ตำนานนิทานพื้นบ้าน เรื่อง นายแรง


ตำนานนิทานพื้นบ้าน เรื่อง นายแรง


กาลครั้งหนึ่ง ในเมืองพัทลุง  มีสามีภรรยาคู่หนึ่ง อยู่ด้วยกันมาเป็นเวลาช้านาน แต่ยังไม่มีลูก ทั้งสอง พยายามบนบานสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพื่อให้มีลูก แต่ทำอย่างไร ก็ไม่สามารถมีลูกได้ จึงพากันไปหาท่านสมภารที่วัด ท่านสมภารจึงแนะนำ ให้ไปหยิบก้อนกรวด ที่ริมบ่อน้ำมาก้อนหนึ่ง ให้นำไปห่อผ้าขาวไว้ใต้หมอน แล้วตั้งจิตอธิษฐานขอลูก ไม่ช้า ภรรยาก็ตั้งครรภ์ กินอาหารได้มากผิดปกติ ยิ่งท้องแก่ ยิ่งต้องเพิ่มอาหารมากขึ้น เมื่อคลอด ทารกเป็นผู้ชาย ชาวบ้านแตกตื่นกันมาดู เพราะทารกโตเกือบเท่าเด็ก 1 ขวบ กินนมแม่อยู่ตลอดเวลา เด็กคนนี้โตวันโตคืน กินอาหารจุ น้ำนมของแม่ไม่พอเลี้ยง ต้องต้มข้าวให้กินมื้อละ 1 กระทะ กินกล้วยครั้งละ 10 หวี  ในที่สุดพ่อแม่ต้องยากจนลง จึงคิดที่จะฆ่าลูกชาย เพราะไม่สามารถจะเลี้ยงต่อไปได้


เช้าวันหนึ่ง พ่อจึงชวนลูกชายไปตัดฟืนในป่า พ่อลงมือโค่นต้นยางขนาดใหญ่ พอต้นยางใกล้จะล้มก็เรียกลูกให้เข้ามารับ จึงถูกต้นยางล้มทับจมลงไปในดิน พ่อคิดว่าลูกคงตายแล้วจึงกลับบ้าน ตกตอนเย็นลูกชายกลับแบกต้นยาง กลับมาวางไว้ที่หน้าบ้าน  ชาวบ้านแตกตื่นกันมาดู ต่างเรียกชื่อเด็กชายคนนี้ว่า “นายแรง”


ครั้งหนึ่ง มีเรือสำเภาเข้ามาค้าขาย พ่อแม่คิดจะฆ่านายแรงอีก จึงได้ฝากนายแรงไปกับเรือสินค้า เรือแล่นออกสู่ทะเลเป็นเวลาหลายวัน อาหารที่มีอยู่จึงไม่พอกิน พ่อค้าจึงหลอกให้นายแรง ลงจับปลาโลมาแล้วแล่นเรือหนีไป แต่นายแรงยังโชคดี ได้พบเรือที่จมอยู่ใต้ท้องน้ำ  จึงกู้เรือนั้นขึ้นแล้วนั่งเรือกลับบ้าน พ่อแม่ของนายแรง เกิดสำนึกผิดที่คิดจะฆ่าลูก ก็เลยเต็มใจเลี้ยงลูก ถึงจะประสบกับความยากจน นายแรงสงสารพ่อแม่ ที่ตนเองเป็นต้นเหตุให้พ่อแม่ยากจน จึงรับอาสาทำงานทุกอย่าง ไม่ว่าชาวบ้านจะขอความช่วยเหลือในเรื่องอะไร เพื่อแลกกับอาหารมาเลี้ยงพ่อแม่


