ตำนานดินแดนช้างเผือก เมืองแสนล้านช้าง ประวัติอำเภอพนมไพร


 ตำนานดินแดนช้างเผือกประวัติอำเภอพนมไพร


อำเภอพนมไพร เคยเป็นดินแดนที่ได้ชื่อว่า มีช้างเผือกมาก  จากคำบอกเล่านั้นกล่าวกันว่า อาชีพดั้งเดิมของบรรพบุรุษ คือการทำนาและเลี้ยงช้าง โดยเสร็จจากฤดูการทำนา  ชาวเมืองแสน จะข้ามโขงไปคล้องช้าง  เพื่อนำมาใช้งาน ซึ่งใช้ทั้งไถนาและเป็นพาหนะ    ในการคล้องช้างนั้น เคยคล้องได้ช้างเผือกหลายเชือก  จนกล่าวกันว่า เมืองแสน คือดินแดนช้างเผือก  หรือเมืองแสนล้านช้าง เพราะมีช้างมาก  คำบอกเล่า แห่งความเป็นดินแดนช้างเผือก นับเป็นความภาคภูมิใจ ของชาวอำเภอพนมไพรในปัจจุบันเป็นอย่างยิ่ง  หลักฐานที่กล่าวถึงช้างเผือก ของเมืองแสนล้านช้างนั้น มีดังนี้

พ.ศ.  2405  ในเดือน 4  พระรัตนวงศาอุปฮาด ราชวงศ์เมืองสุวรรณภูมิ  คล้องได้ช้างพังสีประหลาดช้าง  1   ที่กระแจป่าฉมาตฉะบา  แขวงข่าลัดแด  สูง  3 ศอก  1 คืบ  9  นิ้ว  ฝึกหัดเชื่องราบแล้วเดินช้างมาถึงจันทรเกษม วันเสาร์เดือน 4  ขึ้น 11 ค่ำ  พักช้างอยู่ที่วังจันทรเกษม แล้วเสด็จขึ้นไปสมโภช  3 วัน 3 คืน แล้วเสด็จพระราชดำเนิน กลับลงมารับคำสั่งว่า  ช้างนี้ จะจัดเอาเป็นช้างโทก็ได้  โปรดให้ปลูกโรงสมโภช หน้าพระที่นั่งสุทไธศวรรค์ เหมือนอย่างพระศรีเศวตวิมลวรรณ และให้ปลูกโรงอยู่ต่อ ยืนโรงพระเศวตวิมลวรรณอีกหลังหนึ่ง  เจ้าพนักงานได้เร่งรัดกัน ทำโรงสมโภชและโรงอยู่

ลุศักราช  1225  ปีกุน  เบญจศก  ปีที่ 13  โรงช้างทำแล้ว ช้างได้ลงแพ ล่องลงมาถึงวัดเขียน ณ  วันพฤหัสบดีเดือน  5  ขึ้น  15  ค่ำ  ได้เสด็จพระราชดำเนิน ขึ้นไปรับมาถึงท่าพระ  ครั้น ณ  วันศุกร์ เดือน 5  ขึ้น  15  ค่ำ  ได้แต่งช้างสีประหลาด ลงไปรับทุกๆ ช้าง  แล้วเสด็จไปรับที่ท่าพระด้วย ตามถนนที่แห่ช้างมานั้น มีราชวัติฉัตรเบญจรงค์ ปักรายขึ้นมาถึงโรงสมโภช  ครั้นเวลาบ่าย พระสงฆ์สวดพระพุทธมนต์  มีการมหรสพทำขวัญ 3  วัน  3  คืน  ช้างนั้น ถ้าจะประสมสี ๆ  เหลืองเป็นพื้น  เจือแดงเจือฝุ่นน้อย  จารึกนามในท่อนอ้อยว่า  




“พระเศวตสุวรรณภาพรรณ สรรพางคพิบูลยลักษณ บรมราชรัตนราชกริณี ยิ่งอย่างดีศรีพระนคร สุนทรสุรโสภณ มิ่งมงคลคชคุณ อดุลบกิริยามารยาท ช้าช้างชาติอุโบสถ ลักษณะปรากฏพร้อมมูล บริบูรณบัณฑรนับเนตร โลมเกศกายฉวีวรรณ ศรีทองผ่องแผ้ว เป็นกุชรีแก้ว กำเนิดพรหมพงศ์ราชบารมี สมเด็จพระสยามาธิบดี ปรเมนทรมหาราช วรวิลาสเลิศฟ้า”    

