ตำนานเขาสาปยา (เขาสรรพยา ต.สรรพยา อ.สรรพยา จ.ชัยนาท)
ตำนานเขาสรรพยา ต.สรรพยา อ.สรรพยา จ.ชัยนาท
ตํานานเขาสาปยา คือตำนานที่อยู่คู่กับเมืองชัยนาท มาอย่างยาวนาน และเป็นที่มาของชื่อ "เขาสรรพยา" ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นภูเขาที่มีความใหญ่โตมากที่สุดของจังหวัดชัยนาท
เขาสรรพยา เป็นภูเขาลูกโดด ตั้งเด่นอยู่กลางทุ่งนา เป็นที่ตั้งของวัดเขาสรรพยาบูรณาราม ตั้งอยู่ในเขตหมู่ 1 ตำบลสรรพยา อำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท ห่างจากตัวอำเภอประมาณ 3 กิโลเมตร บนเขามีพระอุโบสถ เจดีย์ และศาลาการเปรียญ อันเป็นโบราณสถานเก่าแก่ และยังมีถ้ำหลายแห่ง ลานกว้างบนยอดเขาเรียกว่า "ลานตะกร้อ" มีตันสังกรณีตรีชวา ต้นไม้ในเรื่องรามเกียรติ์ขึ้นอยู่ เมื่อขึ้นบันไดไปราว 200 ขั้น จะพบรูปปั้นหมุนมาน ซึ่งแกะสลักจากหินขนาดใหญ่บนยอดเขา มองลงมาจากข้างบน จะเห็นทิวทัศน์ธรรมชาติของท้องทุ่งดูสวยงาม
ชื่อของตำบลและอำเภอสรรพยา มีความเกี่ยวข้องกับวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์ เช่นเดียวกับชื่อของท้องถิ่นอื่นๆ ในบริเวณเขตจังหวัดใกล้เคียง เช่น เมืองลพบุรี ทุ่งพรหมาสตร์ ทะเลชุบศรในจังหวัดลพบุรี
ทุ่งพรหมาสตร์ ตามตำนานกล่าว่า พระรามทรงแผลงศรพรหมาสตร์ ให้หนุมานตามไป เพื่อที่จะสร้างเมืองให้หนุมาน ณ ที่ศรตก ปรากฏว่าศรตกที่ทะเล ทำให้น้ำทะเลแห้งเป็นบริเวณกว้าง พื้นที่นั้น จึงเรียกว่าทุ่งพรหมาสตร์ ดินบริเวณนั้น ร้อนจนสุก กลายเป็นดินสีขาว เรียกว่าดินสอพอง ศรพรหมาสตร์กลายเป็นแท่งหิน ที่เราเห็นอยู่ที่ศาลลูกศรในปัจจุบัน และสถานที่ในลพบุรีอีกหลายแห่ง ที่มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับหนุมาน
จากตำนานการสร้างเมืองลพบุรี เป็นสิ่งที่อธิบายความเป็นมาของเมืองลิงที่ว่า ลิงลพบุรีคือบริวารของหนุมาน ในอดีต ยังไม่ค่อยมีลิงอาศัยอยู่ แต่ปัจจุบัน มีลิงอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก และมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมชม ทั้งโบราณสถานและลิง
ลิงลพบุรี ลโวทยปุระ เมืองโบราณ ที่เป็นศูนย์กลางอารยธรรมขอม หรือเขมรโบราณ ในลุ่มแม่น้ำลพบุรี ภาคกลางของประเทศไทย ที่ปรากฏชื่อบ้านนามเมือง ในจารึกปราสาทพระขรรค์ ประเทศกัมพูชา มีสถาปัตยกรรมขอม สมัยพุทธศตวรรษที่ 18 ที่โดดเด่นคือ พระปรางค์สามยอด โบราณสถาน ซึ่งเป็นศาสนสถาน สร้างขึ้นตามคติความเชื่อ ในศาสนาพุทธนิกายมหายาน ซึ่งปรางค์ประธาน ประดิษฐานพระพุทธรูปหินทราย ปางนาคปรก ปัจจุบันเก็บรักษาและจัดแสดง อยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์ ปรางค์ด้านทิศเหนือ ประดิษฐานพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ซึ่งปัจจุบัน พระวรกาย ประดิษฐานอยู่ที่ศาลพระกาฬ แต่เศียรหายไป จึงมีผู้นำเศียรพระพุทธรูป ในสมัยอยุธยามาสวมแทน ปรางค์ด้านทิศใต้ประดิษฐานพระนางปรัชญาปารมิตา
