ตำนาน เขาอกทะลุ จังหวัดพัทลุง
“ภูเขาอกทะลุ”
หรืออีกชื่อ
ที่ชาวบ้านเรียกกันสั้นๆ ว่า “เขาอกลุ” ภูเขาอกทะลุ ตั้งอยู่ในบริเวณใจกลางเมืองพัทลุง
ครอบคลุมพื้นที่ 3 ตำบล คือ ตำบลปรางค์หมู่ ตำบลคูหาสวรรค์ และตำบลพญาขัน
ชาวพัทลุง เปรียบภูเขาอกทะลุ เปรียบประดุจเสาหลัก และตราประจำจังหวัดพัทลุง
นอกจากนี้ ภูเขาออกทะลุแห่งนี้ ยังปรากฏอยู่ในคำขวัญ ของจังหวัดพัทลุงอีกด้วย “เมืองหนังโนร์รา อู่นาข้าว พราวน้ำตก แหล่งนกน้ำ
ทะเลสาปงาม เขาอกทะลุ น้ำพุร้อน”
เขาอกทะลุ เป็นภูเขาหินปูน วางตัวอยู่ในแนวเหนือ-ใต้
ยอดเขา สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ ๒๔๕ เมตร ยาวประมาณ ๒ กิโลเมตร ส่วนกว้างที่สุดประมาณ ๑ กิโลเมตร บนภูเขา
อุดมสมบูรณ์ไปด้วยป่าไม้นานาชนิด พื้นที่เชิงเขา มีประชาชนอยู่อาศัย และใช้เป็นพื้นที่เกษตรกรรม
ด้านทิศตะวันตกและทิศเหนือ มีลำคลองไหลผ่าน เรียกว่า คลองโรงตรวน
ไหลไปทางทิศตะวันออก ผ่านบ้านม่วง บ้านควนสมา ไปรวมกับคลองอื่นๆ ที่บ้านห้วยควน
เรียกว่า คลองลำปำ ไหลออกทะเลสาบสงขลา ที่บ้านลำปำ อำเภอเมืองพัทลุง
ด้านใต้ของภูเขา มีคลองตำนาน ไหลผ่านเขาอกทะลุ บ้านทุ่งไหม้ บ้านควนมะพร้าว บ้านควนแร่
ไปรวมกับคลองที่บ้านหัวควน เส้นทางเหล่านี้ ในอดีตเชื่อว่า เป็นทางคมนาคม ของชุมชนโบราณหลายแหล่ง
เช่น ชุมชนบ้านม่วง ชุมชนบ้านควนมะพร้าว หรือชุมชนบ้านพญาขัน ชุมชนบ้านควนแร่
ชุมชนบ้านควนสาร และชุมชนบ้านลำปำ
เขาอกทะลุ เป็นเขาที่มีความสำคัญของจังหวัดพัทลุง
ในฐานะเป็นภูเขาศักดิ์สิทธิ์ ที่เชื่อว่า เป็นที่สิงสถิตของเจ้าแม่ดุดี
เจ้าแห่งเขาอกทะลุ ชาวเมืองพัทลุงเชื่อถือ เปรียบเสมือนเสาหลักเมืองพัทลุง ด้วยเหตุนี้ทางราชการ จึงเอาภาพเขาอกทะลุ และเจดีย์บนยอดเขา
ทำเป็นตราสัญลักษณ์ของจังหวัดพัทลุง เขาอกทะลุ ยังเป็นแหล่งโบราณคดีที่สำคัญ ของจังหวัด
ภายในถ้ำต่างๆ บนเขา มีการค้นพบพระพิมพ์ดินดิบ ศิลปะสมัยศรีวิชัย (พุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๓) จำนวนมาก แสดงให้เห็นว่า
บริเวณพื้นที่เขาอกทะลุ เคยเป็นที่ประกอบกิจกรรมของผู้คน หรือนักบวชภิกษุสงฆ์ในอดีต
จึงได้มีการทิ้งร่องรอย ศิลปวัตถุไว้เป็นหลักฐาน
สำหรับตำนานของภูเขาลูกนี้มีอเรื่องเล่าว่า
นานมาแล้วมีครอบครัวหนึ่งสามีชื่อนายเมืองเป็นพ่อค้าช้าง