พระราชทานให้ช้าง รับต่อพระหัตถ์  เสด็จการสมโภช ตั้งชื่อแล้วก็แห่เข้ามาผูกยืนโรง ไว้ที่ท่าใหม่  สวดมนต์ทำขวัญ  3  วัน  แล้วพระราชทานเสื้อผ้า เครื่องอุปโภคบริโภค ให้พระรัตนวงศา และหมอควานกับเงิน  10  ชั่ง 

พ.ศ. 2414  ชาวเมืองแสน ได้ไปต่อช้างที่ชะมาดชะบา บ้านพอกข่าระแด  แขวงจำปาศักดิ์ คล้องได้ช้างพลายสีประหลาด  สูง  3  ศอกเศษ เพียมหาเสนา และเพียขุนอาจหัวหน้ากอง จึงมีใบไปบออกพระรัตนวงศา (คำผาย)  เจ้าเมืองสุวรรณภูมิ  พระรัตนวงศา (คำผาย) จึงมีใบไปบอกกรุงเทพฯ ต่อ   จึงโปรดเกล้าฯ  ให้พยาเหมสมหาร เจ้าเมืองราชสีมา  มาตรวจดู เห็นถูกต้องตราคชศาสตร์ จึงโปรดเกล้าฯ  ให้รับช้างไว้  มีมหกรรมสมโภชขึ้น ระวางขนานนามว่า พระเศวตสุวรรณาภาพรรณ  ตั้งให้หมอช้าง เป็นขุนเศวตสารศรี 

(ต้นตระกูลจันทร์พิทักษ์) บริเวณที่นำช้างมาเลี้ยงไว้ รอคำสั่งจากเมืองสุวรรณภูมินั้น คือบริเวณวัดป่าอัมพวัน หรือวัดประชาธรรมรักษ์ บริเวณโนนที่เลี้ยงช้างเผือก มีชื่อเรยกว่า โนนช้างเผือก หรือคุ้มโนนศิลาเลข หมู่ที่ 3 ตำบลพนมไพรในปัจจุบัน  

        อำเภอพนมไพร เป็นเมืองที่มีประวัติความเป็นมาที่ยาวนาน จากหลักฐานทางด้านเอกสาร และประวัติบอกเล่า อำเภอพนมไพร มีพัฒนาการ และการสร้างบ้านแปลงเมือง แบ่งออกเป็น  4  สมัย  คือ




1.สมัยบ้านจะแจ หรือบ้านแก บริเวณอำเภอพนมไพรเดิม เป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรขอมโบราณ  ชนกลุ่มแรก ที่อพยพมาตั้งหลักแหล่ง คือชาวข่าจะแด   ซึ่งเป็นกลุ่มชนจากแถบอีสานตอนใต้ มาตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณชายทุ่งใหญ่ ด้านทิศไต้เมืองในปัจจุบัน ชาวข่าตั้งชื่อเมืองของตนเองว่า เมืองยางคะบุรี  ปัจจุบันเป็นบ้านโนนม่วง  ต.นานวล ต่อมา เมื่อมีพลเมืองมากขึ้น จึงมีการขยายบ้านเมือง มาอยู่ทางดอนทิศเหนือเมืองเดิม และตั้งชื่อบ้านที่ขยายมาอยู่ใหม่ว่า บ้านจะแจ  ซึ่งเป็นภาษาชาวข่า  และบ้านจะแจนี้ ถือว่าเป็นจุดกำเนิดของอำเภอพนมไพร

เมื่อพระพุทธศาสนา เข้าสู่แหลมสุวรรณภูมิ พระพุทธรักขิต สาวกของพระมหากัสสปะ ได้เดินทางไปเผยแผ่ศาสนา ที่เมืองอินทะปัฐถานคร จนเจริญรุ่งเรือง แล้วมอบหมายให้สาวกของพระองค์ คือพระครูมหารัตนชัยยะ กับพระครูมหาปะสมัน เดินทางมาเผยแผ่ศาสนา ที่เมืองมรุกขนคร เมื่อพระครูทั้งสอง เดินผ่านมายังบ้านจะแจ จึงหยุดพักค้างคืน ชาวบ้านจะแจเห็นพระสงฆ์ จึงพากันถวายจังหันและฟังธรรม พร้อมกับนิมนต์พระสาวกทั้งสอง ให้อยู่สั่งสอนชาวบ้านต่อไป  

พระครูรัตนชัยยะ จึงให้พระครูมหาปะสมันอยู่ที่หมู่บ้านก่อน ตามที่ชาวบ้านนิมนต์  และได้สร้างวัดขึ้นเพื่อเป็นที่พำนัก ชื่อวัดปะสมัน (วัดกลางอุดมเวทย์)  ลูกหลานชาวบ้านจะแจ จึงได้บวชเรียนเป็นจำนวนมาก  แล้วพระครูมหาปะสมัน จึงเดินทางไปเมืองมรุกขนคร