ทะเลชุบศร มีตำนานมีที่ไปที่มา แปลกกว่าทะเลไหนๆ ในโลก ตามตำนาเล่าว่า ครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ครั้งพระรามเสร็จศึกสงครามใหญ่ ปราบยักษ์ร้ายทศกัณฐ์ เป็นที่เรียบร้อย จึงบำเหน็จความดีความชอบ ให้กับทหารหาญทั้งหลายทั่วหน้ากัน สำหรับทหารเอกพระราม คือหนุมานนั้น ดูจะต้องได้บำเหน็จรางวัล โลดโผนกว่าผู้อื่น กล่าวคือหนุมาน จะต้องเหาะตามศรพรหมาสตร์ ที่พระรามแผลงออกไป ศรตกตรงไหน ก็ให้พื้นที่ตรงนั้นสร้างเมือง
ศรพรหมาสตร์มาตกที่ลพบุรี ลพบุรี จึงเป็นเมืองหนุมาน ณ บัดนั้น ซึ่งยังคงมีลูกหลาน อยู่ที่ศาลพระกาฬทุกวันนี้ ศรพรหมาสตร์นั้น มีฤทธิ์ในเชิงร้อน เมื่อตกที่ใด ดินที่ตรงนั้น ก็จะถูกเผาจนสุกเป็นสีขาว คือดินสอพอง ซึ่งที่ลพบุรีมีมาก
ศรพรหมาสตร์ มีผู้ขุดพบ เป็นแท่งหินยาวประมาณสักเมตรหนึ่ง ปัจจุบันอยู่ที่ศาลลูกศร ศาลเจ้าใกล้ๆ วัดปืน และบ้านวิชาเยนทร์ ซึ่งต้องหล่อน้ำไว้ตลอดเวลา น้ำแห้งเมื่อใด ศรก็จะร้อน และเมืองลพบุรี ก็จะเกิดไฟไหม้ทันที อย่างไรก็ดี ไฟจะไม่มีทางไหม้ได้เลย เหตุเพราะลพบุรีมีทะเล ซึ่งจะมีน้ำหล่อศรพรหมาสตร์ดังกล่าว ได้เหลือเฟือ ไม่มีทางแห้งได้
ทะเลนี้คือ ทะเลชุบศรนี่เอง น้ำทะเลชุบศร มีปริมาณเหลือเฟือ และรสดี ก็ และเป็นน้ำฝนล้วนๆ ไหลจากทิวเขาสามยอด มารวมลงทะเลอันเป็นที่ลุ่มลึก ตั้งแต่ช่องกุด (ปากจั่น) ตรงไปทางตะวันออก ตามถนนนเรศวร จนถึงค่ายเอราวัณ และจากปากจั่น เป็นคันทะเล ขึ้นไปทางเหนือ และโค้งไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ ถึงบริเวณบ้านหนองบัวขาว
ในพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๒ เรื่องรามเกียรติ์ ได้กล่าวถึงเขาสรรพยาในศึกกุมภกรรณครั้งที่ ๒ ซึ่งรบกับพระลักษมณ์ กุมภกรรณ ได้พุ่งหอกโมกขศักดิ์ถูกพระลักษมณ์ สลบไป พวกนายกองจะฉุดแก้ไขอย่างใดก็หาเขยื้อนได้ไม่ เพราะเป็นหอกศักดิ์สิทธิ์ พระรามได้มีพระบัญชาให้หนุมาน ไปเก็บสังกรณีตรีชวา หรือสรรพยา ซึ่งอยู่ที่เขาสรรพยา มาแก้ไขพระลักษมณ์ หนุมานจึงรีบเหาะไป เขาสรรพยาในเรื่องรามเกียรติ์ ที่กล่าวมานี้ เชื่อกันว่า คือเขาสรรพยาที่ตำบล-อำเภอสรรพยานี้เอง ซึ่งผู้เฒ่าผู้แก่ได้เล่าให้ฟัง มีเรื่องพิสดารปลีกย่อยอีกมากมาย พอปะติดปะต่อเป็นเรื่องได้ดังนี้
เล่ากันว่า เมื่อพระลักษมณ์รบกับกุมภกรรณและเสียที ถูกหอกโมกขศักดิ์ พิเภกได้ทูลให้พระรามทรงทราบ ถึงฤทธิ์ของหอก และยาที่จะแก้ไข จึงได้มีพระบัญชา ให้หนุมานไปเอาสังกรณีตรีชวา หรือสรรพยา หนุมานได้เหาะไปที่เขาหลวง แต่ไม่รู้จักสังกรณีตรีชวา จึงร้องถามหาอยู่ตีนเขา ก็ได้ยินขานรับอยู่บนยอดเขา เมื่อขึ้นไปยอดเขา ร้องถามหาอีก ก็ได้ยินขานรับอยู่ตีนเขา
