ตำนาน พระธาตุอินทร์แขวน (พระธาตุไจ้ก์ทิโย) เมืองไจ้ก์โถ่ อำเภอสะเทิม เขตรัฐมอญ
พระธาตุไจที่โย่
พระธาตุไจที่โย่ หรือที่คนไทยเรียกว่า พระธาตุอินทร์แขวน เป็นเจดีย์ที่จาริกแสวงบุญ ของพุทธศาสนิกชน ตั้งอยู่ในรัฐมอญ ประเทศพม่า เป็นพระเจดีย์ขนาดเล็ก สร้างขึ้นบนก้อนหินแกรนิต ที่ปิดด้วยทองคำเปลว โดยผู้ที่นับถือศรัทธา
เชื่อว่าพระธาตุไจที่โย่ เป็นที่ประดิษฐานพระเกศาธาตุ ของพระโคตมพุทธเจ้า ตั้งอยู่บริเวณหน้าผาสูงชัน บนยอดเขาไจที่โย่อย่างหมิ่นเหม่ เหมือนจะหล่น และท้าทายแรงดึงดูดของโลก โดยไม่ตกลงมา พระธาตุไจที่โย่นับเป็น 1 ใน 5 สิ่งศักดิ์สิทธิ์สูงสุดของชาวพม่า
ปัจจุบัน ผู้หญิงไม่ได้รับอนุญาต ให้เข้าไปด้านในบริเวณพระธาตุ ซึ่งดูแลโดยพนักงานรักษาความปลอดภัย ซึ่งเฝ้าประตูรั้วรอบขอบชิด ผู้หญิง สามารถเข้าออกได้ที่ระเบียงด้านนอก และลานด้านล่างของก้อนหิน
ในภาษามอญ คำว่า ไจก์ แปลว่า "พระเจดีย์" และ เหย่อ แปลว่า "ทูนไว้ข้างบน" ส่วนคำว่า อิซอย มาจากคำว่า ริซิ ในภาษาบาลี) ในภาษามอญแปลว่า "ฤๅษี" ดังนั้น ไจที่โย่ จึงหมายถึง "พระเจดีย์บนศีรษะฤๅษี"
ที่ใดมีสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ที่นั่นย่อมมีเทวดา ผู้เป็นที่เคารพนับถือของชาวเมือง “พระธาตุอินทร์แขวน” ที่คนไทยรู้จัก คนมอญเรียก “เจดีย์ไจก์ทิโย” ก็ด้วย
พงศาวดารมอญ เล่าตำนานสร้างเมืองสะเทิม (ปัจจุบันคือจังหวัดของรัฐมอญ) ว่า สมัยพระพุทธเจ้าเสด็จแสดงธรรม ที่ “ดินแดนสุวรรณภูมิ” (เรียกอาณาจักรทางตอนใต้ บริเวณลุ่มแม่น้ำสาละวิน และแม่น้ำสะโตง ตามเอกสารของจีนและอินเดีย) ได้มอบเกศาธาตุ เป็นสิ่งแทนพระองค์ แก่ประชาชน ฤๅษีตนหนึ่งก็ได้รับ และรักษาไว้ในมวยผม ถึงคราวจะละสังขาร ก็ปรารถนาจะบรรจุเกศาธาตุ ไว้ในหินสักก้อน ที่มีลักษณะคล้ายศีรษะตน จึงแจ้งพระเจ้าติสสะ กษัตริย์ผู้ครองนครสะเทิม (บุตรที่ธิดาพญานาค ฝากให้เลี้ยงแต่เล็ก) ความทราบถึงพระอินทร์ จึงบันดาลให้พบหินขนาดความสูง ๗.๖ เมตร เส้นรอบวง ๑๕ เมตร จากใต้มหาสมุทร แล้วบรรทุกขึ้นเรือ จนได้นำมาวางริมภูผาสูง ต่อมา พระเจ้าติสสะ ให้สร้างเจดีย์ขนาดสูง ๗.๓ เมตร เป็นที่บรรจุพระเกศาธาตุอันศักดิ์สิทธิ์ ตั้งเหนือหินก้อนกลม คล้ายทูนไว้เหนือมวยผมฤๅษี เรียกขานกันในชื่อ “เจดีย์ไจก์ทิโย” ภาษามอญหมายถึง “ศีรษะฤๅษี”