ชนกลุ่มที่สอง ที่เดินอพยพมาบริเวณบ้านจะแจ คือชาวลาว เมื่อพระเจ้าจันทบุรีสิ้นพระชนม์ เชื้อพระวงศ์กับอำมาตย์ แย่งราชสมบัติ พระครูลูกแก้ว  หรือพระครูยอดแก้ว หรือพระครูหลักคำ เป็นผู้ที่สำเร็จวิปัสสนากรรมฐาน ที่ได้รับความเคารพยำเกรง จากชาวเวียงจันทน์เป็นจำนวนมาก เจ้าเมืองเวียงจันทน์เกรงว่า จะเป็นภัยต่อตนเอง จึงหาทางกำจัด  พระครูลูกแก้วและญาติโยมสานุศิษย์ หนีจากเมืองเวียงจันทน์  ในจำนวนนี้มีท้าวผุย ท้าวผายสองพี่น้อง เป็นเชื้อพระวงศ์ของเจ้าเมืองเวียงจันทน์องค์ก่อน ตามมาด้วย     เมื่อมาถึงบ้านจะแจ ชาวบ้านเห็นพระภิกษุและญาติโยมจำนวนมาก จึงสอบถามข่าวคราว ที่เดินทางมานั้น  พระครูลูกแก้ว เล่าเหตุการณ์ และความเป็นมาของการเดินทางให้ทราบ ชาวบ้านสงสาร จึงนิมนต์ให้อยู่ที่วัดปะสมัน   ส่วนญาติโยมสานุศิษย์ ก็ให้ตั้งบ้านเรือน อยู่อาศัยได้ตามความสะดวก ชาวลาวและชาวข่า จึงเป็นเสมือนเครือญาติ พึ่งพาอาศัยกัน  จำนวนครอบครัวลาวเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก  จึงมีชื่อเรียกตามภาษาลาวว่า บ้านแก ซึ่งปัจจุบันคือคุ้มแก

2.สมัยเมืองแสนล้านช้าง ต่อมา เมื่อหัวหน้าชาวข่าได้ถึงแกกรรม พระครูลูกแก้ว จึงตั้งท้าวผุยเป็นหัวหน้าหมู่บ้านแทน ชาวบ้านต่างถิ่น พากันมาพึ่งบุญบารมีของพระครูลูกแก้ว จนบ้านแก มีพลเมืองครัวเรือนมาก พอที่จะสร้างเป็นเมืองได้ พระครูลูกแก้ว ท้าวผุย  ท้าวผาย  จึงปรึกษากับชาวบ้านว่า ดอนบ้านแกเป็นดอนใหญ่ พอที่จะสร้างเป็นบ้านเมืองได้ แต่หน้าฝน น้ำชีไหลหลากมาท่วม  หน้าแล้งน้ำแห้ง จึงควรขุดหนองบึงรอบดอน เอาดินมากลบมาถมให้สูง และถมเป็นรูปจรเข้ เพราะเป็นสัตว์ที่มีอำนาจ ทั้งทางบกและทางน้ำ สามารถปรับตัวตามสถาณการณ์ พื้นที่ของเมือง จึงเป็นรูปจรเข้ นอนคว่ำหันหัวไปทางทิศตะวันตก  การถมพื้นที่นี้ ทำให้เกิดหนองบึงขึ้นรอบๆ เมืองหลายแห่งคือ  

ทิศเหนือ หนองขวัว

ทิศตะวันออก หนองสม

ทิศตะวันตก หนองฮี   หนองหว้า  หนองหลุบ  หนองแนบ

ทิศไต้ หนองโผ่  หนองดินแดง  หนองหิน  หนองศิลาเลข

กลางเมือง หนองผำหรือสระโชติเสถียร (ปัจจุบัน เป็นที่ตั้งสถานีขนส่ง) หนองสระเจ้าปู่ หรือหนองสระขี้ลิง

