย่างข่าได้กลางเสียงเป็น “ดอนคา”ปัจจุบัน เมืองจำคานคร เมืองย่างข่า ก็คือบริเวณหนึ่ง ของตำบนดอนคานั่นเอง ( เมื่อ พ.ศ.2527 ทางวัดสระโบสถ์ได้ขุดสระ ปรากฏว่า ได้พบโครงกระดูก ประมาณได้ว่า เป็นคนที่รูปร่างสูงใหญ่ เฉลี่ยความสูงไม่ต่ำกว่า 180 ซ.ม. ) 

เจ้าชายปราสาททอง มีความเคียดแค้นเจ้าชายจิตเกษม แห่งเมืองประคำตลอดมา การกลิ้งหิน ผ่านไปประมาณ 1 ปี เจ้าชายปราสาททอง ได้ยกยกทัพกลับไปล้างแคนเจ้าชายจิตเกษม ทั้งสองเมืองสู้รบกันเป็นสามารถ เจ้าชายปราสาททองเป็นฝ่ายชนะ ได้เก็บทรัพย์สมบัติและของมีค่าต่างๆ มากมาย บรรทุกที่หลังช้าง กลับเมืองของตนเอง ขณะที่ช้าง เดินทางถึงประจันตคีรี ( หรือเขาช้างฟุบ ) ช้างที่บรรทุกทรัพย์สมบัติมานั้นหมดแรง ฟุบลงสิ้นใจ ปัจจุบันจะมีหินก้อนใหญ่ ลักษณะคล้ายช้างที่ฟุบอยู่ ภายใต้ท้องช้าง มีอ่างน้ำขังอยู่ตลอดปี แต่เมื่อดื่มแล้ว จะมีกลิ่นเหม็นหื่น คล้ายกลิ่นสาบช้าง

เจ้าชายปราสาททอง จับเจ้าชายจิตเกษมประหารชีวิต และทำลายเมืองประคำย่อยยับไป เมืองประคำ จึงสูญสลายไป เหลือแต่ซากปรักหักพัง เป็นร่องรอยให้เห็น หลังจากนั้น เจ้าชายปราสาททอง ได้รับพระนางสร้อยลัดดา มาเป็นมเหสี โดยมีพระราชโอรสของเจ้าชายจิตเกษม ติดมาด้วย เมื่อการเวลาผ่านไปโอรสของเจ้าชายจิตเกษม ได้ทราบความจริงว่า เจ้าชายปราสาททอง ได้ฆ่าพระราชบิดาของพระองค์ ทั้งทำลายบ้านเมืองของพระราชบิดา แหลกสลาย จึงหนีออกจากเมืองปราสาททอง ไปรวบรวมผู้คนของเมืองประคำ ที่กระจัดกระจายอยู่ ทำการฝึกอาวุธ จนมีความเข้มแข็ง แข็งแกร่งพอ จึงยกทัพมาตีเมืองปราสาททอง(จำคานคร) และได้ชัยชนะในที่สุด เจ้าชายปราสาททองถูกประหารชีวิต เมืองปราสาททองถูกเผาทำลาย (ปัจจุบันยังพอมีหลักฐานให้ศึกษา) 

คนโบราณ ได้เล่าสืบต่อกันมาว่า เนินดินสูงทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ ของหมู่ที่ 5 ตำบลวังแรงติด กับบ้านโคกปราสาท เป็นที่ตั้งเก่า ของเมืองจอมปราสาท

ผลจากการกลิ้งหิน แข่งขันกันในครั้งนั้น ทำให้ตลอดระยะเวลาของการกลิ้งหิน ดินได้ยุบลงเป็นลำธาร ขนาดกว้างพอ ๆ กับเส้นผ่าศูนย์กลาง ของหินที่กลิ้งไป แม้ว่าปัจจุบันนี้ บางตอนจะตื้นเขินไป เพราะชาวไร่ ได้ถากไถทำมาหากิน แล้วปรับพื้นที่ให้เรียบเสมอกัน แต่ทางทิศตะวันตกของบ้านเขาหินกลิ้ง จะปรากฏก้อนหินขนาดใหญ่สามก้อน ก้อนหนึ่งเป็นของเมืองจำคานคร อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ อีกก้อนหนึ่งเป็นของเมืองประคำ อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนหลักประโคนนั้นอยู่ตรงกลาง เมืองไพศาลีนั้นเป็นเมืองของพระราชธิดาสร้อยลัดดา แม้ว่าไม่ถูกทำลายไป แต่ก็ทรุดโทรม ปรักหักพังไปตามกาลเวลา ยังคงเหลือแต่ซาก ให้รู้เท่านั้นว่า เป็นเมืองเก่า




ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ศาลาการเปรียญไม้ทรงโบราณ ที่อำเภอเสาไห้

ตำนาน และประวัติความเป็นมา ของอำเภอเถิน จังหวัดลำปาง

[คติธรรม] คมธรรมของหลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