สิ่งน่าอัศจรรย์ คือหินก้อนนั้น ตั้งบนแท่นหินธรรมชาติ ที่ต่างเป็นอิสระจากกัน ปลายสุดของแท่นหินลาดเอียงลงหุบเขาเบื้องล่าง แต่นอกจากก้อนหินจะไม่เอียงกระเท่เร่ ยังทรงตัวอยู่ได้ราวพระอินทร์แขวนไว้ ระหว่างพระเจ้าติสสะสร้างเจดีย์ ได้พบรักและอภิเษกกับ “ชเวนันจิน” ลูกสาวผู้นำชุมชนกะเหรี่ยง ที่มีถิ่นฐานแถวนั้น จึงรับเป็นมเหสีในวัง ครั้นนางตั้งครรภ์แล้วป่วย เชื่อว่า เพราะสมรส โดยไม่ได้ขอขมาผีบรรพชน พระเจ้าติสสะ จึงให้นางกลับบ้านทำพิธี ระหว่างทางในป่า มีเสือกระโจนขวาง พ่อกับพี่ชายวิ่งหนี นางวิ่งไม่ไหว จึงนั่งสมาธิ สวดมนต์ภาวนา จดจ่อสายตา ยังเจดีย์ที่พระสวามีทรงสร้าง ด้วยแรงศรัทธา ในที่สุด เสือก็หนีไป โดยไม่ทำอันตราย ชเวนันจิน ในร่างที่อ่อนล้า ยังกระเสือกกระสนขึ้นเขา จนถึงฐานเจดีย์ไจก์ทิโย ตั้งจิต ขอให้ได้อยู่ใกล้เจดีย์ ที่สร้างโดยพระสวามีตลอดไป ก่อนทอดกายลง สิ้นลมหายใจอย่างสงบ กว่าพระเจ้าติสสะจะเสด็จถึง ศพของนางก็กลายเป็นหิน และวิญญาณ ก็สถิตอยู่ที่นั่น คอยปกปักษ์รักษาองค์เจดีย์ไจก์ทิโย
แต่บ้างก็ว่า ชเวนันจินเอง ก็เกิดจากนางนาคและมนุษย์ ฤๅษีเป็นผู้เก็บไข่ไว้ ครั้นฟักเป็นเด็กหญิง จึงให้ชาวหมู่บ้านกะเหรี่ยงในละแวก เลี้ยงดู ครั้นเติบโต ได้อภิเษกกับพระราชโอรสเจ้าเมืองสะเทิม ต่อมานางป่วยหนัก โหรหลวงทักว่า เพราะทำผิดผี ที่ก่อนแต่งงาน ไม่ได้ขอขมาฤๅษีผู้มีพระคุณ ชเวนันจินจึงจะเดินทางกลับมากราบฤๅษี และองค์เจดีย์ไจก์ทิโย แต่ระหว่างทางถูกเสือไล่ทำร้าย จึงอธิษฐานก่อนสิ้นใจบริเวณฐานเจดีย์ว่า ขอให้ดวงวิญญาณ ได้วนเวียนอยู่แถวนี้ คอยช่วยเหลือ ผู้ที่จะเดินทางมากราบไหว้เจดีย์ไจก์ทิโย
นอกจากรูปปั้นฤๅษี บริเวณทางขึ้นองค์เจดีย์ จึงมีศาลาเทพารักษ์หลังหนึ่ง ภายในมีรูปปั้น “สตรีกะเหรี่ยง” นอนรอให้ผู้มาเยือนอธิษฐาน-สัมผัสกาย ด้วยศรัทธาว่า หากเจ็บปวดเมื่อยล้าส่วนใด ได้ลูบร่างกายส่วนนั้น ของนางชเวนันจิน อาการเจ็บป่วยจะบรรเทา หรือหายไป เพราะได้รับการปัดเป่า-โอนถ่ายไว้ที่นางแทน