มีภรรยาสองคนภรรยาหลวงชื่อนางสินลาลุดี หรือนางดุดี
ภรรยาน้อยชื่อนางบุปผาแต่มักทะเลาะตบตีกันเสมอ นายเมืองมีลูกสาวเกิดจากภรรยาหลวงคนหนึ่งชื่อนางยี่สุ่นชื่นชอบการค้าขาย
ส่วนภรรยาน้อยมีลูกชายชื่อนายซังกั้ง มีนิสัยเกเร
วันหนึ่งนายเมืองเดินทางไปค้าขายช้างต่างถิ่น ลูกสาวออกเรือสำเภาไปเมืองจีน
ส่วนลูกชายท่องเที่ยวสนุกกับเพื่อน ทั้งสามไม่ได้กลับบ้าน มีเพียงภรรยาหลวงนั่งทอผ้าอยู่ใต้ถุนบ้าน
และภรรยาน้อยกำลังตำข้าว ไม่นานทั้งสองเกิดมีปากเสียง
ภรรยาหลวงใช้กระสวยทอผ้าพาดไปที่ศีรษะของภรรยาน้อย ทำให้แผลแตกเลือดไหลโกรก
ภรรยาน้อยไม่ปราณีใช้สากตำข้าวแทงและกระทุ้งตรงทรวงอกของภรรยาหลวงจนทะลุ
ในที่สุดทั้งสองก็ถึงแก่ความตาย กลายสภาเป็นภูเขา ภรรยาน้อยกลายเป็นเขาหัวแตก
ส่วนภรรยาหลวงกลายเป็นเขาอกทะลุนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
ต่อมาเมื่อนายเมืองเดินทางกลับมาทราบข่าวการตายของภรรยาทั้งสอง
ก็ตรอมใจตายกลายเป็นเขาเมือง (เขาชัยบุรี) ซึ่งมีลักษณะคล้ายช้างหมอบ
จากนั้นไม่นายนางยี่สุ่นก็เดินทางกลับมาถึงได้ทราบข่าวการตายของบิดามารดาก็ตรอมใจตายเช่นกันแล้วได้กลายเป็น
เขาชัยสน ซึ่งมีลักษณะคล้ายเรือสำเภา ในท้องที่อำเภอเขาชัยสน ส่วนนายซังกั้ง เดินทางกลับมาช้าที่สุด
ก็ได้ทราบข่าวการตายของคนในครอบครัว ก็ตรอมใจตาย กลายเป็นเขาซังกั้ง ซึ่งปัจจุบัน อยู่ในบริเวณโรงพยาบาลพัทลุง
และมีตำนาน ที่เกี่ยวกับเขาลูกนี้อีกเรื่องหนึ่ง
เล่าว่า ในอดีตนานมาแล้ว ทางฟากฝั่งตะวันออก
ของทะเลสาบสงขลา ไม่มีภูเขา ชาวท้องถิ่นในละแวกนั้น ต้องการให้มีภูเขา เพื่อเป็นที่อาศัยของสัตว์ป่านานาชนิด
จึงพร้อมกัน ว่าจ้างนายแรง ผู้มีพลังมหาศาล ให้หาบเขาจำนวน ๑๐๐ ลูก
มาเรียงติดต่อกันเป็นลูกเดียว โดยไปหาบมาจากทวีปอุดร นายแรงรับตกลง
ไปหาบเขาจากทวีปอุดร ครั้งละ ๒ ลูก มาวางต่อเรียงกันเข้า หาบได้ ๔๙ หาบ ได้เขา ๙๘
ลูก เผอิญหาบสุดท้าย คือหาบที่ ๕๐ คานหาบหักสะบั้นลง ทำเอานายแรงเสียหลัก คุกเข่าลงบนพื้นดินอย่างแรง
ทำให้พื้นดินตรงนั้น กลายเป็นหนองลึก ชาวบ้านเรียกว่า "หนองนายแรง” มีกุ้งปลาชุกชุม
เขา ๒ ลูก ที่หาบมานั้น ก็กระเด็นไปไกล ลูกแรกที่ไปตกทางทิศตะวันออก เรียกว่า
เขารัดปูน ลูกที่สองไปตกทางทิศตะวันตก เรียกว่าเขาใน ส่วนเขา ๙๘ ลูก ที่วางเรียงติดกันไว้แล้วนั้น