เมื่อจัดการกับบ้านเมืองเรียบร้อยแล้ว พระครูลูกแก้ว จึงนำข้าราชบริภาร การมีผ้าขาว ดอกไม้เงิน  ดอกไม้ทอง  ช้างพลาย  ช้างพังจำนวนหนึ่ง  ให้ท้าวผุย  ท้าวผาย  จารย์สมศรี  คุมไพร่พล  ชาวบ้านแก นำไปถวายกษัตริย์เวียงจันทน์ และขอเป็นเมืองขึ้น เจ้านครเวียงจันทน์ จึงตั้งบ้านแกเป็นเมืองแสน และให้เรียกเมืองแสนล้านช้าง หรือล้านช้าง ตามชื่ออาณาจักรล้านช้าง อันมีเวียงจันทน์เป็นเมืองหลวง ให้ท้าวผุย ซึ่งเป็นเชื้อพระวงศ์ของกษัตริย์เวียงจันทน์เป็นเจ้าเมือง  พระราชทานชื่อว่า พระยาชัยแสนสุริยวงศ์  ให้ท้าวผายเป็นอุปฮาด  จารย์สมศรี  เป็นราชวงศ์




ด้านเมืองยางคะบุรี ซึ่งเป็นเมืองของชาวข่ากลุ่มแรกเห็นว่า ชาวลาวเมืองแสน ไม่ได้ส่งส่วยให้เมืองยางคะบุรี จึงให้ทหารมาทวงส่วย พระยาชัยแสนสุริยวงศ์ไม่ยินยอม เกิดรบกันขึ้น ทัพข่าแพ้ ตกใต้อำนาจเมืองแสน เมื่อบ้านเมืองสงบเรียบร้อย พระครูลูกแก้วและพระยาชัยแสนสุริยวงศ์  จึงบูรณะปฎิสังขรณ์วัดปะสมัน และเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นวัดโพธิ์ เมื่อสิ้นสมัยพระครูลูกแก้ว และพระยาชัยแสนสุริยวงศ์แล้ว เจ้านครเวียงจันทน์ จึงตั้งท้าวผาย เป็นเจ้าเมืองสืบแทน และจัดตั้งบุตรหลานของพระยาชัยแสนสุริยวงศ์ เป็นเจ้าเมืองต่อมา อีกหลายชั่วคน ในสมัยนี้นับว่า เป็นสมัยที่บ้านเมืองร่มเย็นเป็นสุข

3.สมัยบ้านเมืองแสน สมัยกรุงธนบุรีของไทย เวียงจันทน์สูญเสียอำนาจ ตกอยู่ในความปกครองของกรุงธนบุรี พลเมืองของเมืองแสนล้านช้าง ถูกกวาดต้อนไปกับกองทัพ ของพระเจ้าพระยาจักรกรี  (พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ) พร้อมกับเจ้าเมือง  บ้างก็หลบหนีสงคราม  สภาพของเมืองแสน จึงเป็นเมืองร้าง ขาดการเป็นเมืองขึ้นนของเวียงจันทน์ ตั้งแต่นั้นมา เมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรี จัดการบ้านเมืองทางเวียงจันทน์ และจำปาศักดิ์เรียบร้อยแล้ว จึงโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งเมืองแสนเป็นกองนอก ให้เพี่ยมหาเสนากับเพี่ยขุนอาจ เป็นหัวหน้ากอง ทำบัญชีทางทหาร นำเงินค่ารัชชูปการ ส่งต่อข้าหลวงต่างพระองค์ ผู้สำเร็จราชการเมืองจำปาศักดิ์ ลดฐานะจากบ้านเมืองเรียกว่า บ้านเมืองแสน อยู่ในเขตการปกครองของนครจำปาศักดิ์ ในระหว่างนี้ ได้มีผู้อพยพจากเมืองศรีสะเกษ มีท้าวแสนเมืองเป็นหัวหน้ากลุ่ม ได้มาตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณบ้านโปง ริมฝั่งแม่น้ำชี แต่เห็นว่าทำเลไม่เหมาะสม จึงอพยพผู้คนส่วนหนึ่ง มาตั้งหลักแหล่งที่บ้านเมืองแสน ท้าวแสนเมือง ได้นำพาชาวบ้าน พัฒนาบ้านเมือง ให้กลับสู่สภาพชุมชนอีกครั้งหนึ่ง  นอกจากนี้ ยังมีพระภิกษุอีกรูปหนึ่ง เดินทางมาจากเมืองมรุกขนคร ได้มาเป็นเจ้าอาวาสวัดโพธิ์  พระภิกษุรูปนี้ มีความรู้ทางด้านไสยศาสตร์ และพระธรรมวินัยอย่างแตกฉาน สามารถรักษาโรคต่างๆได้ ประชาชนจึงหลั่งไหลมารักษา เมื่อหายขาดแล้ว จึงตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านเมืองแสน ทำให้บ้านเมืองแสน มีพลเมืองมากขึ้น