แม้เป็นเพียงเรื่องเล่า ชาวบ้านก็เชื่อ อาจเพราะตำนาน อ้างจากสถานที่มีจริง อย่างเรือที่ใช้ขนส่งก้อนหินรูปศีรษะฤๅษี จากท้องทะเลลึก ก็กลายเป็นหิน ตั้งอยู่ห่างองค์เจดีย์ไจก์ทิโย ประมาณ ๓๐๐ เมตร รู้จักกันในชื่อ “เจดีย์เจาะตานบาน” ภาษามอญหมายถึง “เจดีย์เรือหิน”
ก้อนหินสีทอง ที่มีการสร้างพระเจดีย์ขนาดเล็กไว้ด้านบน มีความสูงประมาณ 25 ฟุต (7.6 เมตร) และมีเส้นรอบวง 50 ฟุต (15 เมตร) พระเจดีย์เหนือหินมีความสูงประมาณ 7.3 เมตร (24 ฟุต) ก้อนหิน ตั้งอยู่บนแท่นหินธรรมชาติ ที่ดูเหมือนเป็นฐานของพระธาตุ ตั้งอยู่บนระนาบที่เอียง และบริเวณที่สัมผัส มีขนาดเล็กมาก ก้อนหินและฐานหิน เป็นอิสระจากกัน ก้อนหินสีทอง มีส่วนที่ยื่นออกไปครึ่งหนึ่งของความยาว และตั้งอยู่ที่ปลายสุดของพื้นผิว ที่ลาดเอียงของฐานหิน ที่ชันดิ่งลงไปในหุบเขาเบื้องล่าง มีรูปประดับกลีบบัวสีทอง ล้อมรอบฐานหิน ก้อนหิน ดูลักษณะเหมือนจะล้มลงมาทุกขณะ บันไดสู่พระธาตุ มีอาคารซับซ้อนหลายรูปแบบเช่น ลาดดาดฟ้าชมทิวทัศน์, เจดีย์ต่าง ๆ, วิหารประดิษฐานพระพุทธรูป และศาลนะ (หรือวิญญาณ) เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม พระธาตุไจที่โย่ เป็นแหล่งท่องเที่ยวหลักสำหรับผู้แสวงบุญ ที่สวดมนต์และปิดทองบนพระธาตุด้วยความศรัทธา ห่างออกไปเล็กน้อยมีฆ้องตั้งอยู่ บริเวณกลางลานเป็นเสาหงส์ มีระฆังและรูปปั้นเทวดา กับนะทั้งสี่ทิศล้อมรอบเสา ลานหลัก ใกล้กับพระธาตุ มีการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา และถวายเครื่องบูชาของผู้แสวงบุญ ที่อยู่ติดกับลาน คือหมู่บ้านที่มีร้านอาหาร ร้านขายของกระจุกกระจิก และเกสต์เฮาส์ มีการทำระเบียงขึ้นใหม่ ตามชั้นของเนินเขา ซึ่งผู้เข้าชม สามารถมองเห็นทัศนียภาพของพระธาตุ
พระธาตุไจที่โย่ ตั้งอยู่บริเวณรอยต่อ ระหว่างอำเภอไจโท จังหวัดสะเทิม รัฐมอญ กับอำเภอชเวจีน จังหวัดพะโค ภาคพะโค ใกล้ชายฝั่งตะนาวศรีตอนเหนือ ตั้งอยู่ที่ระดับความสูง 1,100 เมตร (3,609 ฟุต) เหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง บนยอดเขาไจที่โย่ (ยังเป็นที่รู้จักกัน ในนามเนินเขาเคลาซาหรือทิวเขาโยมาตะวันออก) อยู่บนสันเขาปองลอง ของทิวเขาโยมาตะวันออก ห่างจากนครย่างกุ้งประมาณ 210 