วันหนึ่ง นายแรงจับโจร ที่เข้ามาปล้นวัวควายในหมู่บ้าน ได้ถึง 4 คน ทำให้โจรกลุ่มอื่นๆ หวาดกลัวไม่กล้าเข้ามาปล้นในหมู่บ้านนี้อีก นายแรงจึงเป็นที่รักของชาวบ้านทั่วไป ได้นำวัวควายมาให้นายแรง นำไปเลี้ยง นายแรงนำวัวไปเลี้ยงไว้ ที่เชิงเขาลูกหนึ่ง ปัจจุบันเรียกว่า “เขาหลักโค” (อำเภอกงหรา จังหวัดพัทลุง) ได้นำไก่ไปเลี้ยงไว้ที่เขาลูกหนึ่ง เรียกว่า “เขาหลักไก่” (อำเภอกงหรา จังหวัดพัทลุง) นำควายไปเลี้ยงไว้ที่เกาะใหญ่ เรียกสถานที่นั้นว่า “คอกควายนายแรง” (ตำบลนาโหนด อำเภอเมืองพัทลุง) หมู่บ้านที่นายแรงอยู่ มักมีช้างป่าออกมาอาละวาด ทำลายเรือกสวนไร่นาชาวบ้าน มีจ่าโขลงตัวหนึ่งมีความดุร้ายมาก ออกมาถอนต้นไม้ พังบ้านเรือนราษฎรอยู่เสมอ นายแรง รับอาสาจับช้างตัวนั้น แล้วโยนไปตกที่จังหวัดสงขลากลายเป็นเขาลูกหนึ่ง เรียกว่า “เขาลูกช้าง” (ปัจจุบันเรียกเขารูปช้าง) 


เมื่อพ่อแม่นายแรงเสียชีวิตแล้ว นายแรงได้ย้ายไปอยู่ที่ “เขาหลักโค”  (ตำบลนาโหนด  อำเภอเมืองพัทลุง) นายแรงเป็นคนที่ชอบกินเนื้อแลน (ตะกวด) วันหนึ่ง ๆ กินไม่ต่ำกว่า 10 ตัว วันหนึ่ง นายแรงไปหาแลนที่ตะแพน เขาปู่-เขาย่า ได้พบแลนยักษ์ตัวหนึ่ง นายแรงจึงขว้างด้วยมีดอีโต้ เรียกที่นั้นว่า “ทุ่งอ้ายโต้” แลนแล่นผ่านบ้านลานแยะ บ้านพังดาน บ้านปากเลน เขาโต๊ะบุญ บ้านพังโย ทางที่แลนวิ่งผ่านกลายเป็นคลอง ชาวบ้านเรียกว่า “คลองห้วยแลน” แลนยักษ์ แล่นลอดเข้าไปทางใต้เขาพนมวังก์ ไปซ่อนตัวอยู่ในโพรงหิน ทางด้านทิศตะวันตกของเขาเมือง นายแรงขุดด้วยจอบ โดยมีหมาช่วยขุดคุ้ยหิน ชาวบ้านเรียกตรงนั้นว่า “หินรอยหมากัด” จนถึงเวลาเที่ยงวัน นายแรงยังจับแลนยักษ์ตัวนั้นไม่ได้ จึงใช้ให้หมา ไปเอาข้าวห่อที่บ้านเขาหลักโค ตนเองขุดต่อไป มีก้อนหินมหึมากีดขวางด้ามจอบ นายแรงจึงดันหินนั้น ให้ออกห่างไปทางด้านทิศตะวันตก กลายเป็นเขาอีกลูกหนึ่ง ชาวบ้านเรียกว่า “เขารุน” ส่วนหินที่เกิดจากการขุดคุ้ย ชาวบ้านเรียกว่า “ขี้จอบนายแรง” 


เมื่อนายแรงจับแลนยักษ์ได้ ก็ฟาดกับเขาอีกลูกหนึ่ง เลือดแลนยักษ์ไหลอาบหน้าผา เป็นสีแดงฉาน จึงเรียกเขาลูกนั้นว่า “เขาแดง” (อยู่ในอำเภอเมืองพัทลุง) นายแรง นำมีดอีโต้ที่ชำแหละแลน ไปล้างเลือดที่คลองแห่งหนึ่ง คลองนี้จึงเรียกว่า “คลองอ้ายโต้” นำหนังแลนไปตากที่กลางทุ่งนา ทางทิศตะวันตกของเขาพนมวังก์ ที่นั้นจึงเรียกว่า “ทุ่งขึงหนัง” (อยู่ในอำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง) ไปเอาตะไคร้ที่เขาอีกลูกหนึ่ง ชาวบ้านเรียกเขานี้ว่า “เขาไคร” (อยู่ในอำเภอกงหรา จังหวัดพัทลุง) 