ในที่สุดหนุมานโกรธ พอได้ยินขานรับบนยอดเขา ก็หักเอากลางเขาแบกเหาะไป เมื่อเหาะไปได้สักพัก ก็บิส่วนหนึ่งทิ้งไป กลายเป็นเขาขยาย ในเขตอำเภอเมืองชัยนาทปัจจุบัน ขณะที่เหาะ ต่อมา รู้สึกกระหายน้ำยิ่งนัก แลเห็นบึงใหญ่อยู่กลางทาง จึงแวะเอาเขาวางลงริมบึง (ภายหลังเรียกบึงนี้ว่า "บึงสรรพยา") วักน้ำด้านตะวันตกเฉียงใต้ขึ้นดื่ม ทำให้บริเวณนี้ ลึกกว่าที่อื่น ๆ (ต่อมาบึงสรรพยาตื้นเขิน บึงเล็กลงปัจจุบันเหลือแต่ "บึงอรพิม") เนื่องจากบริเวณนี้ เป็นดินเลน เขาที่หนุมานวางไว้ ได้ยุบจมดินจนติดแน่น เมื่อหนุมานดื่มน้ำแล้วจึงยกเขาไม่ขึ้น
แต่บางท่านว่า เมื่อหนุมานกระหายน้ำ ได้เหาะลงวางเขากลางทุ่งนา แล้วเดินไปขอน้ำเด็กเลี้ยงควาย แต่เด็กเลี้ยงควายเห็นหนุมานเป็นลิง นอกจากจะไม่ให้น้ำแล้ว ยังหยอกล้อเล่นอีกด้วย หนุมานโกรธเดินไปดื่มน้ำที่แม่น้ำ (เจ้าพระยา) ทางเดินไป กลับเป็นลำรางข้างวัดโบสถ์ (วัดร้าง) ชาวบ้านเรียกว่า "บางโบสถ์" (ปัจจุบันตื้นเขินแล้ว) ขณะที่เดินไปดื่มน้ำนั้น เขาได้งอกรากติดกับพื้นดิน เมื่อหนุมานได้ดื่มน้ำแล้วกลับมายกเขาไม่ขึ้น จึงเรียกสังกรณีตรีชวาเช่นครั้งก่อน แล้วหักเอายอดเขาด้านทิศใต้ไป เขาสรรพยาด้านทิศใต้จึงลาดลง ก่อนจากไป หนุมานนึกเคืองว่า บนเขานี้มีสรรพยารักษาได้ทุกโรค แต่คนที่นี่ใจจืด ขอแค่น้ำก็ไม่ให้กิน เลยสาปไว้ว่า อย่าให้คน (เกิด) สรรพยา ใช้ยาถูกกับโรคใด ๆ เลย (แต่คน-เกิด-ที่อื่น มาเอาสรรพยาไปรักษาโรคหาย) และสลัดขนเป็นต้นละมานให้เข้าหู เพื่อป้องกันคน ขึ้นไปหาสรรพยาบนเขา แล้วหนุมาน ก็เหาะนำเขาไป แต่โดยที่เป็นยอดเขา มีขนาดเล็กลง หนุมานได้คอนเขาไป แล้วเอาไปวางที่เกิดเหตุ จึงเรียกสืบกันมาว่า "เขาสมอคอน" (หรือสะโหมคอนตามสำเนียงชาวบ้าน) ที่ตำบลสมอคอน อ.ท่าวุ้ง จ.ลพบุรี ปัจจุบัน
เมื่อหนุมานได้สาปไว้ ตอนแรกชาวบ้านก็เรียกว่า "เขาสาปยา" แต่ภายหลังเรียกแก้เคล็ด เป็นเขาสรรพยา (สับ-พะ-ยา) ส่วนบึงที่หนุมานวักน้ำดื่ม ก็เรียกบึงสรรพยา เนื่องจากบริเวณนี้ เป็นที่ราบลุ่มน้ำท่วมถึงมีตะกอนมาทับถม บึงจึงตื้นเขิน เป็นที่นาไปแล้วมาก เหลือบางส่วนปัจจุบัน เรียกบึงอรพิม (แต่ก็ตื้นเขินเป็นที่นาเป็นส่วนใหญ่ บางท่านจึงเรียกว่า "หนองอรพิม") บางท่านว่าบึงอรพิมนี้ เกิดในสมัยกรุงศรีอยุธยา ตอนที่พม่า มาท้าสร้างพระพุทธรูปที่งดงาม และใหญ่ที่สุด ทางกรุงศรีอยุธยารับท้า และได้มอบให้ศรีธนชัยรับผิดชอบ แต่ศรีธนชัย ใช้ไม้ไผ่สานเอาดินพอก แล้วลงรักปิดทองลวงพม่า ฝ่ายพม่าให้คนมาสอดแนม เห็นเช่นนั้น จึงรีบกลับไปบอกพวกของตน และพบ ขณะนำพระพุทธรูปล่องแพมาตามลำน้ำ พอพม่าได้ทราบเช่นนั้นก็คิดหนี จะนำพระพุทธรูปกลับไปด้วยก็ลำบาก และชักช้า จึงได้ทำลายแพ ทิ้งพระพุทธรูป ด้วยความใหญ่และหนักของพระพุทธรูป (เล่ากันว่า ปลาช่อนขนาดปลาสี่ปลาห้า หรือขนาดลำแขนผู้ชาย หนักประมาณ 1 ก.ก. อยู่ในรูพระนาสิก (จมูก) ได้) จึงเกิดห้วงน้ำ เป็น "บึงอรพิม" เชื่อกันว่า พระพุทธรูป ยังคงจมอยู่ในบึงอรพิม แต่จะปรากฏ หรือไม่ให้ผู้ใด พบเห็นเป็นก็ได้
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น