กิโลเมตร (130 ไมล์) และห่างขึ้นมาทางเหนือ จากเมาะลำเลิง เมืองหลักของรัฐมอญ 140 กิโลเมตร (86 ไมล์) หมู่บ้านกีนมู่น 16 กิโลเมตร (10 ไมล์) ตั้งอยู่ที่ฐานของภูเขาไจที่โย่ เป็นเส้นทางเริ่มต้นในการเดินทาง ขึ้นไปพระธาตุไจที่โย่ ตลอดเส้นทาง มีก้อนหินแกรนิตบนภูเขาหลายแห่ง ที่ตั้งอยู่ในสภาพหมิ่นเหม่
สถานีสุดท้าย รู้จักในชื่อ ยาเตตอง เป็นจุดสุดท้าย สำหรับการจราจรยานพาหนะ จากนั้นผู้แสวงบุญและนักท่องเที่ยว จะต้องขึ้นไปพระธาตุ ด้วยการเดินเท้าหรือขึ้นเสลี่ยง จากจุดหยุดรถยาเตตอง ขึ้นไปบริเวณพระธาตุ มีร้านค้าขนาดเล็กตามทางริมสองฝั่ง ด้านบนของภูเขา มีรูปปั้นชินเต คล้ายสิงโตขนาดใหญ่สองตัว คอยเฝ้าประตูทางเข้าพระธาตุ
เมื่อจะลอดซุ้มประตูสู่เจดีย์ ขนาบข้างรูปปั้นสิงห์ ๒ ตัว รู้กันว่า ต้องเตรียมถุงใส่รองเท้าพกติดตัว เนื่องจากชาวมอญ พม่า หรือกะเหรี่ยง ล้วนเคารพต่อพุทธศาสนา ไม่ว่าแดดร้อน เสี่ยงเท้าพองเพียงใด ต้องเดินเท้าเปล่า เข้าเขตพุทธสถาน สุดทางถนน ที่อนุญาตให้ชาวบ้านตั้งร้านค้า จะมีบันไดขึ้นสู่เขตเจดีย์อีกครั้ง คราวนี้ มีรูปปั้นหงส์ ๒ ตัว ประดับเหนือเสาประตู สะท้อนวัฒนธรรมมอญ แม้ยืนบนแผ่นดินมอญ แต่เอาเข้าจริง ปรากฏลมหายใจของชาวพม่า ปะปนกะเหรี่ยงมากกว่า
อาจเพราะพื้นที่ ๔,๗๔๗.๘ ตารางไมล์ ของ “รัฐมอญ” แบ่งเป็น ๒ จังหวัด คือ สะเทิม มี ๔ อำเภอ ตั้งอยู่ทิศเหนือ จากปากแม่น้ำสาละวิน และมะละแหม่ง มี ๖ อำเภอ ตั้งอยู่ทิศใต้ จากปากแม่น้ำสาละวิน ไม่เพียงอยู่ในแผนที่สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา จังหวัดสะเทิม ยังมีพื้นที่ทับซ้อนจังหวัดดูตะทู ของกองทัพกะเหรี่ยง KNLA กองพลน้อยที่ ๑ ภายใต้สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง KNU เช่นเดียวกับจังหวัดมะละแหม่ง ก็ซ้อนกับด้านตะวันตก ของจังหวัดดูปลายา ในที่ของกองทัพกะเหรี่ยง KNLA กองพลน้อยที่ ๖ แต่แง่การดำเนินชีวิต กาลครั้งไหน ชาวบ้านตาดำๆ ทั้งสามแผ่นดินมอญ พม่า กะเหรี่ยง ก็ไม่เคยแยกขาดความสัมพันธ์ จึงไม่ใช่เรื่องใหญ่ ที่มีรูปปั้นมเหสีชาวกะเหรี่ยง ร่วมเขตพุทธสถานสำคัญของรัฐมอญ
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น