ต่อมา สมัยรัตนโกสินทร์  เมืองจำปาศักดิ์และเมืองสุวรรณภูมิ ได้แบ่งเขตแดนรับผิดชอบทางการปกครอง บ้านเมืองแสน ได้เข้ามาอยู่ในเขตการปกครองแขวงสุวรรณภูมิ

4.สมัยพนมไพรแดนมฤค พ.ศ. 2415  พระยารัตนวงศา  (คำผาย) เจ้าเมืองสุวรรณภูมิถึงแก่กรรม ยังมิได้โปรดเกล้าฯ ตั้งผู้ใดสืบแทน  จนถึง  พ.ศ. 2420  พระยาอำมาตย์ธิบดี   (หรุ่น  ศรีเพ็ญ)  ไปราชการที่กรุงเทพฯ  ราชวงศ์  (คำสิงห์) น้องชายพระยารัตนวงศา  (คำผาย)  กับหลวงรัตนวงศา  (บุญตา)  ควรแยกให้เป็นอีกเมืองหนึ่ง ทรงกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกฐานะเป็นบ้านโปง แขวงสุวรรณภูมิ ขึ้นเป็นเมืองมโนไพรแดนมฤค ต่อมา ข้าหลวงต่างพระองค์ ผู้สำเร็จราชการเมืองจำปาศักดิ์เห็นว่า เมืองมโนไพรแขวงสุวรรณภูมิใหม่ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อใหม่ เป็นพนมไพรแดนมฤค พระราชทานเครื่องยศตามธรรมเนียม ปรากฏในหลักฐานว่า   




ในปีขาลสัมฤทธิศก  จุลศักดิ์  1240 (พ.ศ.2421)  โปรดเกล้าฯ  ตั้งหลวงรัตนวงศา (บุญตา)  เป็นพระดำรงฤทธิ์ไกร  เจ้าเมืองพนมไพรแดนมฤค  ยกฐานะบ้านโปง ขึ้นเป็นเมือง พระราชทานถาดหมาก ปากกลีบบัวถมตะทอง  เครื่องในทอง 1  คนโฑทอง  1  กระโถนถม  1   กระบี่บั้งทอง  1  สัปทน ปัสตูแดง  1   เสื้อเข้มขาบริ้ว  1  แพรสีทับทิมติดขริบ  1  แพรขาวห่มเพลาะ   1  ผ้าม่วงจีน  1  เป็นเครื่องยศ

พระดำรงฤทธิ์ไกร (บุญตา)  ได้พาครอบครัว ไปตั้งเมืองพนมไพรแดนมฤค ที่บริเวณบ้านเมืองแสน  ห่างจากบ้านโปงประมาณ  300  เส้น  ตั้งท้าวสุวรรณราช เป็นว่าที่อุปฮาด  หลวงราชเป็นเพียเมืองจัน  หลวงศรีวิเศษ เป็นเพียเมืองปาว  ขุนอาจเป็นเพียเมืองขวา  ดูแลราชการเมืองพนมไพนเมืองมฤค

พ.ศ. 2431  พระยารัตนวงศา  (คำสิงห์) เจ้าเมืองสุวรรณภูมิถึงแก่กรรม จึงโปรดเกล้าฯ  ให้พระราชดำรงฤทธิ์ไกร (บุญตา) ไปเป็นข้าหลวง ช่วยกำกับราชการเมืองสุวรรณภูมิ ให้ท้าวสุวรรณราชการ เป็นเจ้าเมืองพนมไพรแดนมฤค  

เมืองพนมไพรแดนมฤค มีเจ้าเมือง  3  คน  คือ 

1. พระดำรงฤทธิไกร  (บุญตา) พ.ศ.2421  -  2431

2. ท้าวสุวรรณราช (หลวงอุปฮาด) พ.ศ.2431  -  2444

3. ท้าวโพธิสาร  วงศ์  ณ  รัตน์  พ.ศ.2444  -  2455

พ.ศ. 2455  ตั้งมณฑลร้อยเอ็ด ให้เมืองพนมไพร ขึ้นกับมณฑลร้อยเอ็ด จนถึง พ.ศ. 2475  เปลี่ยนแปลงการปกครอง ยุบมณฑลต่างๆ เมืองพนมไพรเป็นอำเภอพนมไพร และให้ตัดคำว่าแดนมฤคออก เป็นอำเภอพนมไพร ขึ้นกับจังหวัดร้อยเอ็ด จนถึงปัจจุบัน





ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ศาลาการเปรียญไม้ทรงโบราณ ที่อำเภอเสาไห้

ตำนาน และประวัติความเป็นมา ของอำเภอเถิน จังหวัดลำปาง

[คติธรรม] คมธรรมของหลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