นายแรง มักจะเดินทางไปเอาสิ่งของที่ตนต้องการ ในที่ไกลๆ เพราะเขาไปมารวดเร็ว จึงไปตำน้ำพริก ที่อำเภอปากพะยูน ที่ตรงนั้นจึงเรียกว่า “บางน้ำชุบ” นำเนื้อแลน ไปจิ้มกินที่เขาอีกลูกหนึ่ง ชาวบ้านเรียกว่า “เขาจุ้มโจ้” นายแรง นำเนื้อแลนที่เหลือไปฝากหมาตัวเอง แต่พบว่า หมาขาดใจตายเสียแล้ว ที่คอยังมีข้าวห่อแขวนอยู่ ภายหลังกลายเป็นหิน ชาวบ้านเรียกว่า “เขาหัวหมา” (อยู่ในอำเภอเมืองพัทลุง) ต่อมา นายแรงเป็นห่วงควาย ที่นำไปเลี้ยงไว้ที่เกาะใหญ่ จึงออกเดินทางไปเกาะใหญ่ ได้หุงข้าวต้มไก่ที่แหลมแห่งหนึ่ง ต่อมาเรียกว่า “แหลมไก่ฟู่” (อยู่ในอำเภอปากพะยูน จังหวัดพัทลุง) 


ลมพัดจัด ไม่สามารถหุงข้าวต้มไก่ได้  จึงเลื่อนไปหุงที่ริมเนิน เมื่อกินอาหารเสร็จแล้ว ก็ทิ้งหม้อข้าวหม้อแกงไว้ที่นั้น เรียกที่นั้นว่า “ควนตั้งหม้อ” (อำเภอปากพะยูน จังหวัดพัทลุง)  ต่อมา เมืองขึ้นของไทยทางมลายูเกิดแข็งเมือง นายแรงอาสาไปรบศึกครั้งนี้ด้วย นายแรงเป็นกองหน้าบุกตะลุยข้าศึก จนได้รับชัยชนะ นายทัพฝ่ายไทยเห็นว่า นายแรงมีฝีมือยอดเยี่ยมมีกำลังมาก จึงแต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมือง ครั้งนั้น ทางเมืองนครศรีธรรมราช กำหนดบรรจุพระบรมสารีริกธาตุในเจดีย์ และจัดงานเฉลิมฉลองใหญ่โต บรรดา 12 หัวเมืองปักษ์ใต้ ต่างก็นำเงินทองไปบรรจุในพระบรมธาตุ เมืองที่นายแรงเป็นเจ้าเมือง ก็เป็นเมืองขึ้นนครศรีธรรมราชด้วย  ประกอบกับนายแรง มีความศรัทธาในพุทธศาสนา จึงขนเงินทองเป็นจำนวนมาก ถึงเก้าแสน บรรทุกเรือสำเภา พร้อมด้วยไพร่พล ออกเดินทางไปเมืองนครศรีธรรมราช ขณะกำลังเดินทางเรือสำเภาถูกคลื่นลมชำรุด จึงเข้าจอดเรือ ที่ชายฝั่งหาดทรายแห่งหนึ่ง เพื่อซ่อมแซมเรือ พอได้ทราบข่าวว่า ทางเมืองนครศรีธรรมราช ได้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุเสร็จแล้ว นายแรงเสียใจมาก จึงให้ไพร่พลขนเงินทองบรรจุไว้บนยอดเขาลูกหนึ่ง สั่งให้ลูกเรือตัดหัวของตน ไปวางไว้ที่ยอดเขา นายแรงกลั้นใจตาย ลูกเรือ ต้องจำใจตัดหัวเจ้านาย ไปวางไว้บนยอดเขาตามคำสั่ง เขาลูกนี้ ภายหลังเรียกว่า “เขาแก้วแสน” เสียงเพี้ยนไปเป็น “เก้าเส้ง” ก้อนหินที่ปิดทับอยู่บนยอดเขาเรียกว่า “หัวนายแรง” ชาวบ้านเชื่อว่า ดวงวิญญาณของนายแรง ยังเป็นปู่โสมเฝ้าทรัพย์ อยู่ที่เขาเก้าเส้ง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา มาจนทุกวันนี้





ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ศาลาการเปรียญไม้ทรงโบราณ ที่อำเภอเสาไห้

ตำนาน และประวัติความเป็นมา ของอำเภอเถิน จังหวัดลำปาง

[คติธรรม] คมธรรมของหลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