คือเกาะใหญ่นั่นเอง (เขารัดปูน เขาในเกาะใหญ่ อยู่ในเขตอำเภอกระแสสินธุ์
จังหวัดสงขลา)
และการที่คานหาบ หักสะบั้นในเที่ยวสุดท้าย ทำให้นายแรงเกิดโมโหสุดขีด
จับไม้คานข้างหนึ่ง พุ่งไปทางทิศตะวันออกโดยแรง ไปตกที่ตำบลสนามไชย ปลายคานหาบ ยังดันดินไปเป็นทางยาว
จนกลายเป็นลำคลอง เรียกว่าคลองรี (ตำบลสนามไชย คลองรี อยู่ในเขตอำเภอสทิงพระ
จังหวัดสงขลา) ส่วนไม้คานอีกข้างหนึ่ง นายแรง จับพุ่งไปทางทิศตะวันตก ข้ามทะเลสาบสงขลา
ผ่านบ้านลำปำ บ้านควนมะพร้าว ปลายคานหาบ ไปชนยอดเขาลูกหนึ่งเข้าอย่างจัง จนยอดเขาทะลุ
จึงมีชื่อเรียกว่า "เขาอกทะลุ” อยู่ในเขตเทศบาลเมืองพัทลุง เป็นตราสัญลักษณ์ของเมืองพัทลุง
มาจนทุกวันนี้
พ.ศ.๒๔๓๒ (ร.ศ.๑๐๘)
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสเมืองพัทลุง
ทรงกล่าวถึงเขาอกทะลุไว้ในจดหมายเหตุ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสแหลมมลายู
คราว ร.ศ.๑๐๗ แล ๑๐๘ ว่า
"...เขาอกทลุนั้น
ที่ยอดเขา มีเปนยอดสูง โดดขึ้นไปอีกชั้นหนึ่ง มีช่องเปนปากถ้ำกว้าง
ปล่องไปทะลุข้างเขาอีกด้านหนึ่ง ตรงกัน เปนลำกล้องตะแคง แลเห็นฟ้า
แลเห็นต้นไม้ตามช่องนั้นได้ ที่ในช่องนั้น ว่ากว้างเท่านาอันหนึ่ง นัยหนึ่งว่า ช้างสองตัว
ลอดพร้อมกันได้ ตามที่ว่านี้ ยากที่จะเอาแน่ได้ เพราะเปนที่สูงเหลือที่จะวัดสอบ...”
สิ่งสำคัญ
๑. ถ้ำพิมพ์หรือถ้ำเขาอกทะลุ เป็นถ้ำที่ตั้งอยู่ทิศตะวันตก ของเขาอกทะลุ ปากถ้ำ หันไปทางทิศตะวันตก กว้างประมาณ ๕ เมตร ลึกประมาณ ๒๐ เมตร ภายในถ้ำ แสงส่องสว่างเข้าไปจนถึงตอนบน มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก
กรุพระพิมพ์ และสภาพพื้นที่ทั่วไปภายในถ้ำ ถูกขุดทำลาย จากการขุดขี้ค้างคาวของชาวบ้าน
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ได้เคยเสด็จไปขุดพระพิมพ์ดินดิบ ที่ถ้ำแห่งนี้
เมื่อ พ.ศ.๒๔๔๕ และทรงได้นิพนธ์ไว้ในหนังสือ
จดหมายระยะทาง ไปตรวจราชการแหลมมลายู
ร.ศ.๑๒๑ความตอนหนึ่งว่า
"...เวลาเที่ยง
๔๕ ขึ้นช้างไปประมาณ ๒ เส้น ก็ถึงเขา เลี้ยวเข้าไปตามทุ่งนา อีกประมาณ ๕ เส้น
ถึงเชิงเขา ปีนขึ้นไป ๔ ฤา ๕ วา ถึงถ้ำ มีรูปพระประกัป
ฝังดินอยู่มากกว่ามาก ขุดอยู่จนบ่าย ๒.๓๕ จึงกลับขึ้นช้างไป ได้พระพิมพ์มามาก
แต่ยังไม่รู้ว่า รูปอะไรต่ออะไร เพราะเปียก ชำรุด ดูไม่ได้...”
พระพิมพ์ดินดิบ ที่สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
ทรงขุดได้ในครั้งนั้น จำนวนหนึ่ง ได้นำไปเก็บรักษาไว้ ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
กรุงเทพฯ ส่วนใหญ่เป็นรูปพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร พระโพธิสัตว์ปัทมปาณี
พระพุทธเจ้าอมิตาภะ พระศรีศากยะมุนี และสถูป
๒. ถ้ำคุรำ ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของถ้ำพิมพ์ ห่างกันประมาณ ๑.๕ กิโลเมตร
ปากถ้ำ หันไปทางทิศตะวันตก กว้างประมาณ
๒๐ เมตร ลึกประมาณ ๒๐ เมตร
ภายในถ้ำ มีกรุพระพิมพ์ดินดิบ
สมัยศรีวิชัยจำนวนมาก ปัจจุบัน สภาพถ้ำถูกทำลาย
จากการขุดขี้ค้างคาว และการย่อยหิน
๓. ถ้ำตลับ ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของถ้ำคุรำ ห่างกันประมาณ
๕๐ เมตร ปากถ้ำ หันไปทางทิศตะวันตกเป็นถ้ำขนาดใหญ่มาก มีหินงอกหินย้อย และแอ่งน้ำสวยงามมาก
ภายในถ้ำ มีกรุพระพิมพ์ดินดิบสมัยศรีวิชัย
ปัจจุบัน ถ้ำตลับและถ้ำคุรำ เป็นที่ตั้งของสำนักสงฆ์ถ้ำตลับ
มีการพัฒนาบริเวณหน้าถ้ำ สร้างกุฏิ ที่พักสงฆ์และเจดีย์ ประดับกระเบื้องโมเสก ๑
องค์
๔. เจดีย์ยอดเขาจัง ตั้งอยู่บนยอดเขาจัง
ซึ่งเป็นยอดเขาหนึ่งในภูเขาอกทะลุด้านทิศเหนือ มีความสูงประมาณ ๒๔๐ เมตร
สภาพปัจจุบันทรุดโทรมมาก เหลือเพียงซากฐานเจดีย์สี่เหลี่ยม
ซึ่งเคยมีการลักลอบขุดค้น ได้พบแหวนหัวงูและเงินเป็นจำนวนมาก
๕. เจดีย์ยอดเขาอกทะลุ เล่ากันว่าพ่อหลวงนุ้ยเจ้าอาวาสวัดโคกคีรีกับท่านรักษ์
วัดเดียวกันได้ชักชวนชาวบ้านผู้มีจิตศรัทธาสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๔๕๓
การสร้างครั้งนี้พ่อนุ้ยได้นำเอาสำเภาเงินสำเภาทองบรรจุไว้ในเจดีย์ด้วย
ได้ทำสระน้ำเล็กๆ ไว้กลางกองเจดีย์ เมื่อสร้างเสร็จแล้วได้มีการสมโภชเจดีย์ มีหนังตะลุงโนราแสดง ๓ วัน ๓ คืน
ต่อมาไม่นานฟ้าได้ผ่าองค์เจดีย์เหลือแต่ฐาน
ฝ่ายหลวงพ่อนุ้ยกับหลวงพ่อรักษ์ก็ปรึกษากันชักชวนชาวบ้านขึ้นไปก่อเจดีย์ใหม่ เมื่อเสร็จแล้วฟ้าก็ผ่าเจดีย์ลงมาอีก
เพราะเนื่องจากการสร้างเจดีย์ทั้ง ๒ ครั้งไม่ได้ติดสายล่อฟ้า จนกระทั่ง
พ.ศ.๒๔๕๘ หลวงพ่อนุ้ยมรณภาพ
การคิดสร้างเจดีย์บนเขาอกทะลุก็ชะงักไปช่วงหนึ่ง
ต่อมาเมื่อย้ายเมืองพัทลุงตั้งที่ตำบลคูหาสวรรค์ เมื่อ พ.ศ.๒๔๖๗
ทางคณะพ่อค้าในตลาดพัทลุงได้ร่วมกันคิดที่จะสร้างเจดีย์บนเขาอกทะลุอีก
โดยติดสายล่อฟ้าไว้ด้วย
แต่ขาดพระสงฆ์ที่จะเป็นผู้นำ
จึงทำการสร้างไม่สำเร็จ
เจดีย์เขาอกทะลุจึงถูกทิ้งร้างตราบเท่าปัจจุบัน
เจดีย์บนยอดเขาอกทะลุ ก่ออิฐถือปูน มีฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาด
๔.๕๐ X ๔.๕๐ เมตร รากฐานที่เหลือสูงประมาณ ๑.๕๐ เมตร
ทางทิศเหนือของเจดีย์มีแนวบันไดขึ้นสู่ฐานทักษิณ กว้างประมาณ ๒ เมตร
ฐานทักษิณเดิม ปรุด้วยกระเบื้อง แต่หักไปหมดแล้ว ส่วนองค์เจดีย์ มีรูปแบบอย่างไร
ไม่ปรากฏหลักฐานที่แน่ชัด แต่บางท่านกล่าวว่า คล้ายเจดีย์วัดควนกรวด กล่าวคือ เป็นเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง
ฐานทักษิณ ปรุด้วยกระเบื้องสีเขียว
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น